โบราณคดีที่ ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอนคลี่คลายความลับจากบรรพกาล 32,000 ปี

โบราณคดีที่ ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอนคลี่คลายความลับจากบรรพกาล 32,000 ปี

กว่า 20 ปีที่ ศ.ดร.รัศมี  ชูทรงเดช กับทีมนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ร่วมกันขุดค้นและไขปริศนาโลงไม้จํานวนมากที่พบตามถํ้าและเพิงผาต่างๆ ในอําเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปทางทิศเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร  อำเภอ ปางมะผ้า เก็บงำความลับของบุพกาลไว้บนภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน  พื้นที่ราบระหว่างหุบเขาคือที่ตั้งบ้านเรือนของชาติพันธุ์ต่างๆ ผู้อาศัยอยู่ในเวลาของปัจจุบัน พวกเขาประกอบด้วยมูเซอ  ไทใหญ่  ลีซู  กะเหรี่ยง  ม้ง  ปะโอ  ลัวะ  รวมทั้งคนพื้นราบ  ปางมะผ้า เป็นพื้นที่ที่เรื่องราวในอดีตทาบทับอยู่กับปัจจุบันเหมือนการดำรงอยู่ของเงากับ แสงแดดซึ่งขับเน้นกันชัดเจนกว่าถิ่นอื่น  โถงถํ้ากว่า 70 แห่งที่กระจายอยู่ทั่ว  ทั้งที่เข้าถึงได้ง่ายและบนเขาสูงชัน  ยังคงเก็บรักษาเรื่องราวของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ในยามที่ผู้คนยุคปัจจุบันดำเนินชีวิตท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่ ศ.ดร.รัศมี  ชูทรงเดช  ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร  กับทีมนักวิจัยจากหลากหลายสาขาได้เผยร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งโบราณคดีสำคัญสามแห่งของพื้นที่อำเภอปางมะผ้า  ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอดในพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถํ้านํ้าลอด ตำบลถํ้าลอด  แหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ในเขตบ้านไร่  ตำบลสบป่อง  และแหล่งโบราณคดีถํ้าผีแมนโลงลงรัก  ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านถํ้าลอด  อำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2541-2543  ศ.ดร.รัศมีเข้า ร่วมทีมนักวิจัยที่มีผศ.ดร.สิทธิพงษ์  ดิลกวณิช เป็นหัวหน้าโครงการสำ รวจถํ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  นับเป็นยุคบุกเบิกเปิดม่านบรรพกาล  ในตอนนั้น  พวกเขาค้นพบโลงไม้โบราณจำนวนมากตามโถงถํ้า  ซึ่งเรียกกันว่าโลงผีแมน

ปางมะผ้า
นะอื่อ สำเภาโอฬาร ขนะเดินสำรวจโลงไม้ภายในถ้ำผีแมน บริเวณบ้านจ่าโบ่ อำเภอปางมะผ้า แม้ปัจจุบันบ้านจ่าโบ่จะกลายเป็นจุดเช็กอินที่ได้รับความนิยมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่น้อยคนที่รู้ว่าไม่ไกลจากจุดชมวิวยอดฮิตมีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญหลับใหลอยู่

ต่อมาใน พ.ศ. 2544-2549 หลังจากการสำรวจครั้งนั้น ศ.ดร.รัศมี ในฐานะหัวหน้าโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำ เภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  รวบรวมทีมนักวิจัยสหวิทยาการ  ได้แก่ ชาติพันธุ์วรรณาโบราณคดี  มานุษยวิทยา กายภาพ วงปีไม้และสิ่งแวดล้อม และสารสนเทศทางภูมิศาสตร์  ร่วมกันไต่เพิงผาของความท้าทายเพื่อขึ้นไปค้นพบว่า  “แหล่งโบราณคดีที่เพิงผาถํ้าลอดมีอายุเก่าแก่ถึง 32,000 ปี”  ศ.ดร.รัศมีกล่าว “ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าจะย้อนไปไกลถึงขนาดนั้นค่ะ”

นอกจากการหาอายุทางโบราณคดีแล้ว การวิจัยครั้งนี้ยังศึกษาสภาพแวดล้อมโบราณควบคู่ไปกับการปรับตัวของ มนุษย์  เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก ทีมวิจัยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์เพศชายอายุ 9,720 ปีที่แหล่ง โบราณคดีเพิงผาบ้านไร่เมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอดประมาณ 30 กิโลเมตร  พอปีถัดมาพวกเขาพบโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิงอายุ 13,640 ปีที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอด  “นอกจากกระดูกมนุษย์ เราพบกระดูกสัตว์จำนวนมาก รวมถึงเครื่องมือเป็นเเสนๆ ชิ้นค่ะ” ศ.ดร.รัศมีเล่า

