ภายในทศวรรษหน้าอาร์กติกจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดน้ำแข็ง และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ภายในทศวรรษหน้าอาร์กติกจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดน้ำแข็ง และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

“อาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งในอีก 3 ปีข้างหน้า

ถ้าโลกไม่ยอมลดก๊าซเรือนกระจก”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอัตราที่เร็วจนน่าตกใจ กำลังเร่งให้แผ่นน้ำแข็งในอาร์กติกและกรีนแลนด์ละลาย โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มหาสมุทรอาร์กติกอาจไม่มีแผ่นน้ำแข็งเหลืออยู่เลยภายในปี 2027

จากการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications พบว่าน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกกำลังละลายในอัตราที่มากกว่า 12% ในแต่ละทศวรรษ การลดลงอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักอุตุนิยมวิทยา เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อระบบภูมิอากาศของโลกอย่างโดยตรง อเล็กซานดรา จาห์น (Alexandra Jahn) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริดา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการละลายของน้ำแข็งในครั้งนี้ว่า “นี่จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของมหาสมุทรอาร์กติก อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ภูมิภาคนี้ร้อนขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของโลกถึง 4 เท่า”

การตรวจสอบล่าสุดแสดงให้เห็นว่า พื้นที่น้ำแข็งในทะเลโดยเฉลี่ยลดลงจาก 6.85 ล้านตารางกิโลเมตร ในช่วงระหว่างปี 1979 ถึง 1992 เหลือเพียง 4.28 ล้านตารางกิโลเมตรในปัจจุบัน ถ้าหากการคาดการณ์นี้เป็นจริง เราอาจได้เห็นอาร์กติกที่ไม่มีน้ำแข็งเป็นครั้งแรกก่อนในปี 2027 

ผลที่ตามมาจากการละลายของน้ำแข็ง

ผลที่ตามมาทันทีจากการละลายของน้ำแข็งครั้งนี้ ไม่ได้เพียงแค่ทำให้หมีขั้วโลกและแมวน้ำสูญเสียที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ การสูญเสียน้ำแข็งในอาร์กติกจะรบกวนที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำในมหาสมุทร ซึ่งทั้งสองอย่างนี้สามารถส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อรูปแบบสภาพอากาศทั่วโลกได้ 

สายพานลำเลียงกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก หรือ (AMOC) จะได้รับผลกระทบโดยตรง ภาวะโลกร้อนที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในเวลานี้จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ส่งผลให้ธารน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์เกิดการละลายอย่างรวดเร็ว น้ำจืดปริมาณมหาศาลจะไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือบริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์ อันเป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนของสายพานลำเลียงน้ำเทอร์โมฮาไลน์ในส่วนของ AMOC

เมื่อความเค็มของน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวเจือจางลงจนกระทั่งความหนาแน่นของมวลน้ำชั้นบนเริ่มมีค่าน้อยกว่ามวลน้ำชั้นล่าง จะทำให้กระบวนการจมตัวของมวลน้ำบริเวณดังกล่าวค่อย ๆ ช้าลง การไหลเวียนของทั้งระบบก็จะช้าลงด้วย ในที่สุดอาจเลวร้ายจนถึงขั้นกระแสน้ำสำคัญนี้เกิดการหยุดชะงักไปตลอดกาล

ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก นำโดยสองนักฟิสิกส์อย่าง โยฮันเนส โลห์มันน์ (Johannes Lohmann) และ ปีเตอร์ ดิทเลฟเซน (Peter D. Ditlevsen) พบว่า กระแสน้ำ AMOC ในเวลานี้ได้อ่อนกำลังลงถึงระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งพันปี และยังทวีอัตราเร่งจนเข้าใกล้จุดวิกฤต (Tipping Points) ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลองทางภูมิอากาศชี้ว่ากระแสน้ำ AMOC จะอ่อนกำลังลงไป 34-45% ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ และอาจหยุดชะงักไปอย่างถาวรในช่วงต้นของศตวรรษหน้า

การไหลเวียนช้าลงจนหยุดชะงักของ AMOC จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงกระแสน้ำเทอร์โมฮาไลน์ จนในที่สุดสายพานลำเลียงน้ำทั่วโลกก็จะหยุดไหลตามไปด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ทางตอนเหนือ เช่น หมู่เกาะอังกฤษ กลุ่มประเทศยุโรป รัสเซีย รวมทั้งมลรัฐทางตอนเหนือของประเทศอเมริกาจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ ความร้อนที่สะสมตัวมากขึ้นในแถบศูนย์สูตรจะก่อพายุหมุนเขตร้อนที่ทรงพลังไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่นในแถบแปซิฟิกตะวันตก เฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันออกของสหรัฐฯ ไปจนถึงไซโคลนในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงแถบอื่นของโลก ทำให้เกือบทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบซีกโลกเหนือต้องเผชิญกับภัยพิบัติไม่แพ้กัน 

