สายธารสีเขียวในคนรุ่นใหม่

สายธารสีเขียวในคนรุ่นใหม่

ภายหลังการเสียชีวิต เรื่องราวของสืบ นาคะเสถียร ในฐานะที่เป็นนักอนุรักษ์ผู้ประกาศตนพูดแทนสัตว์ป่าและข้าราชการกรมป่าไม้ที่ซื่อสัตย์ เสียสละ และต่อสู้เพื่อสวัสดิภาพและสวัสดิการของลูกน้องผู้พิทักษ์ป่า ได้รับการบอกเล่าอย่างหนักแน่นทรงพลังผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างนิตยสาร สารคดี ซึ่งมีวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นบรรณาธิการบริหารและนักเขียนแทบจะทันที

นอกเหนือจากความจริงที่ว่า ความตายของสืบ นาคะเสถียร เป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้สังคมไทยสะเทือนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเสียชีวิตที่เกี่ยวพันกับการปกป้องป่าผืนสำคัญของประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่วันชัยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทั้งยังเป็นเลขาธิการของมูลนิธิฯ นานแปดปีด้วยนั้น ทำให้นิตยสารดังกล่าวนำเสนอเรื่องราวของทั้งสืบ ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร และการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยผลิตพ็อกเก็ตบุ๊กว่าด้วยชีวิตและความตายของสืบ นาคะเสถียร จากข้อเขียนของวันชัยซึ่งพิมพ์ออกมาหลายหมื่นเล่ม

พูดได้ว่าเรื่องราวของสืบ นาคะเสถียร ลงหลักปักฐานในสังคมด้วยสารคดีโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนั้น นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเองก็จัดงานรำลึกสืบ นาคะเสถียร ในวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี มีคอนเสิร์ตและจำหน่ายเสื้อยืด สมุดบันทึก โปสเตอร์ที่เผยแพร่แนวคิดของสืบออกมาจำนวนหลายพันชิ้นในแต่ละปี

ความตายครั้งนั้นเปิดโลกแห่งความเข้าใจป่า สัตว์ป่า ธรรมชาติ และผลกระทบของโครงการพัฒนาใหญ่ใจกลางป่า มากพอ ๆ กับสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ในยุคนั้นได้เข้าร่วมทำงานอนุรักษ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งตัวผมเองด้วยเช่นกัน

ผ่านไป 30 ปี เมื่อวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้จำกัดอยู่แต่เรื่องการสร้างเขื่อน การบุกรุกทำลายป่า หรือการขาดความรู้ด้านระบบนิเวศ แต่ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับชุมชนจนถึงระดับโลก อย่างไม่มีขอบเขตอีกต่อไป การเข้าถึงข้อมูลและตระหนักรู้ถึงวิกฤติปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ทำให้ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมใน พ.ศ. นี้ หาใช่ผู้นำประเทศไหนหรือองค์การระหว่างประเทศใด แต่กลับเป็นเยาวชนอย่างเกรียตา ทุนแบร์ย และผองเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันทั่วโลก

ในบ้านเรา คนรุ่นใหม่วัย 20 ต้น ๆ เลยไปจนถึง 30 กลาง ๆ ต่างลุกขึ้นมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือทำธุรกิจเพื่อสังคม จำนวนไม่น้อยรู้จักเรื่องราวของสืบ นาคะเสถียร และได้แรงบันดาลใจหรือมองเห็นการประยุกต์เทคนิควิธีการทำงานอนุรักษ์ตามแบบอย่างของเขา

อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิชาการของมูลนิธิในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เธอประทับใจสืบตั้งแต่เด็ก ๆ จากการได้ดูสารคดีตอนที่สืบช่วยชีวิตสัตว์ป่าในรายการ ส่องโลก ที่ออกอากาศซํ้าทุกปี อรยุพากล่าวว่า “ยิ่งได้มีโอกาสฟังเรื่องราวจากคนใกล้ชิดที่รู้จักเขา ก็ยิ่งศรัทธา ทั้งเรื่องความซื่อสัตย์ ความอดทน ความเสียสละ และการเอาใจใส่ลูกน้อง ความเอาจริงเอาจังในงานวิชาการ การคัดค้านโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า หรือแม้แต่การสร้างคนอนุรักษ์รุ่นใหม่ให้เข้าใจธรรมชาติผ่านการบรรยายตามโรงเรียน” อรยุพายึดถือสืบเป็นแบบอย่างในการทำงาน “แม้จะไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของความเสียสละแต่เราก็จะพยายามให้เต็มที่ที่สุดค่ะ”

ส่วนเจ้าหน้าที่น้องใหม่ของมูลนิธิอย่างภูริช วรรธโนรมณ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บอกว่า สืบเป็นไอคอนของการอนุรักษ์ ที่แม้เขาจะ “เกิดไม่ทันยุคคุณสืบทำงาน แต่ก็ได้อ่านประวัติ ได้ศึกษา ได้เห็นการทำงานของคุณสืบ” แต่ชีวิตของสืบ “เหมือนเป็นการจุดไฟการทำงานอนุรักษ์ให้กระจายออกไป เกิดเป็นกระแสสังคมได้” ภูริชกล่าว

แต่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรไม่ได้เป็นเพียงองค์กรเดียวที่เปิดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติ มีหนุ่มสาวอีกมากมายที่ก่อตั้งกลุ่มอิสระขนาดเล็กและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของตนเอง

โชคนิธิ คงชุ่ม หรือ “เก่ง กลุ่มใบไม้” ผู้ก่อตั้งและหัวหน้ากลุ่มใบไม้ บอกผมว่า ความศรัทธาในตัวสืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นจากบทเพลง “สืบทอดเจตนา” (2533) ของคาราบาว จนเขาต้องขวนขวายค้นคว้าประวัติชีวิตและการทำงานของสืบที่ทั้งสะเทือนใจและตื่นเต้น “แต่พอโตขึ้นมาก็เริ่มสนใจวิธีการทำงานที่ใส่ใจทุกรายละเอียดและใช้หลายศาสตร์เข้ามาทำงานอนุรักษ์” โชคนิธิกล่าวและเสริมว่า “ผมเห็นคุณสืบเป็นนักวิชาการสัตว์ป่าที่ใช้ฐานคิดทางวิทยาศาสตร์ในการทำงาน ใช้ศิลปะในการสื่อสาร เช่น งานเขียน บทกลอน ภาพวาดลายเส้น และภาพถ่ายเห็นคุณสืบเป็นนักพูด นักบรรยาย ตระเวนออกไปตามโรงเรียนรอบป่าเพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้คน ไปจนถึงการทำงานวิชาการเพื่อเสนอเรื่องมรดกโลก”

โชคนิธิเห็นว่าทั้งหมดนั้นบันดาลใจก็จริง แต่ “เราน่าจะมองว่า คุณสืบมีวิธีคิดในการทำงานอย่างไรบ้าง และนำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอด พัฒนาเลือกใช้ มากกว่าการมองเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว” ซึ่งเป็นสิ่งที่รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่ารุ่นใหม่ที่กำลังทำวิจัยปริญญาเอกเรื่องเสือปลา คิดเหมือนกัน “พี่สืบพยายามอย่างมากที่จะใช้หลายศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ สัตว์ป่า แกไม่ได้มองเรื่องงานอนุรักษ์อย่างเดียว แต่พยายามศึกษาทางออกอื่น ๆ ด้วย”

แต่สืบไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่อยู่แต่ในแวดวงวิจัยและอนุรักษ์สายตรงเท่านั้น สุภัชญา เตชะชูเชิด หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจยั่งยืนอย่าง Refill Station ก็มีสืบเป็น “แรงใจยามที่เจอโจทย์ยาก ๆ เพราะอาสืบเป็นคนที่ทำมากกว่าเรา เหนื่อยกว่าเรา” เธอบอกว่า “เราเกิดมาก็เป็นช่วงที่อาสืบเสียชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องของอาสืบยังถูกเล่าอยู่ในทุกค่ายสิ่งแวดล้อม”

