นักวิทย์ฯ เผยภาวะโลกร้อนสร้างผลกระทบต่อลมบนโลก

นักวิทย์ฯ เผยภาวะโลกร้อนสร้างผลกระทบต่อลมบนโลก

งานวิจัยที่นำโดยสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศพบว่า โลกร้อน ส่งผลกระทบให้ในปี 2023 มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีผันผวนมากกว่า 15% ในหลายภูมิภาค

มีผลวิจัยล่าสุดระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปมีความแปรปรวนสูง ซึ่งทำให้หลายชาติต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนเรื่องพลังงานอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ รายงานฉบับใหม่จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ (WMO) องค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) และโครงการบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรปพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของภาวะโลกร้อนมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปัจจัยความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ลดลง

สำหรับรายละเอียดในงานวิจัยล่าสุดได้มีการเปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ฤดูร้อนในยุโรปมีกระแสลมพัดเบาลง ซึ่งนักวิจัยแสดงความเห็นว่า แม้การลดลงของความเร็วลมเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานลมได้

ปรากฏการณ์ wind drought กำลังทวีความรุนแรงขึ้น

ภาวะลมสงบ หรือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า wind drought กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นของพื้นดินและโทรโพสเฟียร์ ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้พื้นผิวโลกมากที่สุด โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์บานา-แชมเปญ เกี่ยวกับลมที่พัดเบาลง พบว่า ค่าความเร็วลมที่ลดลงจะไม่เกิน 5% ระหว่างปี 2021 ถึง 2050 และปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในภูมิภาคละติจูดกลางทางตอนเหนือ เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม ความเร็วลมที่ลดลงเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตพลังงานของทวีปยุโรป ซึ่งกำลังพึ่งพาแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าความเร็วลมเป็นปัจจัยที่วัดได้ยาก แต่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงปี 2021 ยุโรปได้เผชิญกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า wind drought (ภาวะลมสงบ) หรือ stilling (ภาวะลมหยุด) ที่ความเร็วลมลดลงประมาณ 15% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายปี

ในสหราชอาณาจักร ภาวะลมสงบ เกิดขึ้นในปี 2021 ถือเป็นหนึ่งในช่วงที่มีลมน้อยที่สุดในรอบ 60 ปี ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมลดลงอย่างมาก จนรัฐบาลต้องกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งที่ถูกปิดไปแล้ว เพื่อชดเชยช่องว่างด้านพลังงาน ซึ่งภาวะดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน

ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ต่อภาวะลมที่พัดเบาลง

ในส่วนของนักนักวิทยาศาสตร์เองยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ในอนาคต เพราะความเร็วลมเป็นปัจจัยที่วัดได้ยาก และมักได้รับอิทธิพลจากภูมิประเทศหรือสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ แม้แต่ชุดข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดก็ยังไม่สามารถบันทึกความสุดขั้วของสภาพอากาศได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจุดนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกละเลยในการวิจัยมาเป็นเวลานาน

กระนั้น แม้ว่าตอนนี้ยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน แต่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าความเร็วลมจะชะลอตัวลงและมีความการแกว่งในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า โดยภายในปี 2100 ความเร็วลมเฉลี่ยต่อปีอาจลดลงถึง 10% ซึ่งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์พยายามใช้ข้อมูลล่าสุดมากขึ้น ลดการพึ่งพาการวัดค่าทางประวัติศาสตร์ และทำการจำลองเพิ่มเติม

ทว่าล่าสุด การศึกษาฉบับใหม่พบว่า ภาวะลมสงบในฤดูร้อนของยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่า ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อความเร็วลมทั่วโลกจากสถิติในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ การลดลงของความเร็วลมเพียง 5% อาจส่งผลให้การผลิตพลังงานลมผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.จาง (Gan Zhang) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์บานา-แชมเปญ ยังได้เปิดเผยกับ Bloomberg ถึงกรณีดังกล่าวว่า “ระบบพลังงานเป็นตลาดที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง หากคุณเปลี่ยนอัตรากำไรเพียง 5-10% ราคาของพลังงานสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล”

นอกจากนี้  ดร.จาง แนะนำว่า ยุโรปอาจต้องสร้างแนวทางใหม่กับการผลิตพลังงานหมุนเวียนในอนาคต เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดจากความเร็วลมที่ลดลง  ทีมวิจัยของเขาหาทางแก้ปัญหาการขาดแคลนข้อมูลในอดีตโดยใช้ชุดข้อมูลหลายแหล่งและทำการจำลอง ซึ่งพบว่าภาวะลมสงบในฤดูร้อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ปัญหาต่อพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

ผลกระทบของการชะลอตัวของความเร็วลมในยุโรปต่อพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดในระยะยาวยังคงไม่แน่ชัด โดยในปี 2024 พลังงานลมคิดเป็น 17% ของโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าของสหภาพยุโรป และกำลังการผลิตยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีโครงการใหม่หลายโครงการที่ล่าช้าในหลายประเทศ แต่พลังงานลมยังคงมีต้นทุนถูกกว่าพลังงานจากฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ

ด้าน  อีวาน ฟอร์ สเวการ์ดเดน (Ivan Føre Svegaarden) หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์พลังงานและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ กล่าวว่า แนวโน้มเหล่านี้ชัดเจนขึ้นเมื่อให้ความสำคัญกับข้อมูลสภาพภูมิอากาศล่าสุดมากกว่าข้อมูลในอดีต ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศที่ยุโรปกำลังเผชิญจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์

ดังนั้น ความเร็วลมที่ลดลงอาจบ่งชี้ว่านโยบายของสหภาพยุโรปอาจพึ่งพาพลังงานลมมากเกินไปในการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด แต่ ดร.จาง มองในแง่ดีมากกว่า เขาระบุว่า แม้ความเร็วลมจะลดลง พลังงานลมก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพลังงานสำหรับประเทศส่วนใหญ่

ขณะที่ คริสโตเฟอร์ โวเกล (Christopher Vogel) นักวิจัยด้านพลังงานลมและพลังงานคลื่นจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ยุโรปควรกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้า สร้างระบบเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าให้มากขึ้น และมีแหล่งพลังงานสำรอง เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการลดลงของพลังงานลม

“คุณไม่สามารถพึ่งพาพลังงานลมเพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าของสหราชอาณาจักรตลอดทั้งปีได้ โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด” โวเกล ให้ความเห็น

พลังงานลมมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการกระตุ้นมลพิษที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน และตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าสนใจว่าผลกระทบในระยะยาวของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ได้สร้างผลเสียกระทบครั้งใหม่ต่อการผลิตพลังงานสะอาดโดยตรง ต้องจับตาดูต่อไปว่าหลายประเทศทั่วโลกจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

Photo by David Guttenfelder, Nat Geo Image Collection

อ้างอิง

https://www.euronews.com

https://www.luxtimes.lu


อ่านเพิ่มเติม : นักวิจัยพบไมโครพลาสติก ทำพืชสังเคราะห์แสงได้น้อยลง 12%  

Recommend