ค้นพบกบพิษชนิดใหม่ในเปรู

ค้นพบกบพิษชนิดใหม่ในเปรู

เรื่อง แครรี อาร์โนลด์

ลึกเข้าไปในป่าแอมะซอน เขตประเทศเปรู ภายในเขตสงวนชีวมณฑลมานู ชีร์เลย์ เจนนิเฟอร์ เซร์เรโน โรฆาส หมอบตัวลงใกล้กับลำธารรสายหนึ่ง เธอเงี่ยหูฟังเสียงที่ดังระงมมาจากทุกทิศทาง ในขณะที่เครื่องบันทึกเสียงของเธอก็ทำหน้าที่ของมัน ทันใดนั้น เธอได้ยินเสียงหนึ่งที่แปลกหู เป็นเสียงร้องของกบที่เธอไม่เคยได้ยิน แต่ก่อนที่เธอจะจับทิศทางของต้นเสียงได้ เสียงที่ฟังไม่คุ้นนี้ก็อันตรธานไปเสียก่อน

มันเป็นช่วงฤดูร้อนในปี 2013 เซร์เรโน โรฆาส หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ภาคสนามแห่งมูลนิธิครีส์ กำลังสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในภูมิภาคนี้ของเปรู เธอเคยได้ยินมาทั้งหมดแล้วว่าแต่ละชนิดมีเสียงร้องอย่างไร แต่เสียงนี้เธอไม่คุ้นเลยจริง ๆ

หลังจากการสำรวจในวันนั้น แอนดรูว์ วิทเวิร์ธ ที่ปรึกษาของเธอ ได้ฟังเสียงจากเครื่องบันทึกและยืนยันกับเธอว่า เหมือนเธอจะพบชนิดพันธุ์ใหม่

การสำรวจเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในลำธารสายเดิม กระทั่งพวกเขาได้ตัวเจ้าของเสียงปริศนาตัวนั้น มันคือกบพิษลำตัวสีดำขลับและมีแถบสีส้มพาดที่ด้านข้าง การศึกษาเจ้ากบชนิดนี้เป็นเวลาแรมปี ทั้งการตรวจสอบทางพันธุกรรมและการวิเคราะห์สายวิวัฒนาการ ในที่สุด กบตัวนี้ได้รับการยืนยันว่าเป็นน้องใหม่แห่งวงการวิทยาศาสตร์ด้วยชื่อ Ameerega shihuemoy

งานวิจัยที่พรรณาเจ้ากบชนิดใหม่นี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Zootaxa และเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา

กบเจ้าเสน่ห์

กบพิษหรือที่รู้จักในชื่อกบลูกดอก เป็นสมาชิกในกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีความหลากหลายมาก โดยส่วนมากกบพิษจะขับยางหรือพิษจากผิวหนังได้ ชนพื้นเมืองจึงใช้ประโยชน์จากพิษของมันในสร้างลูกดอกล่าสัตว์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานสนใจพวกมันมากกว่าแค่เรื่องความมีพิษ ไคล์ ซัมเมอร์ส นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แคโรไลนา กล่าว

ในกรณีของกบพิษ พวกมันมีวิธีการดูแลตัวอ่อนที่ไม่เหมือนกบชนิดอื่น กบตัวผู้สายพันธุ์อื่นมักจะทิ้งไข่ของพวกมันไปหลังการผสมพันธุ์ แต่เจ้ากบพิษจะคอยเฝ้าดูแลไข่ให้ได้รับความชุ่มชื้นและมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา หลังจากไข่ฟักแล้ว ตัวผู้จะขนย้ายลูกอ๊อดที่พึ่งเกิดไปยังบ่อน้ำใกล้ ๆ ในขณะที่ตัวเมียคอยดูแลเรื่องอาหารให้กับเหล่าลูกอ๊อดตัวน้อย

กบสีสันสดใสเหล่านี้มีความน่าค้นหามาก “การที่พวกมันมีสีสันสะดุดตาเช่นนี้ อาจจะเป็นการเตือนผู้ล่าว่า พวกมันไม่อร่อยนะ” ซัมเมอร์สบอก

การแข่งขันกับเวลา

เป็นที่ทราบกันว่า พื้นที่ป่าฝนเขตร้อนแอมะซอนกำลังหดหายไปเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่า นักวิทยาศาสตร์อย่างเซร์เรโน โรฆาส ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อรักษาเจ้ากบน้องใหม่ชนิดนี้ไว้ก่อนที่พวกมันจะถูกทำลาย พื้นที่สงวนชีวมณฑลมานูเป็นหนึ่งในเขตที่รัฐบาลเปรูพยายามรักษาไว้ เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

พื้นที่สงวนรวมทั้งอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่ใจกลาง นับว่าเป็นพื้นที่ปกป้องพิเศษ ไม่อนุญาตให้มีการสร้างถนนหรือกิจกรรมท่องเที่ยว และพื้นที่ชายขอบหรือพื้นที่รอยต่อจัดว่าเป็นพื้นที่กันชนของพื้นที่สงวน

เซร์เรโน เรโฆศ ทำงานอยู่ในพื้นที่กันชนในตอนที่เขาได้ยินเสียงกบพิษชนิดใหม่เป็นครั้งแรก “มันตื่นเต้นมากเลยค่ะ ที่ได้พบกับมัน แต่พวกมันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากเช่นกัน” เธอบอก “มันจะยิ่งแย่ลงถ้าเราไม่มีแผนอนุรักษ์พวกมัน”

ซัมเมอร์สเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอพูด เขากล่าวว่า เขตสงวนชีวมณฑลมานูเป็นจุดที่กบและสัตว์ชนิดอื่นๆ อาศัยอยู่รวมกันมากแห่งหนึ่ง และสิ่งที่เธอค้นพบนี้เป็นเพียงจุดเล็กที่เราจะรู้จักภูมิภาคนี้มากขึ้น เขาเชื่อว่ายังมีกบพิษอีกหลายชนิดที่รอการค้นพบ

เขากล่าวทิ้งทายว่า “ปัญหาคือ พวกมันมักจากพวกเราไปเสียก่อนที่พวกเราจะเจอพวกมัน”

Recommend