นักวิทยาศาสตร์เตือนระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นแบบ ‘หายนะ’ แม้เราจะสามารถควบคุมโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C

นักวิทยาศาสตร์เตือนระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นแบบ ‘หายนะ’ แม้เราจะสามารถควบคุมโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C

“ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นเป็น 2 เท่าใน 3 ทศวรรษ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2100

หรือประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี แม้เราจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C ก็ตาม” 

“การจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C จะถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่” คริส สโตกส์ (Chris Stokes) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเดอรัมในอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เขียนหลัก กล่าว ซึ่งจะช่วยให้โลกหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านสภาพอากาศที่เลวร้ายได้หลายประการ

“แต่แม้ว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ ระดับน้ำทะเลก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนปรับตัวได้ยากมาก” เขาเสริม

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Communications earth & environment เตือนว่าระดับน้ำทะเลจะยังคงสูงขึ้นในแบบควบคุมไม่ได้ แม้จะควบคุมภาวะโลกร้อนไม่ให้เกิน 1.5°C ซึ่งจะนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ และเหตุการณ์นี้จะยังคงเกิดขึ้นแม้ระดับความร้อนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2°C ก็ตาม

เป้าหมายที่น่ากังวล 

ท่ามกลางวิกฤตสภาพอากาศปัจจุบันทำให้แผ่นน้ำแข็งยักษ์กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกามีการละลายเพิ่มขึ้น 4 เท่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ซึ่งนำไปสู่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่เพื่อจำกัดผลกระทบต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลกจึงมีเป้าหมายรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C

อย่างไรก็ตามดูเหมือนเราจะยังมีความพยายามไม่มากพอ ทำให้เป้าหมายดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เมื่อพิจารณาจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นแทนที่จะเป็น 1.5°C โลกกลับมุ่งสู่ภาวะโลกร้อนที่ 2.5-2.9°C ซึ่งแน่นอนว่าจะก้าวข้ามจุด ‘หายนะ’ ที่ทำให้แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกพังทลาย

งานวิจัยก่อนหน้าคาดการณ์ไว้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น “อย่างเลวร้าย” ประมาณ 12 เมตร สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ปัจจุบันมีผู้คนราว 230 ล้านคนอาศัยอยู่ภายในระดับความสูงเหนือน้ำทะเลปัจจุบันไม่เกิน 1 เมตร และอีก 1,000 ล้านคนอาศัยอยู่ภายในระดับความสูงเหนือน้ำทะเล 10 เมตร 

ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วย ทว่ารายงานใหม่ได้เผยให้เห็นภาพที่แตกต่าง แม้เราจะหยุดยั้งอุณหภูมิไม่ให้เกินเป้าหมาย ระดับน้ำทะเลก็จะยังคงเพิ่มขึ้นในระดับ ‘หายนะ’ อยู่ดี

“ผมคิดว่าบางครั้งอาจมีความเข้าใจผิดว่าอุณหภูมิ 1.5°C จะทำให้ปัญหาทั้งหมดของเราหมดไป” สโตกส์ กล่าว “เราควรตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายน้ำแข็งเกิดช้าลง หรือหยุดได้ในทุกกรณี” 

ภาพที่ชัดเจน

เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคค สโตกส์ ศาสตราจารย์โจนาธาน แบมเบอร์ (Jonathan Bambe) จากมหาวิทยาลัยบริสตอล และ เพื่อนร่วมงานได้วิเคราะห์ใน 3 ประเด็นได้แก่ การสังเกตการสูญเสียน้ำแข็งและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากดาวเทียมในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาอากาศอบอุ่นในอดีต และแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของแผ่นน้ำแข็ง

แบมเบอร์กล่าวว่า แบบจำลองคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ นั้นไม่ได้รวมปัจจัยด้านกระบวนการสำคัญมากมายเข้าไปด้วย เช่น แผ่นน้ำแข็งจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ในการตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนเป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การสังเกตการณ์จากดาวเทียม แสดงให้เห็นว่าแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตกกำลังตอบสนองอย่างรวดเร็ว

