ทะเลสาบสงขลา คือสิ่งที่ทำให้จังหวัดสงขลาได้รับสมญานามว่าเมือง 2 ทะเล โดยมีแนวชายฝั่งติดกับ ทะเลอ่าวไทย และ ทะเลสาบสงขลา รวมถึงยังเป็นอ่าวลากูนใหญ่ (Lagoon) ที่สุดในอาเซียนที่มีอายุกว่าพันปี
ภูมิศาสตร์และอายุของทะเลสาบสงขลา
อ่าวลากูนหรือทะเลลากูน (ทะเลสาบที่อยู่ติดกับทะเล) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียนแห่งนี้ครอบคลุม 3 จังหวัดคือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช พื้นที่ทั้งหมด 1,040 ตร.กม. จุน้ำได้ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวจากเหนือสุดถึงใต้สุด 77 กิโลเมตร โดยความพิเศษของทะเลสาบสงขลาคือ มีสามน้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จากการที่มีแม่น้ำและคลองหลายสายที่ไหลเข้าสู่ทะเลสาบแห่งนี้ ทำให้น้ำมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามฤดูกาล ซึ่งขึ้นอยู่กับกระแสน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลเข้าสู่ทะเลสาบ และกระแสน้ำทะเลหนุน จึงทำให้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา
ในส่วนของลักษณะทางภูมิศาสตร์และอายุของทะเลสาบสงขลา ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่ใช้หลักฟิสิกส์เกี่ยวกับการเรืองแสงความร้อนและเรดิโอคาร์บอนศึกษาทะเลสาบสงขลาผ่านดินตะกอนและซากสัตว์ในทะเลสาบเปิดเผยว่า คาบสมุทรสทิงพระพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) สมัยโฮโลซีน (Holocene) จนถึงปัจจุบัน โดยเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนที่ถูกพัดพามาจากแผ่นดินใหญ่
สำหรับทะเลสาบสงขลาคาดว่ามีลักษณะเป็น ทะเล ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ 2,350 กว่าปีที่ผ่านมา จากการวิจัยผ่านตัวอย่างตะกอนตามชั้นดินในทะเลสาบสงขลา นำมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนจะพบว่าได้รับแสงอาทิตย์ครั้งสุดท้ายเมื่อพ.ศ. 200-300 ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการนำ ซาก หอย ปู พืช มาคำนวณหาอายุของทะเลสาบ ซึ่งได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน
พัฒนาการทางกายภาพและอนาคตของลากูนแห่งนี้
แม้หลายคนจะเรียกกันติดปากว่า ทะเลสาบสงขลา แต่พื้นที่แห่งนี้คือ ลากูน ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่ซับซ้อนกว่าทะเลสาบ ในประเทศใกล้เคียงมี โตนเลสาบ ของกัมพูชาที่มีความคล้ายคลึง แต่ก็ไม่เหมือนทีเดียว เพราะโตนเลสาบมีพื้นที่อยู่ไกลจากทะเลมากกว่า ทะเลสาบสงขลา จึงได้รับอิทธิพลจากนํ้าเค็มมากกว่า
ดร.บรรจง ระบุว่า ทะเลสาบสงขลาเป็นระบบลากูนมีช่องน้ำที่เชื่อมกับอ่าวไทยตอนใต้สุดบริเวณปากน้ำทะเลสาบสงขลาได้รับอิทธิพลจากนํ้าขึ้น-นํ้าลง นํ้าในทะเลสาบสงขลาจึงมีหลายรสชาติ ทั้งนํ้าจืดทางตอนเหนือ นํ้าเค็มด้านทางตอนใต้ และตรงกลางเป็นนํ้ากร่อย ในทางชีวภาพถือว่ามีความแตกต่างและหลากหลาย เช่น เราจะไม่พบปลากระบอกน้ำเค็มทางตอนเหนือ และไม่พบปลาช่อนน้ำจืดทางตอนใต้ของทะเลสาบ
สภาพโดยรวม ทะเลสาบสงขลา ในปัจจุบันถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป คุณภาพของนํ้าในทะเลสาบลดลงส่งผลให้ สาหร่ายผมนาง อาหารพื้นถิ่นที่เคยมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณเกาะยอหายไป ทำให้แม่ค้าต้องนำสาหร่ายผมนางจากปัตตานีมาขายแทน
ขณะที่กระแสลมและกระแสนํ้าก็พัดพาตะกอนดินลงมาเทือกเขาบรรทัดทำให้แหล่งน้ำตื้นขึ้นทุกๆ ปี ตามกลไกของธรรมชาติ ซึ่งปัญหาการตื้นเขินของทะเลสาบบางส่วน จะส่งผลกระทบต่อการเดินเรือและการทำประมง โดยอิทธิพลของนํ้าขึ้นนํ้าลงวันละ 2 รอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ทะเลสาบ ทั่วไปไม่มี ทำให้กระบวนการระบายตะกอนดินไปสู่ทะเลอ่าวไทยทำได้ช้า การสะสมตะกอนจึงถูกเร่งให้เร็วขึ้น แม้จะใช้เวลานานนับพันปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ท้ายที่สุดพื้นที่ทะเลสาบสงขลาจะกลายเป็นแผ่นดิน
ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตบริเวณลุ่มนํ้า
วัฏจักรของทะเลสาบสงขลาถือว่ามีอิทธิพลต่อผู้คนบริเวณโดยรอบลุ่มนํ้า ในทางประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งอาณาจักรอยุธยา มีหลักฐานแผนที่ราชอาณาจักรสยามของชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2229 บันทึกไว้ว่า บริเวณแหลมสทิงพระแห่งนี้ มีเกาะอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่สุด อยู่ทางตอนเหนือ ส่วนทางตอนใต้มีเกาะเล็กๆ อีก 4 เกาะ กระจัดกระจายกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2383 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานการเดินทางเป็นบันทึกปูมเรือของชาวอังกฤษ ขณะเดินทางผ่านน่านน้ำแถบนี้ ระบุไว้ว่า แล่นผ่านช่องแคบนครศรีธรรมราชและหมู่เกาะแทนทาลัม การเดินเรือค่อนข้างน่ากลัวเพราะเต็มไปด้วยโขดหิน ภายหลังระดับน้ำทะเลลดลงจนเกิดการทับถมของตะกอนและทรายตอนบนทำให้เกาะเล็กทั้ง 4 เกาะรวมกันเป็นเกาะใหญ่ เรียกว่า เกาะแทนทาลัม
