งานวิจัยเผย เขื่อนประเทศต้น แม่น้ำโขง กักน้ำมหาศาลจนประเทศปลายน้ำเกิดภัยแล้ง

งานวิจัยเผย เขื่อนประเทศต้น แม่น้ำโขง กักน้ำมหาศาลจนประเทศปลายน้ำเกิดภัยแล้ง

(ภาพปก) ภัยแล้งและเขื่อนต้นน้ำได้ลดระดับน้ำของแม่น้ำโขงให้ต่ำที่สุดในรอบร้อยปี และส่งผลกระทบต่อการวางไข่ของปลา อันเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อแหล่งอาหารในภูมิภาคนี้ ภาพถ่ายโดย BEN DAVIES/LIGHTROCKET/GETTY


ข้อมูลจากงานวิจัยใหม่เผยให้เห็นว่าทางการปักกิ่งเป็นต้นเหตุของระดับน้ำใน แม่น้ำโขง ที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อปีที่แล้ว

เขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีนได้กักน้ำจำนวนมหาศาลในช่วงภัยแล้งซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศที่อยู่ปลายน้ำเมื่อปีที่แล้ว โดยในช่วงเวลาเดียวกัน เขื่อนของจีนกลับมีปริมาณน้ำมากกว่าค่าเฉลี่ยของระดับน้ำในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำ

บรรดากลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเพื่อดูแลแม่น้ำโขงต่างเรียกร้องถึงความโปร่งใสและความร่วมมือในการเปิดเผยรายงานว่า เขื่อนของจีนได้กักน้ำจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว

บริษัท Eyes on Earth Inc., บริษัทสำรวจและให้คำปรึกษาที่เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำได้เปิดเผยการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงระหว่างประเทศจีนและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนราว 60 ล้านคนที่แม่น้ำไหลผ่าน ทั้งใน สปป. ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

โดยข้อมูลระดับน้ำดังกล่าวได้มาจากข้อมูลดาวเทียมที่เก็บข้อมูลเขื่อน 11 แห่งของจีน ซึ่งได้กักน้ำทั้งที่ในช่วงเวลานั้นจีนมีระดับน้ำที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ประเทศปลายน้ำกลับมีระดับน้ำที่ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี

ภัยแล้งในปีที่แล้วได้ส่งผลให้ทั้งชาวนาและชาวประมงในพื้นที่ปลายน้ำเห็นการลดลงของระดับน้ำจนเห็นสันดอนทรายไปตลอดแนวแม่น้ำ และสีของแม่น้ำที่เปลี่ยนจากสีน้ำตาลเข้มเป็นสีฟ้าสว่างเนื่องจากระดับน้ำที่ตื้นและขาดแคลนตะกอนที่พัดมากับแม่น้ำ

เขื่อน
เขื่อน Xiaowan ที่มีความสูงราว 291 เมตร ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2010 เป็นแหล่งพลังงานให้กับบรรดาเมืองและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน การสร้างเขื่อนนี้ทำให้ชาวบ้านกว่า 38,000 คน ต้องอพยพ ภาพถ่ายโดย DAVID GUTTENFELDER, AP/NAT GEO IMAGE COLLECTION

“ถ้าจีนอ้างว่าไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ข้อมูลที่เราพบก็ไม่ได้สนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว” อลัน บาซิสต์ นักอุตุนิยมวิทยาและประธานบริษัท Eyes on Earth ที่ทำการสำรวจและได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการริเริ่มสหรัฐ-ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (US-Lower Mekong Initiative) กล่าว

การศึกษาดังกล่าวได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่ตรวจจับน้ำบนพื้นผิวโลกที่ได้จากปริมาณฝนและการละลายของน้ำแข็งในส่วนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศจีนนับตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปลายปี 2019

จากนั้นได้มีการนำข้อมูลระดับน้ำที่ได้จากคณะกรรมการแม่น้ำโขงที่สถานีตรวจวัดระดับน้ำเชียงแสน ประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศจีนเพื่อสร้างรูปแบบการคาดการณ์ (a predictive model) ของจำนวนระดับน้ำตามธรรมชาติในแม่น้ำที่ได้จากปริมาณฝนและการละลายของหิมะในพื้นที่ต้นน้ำ

ดาวเทียมได้วัดข้อมูลความชื้นพื้นผิว (surface wetness) ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งมีข้อมูลว่าในปี 2019 ในพื้นที่ดังกล่าวมีระดับน้ำเหนือกว่าค่าเฉลี่ยที่จะได้มาจากปริมาณฝนและการละลายของหิมะในช่วงฤดูน้ำหลากเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

แต่ในทางกลับกัน ระดับน้ำในพื้นที่ปลายน้ำในส่วนของชายแดนไทย-ลาว ในช่วงเวลานั้นต่ำกว่าระดับน้ำที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตร

จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศจีน “ไม่ได้ปล่อยน้ำลงมาในช่วงฤดูน้ำหลาก แม้ว่าการจำกัดน้ำของจีนนั้นจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อประเทศปลายน้ำก็ตาม” บาซิสต์ กล่าว

แม่น้ำโขง
ลาว: ชาวประมงเตรียมเหวี่ยงแหจับปลาที่น้ำตกคอนพะเพ็ง ซึ่งถือเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียหากวัดจากปริมาตร กระแสน้ำบางส่วนจะถูกผันไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งจะเกิดขึ้นในไม่ช้าบนลำน้ำ สายรองสายหนึ่งของแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission – MRC) หน่วยงานนานาชาติที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามในการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ กล่าวว่าการศึกษาดังกล่าวพิสูจน์ไม่ได้ว่าการกักน้ำดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดภัยแล้งรุนแรง อย่างไรก็ตามทางเลขาธิการของคณะกรรมการฯ กล่าวว่าจะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากฝั่งประเทศจีนไปพร้อมกับการทำงานด้านความสัมพันธ์ที่เป็นทางการต่อไป

ผลกระทบจากเขื่อน 11 แห่งของจีนบนลุ่มแม่น้ำตอนบนเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างเนิ่นนาน แต่ก็มีข้อมูลในเรื่องดังกล่าวที่จำกัด เนื่องจากทางจีนไม่ได้ปล่อยข้อมูลบันทึกว่ามีน้ำอยู่ในเขื่อนหรือแหล่งเก็บน้ำของพวกเขาอยู่เป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งทาง Eyes on Earth กล่าวว่ามีความจุมากกว่า 47,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายบาซิสต์กล่าวว่า ข้อมูลจากดาวเทียมนั้นไม่โกหก และ “มีน้ำจำนวนมากจากที่ราบสูงทิเบตมากมาย ที่ถูกกักเอาไว้ในประเทศจีน”

แม่น้ำโขงนั้นเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเลี้ยงดูประชากรนับสิบล้านคนด้วยสายน้ำและสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่เขื่อนจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศจีนได้พรากเอาความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวไป

“ปัญหาก็คือชนชั้นนำของจีนมองว่าน้ำเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องใช้ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้แบ่งปันกัน” ไบรอัน อีย์เลอร์ (Brian Eyler) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งศูนย์สติมสันในวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้เขียนหนังสือ ห้วงเวลาสุดท้ายแห่งแม่น้ำโขงอันยิ่งใหญ่ (Last Days of the Mighty Mekong) กล่าว

ที่ประเทศไทย ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ เฮชเท็ก #StopMekongDam (หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง) ได้กลายเป็นกระแสยอดนิยม (trend) เมื่อวันพุธ (15 เมษายน) ที่ผ่านมาจากการเปิดเผยการศึกษาเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ออกมาปฏิเสธผลที่ได้จากการสำรวจนี้

“คำอธิบายที่ว่าการสร้างเขื่อนของจีนบนแม่น้ำล้านช้าง (Lancang River) ส่งผลให้พื้นที่ปลายน้ำแห้งแล้งนั้นไม่มีเหตุผล” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยมีการพูดถึงโดยใช้ชื่อแม่น้ำที่เป็นภาษาจีน

รัฐมนตรีฯ กล่าวเพิ่มอีกว่ามณฑลยูนนานก็พบกับภัยแล้งรุนแรงไปเมื่อปลายปีที่แล้ว จนส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนของจีนที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำมีระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม “ธารน้ำแข็ง (จากที่ราบสูงทิเบต) ก็เหมือนบัญชีธนาคารของน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลให้มันละลายอย่างรวดเร็ว” นายบาซิสต์กล่าวและเสริมว่า “ประเทศจีนจึงสร้างกล่องฝากเงินที่ปลอดภัยไว้บนพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำโขงเพราะพวกเขารู้ว่าเงินในบัญชีธนาคารนี้จะหมดไปในที่สุด และพวกเขาต้องการที่จะเก็บมันไว้”

แหล่งข้อมูล

Chinese dams held back Mekong waters during drought, study finds

Mekong river groups urge China to show transparency after dam report

Chinese dams held back large amounts of water during drought in downstream countries, report says

Did China’s dams contribute to drought in Lower Mekong countries?

China Limited the Mekong’s Flow. Other Countries Suffered a Drought.


อ่านเพิ่มเติม ลุ่มแม่น้ำโขงกำลังอยู่ในภาวะแห้งแล้งขั้นอันตราย

แม่น้ำโขง, นครพนม, ชาวประมง

Recommend