หลักฐานที่นักวิจัยค้นพบจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอดและเพิงผาบ้านไร่  แสดงถึงร่องรอยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมหินกะเทาะ  ตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนตอนปลายหรือประมาณ 32,000 ปีก่อน  ซึ่ง เก่าแก่ที่สุดในบรรดาแหล่งโบราณคดีภาคเหนือ  มนุษย์โบราณใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวต่อๆกันมาจนถึงสมัยโฮโลซีนตอนต้น คือราว 7,500 ปีมาแล้ว

ศ.ดร รัศมี ชูทรงเดช หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องวัฒนธรรมโลงไม้ที่ปางมะผ้า กำลังให้ข้อมูลการค้นพบโลงไม้สภาพสมบูรณ์จำนวนมากภายในถ้ำผีแมนโลงลงรักแห่งนี้แก่ทีมผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา จากบรรพชีวินวิทยาจนถึงผ้าทอและเครื่องประดับ

จากการศึกษากระดูกสัตว์และละอองเรณูเปิดเผยว่า พื้นที่สูงของอำเภอปางมะผ้าในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายและโฮโลซีนตอนต้นมีอากาศหนาวเย็นและชุ่มชื้นกว่าปัจจุบัน คนในยุคนั้นล่าสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร  พวกเขาย้ายที่พักพิงตามฤดูกาล  มีถํ้าหรือเพิงผาเป็นที่อาศัยและฝังศพ  ต่อมาในสมัยโฮโลซีนตอนปลายหรือวัฒนธรรมยุคเหล็ก  ราว 57 ปี ก่อน พ.ศ. ถึงพุทธศตวรรษที่สิบสี่  หลักฐานจากโลงไม้เผยว่าเดิมบริเวณพื้นที่สูงของอำเภอปางมะผ้าในปัจจุบัน  เป็นผืนป่าเบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์และป่าดิบชื้น  ก่อนจะกลายเป็นป่าเบญจพรรณเสื่อมโทรมและมีป่าเต็งรังขึ้นปะปน  ถํ้าและเพิงผาถูกเปลี่ยนหน้าที่เป็นสุสานเพียงอย่างเดียว  ขณะเดียวกันคนในยุคนั้นมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากไม้แล้ว พวกเขามีทักษะเชิงช่าง  ทำหัตถกรรมเครื่องไม้ประเภทโลงไม้  ทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะ

ยุคต่อมา  ซึ่งร่วมสมัยกับวัฒนธรรมล้านนาประมาณพุทธศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดถึงยี่สิบสอง  ผู้คนบนพื้นที่สูงเริ่มติดต่อกับชุมชนพื้นราบมากขึ้น  มีการตั้งถิ่นฐานในที่ราบหุบเขาและสร้างศาสนสถานเกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา

“ปางมะผ้าที่เป็นดินแดนชายขอบในเวลาของปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้ว  ปางมะผ้ารํ่ารวยทางวัฒนธรรมมานานแล้วค่ะ พวกเขาสั่งสมภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน”  ศ.ดร.รัศมีกล่าว

ปางมะผ้า

สิบสองปีหลังจากการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์อายุ 13,640 ปี ที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอด  กระดูกของหญิงบุพกาล ค่อยๆ ปรากฏกลายเป็นใบหน้าของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558  ถึงมีนาคม พ.ศ. 2559  “เลดี้แห่งถํ้าลอด”  ตามที่ ศ.ดร.รัศมีเรียกขาน  ก็อวดโฉมต่อสายตาผู้คนทั่วโลก