ภายหลังลักษณะภูมิประเทศเปลี่ยนไป แผ่นดินของเกาะยื่นออกไปเชื่อมกับแผ่นดินตอนบนที่อยู่ทางนครศรีธรรมราช กลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งดินแดนแถบทะเลสาบสงขลาในอดีตมีความเจริญทางการค้าและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก อันเนื่องจากเป็นท่าเรือ เปิดรับชนชาติต่าง ๆ ทั้ง จีนอินเดีย และอาหรับ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ก่อเกิดเป็นชุมชนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนารายรอบ น้ำในทะเลสาบสงขลาได้รับน้ำจากทิวเขาบรรทัดและทิวเขาสันกาลาคีรีจากอำเภอสะเดา ทั้งหมดไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำในแถบนี้เรียกว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้ดินตะกอนที่พัดพามาทับถม ทำให้ดินและน้ำในทะเลสาบมีคุณภาพ
ช่วงฤดูน้ำหลากประมาณ เดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคมจะมีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบจำนวนมากจึงไปผลักดันน้ำเค็มออกสู่อ่าวไทย ในช่วงนี้น้ำในทะเลสาบจะขุ่น และเป็นน้ำจืดแต่เมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลสาบจะมีน้อยน้ำเค็มจะไหลเข้ามาแทนที่ในช่วงนี้ น้ำในทะเลสาบ จะกร่อยจึงเป็นทะเลสาบที่มีลักษณะหลากหลายมิติ
ทะเลสาบสงขลา คือแหล่งเลี้ยง ปลากะพงขาว ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด รวมถึงยังมีปลาอีกหลากหลายสายพันธุ์ทั้ง ปลากระบอก ปลาช่อน ปลาลำปำ ปลาชะโอน ปลาขะแหยง ปลาชะโด ปลาพรม ปลาตุ่ม ปลาตือ ปลาแรด ปลากราย ฯ ดังนั้นวิถีชีวิตชาวประมงในพื้นที่ก็ยังคงดำเนินไป ภายใต้การจัดการที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การจัดการ ลากูน เพื่อความยั่งยืน
เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอการศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่นๆ อย่างมีอนาคต ที่มีทั้งเรื่องวิถีชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยต้องมีการแบ่งพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ประมงอย่างเป็นสัดส่วน
ในมุมมองของ ดร.บรรจง ให้ความเห็นว่า สัตว์ในทะเลสาบสงขลาไม่ได้ลดลง กรมประมงเองก็มีการปล่อยสัตว์นํ้าเติมเข้าไปในทะเลสาบทุกปี เพียงแต่ประชากรที่เพิ่มขึ้น และความต้องการทรัพยากรทางอาหารที่มากขึ้น ทำให้บางพื้นที่อาจพบสัตว์บางชนิดน้อยลง สิ่งที่ทางภาครัฐต้องจัดการคือการควบคุมดูแลเรื่องพื้นที่ป่าสงวน เขตห้ามล่าสัตว์ และการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายอย่าง โพงพาง เพื่อรักษาระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา
บทบาทของทะเลสาบสงขลาต่อการเป็นมรดกโลกทางวัฒธรรม
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ซึ่งประกอบด้วย 4 พื้นที่ ได้แก่ (1) เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง (2) เมืองโบราณสทิงพระ (3) เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า ณ เขาแดง และแหลมสน และ (4) เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก แล้ว ซึ่งการถูกบรรจุเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก เป็นเพียงขั้นตอนแรกที่จะก้าวไปสู่การเป็นมรดกโลก
ทั้งนี้ ด้วยความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของทะเลสาบสงขลาและพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าบริเวณทะเลสาบ ทำให้ประเทศไทยเสนอ สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ในปีนี้ โลมาอิรวดี สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่คาดว่าเหลืออยู่ในทะเลสาบเพียงสิบกว่าตัวนั้นต้องเร่งหาทางอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
ท้ายที่สุดไม่ว่า ทะเลสาบสงขลา จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดสงขลาร่วมมือช่วยกันดูแลและพัฒนาทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนในพื้นที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากลุ่มนํ้าแห่งนี้ไปอีกหลายชั่วอายุคน
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพถ่ายโดย เกียรติศักดิ์ อัศวะมหาศักดา