พายุในอนาคตจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผลพวงจากโลกร้อนและสภาวะอากาศสุดขั้ว

พายุในอนาคตจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผลพวงจากโลกร้อนและสภาวะอากาศสุดขั้ว

“เฮอริเคนมิลตันเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่า จากที่คาดการณ์ไว้และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในพายุที่ทำลายล้างได้มากที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่อะไรทำให้เฮอริเคนทวีความรุนแรงได้มากมายขนาดนี้?”

นับตั้งแต่ซีกโลกเหนือได้เข้าสู่ฤดูพายุแห่งปี 2024 โลกก็เผชิญกับพายุระดับรุนแรงในทันทีนั่นคือ พายุเบริลในมหาสมุทรแอตแลนติก และตามมาด้วยพายุยางิในภูมิภาคเอเชีย จากนั้นก็พายุเฮเลนและล่าสุดคือพายุมิลตันที่คาดว่าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี กำลังเคลื่อนตัวข้ามอ่าวเม็กซิโกจนทำให้มีคำสั่งอพยพหลายล้านคนทั่วฟลอริดา

สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สร้างน้ำอุ่นซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงของพายุเฮอริเคน เป็นแรงกระตุ้นให้พายุเติบโตอย่างรวดเร็วโดยสามารถเพิ่มความเร็วของลมได้มากกว่า 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือมากกว่านั้นภายในหนึ่งวัน (24 ชั่วโมง)

“ฉันสามารถพูดได้โดยไม่ต้องแสแสร้งใด ๆ ทั้งสิ้นเลยว่า หากคุณเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ที่ต้องอพยพ คุณจะต้องตาย” เจน แคสเตอร์ (Jane Castor) นายกเทศมนตรีเมืองแทมปา กล่าวกับซีเอ็นเอ็น

พายุเฮเลนและพายุมิลตันเป็นตัวอย่างล่าสุดของผลกระทบดังกล่าว ซึ่งก่อนที่เฮอริเคนเฮเลนจะพัดถล่มฟลอริดาในวันที่ 26 กันยายน พายุลูกนี้ก็ได้เพิ่มความรุนแรงจากระดับ 1 เป็นระดับ 4 ภายในเวลาวันเดียว และเฮอริเคนมิลตันได้กลายเป็นพายุความรุนแรงระดับ 5 (252 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป) 

พายุเฮอริเคนประเภทเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และสร้างผลกระทบร้ายแรงเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2023 พายุโซนร้อนโอดิสได้มุ่งหน้าเข้าสู่ชายฝั่งแปซิฟิกของเม็กซิโก และในบ่ายเดียวกันนั้นเองมันก็ได้กลายเป็นระดับ 5 พร้อมกับพัดถล่มเมืองอัลคาปูด้วยความเร็วลม 265 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือนก็มีพายุเฮอริเคนที่ชื่อว่า ลี ซึ่งเป็นเฮอริเคนที่รุนแรงได้เคลื่อนตัวเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก แต่สิ่งที่นักอุตุนิยมวิทยาต้องตกใจก็คือ ลี ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอันดับ 3 เท่าที่เคยมีการบันทึกมาจากความเร็วลม 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ระดับ 1 เป็นความเร็วลม 265 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ระดับ 5 เช่นเดียวกับพายุโซนร้อนโอดิส

นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันว่าพายุที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วนั้นจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ลูกในแต่ละปี เนื่องจากต้องการปัจจัยด้านสภาพอากาศที่สอดคล้องกันจำนวนมาก เพื่อสร้างพายุให้เกิดขึ้น ทว่าการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้วในวารสาร Nature เผยให้เห็นว่าในรัศมี 386 กิโลเมตรจากแนวชาวฝั่ง พายุที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด 

ตัวอย่างเช่นพายุเฮอริเคนไมเคิลได้เปลี่ยนจากระดับ 2 เป็นระดับ 5 ในวันก่อนหน้าที่จะพัดขึ้นฝั่ง ณ บริเวณแพนแฮนเดิลของฟลอริดา พายุลูกนี้ได้คร่าชีวิตผุ้คนไปหลายสิบรายและสร้างความเสียหายกว่า 8.25 แสนล้านบาท 

