โลกเดือด-สัตว์สูญพันธุ์-ความหวังสู่ Nature Positive รวมเรื่องสำคัญด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2024

โลกเดือด-สัตว์สูญพันธุ์-ความหวังสู่ Nature Positive รวมเรื่องสำคัญด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2024

โลกเดือด-สัตว์สูญพันธุ์-สนธิสัญญาพลาสติก  ความหวังสู่ Nature Positive ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม รวมเรื่องสำคัญด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2024

คงไม่เกินจริง ถ้าจะบอกว่าโลกทุกวันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ใดที่หนึ่งแต่ทุกประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาร่วมกัน

ในปี 2024 ที่ผ่านมา คืออีกปีที่สถานการณ์เช่นนี้กำลังดำเนินไป ทว่ามีเหตุการณ์ใดพิเศษบ้างที่ควรบันทึกไว้ในโอกาสส่งท้ายปี และ National Geographic ฉบับภาษาไทย ได้มุมมองจาก ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่ง ถึงประเด็นด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2024 ที่ไม่ควรมองข้าม

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่ง

ปรากฏการณ์โลกเดือด 2024 ร้อนที่สุดตั้งแต่เคยบันทึกมา

ปรากฏการณ์ที่ ดร.เพชร เลือกคือ โลกร้อนที่ได้เปลี่ยนมาเป็น “โลกเดือด” ปี 2024 คือปีที่คลื่นความร้อนแผดเผาหนักสุดเป็นประวัติการณ์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย รวมถึงไทย

ข้อมูลจากโครงการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ของยุโรป ระบุว่า มีแนวโน้มว่าปี 2024 จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างน้อย 1.55 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งกระทบต่อธรรมชาติอย่างกว้างขวาง เช่น  ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 ไฟป่าระดับรุนแรง และการคุกคามสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายๆชนิด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะหลังทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) จนทำให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบ่อยครั้ง จนถึงขึ้นเรียกกันว่า Rain Bomb จนเกิดน้ำท่วมรุนแรงทั้งในต่างประเทศ ในประเทศไทย เกิดอุทกภัยที่ภาคเหนือเมื่อช่วงกันยายน  แม่น้ำสายหลักหลายสายในภาคเหนือ เช่น น่าน ยม ปิง วัง และกก ต่างเอ่อล้นจนเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน ซ้ำน้ำท่วมยังถูกทำให้รุนแรงขึ้นจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งพัดถล่มประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2567

ขณะที่ภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในช่วงปลายปี และสถานฝนตกหนักจากสภาพอากาศสุดขั้วเช่นนี้จะกลายเป็นฝนปกติเจอกันแทบทุกปี โดยเฉพาะเมืองไทยที่อยู่ในเขตเจอฝนโลกร้อนหนักขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งกำลังจะกลายเป็นเหตุการณ์ที่เราต้องเตรียมรับมือรายปี

เกาะกรีนแลนด์เป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วที่สุด หากผลการศึกษาใหม่นี้ถูกต้อง น้ำแข็งทั้งหมดบนโลกอาจละลายในศตวรรษต่อๆ ไป กรีนแลนด์เป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วที่สุด หากผลการศึกษาใหม่นี้ถูกต้อง ภาพโดย Diane Cook & Len Jenshel, Nat Geo Image Collection

วิกฤตพะยูนไทย ผลพวงของกิจกรรมมนุษย์และภาวะโลกร้อน

สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปแล้ว ไม่มีใครคิดว่าพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่จังหวัดตรังจะต้องอพยพย้ายถิ่นไปที่อื่นเนื่องจากขาดแคลนอาหาร และทะยอยล้มตายราวกับใบไม้ร่วง สองปีที่ผ่านมามีพะยูนตายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 82 ตัวจากจำนวนที่มีอยู่ราวๆ 200 ตัวทางฝั่งอันดามัน ขณะที่อัตราการเพิ่มจำนวนของพะยูนตามธรรมชาติอยู่ที่ 5% หรือปีละ 10 ตัวเท่านั้น ไม่มีใครคิดว่าพะยูนสัตว์ป่าสงวนที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างเข้มข้นมาตลอดหลายสิบปีกำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ภายในเวลาไม่นาน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พะยูนต้องย้ายถิ่นจากพื้นที่เดิมใน จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งที่พบเจอพะยูนมากที่สุด คือภาวะหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นภาวะเสื่อมโทรมสะสมมาจากปัญหาการขุดลอกร่องน้ำจนเกิดตะกอนทรายทับถม น้ำเสียและสารเคมีที่ถูกชะล้างจากบนฝั่ง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมานักวิจัยพบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงผิดปกติเป็นเวลานาน ประกอบกับระดับน้ำทะเลขึ้นลงที่ต่ำผิดปกติเป็นประวัติการณ์ทำให้หญ้าทะเลที่อ่อนแออยู่แล้วจำนวนมากอยู่ในภาวะถูกนึ่งและถูกแดดแผดเผาจนแห้งตาย

