[ BRANDED CONTENT FOR ONEP ]
เมื่อทิวเขาสูงชันที่มียอดแหลมปรากฏสู่สายตา ก็รู้ว่าเข้าเขตเขาสามร้อยยอดแล้ว การมาเขาสามร้อยยอดในครั้งนี้ เราอยากมามองภาพกว้างของธรรมชาติแห่งเทือกเขาหินปูน และอ่านปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นในถ้ำพระยานคร แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
หากคุณเงยหน้าสังเกตมองร่องรอยบนหินผาที่ถูกเซาะเป็นริ้วยาวสานกันไปอย่างอิสระบนเขาสามร้อยยอด คุณอาจสงสัยว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร และทำไมเทือกเขาแห่งนี้จึงไม่ถูกต้นไม้ปกคลุมไปทั่วดังภูเขาลูกอื่นๆ นั่นก็เพราะว่าเขาสามร้อยยอดนี้เป็นเขาหินปูนที่เกิดขึ้นในยุคเพอร์เมียน – คาร์บอนิเฟอ หรือเมื่อราว 280 – 230 ล้านปีที่แล้ว เขาหินปูนซึ่งไม่กักเก็บน้ำจึงมีเพียงพืชพันธุ์เฉพาะถิ่น พืชที่ขึ้นดีเฉพาะหน้าฝนที่มีน้ำเพียงพอ และพืชยืนต้นที่สามารถสะสมน้ำไว้ในต้นหรือดึงความชื้นจากอากาศเสริมจนผ่านฤดูแล้งมาได้ และยังรวมถึงชายเขาหลายจุดที่มีลักษณะเหมือนหน้าผา ก็ยังเกิดจากความเป็นภูเขาหินปูนที่ตระหง่านอยู่ในพื้นที่ที่อดีตเคยเป็นทะเลมาก่อน ทำให้เขาสามร้อยยอดมีความพิเศษที่เราจะมาชวนคุณมองไปพร้อมกัน
หลายคนอยากไปเยือนถ้ำพระยานคร เพราะภาพ “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์” ในโถงถ้ำท่ามกลางแสงอาทิตย์ส่องผ่านช่องทะลุของถ้ำในช่วงสายถึงบ่ายโมงของวัน เราจะไปถึงถ้ำแห่งนี้ได้มีอยู่ 2 ทางด้วยกัน คือนั่งเรือจากหาดตรงวัดบางปูไปขึ้นที่หาดแหลมศาลา หรือจะเดินเท้าขึ้นจากหาดบางปูขึ้นเขาไปก็ได้ ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เพื่อความรวดเร็วและออมแรงไว้เดินขึ้นถ้ำ พวกเราจึงเลือกที่จะนั่งเรือไปราว 10 นาทีก็ถึงหาดแหลมศาลาแล้ว
ทริปนี้พวกเรา และทีมบ้านและสวน Explorers Club ชวนสมาชิกแฟนเพจมาสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณเขาสามร้อยยอดร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมี วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยา คอยชวนพวกเราสังเกตธรรมชาติไปตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ลวดลายเว้าคมบนก้อนหินระหว่างทางขึ้นถ้ำ ซึ่งมีต้นเทียนสว่าง พืชเฉพาะถิ่นผลิดอกบานสะพรั่งในหน้าฝน ไปจนถึงต้นแก่นขมิ้นพระยานคร พืชเฉพาะถิ่นที่ขึ้นตามซอกผาของเขาหินปูนริมทะเล
อ่านศิลปกรรมธรรมชาติในถ้ำพระยานคร