ตั้งแต่ 30 ปีก่อน ชีวิต การทำงาน และความตายของสืบ นาคะเสถียร ถูกถ่ายทอดต่อกันมาในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย ผ่านวิธีพื้นฐานที่สุดอย่างเรื่องเล่าในค่ายสิ่งแวดล้อมที่มีเพียงนักเรียนนักศึกษาไม่กี่คนรับฟังหรือถูกกระจายออกไปสู่มวลชนนับล้านทางโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่บทเพลงเพื่อชีวิตทั้งกระแสหลักและกระแสรอง รวมทั้งบทความ บทกวี ภาพถ่าย โปสเตอร์ และเสื้อยืดนับพันนับหมื่นตัวด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่ครั้งหนึ่งเมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศในรอบ 50 ปี ปรากฏว่าสืบ นาคะเสถียร เป็นสามัญชนที่สังคมเสียดายต่อการจากไปมากที่สุดเป็นอันดับสอง (อันดับหนึ่งคือหลวงปู่แหวน สุจิณโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่)

เช่นเดียวกัน เรื่องเล่าของสืบและการรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ในปีนี้ ก็จะยังคงถูกเล่าผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างนิตยสาร เช่น สารคดี และ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เล่มนี้และในสื่อใหม่ทางออนไลน์อีกหลายสำนัก แม้แต่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเองก็มี “Seub Channel” ที่นำเสนอคลิปวิดีโอในยูทูบและรายการในพอดแคสต์ เพื่อเผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ของสืบ นาคะเสถียร ต่อไปให้สมสมัย

สองปีก่อน ในปาฐกถางานรำลึก 28 ปีแห่งการจากไปของสืบ นาคะเสถียร ศศิน เฉลิมลาภ กล่าวไว้ว่า “ในระดับโลก การอนุรักษ์ไม่ได้หมายความอื่นใด นอกจากการเลือกที่จะลงมือทำ เลือกที่รักษาบางสิ่งเอาไว้ และแลกมาด้วยการทำงานหนักของนักอนุรักษ์ เราหยุดการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสมดุลของระบบนิเวศทั้งในปัจจุบันและอนาคตไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างผู้คนในฝ่ายอนุรักษ์ให้เกิดขึ้น ในทุก ๆ ระดับได้ ตั้งแต่อาสาสมัครพิทักษ์ธรรมชาติในหมู่บ้านสักแห่ง ไปจนถึงคนระดับประธานาธิบดีอย่างแอมานุแอล มาครง และอดีตรองประธานาธิบดีอย่างอัล กอร์ เราหวังเพียงว่าการทำงานของเราจะช่วยหน่วงการทำลายไว้ให้ทันหัวใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกได้สักวัน”

จนถึงวันนี้ ก็ยังมีคนรุ่นใหม่มากมายที่รู้จักสืบ นาคะเสถียร และสืบทอดเจตนาของเขาด้วยการทำงานตามเส้นทางของตัวเอง สายธารของเจตนา ความมุ่งมั่น ความคิด และการทำงานของสืบยังไหลริน และไม่เพียงจะยังไม่ล้าสมัย แต่ยังมีที่ทางในวัฒนธรรมกระแสหลัก และกำลังไหลเคลื่อนไปสู่อนาคตข้างหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยที่งานอนุรักษ์ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป

แต่เป็นทางรอดเดียวร่วมกันของมนุษยชาติ

เรื่อง ดร.เพชร มโนปวิตร
ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ตั้งแต่วันที่ 1-5 กันยายน พ.ศ. 2563 National Geographic Thailand จะนำเสนอสารคดีชุด “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ยาว 5 ตอน โดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และนักเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อม และถ่ายภาพโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


สารคดีชุด รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร: สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร: ก้าวข้ามภารกิจเดิม


สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563 

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

Recommend