Ocean ภาพยนตร์สารคดีที่สำคัญที่สุดในชีวิตของ Sir David Attenborough การสำรวจแนวปะการังไปจนถึงน้ำแข็งขั้วโลกที่ทำให้เขามองเห็นว่า ทะเลคือหัวใจของการอยู่รอดของโลก
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 99 ของ Sir David Attenborough หนึ่งในนักสารคดีธรรมชาติและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกชาวอังกฤษ ซึ่งตลอดชีวิตเกือบ 1 ศตวรรษ การเป็นผู้บุกเบิกใช้เทคโนโลยีถ่ายทำภาพยนตร์ในที่ห่างไกล ผู้ผลิตสารคดีธรรมชาติอันทรงอิทธิพล และบทบาทการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่โดดเด่น ทำให้เขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เซอร์ (Knight Bachelor) จากราชวงศ์อังกฤษตั้งแต่ปี 1985 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็น Order of Merit ในปี 1996 รวมถึงได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง Knight Grand Cross of the Order of St Michael and St George (GCMG) ของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2020
สถานที่ที่สำคัญที่สุดในโลกไม่ใช่บนบก แต่คือท้องทะเล
ทั้งนี้ Sir David Attenborough ได้ให้สัมภาษณ์กับ oceanographicmagazine.com แสดงความห่วงใยต่อมหาสมุทรว่า “หลังจากเกือบ 100 ปีบนโลกใบนี้ ผมเข้าใจแล้วว่าสถานที่ที่สำคัญที่สุดบนโลกไม่ใช่บนบก แต่คือในทะเล” โดยเขาเน้นย้ำว่าการรักษามหาสมุทรเท่ากับการที่เราได้รักษาตัวเราเอง และแม้เซอร์เดวิดยอมรับว่าอาจไม่เห็นการฟื้นฟูของมหาสมุทรในช่วงชีวิตของตัวเอง แต่เขาเชื่อว่า เด็กๆ ในวันนี้อาจได้เห็นสิ่งนั้น
สำหรับการเดินทางสำรวจมหาสมุทรครั้งล่าสุดของ Sir David เจ้าตัวเปิดเผยว่า เขากับทีมงานต้องการแสดงให้เห็นว่า ไม่มีที่ใดบนโลกที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของเรามากไปกว่ามหาสมุทร ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิต ความมหัศจรรย์ และสิ่งไม่คาดคิดมากมาย ครอบคลุมพื้นที่ถึง 70% ของผิวโลก โดยผลงานสารคดีเรื่องนี้เซอร์เดวิด นอกจากจะมีฉากอันน่าทึ่งของแนวปะการัง ป่าเคลป์ และความงดงามของท้องทะเล เขายังถ่ายทอดให้เห็นว่า ทำไมมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นกุญแจสำคัญต่อเสถียรภาพและความอุดมสมบูรณ์ของโลก
เสียงแห่งมหาสมุทรและคำเตือนสุดท้าย
“ช่วงชีวิตของผมเกิดมาพร้อมกับยุคทองของการสำรวจมหาสมุทร ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจได้ค้นพบสายพันธุ์ใหม่ที่น่าอัศจรรย์ การอพยพย้ายถิ่นอันยิ่งใหญ่ และระบบนิเวศอันซับซ้อนเกินกว่าที่ผมจะจินตนาการได้เมื่อยังเป็นหนุ่ม” Sir David Attenborough กล่าว
ในภาพยนตร์ Ocean with David Attenborough สารคดีเรื่องใหม่ของSir David กับพาร์ตเนอร์หลักอย่าง National Geographic มีเป้าหมายทั้งแบ่งปันการค้นพบอันน่าทึ่ง ตีแผ่ว่าทำไมมหาสมุทรของเราถึงป่วยหนัก และที่สำคัญที่สุด แสดงให้เห็นว่ามันสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างไร
แน่นอนว่ามันมีฟุตเทจหายากสุดสะเทือนใจเกี่ยวกับการลากอวนท้องทะเล (bottom trawling) วิธีการจับปลาที่ทำลายล้างสัตว์ทะเลอย่างรุนแรงที่สุดวิธีหนึ่ง เรือเหล่านี้มักจะจับปลาเพียงชนิดเดียว เช่น ปลาค็อด ปลาแฮดด็อก หรือ ปลาฮาลิบัต ส่วนสัตว์อื่นๆ ที่ติดอวนมาด้วยจะถูกทิ้งกลับลงทะเล ความสูญเปล่าคือ สัตว์ทะเลมากกว่า 3 ใน 4 ของปลาที่ถูกจับได้ด้วยเรือลากอวน มักถูกโยนทิ้งไป หลายตัวตายทันที บางตัวบาดเจ็บหนักและใช้ชีวิตต่อได้อีกไม่นาน

คีธ โชลีย์ ผู้กำกับร่วมและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เปิดเผยว่า ผู้คนทั่วโลกจำเป็นต้องเห็นความจริงว่ากำลังเกิดอะไรกับทะเล ซึ่งสมาคมชีววิทยาทางทะเลกำลังศึกษาผลกระทบของมัน และมียินยอมให้เผยแพร่ฟุตเทจกิจกรรมการลากอวนและการขูดพื้นทะเล เพื่อใช้ในการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเล
Sir David กล่าวในบทสัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ The Times ว่า ตนอาจไม่ได้มีโอกาสเห็นวันที่มหาสมุทรฟื้นตัวและกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์แล้ว ทว่าเด็กเล็กๆ ที่เล่นอยู่บนชายหาดในวันนี้ยังมีโอกาสอยู่ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด พวกเขาจะได้เป็นพยานในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์ในรอบ 10,000 ปี โดยมีงานวิจัยสนับสนุนว่า ทะเลสามารถรักษาตัวเองได้หากมนุษย์ลงมือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเริ่มรักษาเยียวยาท้องทะเลตั้งแต่ตอนนี้
ความหวังของชายผู้อุทิศชีวิตให้การสำรวจโลกใต้ทะเล
ที่ผ่านมาผลงานอันโดดเด่นของ Sir David อย่างสารคดี The Blue Planet และ Our Planet ได้สำรวจความงดงามและความสำคัญของมหาสมุทร รวมถึงการเตือนภัยเกี่ยวกับการทำลายระบบนิเวศทางทะเล และสารคดี Blue Planet II ก็ยังคงเน้นการศึกษาความลึกลับของมหาสมุทรและชีวิตสัตว์ในทะเล รวมถึงการถ่ายทำที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ อาทิ มลพิษจากพลาสติกที่เป็นภัยต่อสัตว์ทะเลและการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ
นอกจากนี้ Sir David ยังได้ใช้เวทีต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปกป้องมหาสมุทรการอนุรักษ์ทะเล โดยเฉพาะการปกป้องพื้นที่ทางทะเลที่สำคัญ ทั้ง การสนับสนุนการสร้างพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่ช่วยลดผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ อย่างการประมงและมลพิษ ซึ่งในผลงานชิ้นต่างๆ ของเขาก็มุ่งเน้นการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทะเลและสัตว์ทะเล รวมทั้งการละลายของน้ำแข็งที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องทะเลและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในน้ำทะเล
ขณะเดียวกัน เขายังการร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์ อย่าง Greenpeace และ World Wildlife Fund (WWF) ในการสนับสนุนและผลักดันการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลทั่วโลก ซึ่งการทำงานของเขามีผลกระทบอย่างลึกซึ้งทั้งในด้านการศึกษาและการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางการอนุรักษ์มหาสมุทรอย่างจริงจังและยั่งยืน เหล่านี้คือหลักฐานที่ชัดเจนว่าเขาอุทิศชีวิตตัวเองให้การสำรวจทะเล
ส่วนในผลงานเรื่องล่าสุดของเขา Ocean จะทำให้คุณได้เห็นโลกใต้ผืนน้ำลึก สิ่งที่เซอร์เดวิดหลงรัก เขากับทีมงานจะพาคนดูไปชมจุดต่างๆ ตั้งแต่ใต้ทะเลที่เขาเคยเดินทางไปถ่ายทำสารคดี แนวปะการังที่สวยงาม ไปจนถึงน้ำแข็งขั้วโลก พร้อมเปิดเผยถึงมุมมองส่วนตัวที่ไม่เคยถูกเผยแพร่ในสื่อมาก่อน เช่น แนวทางแก้ไขปัญหาการลากอวนท้องทะเล ความเห็นส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับความสำคัญของทะเล เป็นต้น
อนึ่ง ภาพยนตร์สารคดี Ocean ยังตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นว่า นโยบายที่ถูกต้องสามารถเปลี่ยนแปลงมหาสมุทรได้จริง เช่นกรณีที่คณะกรรมาธิการวาฬระหว่างประเทศ (IWC) สั่งห้ามล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในทศวรรษ 1980 “แค่การลงนามบนกระดาษ ทุกอย่างก็หยุดลงและวาฬบางสายพันธุ์ที่เคยเกือบสูญพันธุ์ก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น การฟื้นฟูของวาฬในช่วงชีวิตของผมนั้น น่าเหลือเชื่อมาก” คีธ โชลีย์ กล่าว
ทีมผู้สร้างสารคดีและผู้เชี่ยวชาญต่างหวังว่า การตัดสินใจในลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อปกป้องมหาสมุทรจากการลากอวนท้องทะเล ในการประชุมมหาสมุทรของสหประชาชาติครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายนปี 2025 โดยรัฐบาลจำเป็นต้องลุกขึ้นมาหยุดการลากอวนท้องทะเล และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้จริงจัง หากเราคุ้มครองพื้นที่อย่างจริงจัง ชีวิตในทะเลจะกลับมาอย่างน่าทึ่ง ทะเลที่เคยรกร้างจะกลายเป็นป่าทะเลที่สวยงามราวกับป่าดงดิบอีกครั้ง