เพราะธรรมชาติของเขาหินปูนคือละลายน้ำได้ ร่องรอยจากการละลายเป็นไปได้หลากหลาย ตั้งแต่รอยเว้าคมบนก้อนหินระหว่างทางเดินนอกถ้ำที่คล้ายถูกเม็ดฝนกลม ๆ ปะทะชะเป็นเวลานาน ในขณะที่ภายในถ้ำทางน้ำแม้ร่องรอยบนหินจะอิสระแบบไม่ซ้ำ แต่ก็ยังคงเห็นรอยน้ำเป็นทางยาวปรากฏอยู่บนหินได้ตลอดเวลา
ถ้ำโดยมากเกิดในภูเขาหินปูนที่ถูกกัดเซาะให้ผุพังเป็นโพรง หลายแห่งก็เป็นถ้ำที่เกิดแบบหลุมยุบ (sink hole) เช่นเดียวกับถ้ำพระยานคร เมื่อด้านล่างถูกทางน้ำไหลเซาะจนเป็นโพรง ด้านบนที่เป็นประหนึ่งเพดานถ้ำนานวันเข้าก็รับน้ำหนักไม่ไหวจนถล่มลงมา เกิดเป็นช่องแสงทะลุเพดานลงมา
วรพจน์ชี้จุดให้พวกเราสังเกตเห็นได้จากใต้ “สะพานหิน” ที่อยู่ด้านบนบริเวณปากถ้ำ มีกองหินอยู่มากมาย และส่วนหนึ่งก็มีร่องรอยเป็นหินย้อย คาดว่าเมื่อน้ำไหลชะจนหินย้อยก่อตัวเป็นหินย้อยก้อนใหญ่ ซึ่งมีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเพดานถ้ำถล่ม เหลือเพดานบางส่วนที่ถูกเรียกชื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจง่าย ๆ ว่า สะพานหิน พลวัตรถ้ำแบบนี้ใช้เวลายาวนานนับล้านปีกว่าธรรมชาติจะสร้างถ้ำขึ้นมาแบบนี้ได้
น้ำยังมีบทบาทสร้างลักษณะสำคัญให้เกิดศิลปกรรมธรรมชาติปรากฏอยู่ทั่วไปในถ้ำ ทั้งหินย้อย หินงอก เสาหินที่เกิดขึ้นเมื่อหินย้อยและหินงอกมาบรรจบกัน นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นได้เสมอเวลาไปเที่ยวถ้ำ แต่ที่เราอาจไม่เคยสังเกตมาก่อนคือ หินย้อยเบนเข้าหาแสงที่เกิดบริเวณใกล้ช่องแสงของถ้ำ มาจากพืชเล็กๆ เช่น มอสมาเกาะที่หินย้อยและพาการสะสมของตะกอนหินปูนพลอยเบนเข้าแสงไปด้วย
เราพากันไปถึงถ้ำในบริเวณเที่ยงวันที่แสงอาทิตย์ส่องกระทบพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ แม้จะไม่ใช่เดือนที่แสงจะส่องลงมาสวยที่สุด แต่ภาพนี้ก็งามจับตาจนทำให้ใครๆ ก็อยากมาเยือน พระที่นั่งแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง ถ้ำพระยานครจึงทั้งงดงามด้วยธรรมชาติไปพร้อมๆ กับคุณค่าทางทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นสามร้อยยอด
เมื่อถ้ำเป็นนิเวศที่ค่อนข้างปิด แต่ที่ใดมีช่องแสงที่นั่นย่อมมีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อม เบื้องหลังพระที่นั่งจึงมีกลุ่มต้นไม้ขึ้นเขียวเป็นฉากหลังยิ่งขับให้พระที่นั่งโดดเด่น หรือกลุ่มต้นไม้ใต้สะพานหิน เช่น ต้นเต่าร้าง ที่ขึ้นภายในถ้ำที่สูงชลูดขึ้นหาแสงกลายเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่ต่างจากป่าภายนอก เราอาจจะเคยดูภาพยนตร์ผจญภัยที่ตัวเอกหลงเข้าไปในถ้ำลึกลับห่างไกลแล้วได้พบกับป่าเร้นลับที่งดงามตระการตา นั่นก็คือภาพของระบบนิเวศที่เกิดขึ้นเฉพาะในถ้ำแห่งนั้น เมล็ดไม้ที่ถูกสายน้ำสายลมพัดพาตกลงมาในหลุมยุบ เติบโตขึ้นตามที่อินทรีย์วัตถุเอื้อให้ภายในขอบเขตที่แยกห่างจากที่อื่น เมื่อผ่านระยะเวลาอันยาวนาน ก็สิ่งมีชีวิตก็วิวัฒนาการให้กลายเป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นที่พบเจอได้แต่ที่นั้น