“การสังเกตการณ์แสดงให้เห็นภาพที่แตกต่างอย่างมาก” แบมเบอร์ กล่าว “การสูญเสียมวลน้ำแข็งบางส่วนที่เราเห็นในกรีนแลนด์นั้นน่าตกใจมาก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อเทียบกับสิ่งที่แบบจำลองคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า” 

ไม่เพียงแต่กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันกจะสูญเสียน้ำแข็งไปแล้วเท่านั้น แต่แนวโน้มดังกล่าวยังเร่งตัวขึ้นด้วย ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ แผ่นน้ำแข็งเหล่านี้พังทลายภายใต้สถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่ 1.2°C  ดังนั้นเป้าหมาย 1.5°C อาจกลายเป็นหายนะได้ 

ขณะเดียวกันการตรวจสอบข้อมูลจากงานวิจัยที่ศึกษาช่วงที่อากาศอบอุ่นเมื่อ 3 ล้านปีก่อน ได้เผยให้เห็นว่า การสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 15,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 10 เท่าของอัตราปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

นอกจากนี้ครั้งสุดท้ายที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในชั้นบรรยากาศสูงเท่าปัจจุบนคือเมื่อประมาณ 3 ล้านปีก่อน ระดับน้ำทะเลสูงก็ขึ้น 10-20 เมตร และแม้ว่ามนุษย์จะสามารถย้อนกลับอุณหภูมิไปเท่ากับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมได้ ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยถึงหลายพันปีกว่าแผ่นน้ำแข็งจะฟื้นตัวอยู่ดี

ทั้งหมดนี้หมายความว่า เราจะสูญเสียน้ำแข็งและทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างเลวร้ายไปอีกนาน กว่าโลกจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม (หากเราหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้) 

“เรากำลังผลักดันเรื่องนี้ให้ก้าวไปข้างหน้า” สโตกส์ กล่าว “ตอนนี้ชัดเจนมากแล้วว่าจริง ๆ แล้ว เราเริ่มเห็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดบางอย่างเกิดขึ้นต่อหน้าเราเกือบทั้งหมด เมื่อพิจารณาจากบันทึกต่าง ๆ” 

ทีมวิจัยระบุว่าหากจะชะลอระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นจากแผ่นน้ำแข็งที่ละลายให้อยู่ในระดับที่จัดการได้นั้น อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะต้องลดลงเหลือประมาณ 1°C จากยุคก่อนอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ปัญหาก็คือประเทศร่ำรวยมีทรัพยากรเพียงพอในการปกป้องชายฝั่งของตนเองจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้

แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างบังกลาเทศ จะเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่ามาก และทำให้เกิดการอพยพของผู้คนจำนวนมากในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในอารยธรรมสมัยใหม่นี่เป็นเหตุผลว่าทุกการดำเนินการจึงมีความสำคัญมาก 

“ทุกเศษเสี้ยวขององศามีความสำคัญต่อแผ่นน้ำแข็งจริง ๆ” สโตกส์ กล่าว “ใช่ จุดเปลี่ยนและเกณฑ์ต่าง ๆ อาจมีอยู่ แต่ผมคิดว่าบางครั้งสิ่งเหล่านี้อาจเบี่ยงเบนความสนใจจากความรู้พื้นฐานที่ว่าจริง ๆ แล้วทุกเศษเสี้ยวขององศามีความสำคัญจริง ๆ” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com

https://www.sciencealert.com

https://www.theguardian.com

https://www.newscientist.com


อ่านเพิ่มเติม : ธารน้ำแข็งละลาย ทำพื้นที่ชุ่มน้ำบนภูเขาทั่วโลก ปนเปื้อนไปด้วยปรอ

Recommend