Sir David ระบุอีกว่า “การทำลายล้างของมนุษย์ที่มีต่อมหาสมุทร คือการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ในทะเล และเรากำลังดูดกลืนชีวิตจากมหาสมุทร ความเปราะบางของมหาสมุทร ทั้งการทำประมงเกินขนาด การใช้พลาสติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกอย่างกำลังกระหน่ำซัดทะเลที่เลี้ยงเราเหมือนพายุเงียบ เราคือผู้กำหนดอนาคตของมหาสมุทร และในท้ายที่สุด กำหนดอนาคตของตัวเราเองด้วย”
“มหาสมุทรสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่เราคิด เรามีเวลาเหลือไม่มากนัก แต่มันก็ยังไม่สายเกินไป” Sir David Attenborough กล่าวอย่างมีความหวัง โดยไม่ลืมเรียกร้องให้เราทุกคนมาร่วมกันลงมือปกป้องมหาสมุทร
ภาพยนตร์ Ocean มรดกชิ้นสำคัญของ Sir David Attenborough
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Ocean หรือ “Ocean with David Attenborough” ได้เปิดตัวรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2025 ที่ Royal Festival Hall ในกรุงลอนดอน ก่อนที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2025 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 99 ของ Sir David และจะฉายให้ชมทาง Disney+ ช่วงปลายปีนี้ โดย Ocean เป็นผลงานที่ Sir David นิยามว่าคือ หนึ่งในภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา หนังนำเสนอความงดงามของมหาสมุทรควบคู่กับผลกระทบที่มนุษย์มีต่อระบบนิเวศทางทะเล เช่น การทำประมงเกินขนาดและการทำลายล้างปะการัง
Ocean อาจเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายในการโน้มน้าวใจผู้ชมของ Sir David เนื่องจากในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ โลกจะได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งความมหัศจรรย์ของมหาสมุทรในแบบที่ผู้ติดตามผลงานของเซอร์เดวิดคุ้นเคย และภาพของการทำลายท้องทะเลที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด คล้ายกับฉากหนึ่งในหนังภัยพิบัติธรรมชาติ มันทรงพลังจนสามารถกระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์มหาสมุทร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 100 ปี ที่เซอร์เดวิดใช้วิธีเล่าเรื่องแบบนี้
ดังนั้น Ocean จึงไม่ได้เป็นเพียงจดหมายรักที่ถ่ายทอดความสวยงามของทะเล หรือความผูกพันที่มีต่อมหาสมุทรตลอดชีวิตการทำงานของเซอร์เดวิด แต่ยังสะท้อนการเรียกร้องอย่างลึกซึ้งและตรงไปตรงมาให้ทุกคนลงมือป้องกันมลพิษทางทะเล-ฟื้นฟูท้องทะเลอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่เพื่อธรรมชาติ แต่เพื่อตัวมนุษยชาติเอง เปรียบได้ว่า มันเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่เขามอบให้แก่โลกที่แสดงให้เห็นถึงทั้งความสวยงามและความเปราะบางของมหาสมุทร
กระนั้น Sir David ก็ไม่ปล่อยให้ผู้ชมรู้สึกสิ้นหวัง เขาย้ำอยู่เสมอว่าธรรมชาติมีศักยภาพในการฟื้นตัว หากเราให้โอกาส มีตัวอย่างให้เห็นจากประเทศที่ปกป้องแนวปะการังหรือเขตสงวนทางทะเลที่ฟื้นตัวหลังจากการปิดพื้นที่เพียงไม่กี่ปี เหล่านี้คือหลักฐานทางธรรมชาติที่ชัดเจนอย่างยิ่ง รวมถึงเขายังได้ส่งมอบแนวทางต่างๆ ให้นักอนุรักษ์รุ่นใหม่ได้เดินรอยตามแทรกอยู่ในเนื้อหาของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้อีกด้วย
“อนาคตของมนุษย์นั้นไม่ได้ผูกติดอยู่กับเทือกเขา ป่าไม้ หรือเมืองใหญ่ แต่คือท้องทะเล” Sir David Attenborough ยืนยันอย่างหนักแน่นใน Ocean with David Attenborough ซึ่งหากเขาคือเสียงของธรรมชาติ เซอร์เดวิดก็เลือกจะส่งเสียงสุดท้ายของตัวเองให้กับ มหาสมุทร สถานที่ที่เขาเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความหวังครั้งใหม่
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพจาก oceanfilm
ที่มา
อ่านเพิ่มเติม : ภาวะโลกร้อนรุนแรง ทำทะเลแคสเปียนหดตัว แมวน้ำท้องถิ่นเสี่ยงสูญพันธุ์