ตามถ้ำของเขาสามร้อยยอดยังมีสัตว์เฉพาะถิ่นของที่นี่เท่านั้น เช่น จิ้งจกนิ้วยาวสามร้อยยอด (Cnemaspis lineogularis) และตุ๊กกายสามร้อยยอด (Cyrtodactylus samroiyot) สัตว์กลางคืนที่เราไม่พบเห็นได้ง่าย แต่เมื่อมาถึงนี่ก็มีสัตว์ที่เราเห็นได้ง่ายเช่นกัน และจะเห็นได้ระหว่างเดินป่าไปกลับถ้ำพระยานคร เราจะเห็นครอบครัวค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus) นั่งสบายๆ อยู่ตามต้นไม้ ให้พวกเราแหงนชมความน่ารัก เหมือนชินกับการมาเยือนของเหล่ามนุษย์ ขอเพียงอย่าเสียงดังรบกวนกันก็พอ
เขาหินปูนสามร้อยยอดยังมีเลียงผา หรือโครำ (Serows) สัตว์สงวนประจำเขาหินปูน ที่พบมากในเกาะโครำ ไม่ไกลจากหาดแหลมศาลาที่เราสามารถมองได้ทั้งจากชายหาดและจุดชมวิวระหว่างทางขึ้นถ้ำ ไม่ง่ายเลยที่เราจะเห็นเลียงผาได้ แต่คนที่พกกล้องส่องทางไกลก็อดส่องมองหาไม่ได้ เมื่อล่องเรือเลียบเทือกเขา
จากถ้ำพระยานคร ถ้าใครยังพอมีเวลา และอยากเข้าใจภาพรวมของเขาสามร้อยยอด การล่องเรือไปดูเขาแมวที่ ท่าเรือชมทุ่งเกาะไผ่ สามร้อยยอด ในช่วงเย็น ก็จะยิ่งเห็นภูมิประเทศของเขาหินปูนที่ล้อมรอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อน เป็นการเฉลยปริศนาอย่างหนึ่งว่าเพราะอะไรบางจุดของเขาหินปูนจึงเป็นลักษณะหน้าผาสูงชันเช่นที่เขาแมว ดูได้จากด้านล่างของเขาแมวที่เว้าเข้าด้านใน นั่นคือหลักฐานการกัดเซาะของน้ำทะเลและบ่งบอกถึงระดับน้ำทะเลในอดีต เมื่อด้านล่างเซาะกร่อนแนวภูเขาด้านบนที่มีน้ำหนักมากก็ถล่มลงมากลายเป็นผา ที่มีพืชบางชนิดที่ทนสภาพแวดล้อมได้ขึ้นอาศัยตามซอกหินเท่านั้น
สามร้อยยอดครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน ระหว่างทางที่เพลิดเพลินไปกับความงามแปลกตาของธรรมชาติ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นเมื่อได้เดินทางกับผู้รู้ ก็ยิ่งทำให้ทึ่งกับธรรมชาติที่อาศัยเวลายาวนานนับล้านปีในการสร้างความหลากหลายและเฉพาะตัวเหล่านี้ขึ้นมา ธรรมชาติมีรหัสให้เราถอดเสมอ
เรื่อง อาศิรา พนาราม
ภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส
บทความนี้ผลิตขึ้นโดยได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)