ภารกิจหน่วย “เหยี่ยวไฟ” ที่ต้องเผชิญกับงานอันร้อนระอุ

ภารกิจหน่วย “เหยี่ยวไฟ” ที่ต้องเผชิญกับงานอันร้อนระอุ

เวลาบ่ายคล้อยช่วงต้นเดือนมีนาคม ไอร้อนจากแดดที่ลอยมากระทบผิวหน้าให้รู้สึกร้อนผ่าว บอกถึงการมาเยือนของฤดูร้อน แม้จะนั่งอยู่ใต้ชายคาบ้านที่ตั้งอยู่บนเนินเขา และเปิดพัดลมช่วยผ่อนคลายความร้อน แต่ก็ยังไม่วายรู้สึกอบอ้าว และเหนอะหนะไปทั้งตัว

มองออกไปยังทิวเขาทะมึนด้านทิศตะวันตกของตัวบ้าน เห็นกลุ่มควันสีเทาลอยคละคลุ้งปกคลุมจนทัศนียภาพเลือนราง เป็นสัญญาณว่าฤดูของไฟป่าในปีนี้กำลังเริ่มต้นขึ้น ในตอนแรก ก็นึกไปว่าน่าจะเป็นหมอกของลมหนาว แต่เมื่อได้ออกมานอกตัวเรือน และสูดลมหายใจเข้าไป จึงได้รับรู้ถึงกลิ่นควัน

ไฟป่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายปี โดยเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ในปี 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่เกิดเหตุไฟป่าทั้งหมด 100,704 ไร่ โดยเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 84,418 ไร่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เกิดไฟป่าเฉลี่ย 33,369 ไร่ ต่อปี หรือประมาณร้อยละ 39 ของพื้นที่เกิดเหตุของภาคเหนือทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องไฟป่าก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา และเกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อภารกิจควบคุมไฟป่าไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรง

อีกหนึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมไฟป่าคือ “ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 17 ชุด ทำหน้าที่ทั้งลาดตระเวน สร้างแนวกันไฟ และควบคุมไฟป่าไม่ให้ลุกลาม อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้ และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในภารกิจดับไฟป่า

จันทร์เพ็ญ เกษตรสินธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ กล่าวว่า “จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟป่าเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย อีกทั้งไฟป่าได้มีการลุกลามและกินระยะเวลานานขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิม 2 เดือนต่อปี ปัจจุบันนานถึง 4 เดือนต่อปี นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศที่เรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในสังคม สร้างมลพิษทางอากาศ ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน โดยพบว่า ประชาชนชาวเชียงใหม่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเผยให้เห็นว่าคนเชียงใหม่เป็นมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย”

นอกจากนี้ จันทร์เพ็ญยังอธิบายถึงการเกิดไฟป่าว่า ไฟป่า (Wildfire) คือไฟที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติ เช่น เศษดิน เศษหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้แห้ง รวมไปถึงต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ภายในป่า (Forest) หรือสวนป่า (Urban Forest) และเกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์ จนเกิดไฟลุกไหม้ที่ปราศจากการควบคุม สามารถลุกลามต่อเนื่องไปได้อย่างอิสรเสรี โดยไม่มีขอบเขต

องค์ประกอบของไฟป่า

  1. เชื้อเพลิง (Fuel) คืออินทรียสารทุกชนิดที่มีคุณสมบัติติดไฟได้ง่ายหรือวัสดุไวไฟทั้งหลาย เช่น หญ้าแห้ง วัชพืช กิ่งไม้ ต้นไม้ พุ่มไม้ และตอไม้ รวมไปถึงอาคารบ้านเรือน ดินอินทรีย์ (Peat Soil) และชั้นถ่านหินที่อยู่ใต้ผิวดิน (Coal Seam)
  2. อากาศ (Air) คือแหล่งสะสมออกซิเจน (Oxygen) ที่สนับสนุนกระบวนการเผาไหม้ (Combustion) ซึ่งปริมาณและสัดส่วนของออกซิเจนภายในป่า ณ จุดใดจุดหนึ่งอาจแปรผันตามทิศทางการเคลื่อนไหวและความเร็วลม
  3. แหล่งความร้อน (Heat Source) คือตัวจุดประกายไฟที่ทำให้เกิดไฟป่า ทั้งแหล่งความร้อนในธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า การเสียดสีของกิ่งไม้ หรือการระเบิดของภูเขาไฟ รวมไปถึงแหล่งความร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตั้งแคมป์ไฟ การเผาหญ้า การเผาขยะ หรือการทิ้งก้นบุหรี่ข้างทาง เป็นต้น

องค์ประกอบของไฟป่าทั้ง 3 ประการนี้เรียกรวมกันว่า “สามเหลี่ยมไฟ” (Fire Triangle) ซึ่งหากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไป ไฟป่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นหรือดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

