จับสัญญาณชีพ หาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ ในวันที่เขื่อนหินกันคลื่นอาจไม่ช่วยแก้การกัดเซาะชายฝั่ง

จับสัญญาณชีพ หาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ ในวันที่เขื่อนหินกันคลื่นอาจไม่ช่วยแก้การกัดเซาะชายฝั่ง

หาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ แลนด์มาร์คของจังหวัดสงขลา กำลังเผชิญกับปัญหาทะเลกัดเซาะจนชายฝั่งที่มีอาจหายไป ซึ่งจะส่งกระทบครั้งใหญ่ต่อทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชาวประมง

หาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ คือแหล่งพักใจชาวสงขลาและสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของต่างชาติ

หาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสงขลา ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทัศนียภาพสวยงาม หาดทรายขาวสะอาด วิวทิวต้นสนร่มรื่นตลอดแนวชายหาด และมีประติมากรรมรูปปั้นนางเงือกที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เปรียบเสมือนห้องรับแขกธรรมชาติ ที่ต้อนรับผู้มาเยือนเรื่อยมาจากอดีตจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ หาดสมิหลา มีศักยภาพอย่างมากในด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะมาเลเซียเดินทางมาที่นี่จำนวนมากตลอดทั้งปี มีกิจกรรมทั้ง การทานอาหาร การลงเล่นน้ำทะเล เล่นบานาน่าโบ๊ท โดยเมื่อมองออกไปนอกทะเลจะเห็น เกาะหนู และ เกาะแมว อยู่ด้านหน้า

ขณะที่คนในพื้นที่เองก็ใช้ หาดสมิหลา เป็นสถานที่พักผ่อน เพราะบรรยากาศดี มีลมเย็น ปลอดภัย สามารถมาเยือนได้ทั้งวัน ตั้งแต่การทานมื้อเช้าริมทะเล นั่งชมวิวรับลมในช่วงบ่าย ไปจนถึงการเล่นนํ้า เดินเล่น ออกกำลังกาย และนั่งสังสรรค์กันในตอนเย็น ส่วนชาวประมงในพื้นที่ก็ยังออกเรือหาจับปลากระบอกและหอยเสียบบริเวณชายฝั่งมาขาย

ปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

ชายหาดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงจังหวัดสงขลายังคงถูกทะเลกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ และหาดสมิหลา ก็เป็นอีกจุดที่ประสบกับปัญหานี้

แนวโน้มการกัดเซาะชายหาดฝั่งอ่าวไทยว่า ตลอด10-20 ปีที่ผ่านมา ชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ประสบกับปัญหาเรื่องการกัดเซาะของคลื่นมาโดยตลอด โดยผลกระทบจากการกัดเซาะของคลื่น ทำให้ชายหาดที่มีอยู่หายไปจากการถูกกัดเซาะ  บางพื้นที่ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะลึกเข้าไปประมาณ 20-30 เมตร แต่ในบางพื้นที่ที่รุนแรงเกิดการกัดเซาะลึกเข้าไปถึง 100-300 เมตรจากแนวเดิมที่เคยเป็นพื้นดิน แต่บางบริเวณก็มีการสะสมของทรายซึ่งเกิดจากการมีโครงสร้างกักทรายไว้จนทรายงอกออกไปมากหลายร้อยเมตรซึ่งบริเวณหาดสมิหลาก็เคยพบปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ ถึงขั้นที่ นายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลาเปิดเผยว่า มีการคาดการณ์ว่า หาดสมิหลาอาจจะหายไปภายในเวลา 5 ปี

ด้าน ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากมีพื้นที่สิ่งก่อสร้างซึ่งขัดขวางการสะสมของทราย เช่น อาคารสูบน้ำเสียบริเวณชุมชนเก้าเส้งการใช้พื้นที่ของชุมชนรุกล้ำไปในทะเลและยังมีถนนบริเวณหัวมุมกำแพงที่ดินของกองทัพเรือบริเวณชุมชนเก้าเส้งที่ถูกตัดชิดทะเลมากเกินไป ทำให้ได้รับผลกระทบจากคลื่นทะเล โดยการป้องกันอิทธิพลจากคลื่นทะเลที่ดีที่สุดคือเว้นระยะห่างที่เหมาะสมกับระหว่างสิ่งก่อสร้างกับชายฝั่ง มีพื้นที่ถอยร่นให้ห่างจากทะเล และใช้หาดทรายช่วยชะลอคลื่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

บรรยากาศริมชายหาดสมิหลา

เขื่อนหินกันคลื่น-เติมทราย ไม่ตอบโจทย์และสิ้นเปลือง?

