จะช่วยมหาสมุทรต้องเลิกใช้กากเพชร?

จะช่วยมหาสมุทรต้องเลิกใช้กากเพชร?

เรื่อง ลอร่า พาคเกอร์

เมื่อโรงเรียนเตรียมอนุบาลจำนวน 19 แห่งในอังกฤษตัดสินใจเลิกใช้กากเพชรในวิชาศิลปะเพื่อปกป้องผืนมหาสมุทรไว้ ประเด็นดังกล่าวที่ว่ากากเพชรเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำกลายเป็นที่พูดถึงไปไกลถึงนิวซีแลนด์ Trisia Farrelly นักมานุษยวิทยาด้านสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัย Massey ในนิวซีแลนด์ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกแบนการใช้พลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้ เนื่องจากพวกมันเป็นตัวการสำคัญของการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทร

“กากเพชรทั้งหมดควรถูกแบน เพราะมันเป็นไมโครพลาสติก (พลาสติกขนาดเล็ก) และพวกมันเล็ดรอดเข้าสู่สิ่งแวดล้อม” เธอกล่าว ว่าแต่การรณรงค์นี้จะทำได้จริงหรือไม่? ยิ่งใกล้เทศกาลคริสต์มาสเข้ามาทุกที อย่าลืมว่ากากเพชรเหล่านี้เป็นของตกแต่งยอดนิยม

 

ว่าด้วยกากเพชร

ไมโครพลาสติกถูกผลิตมาจากแผ่นพลาสติก ใช้ในหลายผลิตภัณฑ์รวมไปถึงเครื่องสำอางด้วย เมื่อผู้ใช้ล้างเครื่องสำอางออก พลาสติกเล็กๆ ที่มีขนาดความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตรจะถูกพัดพาออกไปกับน้ำเสียจนถึงมหาสมุทร ปัจจุบันไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถพบได้ตั้งแต่พื้นผิวไปจนถึงก้นของมหาสมุทร พวกมันจะถูกกินโดยแพลงก์ตอน, ปลา, หอย, นกทะเล และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย มีรายงานเคยพบพลาสติกขนาดเล็กในกระเพาะอาหารของนกซึ่งจะทำให้พวกมันตาย ในขณะเดียวกันบรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ไมโครพลาสติกมีแหล่งที่มาจาก 2 ทาง หนึ่งคือจากขยะพลาสติกทั้งหลายที่แตกหักออกเพราะรังสียูวีหรือแรงกระแทกของคลื่น และสองมาจากสินค้าและผลิตถัณฑ์เช่น โฟมล้างหน้าหรือยาสีฟัน พลาสติกเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง และจะยังคงล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรต่อไปอีกเป็นร้อยปี นักวิทยาศาสตร์ประมาณจำนวนของไมโครพลาสติกมากกว่า 8 ล้านล้านตัน ถูกพัดพาเข้าสู่น่านน้ำของสหรัฐอเมริกาในทุกวัน

สำหรับกากเพชร ทุกวันนี้พวกมันกระจัดกระจายอยู่ในมหาสมุทรมากน้อยแค่ไหนแล้ว ยังไม่อาจทราบได้

“หลักฐานบ่งชี้อันตรายของไมโครพลาสติก เป็นหลักฐานที่มาจากห้องปฏิบัติการ ส่วนกลิตเตอร์หรือกากเพชรนั้นยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน” Richard Thompson นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยพลิมัท ทางตะวันตกของอังกฤษ หัวหน้าการวิจัยไมโครพลาสติกกล่าว “เราพบไมโครพลาสติกในปลา 1 ใน 3 ของจำนวน 500 ตัว แต่จากการตรวจสอบเราไม่พบกลิตเตอร์”

Alice Horton นักวิจัยจากศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาในอังกฤษกล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลี่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับผลกระทบของกากเพชร มีเพียงแต่ผลกระทบของไมโครพลาสติกเท่านั้น “กากเพชรพวกนี้มีความเปลี่ยนแปลงสูง ดังนั้นมันจึงยากที่จะระบุว่าเจ้าพวกนี้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่”


จำเป็นต้องแบนไหม?

ทั้ง Thompson และ Horton กล่าวตรงกันว่าการห้ามใช้กากเพชรเลยตอนนี้ อาจยังเร็วเกินไป เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรอง อย่างไรก็ตาม พวกเขาระบุว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลแน่นอน ดังนั้นวิธีที่ดีคือการจำกัดปริมาณการใช้ให้เหมาะสม

“ฉันเชื่อว่าเราต้องโปรโมทให้ผู้คนรู้จักใช้พลาสติกเหล่านี้ด้วยความรับผิดชอบ ก่อนจะไปสู่มาตราการเด็ดขาดเช่น การกำหนดกฎหมาย” Horton กล่าว

ด้วยเหตุนี้บริษัท Lush Ltd บริษัทผลิตเครื่องสำอางที่มีฐานที่ตั้งในสหราชอาณาจักรจึงมีนโยบายแทนที่กากเพชรในผลิตภัณฑ์ของพวกเขาด้วยพลาสติกสังเคราะห์ใหม่ที่ทำจากแป้งแทน แต่ยังคงความเงางามไว้ตามเดิม คำประกาศนี้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัท “เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นสาเหตุของปัญหาไมโครพลาสติก เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตรวจสอบฉลากเครื่องสำอางของคุณเองที่บ้าน ว่ามีพลาสติกเป็นส่วนประกอบหรือไม่” คำแนะนำจากบริษัท Lush

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาประกาศแบนการผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางที่มีไมโครพลาสติกเป็นส่วนประกอบ กฎหมายเดียวกันนี้จะถูกบังคับใช้ห้ามการขายสินค้าเหล่านี้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 และนำไปสู่การแบนผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของไมโครพลาสติกต่อ ในปี 2019

ด้านแคนาดาประกาศแบนการใช้ไมโครพลาสติกเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเตรียมแบนในปีหน้า ส่วนในยุโรป กลุ่มบริษัทเครื่องสำอางเองเริ่มมีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว

ในนิวซีแลนด์ Farrelly กล่าวยกย่องการสร้างความตระหนักรู้ ที่ส่งผลให้หลายโรงเรียนตัดสินใจเลิกใช้กากเพชรในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่จะถึงนี้ “มันเล็กมากๆ ก็จริง เล็กกว่าไมโครไฟเบอร์อีก แต่การที่ผู้คนหันมาสนใจเกี่ยวกับกากเพชรกันมากขึ้น ฉันว่ามันเป็นเรื่องที่ดีค่ะ” เธอกล่าว

 

อ่านเพิ่มเติม : ช้อนกินได้ ทางเลือกใหม่ลดขยะพลาสติกวัตถุดิบน่าเกลียดเหล่านี้เป็นอาหารของคน 5,000 คน

Recommend