ชนิดของไฟป่า

  1. ไฟใต้ดิน (Ground Fire) คือไฟป่าที่ลุกไหม้อินทรียวัตถุใต้พื้นดินของผืนป่า เป็นไฟป่าที่มักก่อตัวขึ้นในป่าเขตอบอุ่นบนพื้นที่สูง ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นและมีปริมาณอินทรียวัตถุสะสมอยู่บนหน้าดินหนาแน่น (Surface Litter) ทำให้ไฟป่าชนิดนี้สามารถเผาไหม้ลึกลงไปใต้พื้นดินและเคลื่อนที่ลุกลามไปอย่างเชื่องช้าใต้ผืนป่า โดยไม่เกิดเปลวไฟขนาดใหญ่ ดังนั้น ไฟใต้ดินจึงถือเป็นไฟป่าที่ตรวจพบและควบคุมได้ยากที่สุด อีกทั้งยังเป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายให้แก่ป่าไม้มากที่สุด เพราะการเผาไหม้ใต้ผืนป่าได้ทำลายรากไม้เสียหาย ต้นไม้ส่วนใหญ่จะยืนต้นตายในเวลาต่อมา

  1. ไฟผิวดิน (Surface Fire) คือไฟป่าที่ลุกลามไปตามพื้นดิน โดยเผาไหม้เชื้อเพลิงบนพื้นป่า ทั้งใบไม้และกิ่งไม้แห้งที่ตกสะสมอยู่บนพื้นดิน รวมไปถึงพุ่มไม้ กอหญ้า และลูกไม้ต่างๆ ไฟผิวดินพบได้ทั่วไปในพื้นที่ป่าทุกภูมิภาคของโลก ความรุนแรงของไฟจึงขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของเชื้อเพลิง โดยทั่วไปไฟชนิดนี้จะไม่ทำอันตรายต้นไม้ใหญ่ถึงตาย แต่อาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้ลดลงหรืออ่อนแอจนเกิดโรคต่างๆ

  1. ไฟเรือนยอด (Crown Fire) คือไฟป่าที่ลุกลามจากยอดไม้หรือไม้พุ่มต้นหนึ่งไปยังยอดของต้นไม้อีกต้นหนึ่ง เป็นไฟป่าที่มักก่อตัวขึ้นในป่าสนเขตอบอุ่น ไฟชนิดนี้มีอัตราการลุกลามรวดเร็วและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสูงของเปลวไฟตั้งแต่ 10 ไปจนถึง 50 เมตร ในขณะเดียวกัน ลูกไฟจากเรือนยอดสามารถตกลงบนพื้นป่า ก่อให้เกิดเปลวไฟตามผิวดินไปพร้อมกันได้อีกด้วย
โดยในพื้นที่ความรับผิดชอบของจังหวัดเชียงใหม่ ไฟป่าส่วนใหญ่เป็นไฟผิวดิน

ผลกระทบจากไฟป่า

ไฟป่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมของโลก เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีส่วนทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะไฟป่าที่เกิดขึ้นทางเหนือในป่าไม้เขตหนาว (Boreal Forest) ซึ่งถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนสูงสุดในบรรดาระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystem) ทั้งหลายของโลก ในทุก ๆ องศาที่โลกของเราร้อนขึ้น ป่าไม้ต้องการฝนหรือหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) มากขึ้นราวร้อยละ 15 เพื่อชดเชยความชุ่มชื้นที่สูญเสียไป

มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากการเกิดไฟป่า ในแต่ละปีมีผู้คนราว 339,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันและไฟป่า โดยเฉพาะในแถบเอเชียและทะเลทรายซาฮารา รวมไปถึงฝุ่นและอนุภาคในอากาศ ซึ่งกลายเป็นมลพิษและเป็นภัยต่อร่างกาย นอกจากนี้ สัตว์ป่าต่างได้รับผลกระทบจากไฟป่า ทั้งการสูญเสียชีวิต สูญเสียที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ที่มีขนาดเล็กและเคลื่อนไหวเชื่องช้า อย่างเช่น โคอาล่า ซึ่งมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติคือการปีนป่ายขึ้นไปหลบบนยอดไม้เมื่อเกิดอันตราย ดังนั้น เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น สัตว์เหล่านี้จึงหมดหนทางหลบหนีโดยสิ้นเชิง

ในอดีต ไฟป่านับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาหรือวิวัฒนาการของป่าไม้ ทั้งช่วยคงสภาพโครงสร้างเดิมของป่า สนับสนุนการงอกเงยของเมล็ดและการเติบโตของกล้าไม้ทั้งหลาย รวมไปถึงการป้องกันการระบาดของโรคและแมลง แต่ในปัจจุบัน ไฟป่าส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ (ราวร้อยละ 85) ทั้งจากการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ การหาของป่า การตั้งแคมป์ไฟ การเผาขยะ และการทิ้งก้นบุหรี่ไม่ถูกที่ถูกทาง ซึ่งทำให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นในสถานที่ที่ไม่ควรเกิด เช่น เกิดไฟป่าในพื้นที่ของป่าดงดิบ ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่ไม่มีกลไกป้องกันไฟป่า ทำให้ไฟป่าสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทั้งสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ

 

ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ ทีมทำงานหน้าไฟ

 การทำงานของชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงฤดูกาลไฟป่าเท่านั้น จันทร์เพ็ญกล่าวว่า ทีมของเราทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี โดยช่วงก่อนฤดูกาลไฟป่า เราได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยในท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างจิตสำนึกให้กับผู้คนที่ใช้ประโยชน์จากป่า ในช่วงฤดูไฟป่า ทีมของเราและอาสาสมัครก็ได้ลงพื้นที่สร้างแนวกันไฟ และดับไฟป่าตามจุดต่าง ๆ ที่ได้รับแจ้งเข้ามา และหลังจากฤดูไฟป่าผ่านไปแล้ว หน่วยฯ ของเราก็ลงพื้นที่เพื่อฟื้นฟูป่าที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่า

โดยการทำงานทั้งสามระยะก็พบว่า อุปสรรคเรื่องการเดินทางเข้าพื้นที่เป็นปัญหาที่เราพบเจอมาโดยตลอด บางพื้นมีลักษณะภูมิประเทศที่เดินทางเข้าถึงได้อย่างยากลำบาก และบางพื้นที่ก็นำรถยนต์หรือจักรยานยนต์จอดทิ้งไว้ และเดินเท้าต่อเข้าไปเพื่อทำภารกิจ

นอกจากนี้ ทุกคนในหน่วยฯ จะต้องช่วยกันรับผิดชอบอุปกรณ์ดับไฟต่าง ๆ ทั้งเครื่องเป่าลม และคราด สำหรับดับไฟและสร้างแนวกันไฟ น้ำเปล่า น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องเป่าลม และสัมภาระส่วนตัว จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนอย่างมากต่อสภาพต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่

 

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนคือแรงสนับสนุนสำคัญ

ในปัจจุบัน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐบาล เอกชน และประชาชน ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือภารกิจดับไฟป่ามากขึ้น ทั้งช่วยเรื่่องการสนับสนุนสิ่งของที่จำเป็น การลงแรงช่วยกันของชาวบ้านที่อยู่รอบพื้นที่ป่า และการทำงานเชิงปฏิการของหน่วยงานภาครัฐบาล ส่งผลให้การเกิดไฟป่าในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง

“ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าในแต่ละครั้ง คือ สภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขาสูงชันยากต่อการเข้าถึง” จันทร์เพ็ญกล่าวและเสริมว่า “และบางครั้งอุปกรณ์เครื่องเป่าดับไฟป่าลมแบบใช้น้ำมันก็สามารถเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตของทีมเจ้าหน้าที่ได้ หลายครั้งเราจึงได้ยินข่าวไฟคลอกทีมดับไฟป่า เนื่องจากเศษใบไม้ที่ติดไฟปลิวมาติดเครื่องเป่าลมก่อให้เกิดไฟไหม้ตัว บางท่านเสียชีวิต บางท่านได้รับบาดเจ็บสาหัส” จากจุดนี้ หน่วยงานภาคเอกชน อย่าง นิสสัน ประเทศไทย ได้เล็งเห็นความลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงได้สนับสนุนรถยนต์นิสสัน นาวารา PRO-4X จำนวน 2 คัน สำหรับใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีสมรรถนะยอดเยี่ยม สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ยากลำบากได้อย่างรวดเร็ว ทั้งทางชัน ทางเรียบ และต้องบุกลุยบนทางขรุขระ รถยนต์นิสสัน นาวารา  PRO-4X ก็สามารถผ่านไปได้  และช่วยลำเลียงสัมภาระและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับหน่วยฯ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ นิสสัน ประเทศไทย ยังได้สนับสนุนเครื่องเป่าลมแบบใช้มอเตอร์ แทนเครื่องแบบเดิมที่ใช้น้ำมัน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงาน

จันทร์เพ็ญ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาไฟป่าเป็นประเด็นที่ต้องตระหนักและใช้ความร่วมมือจากทุกคนทั้งในพื้นที่ และการสนับสนุนจากนอกพื้นที่ ที่ผ่านมา หน่วยงานและประชาชนที่อยู่ภายนอกพื้นที่ป่าได้สนับสนุนทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด่านหน้ามีกำลังใจต่อการทำงานมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกคนในการเล็งเห็นความสำคัญเรื่องไฟป่า จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยลดผลกระทบระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

 

เรื่อง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.dnp.go.th/forestfire/web/frame/2565/Fire_Daily/Fire01032565.pdf
http://www.dnp.go.th/forestfire/FIRESCIENCE/lesson%201/lesson1_1.htm
https://www.seub.or.th/
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/wildfires/
https://www.nationalgeographic.com/news/2017/10/wildfire-california-danger-environment-spd/

Recommend