การวิจัยและทิศทางในอนาคต

อเล็กซานดรา จาห์น ได้คาดการณ์ วันที่ไม่มีน้ำแข็งวันแรกในมหาสมุทรอาร์กติกโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์มากกว่า 300 ครั้ง เธอพบว่าแบบจำลองส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า วันที่ไม่มีน้ำแข็งวันแรกจะเกิดขึ้นภายใน 9 ถึง 20 ปีหลังจากปี 2023 โดยไม่คำนึงว่ามนุษย์จะเปลี่ยนแปลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร นับเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก แต่ก็เป็นไปได้ตามแบบจำลอง จากการจำลองทั้งหมด 9 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าวันหนึ่งที่ไม่มีน้ำแข็งอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 3 ถึง 6 ปี

นักวิจัยพบว่าสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงหลาย ๆ ครั้งอาจทำให้ทะเลน้ำแข็งละลายได้กว่า 2 ล้านตารางกิโลเมตรในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยฤดูใบไม้ร่วงที่อบอุ่นผิดปกติจะทำให้ทะเลน้ำแข็งอ่อนตัวลงก่อน จากนั้นฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิในอาร์กติกจะอบอุ่นขึ้น ทำให้ทะเลน้ำแข็งไม่ก่อตัว หากอาร์กติกมีอากาศอบอุ่นรุนแรงติดต่อกัน 3 ปีหรือมากกว่านั้น วันที่ไม่มีน้ำแข็งวันแรกอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูร้อน

ปีที่อากาศอบอุ่นแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคม 2022 พื้นที่ในอาร์กติกมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 50°F และพื้นที่รอบขั้วโลกเหนือเกือบจะละลาย นักวิจัย ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

น้ำแข็งในทะเลช่วยปกป้องอาร์กติกจากภาวะโลกร้อนโดยสะท้อนแสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามาสู่อวกาศ เมื่อมีน้ำแข็งที่สะท้อนน้อยลง น้ำทะเลที่มีสีเข้มกว่าจะดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิในอาร์กติกและทั่วโลกสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนในอาร์กติกอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบลมและกระแสน้ำในมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศเลวร้ายมากขึ้นทั่วโลก

อเล็กซานดรา จาห์น เน้นย้ำว่า “การลดการปล่อยก๊าซทุกครั้งจะช่วยรักษาน้ำแข็งในทะเล” ซึ่งบ่งชี้ว่ายังมีความหวังอยู่หากความร่วมมือระดับโลกจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ยังคงเลวร้ายลงเรื่อย ๆ โดยแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์สูญเสียน้ำแข็งไปประมาณ 30 ล้านตันต่อชั่วโมง หากน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายหมด อาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 20 ฟุต ส่งผลให้แนวชายฝั่งทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และผู้คนนับล้านต้องอพยพออกจากพื้นที่

ทั่วโลกต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

เมื่อพิจารณาจากอัตราการหายไปของน้ำแข็งในอาร์กติกและกรีนแลนด์ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าวันไร้น้ำแข็งวันแรกอาจเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในฤดูร้อนปี 2027 หลักฐานที่สะสมมานี้ ทำให้บรรดานักวิจัยต่างเรียกร้องให้มีการดำเนินการทันทีและร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นักวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะนักวิจัยที่ทำงานในอาร์กติก กำลังสังเกตถึงผลที่ตามมาจากการไม่ดำเนินการอย่างเด็ดขาด การศึกษาวิจัยใหม่ ๆ ยังคงแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่น้ำแข็งละลายเหล่านี้มีต่อระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเผชิญกับการหยุดชะงักอย่างรุนแรงเนื่องจากอุณหภูมิและระดับความเค็มที่เปลี่ยนแปลง

คำถามขณะนี้อยู่ที่ผู้นำระดับโลกว่าพวกเขาจะลงมือดำเนินการอย่างรวดเร็วเพียงพอเพื่อป้องกันผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดหรือไม่ เวลากำลังเดินต่อไป และคำตอบที่เรามองหาขึ้นอยู่กับทางเลือกที่ทำในวันนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป

จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแบบจำลองสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องเพื่อสะท้อนข้อมูลและผลการวิจัยใหม่ๆ จากนักวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ภายในระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางแรงกดดันจากสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้มีการพิจารณาใช้กลยุทธ์การปรับตัวแล้ว แต่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ความมุ่งมั่น และความเร่งด่วน

สืบค้นและเรียบเรียง 

อรณิชา เปลี่ยนภักดี

ที่มา

https://sambadenglish.com

https://evrimagaci.org

https://scitechdaily.com


อ่านเพิ่มเติม : ภาวะโลกร้อน ทำให้พื้นที่สีเขียว

ในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 35 ปีก่อน

Recommend