สูตรสำเร็จสำหรับพายุเฮอริเคน

การพัฒนาของพายุเฮอริเคนเองก็เช่นกัน มันต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากน้ำในมหาสมุททางใต้มีอุณหภูมิอุ่นเพียงพอ มันก็จะปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากออกมาเมื่อน้ำระเหย ซึ่งส่งผลให้ความกดอากาศลดลงและเกิดลมแรงขึ้น 

ระบบการเสริมกำลังนี้ยังได้รับประโยชน์จากอากาศชื้นโดยรอบซึ่งกักเก็บความชื้นและพลังงานไว้ภายในพายุเฮอริเคนเอง ขณะเดียวกันลมเฉือนแนวตั้งต่ำซึ่งเป็นลมที่ระดับความสูงกว่าที่ยังคงมีความเร็วต่ำ ก็ช่วยให้พายุเฮอริเคนรักษาพลังของมันได้

แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้พายุค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว?

“ทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน” ไบรอัน ทัง (Brian Tang) นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศจากมหาวิทยาลัยอลลบานี กล่าว ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ที่พัฒนาขึ้นพร้อมกันต่างช่วยกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ซึ่งในช่วงเวลาที่พายุเฮอริเคนลีจะรุนแรงขึ้นอย่างกะทันหันนั้น ทัง ก็รู้สึกได้ว่าสถานการณ์กำลังจะเลวร้ายลงเนื่องจากเห็นน้ำแข็งคริสตัลและน้ำฝนที่กำลังตกหมุนวนอยู่ข้างใหญ่

“มันสมมาตรมาก” ทังเล่า “เป็นสัญญาณที่บอกว่า ‘โอ้ ใช่แล้ว พายุกำลังจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ” 

ไม่ใช่แค่ ทัง เท่านั้นที่รู้สึกว่าพายุลีจะรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เขาเสริมว่าโมเดลต่าง ๆ เช่น ระบบการวิเคราะห์และพยากรณ์พายุเฮอริเคน (HAFS) ของสำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) เองก็คาดการณ์ไว้ว่าพายุเฮอริเคนลูกนี้จะมีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่วงหน้าประมาณ 24 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามมันยังคงสามารถสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์

“ผมคิดว่าสำหรับผมและนักพยากรณ์อากาศคนอื่น ๆ ค่อนข้างมั่นใจว่าพายุเฮอริเคนลูกนี้จะมีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็คือ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในหนึ่งวัน” เจสัน ดูเนียน (Jason Dunion) นักอุตุนิยมวิทยาและผู้อำนวยการโครงการภารสนามพายุเฮอริเคนของ NOAA กล่าว “แต่มันก็เร็วกว่านั้นมาก” 

ด้วยการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากแกนในของพายุเฮอริเคนล่วงหน้า รวมถึงการรวบรวมผ่านเที่ยวบินตรวจการพายุของหน่วยงาน ‘นักล่าเฮอริเคน’ (Hurricane Hunter) ที่ ดูเนียน และเพื่อนร่วมงานของเขาทำขึ้น โมเดลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ระดับความรุนแรงที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็วได้แม่นยำยิ่งขึ้น

การวัดที่ละเอียดนี้ยังช่วยนักพยากรณ์อากาศอีกด้วย ตัวอย่างเช่นพายุไมเคิลในปี 2018 ที่การวิจัยในปี 2020 พบว่าข้อมูลจากดาวเทียมและการอ่านค่าจากทุ่นในอ่าวเม็กซิโกได้แสดงให้เห็นว่าคลื่นความร้อนในทะเลกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาในขณะที่พายุปรากฏตัว ข้อมูลที่คล้ายกันนี้อาจเตือนนักอุตุนิยมวิทยาในอนาคตว่าพายุเฮอริเคนที่เคลื่อนตัวเข้ามา อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้นักวิจัยยังใช้โดรนบินเข้าไปในส่วนล่างของพายุเฮอริเคน ซึ่งไม่ค่อยได้รับการศึกษามากนักและยังเป็นที่อันตรายที่สุดอีกด้วย การรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่นี้จะช่วยนักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงของพายุยิ่งขึ้น