ภาพประกอบพะยูนที่บันทึกในประเทศไทย ถ่ายโดยศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
สภาพหญ้าทะเลที่เคยสมบูรณ์ ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ภาพถ่ายหญ้าทะเล บริเวณ แหลมหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เกาะมุก ซึ่งมีหญ้าทะเลเชื่อมต่อกัน ในช่วงสิงหาคม 2564 ถ่ายโดยทีมวิจัย คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์
ภาพถ่ายหญ้าทะเลมุมเดียวกับภาพแรก บริเวณ แหลมหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เกาะมุก ซึ่งมีหญ้าทะเลเชื่อมต่อกัน ในช่วงธันวาคม 2565
ภาพถ่ายหญ้าทะเลมุมเดียวกับสองภาพแรกก่อนหน้า ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อมีนาคม 2567 แสดงถึงความแตกต่างของหญ้าทะเลอย่างชัดเจน

การสำรวจพะยูนล่าสุด พบว่ามีการกระจายตัวออกไปในพื้นที่กว้างทั้งในจังหวัดกระบี่ พังงาและภูเก็ต โดยปัจจุบันพะยูนส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ในทะเลภูเก็ต ซึ่งไม่มีแนวหญ้าทะเลผืนใหญ่เพียงพอที่จะรองรับประชากรพะยูนที่เหลืออยู่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและทุกภาคส่วนได้ระดมทุกสรรพกำลังในการแก้สถานการณ์ โดยพยายามให้การคุ้มครองพื้นที่ที่พะยูนเข้าไปอาศัยไม่ให้ถูกรบกวน และพยายามเร่งปลูกหญ้าทะเล รวมทั้งทดลองวางแปลงอาหารอื่นๆ เช่นสาหร่าย หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppia maritima) และผักต่างๆให้กับพะยูน ด้วยหวังให้มีอาหารประทังชีวิต วิกฤติพะยูนใกล้สูญพันธุ์เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เข้าสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืน หรือ tipping point เมื่อระบบนิเวศธรรมชาติอ่อนแอลงเรื่อยๆ ก็อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ล่มสลายของระบบนิเวศได้ในระยะเวลาสั้นๆ

การสูญพันธุ์ของ Slender-billed curlew และภาวะน่าเป็นห่วงของนกชายเลนอพยพทั่วโลก

การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตคือวิกฤติที่รุนแรงที่สุดของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปี 2024 นักวิทยาศาสตร์ได้มีการบันทึกการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งอย่างเป็นทางการ นั่นคือการสูญพันธุ์ของนกอีก๋อยปากเรียว (Slender-billed Curlew/ Numenius tenuirostris) หลังจากไม่พบการปรากฏตัวในธรรมชาติมานานกว่า 30 ปี

การสูญพันธุ์ของนกชนิดนี้เป็นตัวอย่างของผลกระทบที่รุนแรงจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำและที่พักอาศัยระหว่างเส้นทางอพยพ (flyways) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนวงจรชีวิตของนกอพยพ ปัญหาหลักคือการพัฒนาที่ดิน การทำเกษตรกรรม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ซ้ำเติมให้พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้เสื่อมโทรมลง การสูญเสียพื้นที่เหล่านี้ยังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อนกชายเลนอพยพชนิดอื่นๆ ด้วย จนกลายเป็นกลุ่มที่มีสถานภาพถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์

นกอีก๋อยปากเรียว (Slender-billed Curlew/ Numenius tenuirostris) ภาพจากวิกิพีเดีย

พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญไม่ใช่แค่สำหรับนก แต่ยังเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน การจัดการน้ำ และแหล่งอาหารของชุมชนท้องถิ่น การอนุรักษ์นกชายเลนอพยพซึ่งครอบคลุมเส้นทางอพยพในหลายประเทศจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับนานาชาติ

การสูญพันธุ์ของนกอีก๋อยปากเรียวจึงเป็นกรณีศึกษาให้เราต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเปราะบางของนกอพยพและบทบาทความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง ซึ่งความพยายามอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ตลอดเส้นทางอพยพเป็นตัวอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมต่อสังคมโดยรวมในการเผชิญหน้ากับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​

จับตาสนธิสัญญาพลาสติกโลก

มลพิษจากพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ขยะพลาสติกประมาณราว 8-12 ล้านตันยังคงหลุดรอดลงสู่มหาสมุทรทุกปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2040 หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง

การเจรจาเพื่อจัดทำ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” (Global Plastic Treaty) มีเป้าหมายในการสร้างข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน จนถึงการกำจัด

ความก้าวหน้าล่าสุดคือการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 (INC-5) จัดขึ้นที่เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567 อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้สิ้นสุดลงโดยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ทำให้ต้องมีการขยายการเจรจาออกไป และจะมีการประชุมรอบใหม่ในปี 2568

ปัญหาหลักที่ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในประเด็นการลดการผลิตพลาสติกและการจัดการสารเคมีที่เป็นอันตรายในกระบวนการผลิต บางประเทศที่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากมีการจำกัดการผลิตพลาสติก ขณะที่ประเทศอื่น ๆ และภาคประชาสังคมเรียกร้องให้มีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการลดมลพิษจากพลาสติก

แม้ว่าการเจรจาจะยังไม่บรรลุผลในขณะนี้ แต่ความพยายามในการสร้างสนธิสัญญาพลาสติกโลกยังคงดำเนินต่อไป และเป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันจับตาและเรียกร้อง โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปข้อตกลงภายในปี 2568 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกอย่างยั่งยืน

ความหวังสู่ Nature positive

กรอบแนวคิด Nature Positive หรือ แนวทางธรรมชาติเชิงบวกถูกพูดมาสักระยะ และเริ่มเป็นวาระที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีกฎหมายและข้อตกลงที่อธิบายว่าแนวคิดนี้ได้ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม

แนวคิด Nature Positive ได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลกผ่านการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15) ซึ่งบรรลุข้อตกลงกรอบงานว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกฉบับใหม่ ดังนั้น Nature Positive จึงถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายระดับโลกที่มุ่ง “หยุดยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียธรรมชาติภายในปี 2030 โดยใช้ปี 2020 เป็นฐาน และมุ่งให้เกิดการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2050”

Nature Positive เสนอการเปลี่ยนมุมมองจากที่มองธรรมชาติเป็นทรัพยากรภายนอก (Externality) ที่ไม่มีใครรับผิดชอบ มาเป็นบริบทพื้นฐาน (Context) ของชีวิตทั้งหมดรวมถึงมนุษย์ สังคมมนุษย์เป็นบริบทของกิจกรรมมนุษย์ และเศรษฐกิจเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของสังคม

การบรรลุเป้าหมาย Nature Positive ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบทั้งในด้านการผลิต การบริโภค และการกำกับดูแล รวมทั้งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน ประชาสังคมและประชาชนทั่วไป เป้าหมายดังกล่าวต้องผ่านการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย มาตรการทางภาษี กลไกตลาด และการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก กล่าวคือเป็นการเชื่อมโยงแนวคิดนามธรรมให้เป็นรูปธรรมผ่านเครื่องมือเชิงนโยบายและวิทยาศาสตร์​

แม้ปีที่ผ่านมาจะเต็มไปด้วยข่าวร้าย แต่อย่างน้อยที่สุดตอนนี้สังคมโลกก็ได้มีฉันทามติร่วมกันที่จะมุ่งหน้ากอบกู้ธรรมชาติที่เหลืออยู่ และฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม เราเพียงแต่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่มาถึงจะไม่สายเกินไป

ภาพหน้าปก : Diane Cook & Len Jenshel, Nat Geo Image Collection


อ่านเพิ่มเติม : รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต เล่าเรื่อง “หญ้าทะเลไทย” ให้ไกลไปกว่า “พะยูน”

Recommend