อเคนาเตน ฟาโรห์ ผู้พลิกฟ้าคว่ำดิน
เช้าวันหนึ่งที่อมาร์นา หมู่บ้านในอียิปต์ตอนบน ห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ราว 300 กิโลเมตร กระดูกชิ้นเล็กๆและบอบบางชุดหนึ่งถูกจัดเรียงไว้บนโต๊ะไม้ “กระดูกไหปลาร้าอยู่นี่ ต้นแขน ซี่โครง และท่อนขาส่วนล่างก็ด้วย” แอชลี ชิดเนอร์นักชีวโบราณคดีชาวอเมริกันบอก “เจ้าของร่างมีอายุราวขวบครึ่งถึงสองขวบค่ะ”
โครงกระดูกนี้เป็นของเด็กคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในอมาร์นาเมื่อกว่า 3,300 ปีก่อน ในสมัยที่เมืองนี้เป็นนครหลวงของอียิปต์ สร้างโดย ฟาโรห์ อเคนาเตน กษัตริย์พระองค์นี้ พร้อมด้วยพระมเหสีเนเฟอร์ตีติ และตุตันคามุน ผู้เป็นพระโอรส ทำให้คนในยุคปัจจุบันหลงใหลได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคคลสำคัญอื่นๆ จากยุคอียิปต์โบราณ ทว่าโครงกระดูกนิรนามโครงนี้ ซึ่งขุดได้จากหลุมฝังศพที่ปราศจากเครื่องหมายใดๆ เป็นหลักฐานแสดงถึงภาวะทุพโภชนาการที่ชิดเนอร์และคนอื่นๆเคยสังเกตเห็นมาแล้วจากโครงกระดูกของเด็กหลายสิบคนในอมาร์นา
“สภาวะโตช้าจะเริ่มเมื่ออายุราวเจ็ดเดือนครึ่งค่ะ” ชิดเนอร์บอก “เป็นช่วงที่เริ่มเปลี่ยนจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาเป็นการกินอาหารแข็ง” ที่อมาร์นา การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวของเด็กจำนวนมากดูเหมือนจะถูกชะลอออกไป “อาจเป็นเพราะแม่เห็นว่ามีอาหารไม่พอให้ลูกกินก็เป็นได้ค่ะ”
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ราษฎรของอเคนาเตนดูจะเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่พระองค์ทรงทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่คนอื่นๆต่างวิพากษ์วิจารณ์ฟาโรห์ผู้ทรงครองราชย์ตั้งแต่ราวปี 1353 ถึง 1336 ก่อนคริสตกาล และทรงพยายามเปลี่ยนแปลงศาสนา ศิลปะ และการปกครองของอียิปต์ ฟาโรห์พระองค์ต่อๆมาส่วนใหญ่วิจารณ์รัชสมัยของพระองค์อย่างสาดเสียเทเสีย ไม่เว้นแม้แต่ตุตันคามุนผู้ทรงตำหนิสภาพความเป็นอยู่ในรัชสมัยของพระบิดาว่า “แผ่นดินลำเค็ญ ทวยเทพได้ละทิ้งดินแดนนี้ไปเสียแล้ว” และในราชวงศ์ต่อมา อเคนาเตนไม่เพียงทรงถูกตราหน้าว่าเป็น “อาชญากร” และ “กบฏ” แต่รูปสลักและภาพของพระองค์ยังถูกทำลาย นัยว่าเพื่อต้องการลบพระนามของกษัติรย์พระองค์นี้จากหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์อย่างสิ้นเชิง
ทว่าในยุคปัจจุบัน ความคิดเห็นเกี่ยวกับอเคนาเตนพลิกกลับมายังขั้วตรงข้ามอย่างสุดโต่ง เมื่อนักโบราณคดีตีความการค้นพบอเคนาเตนใหม่อีกครั้ง ย้อนหลังไปเมื่อปี 1905 เจมส์ เฮนรี เบรสเตด นักไอยคุปต์วิทยา กล่าวถึงฟาโรห์พระองค์นี้ว่า ทรงเป็น “เอกัตบุคคล [ในความหมายของบุคคลผู้มีความเป็นตัวของตัวเองและแสดงออกซึ่งบุคลิกชัดเจน] คนแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” เบรสเตดและคนอื่นๆอีกหลายคนมองว่า อเคนาเตนทรงเป็นนักปฏิวัติผู้มีความคิดล้ำยุคมาก โดยเฉพาะแนวคิด เรื่องเอกเทวนิยม (monotheism) โดมินีก มงแซรา ผู้เขียนหนังสือ อเคนาเตน: ประวัติศาสตร์ แฟนตาซี และอียิปต์โบราณ (Akhenaten: History, Fantasy and Ancient Egypt) ตั้งข้อสังเกตว่า บ่อยครั้งเรามักนำหลักฐานกระจัดกระจายจากสมัยโบราณมาร้อยเรียงใหม่เป็นคำอธิบายที่เข้าใจได้ในโลกหรือยุคสมัยของเรา เราทำเช่นนี้ “เพื่อที่อดีตจะส่องให้เห็นปัจจุบันเฉกเช่นกระจกเงา”
กระจกเงาสมัยใหม่ของอเคนาเตนสะท้อนให้เห็นแทบทุกอัตลักษณ์ของพระองค์เท่าที่เราจะคิดจินตนาการได้ พระองค์ถูกวาดภาพว่าเป็นคริสตชนยุคเริ่มแรก นักสิ่งแวดล้อมผู้รักสันติ ชายรักร่วมเพศอย่างเปิดเผย และเผด็จการผู้รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ
นักโบราณคดีพยายามคัดค้านการตีความเช่นนี้เสมอมา ทว่ายังขาดหลักฐานหรือชิ้นส่วนสำคัญของปริศนานี้ การศึกษาส่วนใหญ่ที่อมาร์นาเน้นไปที่วัฒนธรรมของชนชั้นสูง ได้แก่ ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมของราชวงศ์ และจารึกจากหลุมฝังศพของข้าราชการระดับสูง นักวิทยาศาสตร์หวังมานานแล้วว่า จะมีโอกาสศึกษาสถานที่ฝังศพของสามัญชนบ้าง เพราะทราบดีว่าในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 17 ปีที่อมาร์นารุ่งเรืองอยู่นั้น สุสานจะให้ภาพชีวิตประจำวันที่หาได้ยาก แต่กว่าจะมีการสำรวจทะเลทรายที่อยู่รอบๆอย่างละเอียดและพบหลักฐานของสุสานสี่แห่งตั้งอยู่แยกกัน เวลาก็ล่วงเลยมาถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดแล้ว