สถานการณ์ที่เลวร้าย

รูบี้ เลือง (Ruby Leung) นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่าอิทธิพลของมหาสมุทรที่มีต่อพายุหมุนเขตร้อนนั้นซับซ้อนอย่างมาก

เช่น หากน้ำจืดจำนวนมากไหลจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทร คุณก็จะได้น้ำอุ่นชั้นบนที่สดใหม่กว่าซึ่งอยู่เหนือน้ำเค็มที่หนาแน่นกว่า สิ่งนี้คอยขวางกั้นไม่ให้น้ำลึกที่เย็นกว่าขึ้นสู่ผิวน้ำและทำให้พายุเฮอริเคนอ่อนตัวลง การมีชั้นน้ำอุ่นอยู่ด้านบนทำให้เฮอริเคนรักษาความรุนแรงของมันไว้ได้ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือพายุเฮอริเคนที่ชื่อเออร์มาเมื่อปี 2017 “พายุทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วในมันเคลื่อนผ่านพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำจืดอยู่บนผิวมหาสมุทร” เลือง กล่าว 

เธอและเพื่อนร่วมงานได้เผยแพร่ผลการศศึกษาไว้ในปี 2020 ซึ่งแสดงให้เห้นว่าน้ำจืดจากระบบแม่น้ำแอมะซอน-โอรีโนโก ดูเหมือนจะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้พายุทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในแคริบเบียนตะวันออกและแอตแลนติกเเขตร้อนตะวันตก

เช่นเดียวกัน ชั้นน้ำทะเลที่มีลักษณะคล้านกันก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อพายุเฮอริเคนทำให้ฝนตกในปริมาณมากเป็นพิเศษ ซึ่งไปเพิ่มชั้นน้ำจืดให้กับผิวมหาสมุทร ปรากฏการณ์นี้มีสัญญาณแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะทำให้ปริมาณฝนในแปซิฟิกเหนือเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้พายุไต้ฝุ่นในภูมิภาคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น

เลืองกล่าวเสริมว่า พายุเฮอริเคนและพายุโดยทั่วไปก่อให้เกิดฝนตกมากอยู่แล้วเมื่ออุณหภุมิของอากาศสูงขึ้น ดังนั้นมันจึงกลายเป็นวงจรป้อนกลับและทำให้มีโอกาสพายุรุนแรงขึ้นเช่นกัน 

“ไม่ว่าคุณจะผสมน้ำมากเพียงใด คุณก็จะไม่ได้ผสมน้ำเย็นเลย” เฮนรี่ พอตเตอร์ (Henry Potter) นักสมุทรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ที่ได้ศึกษาพายุเฮอริเคนชื่อฮาร์วี่ว่าทวีความรุนแรงขึ้นได้อย่างไรในปี 2017 กล่าว 

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าขอบเขตของพายุเขตร้อนโดยรวมเหล่านี้จะขยายกว้างขึ้นอย่างมาก ซึ่งหมายความว่ามีผู้คนอีกหลายล้านคนอาจต้องเผชิญกับผลกระทบอันเลวร้ายจากพายุขนาดมหึมานี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“นี่เป็นปัญหาสำคัญ” พอตเตอร์ กล่าว “สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือมหาสมุทรจะกลายเป็นเหมือนน้ำในอ่างของฤดูรน้อน ซึ่งเป็นอ่างน้ำลึกที่เหมาะแก่การที่พายุจะทวีความุรนแรงมากขึ้น” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

 

ที่มา

https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com

https://journals.ametsoc.org

https://www.nature.com

https://www.iflscience.com

https://www.nationalgeographic.com

Recommend