แม้ว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจะเกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลไม่แพ้กันก็คือผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ดร.ศักดิ์อนันต์ ระบุว่าเขื่อนกันคลื่นคอนกรีตที่สร้างขึ้นโดยหวังว่าจะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ให้ผลที่ตรงกันข้าม เพราะนอกจากจะป้องกันการกัดเซาะอย่างถาวรไม่ได้แล้ว ยังทำให้คลื่นมีความรุนแรงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการคัดค้านโครงการเขื่อนกันคลื่นม่วงงาม ซึ่งต่อมาถูกศาลปกครองระงับการก่อสร้าง

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศไทยและในต่างประเทศพบว่า บริเวณที่มีมีกำแพงกันคลื่น จะทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในด้านเหนือท้ายของกระแสน้ำเลียบชายฝั่งจนส่งผลกระทบให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดได้และนำไปสู่การเรียกร้องให้สร้างกำแพงกันคลื่นต่อไป

ขณะเดียวกัน การสร้างสิ่งก่อสร้างกั้นแนวคลื่นยังทำให้เกิดแรงปะทะตรงๆ ของคลื่นส่งผลให้มีการดึงทรายลงไปในทะเล ซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากไม่มีทรายชะลอความแรงของคลื่น และคลื่นจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อปะทะกำแพงกันคลื่น

ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือ-ลากอวนจับสัตว์ทะเลบริเวณชายหาดสมิหลา

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้มีการนำกระสอบทรายขนาดใหญ่มาวางตามแนวชายหาดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบริเวณหาดชลาทัศน์ ตั้งแต่บริเวณชุมชนเก้าเส้นเป็นต้นไป แต่สุดท้ายก็ถูกกัดเซาะไป ส่วนตัวกระสอบกลายมาเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม กระทั่งมีการปรับเปลี่ยนวิธีมาเป็นการนำทรายมาถม ซึ่งปัจจุบัน เทศบาลนครสงขลากรมเจ้าท่า เสียเงินไปหลายล้านบาทต่อปีกับการขนทรายมาเติมบริเวณชายหาด แต่ไม่มีการสร้างระบบการชะลอการไหลของทราย สุดท้ายทรายก็ถูกพัดพาออกไปหมด และไปพอกพูนบริเวณหาดสนอ่อนที่มีแผ่นดินงอกมาจากแนวชายฝั่งเดิมมากกว่า 400 เมตร

ดร.ศักดิ์อนันต์ แนะนำว่า การชะลอการไหลของทรายอย่างมีประสิทธิภาพคือ การสร้างแนวรั้วไม้ชะลอการกัดเซาะหาด ซึ่งมีการสร้างแล้วหลายบริเวณในประเทศไทย หากเราไม่สามารถย้ายถนนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของชุมชนได้ เราอาจต้องนำวิธีการลดพลังงานคลื่นนอกชายฝั่ง เช่น โครงสร้างลดพลังงานคลื่นใต้น้ำ (Submerge breakwater) ซึ่งต้องมีการศึกษารูปแบบอย่างเหมาะสมต่อไป

ลมหายใจของหาดสมิหลา

ดร.ศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า หาดสมิหลา ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากนัก แน่นอนว่า อุณหภูมินํ้าทะเลที่อุ่นขึ้น ส่งผลกระทบให้สัตว์นํ้าย้ายออกไปในบริเวณนํ้าที่ลึกมากขึ้น ชาวประมงจึงต้องเดินเรือออกไปไกลขึ้นในการจับปลา แต่ภาพรวมระบบนิเวศหาดทรายชายฝั่งสงขลายังคงอยู่ในระดับที่ดี

ในระยะสั้นปัญหาที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วนคือการจัดการกับปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเติมทรายอย่างเป็นระบบ การสร้างแนวรั้วไม้ และไม่สร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่ม ส่วนระยะยาวคือการย้ายถนนและสิ่งก่อสร้างที่ขวางหรือรุกล้ำไปในพื้นที่ทะเลออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อกระบวนการทางธรรมชาติของคลื่นและกระแสน้ำบริเวณชายหาด

อนึ่ง หาดสมิหลา ไม่อาจหนีพ้นต่ออิทธิพลของนํ้าทะเลได้ก็จริง แต่การจัดการกับปัญหาอย่างถูกต้องและเป็นระบบ จะช่วยต่ออายุให้ชายหาดแห่งนี้ยังคงมีความสวยงาม และเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนได้ใช้กันอีกยาวนานหลายสิบปี

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพถ่ายโดย เกียรติศักดิ์ อัศวะมหาศักดา


อ่านเพิ่มเติม : ชวนชมเส้นทางธรรมชาติป่าชายเลนสงขลา ชิมยำสาหร่ายผมนาง อาหารโบราณที่มีอายุเกิน 100 ปี

 

 

Recommend