ในช่วงเวลานั้น  ศ.ดร.รัศมีได้พบกับ ดร.ซูซาน  เฮย์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองใบหน้าคนโบราณแห่งมหาวิทยาลัยวุลลองกอง  ประเทศออสเตรเลีย  เทคนิคของ ดร.ซูซาน  เริ่มต้นด้วยการจำลองใบหน้าจากกะโหลก (facial approximation)  โดยใช้การวาดภาพสองมิติ  เธออาศัยการเปรียบเทียบใบหน้าจากแฟ้มภาพประวัติกะโหลกศีรษะของผู้หญิงในยุคเดียวกันจำนวน 720 ตัวอย่างจาก 25 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเวลาเดียวกัน  ศ.ดร.รัศมีได้มอบหมายให้วัชระ ประยูรคำ   ประติมากรอิสระ ทดลองปั้นใบหน้าสามมิติ  โดยอาศัยข้อมูลจากนัทธมน  ภู่รีพัฒน์พงศ์  คงคาสุริยฉาย นักมานุษยวิทยากายภาพผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกคน  ผู้ขุดพบโครงกระดูกนี้  ทั้งยังวิเคราะห์และจำลองแบบขึ้นมาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และหล่อเรซินเบื้องต้น  เมื่องานของทั้งสองฝ่ายสำเร็จลง  ภาพวาดใบหน้าผู้หญิงโบราณสองมิติของ ดร.ซูซาน  มีความละม้ายคล้ายกับใบหน้าที่ปั้นโดยประติมากรชาวไทยอย่างยิ่ง  แสดงถึงความสอดคล้องและความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้ในการจำลองใบหน้าในระดับหนึ่ง

ก่อนที่ใบหน้าของเลดี้แห่งถํ้าลอดจะมีชีวิตชีวาขึ้นมานั้น เมื่อ พ.ศ. 2553 ทีมวิจัยได้ค้นพบโครงกระดูกในโลงไม้เป็นครั้งแรกที่แหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมโลงไม้แห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งคือ แหล่งโบราณคดีถํ้าผีแมนโลงลงรัก

การศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดีถํ้าผีแมนโลงลงรักเริ่มดำเนินไปอย่างเป็นระบบในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2556-2559 โดยมีศ.ดร.รัศมีเป็นหัวหน้าโครงการ  ทีมวิจัยพบหลักฐานทางโบราณคดีหลากหลายประเภทมากที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษาวัฒนธรรมโลงไม้กันมา พวกเขาพบกระดูกมนุษย์ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมไปถึงภาชนะดินเผา ภาชนะไม้ ลูกปัด ไม้ทอผ้า ผ้าทอ เครื่องจักสาน เครื่องประดับทำจากโลหะ หอยเบี้ยกระดูกสัตว์ และเมล็ดพืช

“เราตื่นเต้นมากค่ะ” ศ.ดร.รัศมีบอกว่า ชิ้นส่วนผ้าและอุปกรณ์ในการทอผ้าเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยี การทอผ้าในอดีต รวมถึงภาชนะไม้และโลงที่ถูกเคลือบด้วยยางไม้ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นรัก ข้อมูลเหล่านี้เผยให้เห็น ภูมิปัญญาของคนบนพื้นที่สูงผู้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับ การทำไม้และการใช้ทรัพยากรจากป่าเป็นอย่างดี ซึ่งไม่เคยมีการขุดค้นพบหลักฐานประเภทนี้มาก่อน

แต่การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของ การค้นหาคำตอบซึ่งต้องพึ่งพาทีมวิจัยจากสหวิทยาการด้วย “บางคำตอบเราต้องรอถึง 20 ปีค่ะ” ศ.ดร.รัศมีเล่าว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว นักวิจัยไม่สามารถขึ้นรูปใบหน้าของโครงกระดูกที่ขุดพบ เนื่องจากสภาพหลักฐานที่ชำรุดทำให้ “รู้เพียงว่าเราเจอโครงกระดูกที่มีอายุเก่าแก่ยุคปลายนํ้าแข็ง เจอเครื่องมือหินกะเทาะ เจอกระดูกสัตว์ ซึ่งกระดูกสัตว์บางชิ้นเราก็จำแนกได้อย่างกว้างๆ แต่ไม่สามารถระบุชี้ชัดเป็นชนิดได้ เช่น กวาง ซึ่งมีหลายสปีชีส์ ต้องรอถึง 20 ปี เราจึงบอกได้ว่ากระดูกที่พบคือกระดูกของกวางผาหิมาลัย” ศ.ดร.รัศมีเล่า

ปางมะผ้า
เส้นทางเข้าถ้ำผีแมนที่บ้านจ่าโบ่ อำเภอปางมะผ้า

สิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบที่ปางมะผ้าทำให้เราเป็นเหมือนผีเสื้อกลางคืนตัวเล็กที่ไต่ไปตามผืนผ้าของกาลเวลาอันไพศาล ด้ายแต่ละเส้นที่ถักทอเป็นผืนผ้าคืออุปมาอุปไมยของเรื่องราวเล็กๆ ที่สานต่อกันเป็นลวดลายของอดีตอันวิจิตร

จากการทำงานด้วยความอุตสาหะอย่างต่อเนื่องและวิทยาการอันก้าวลํ้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาผสานกับศาสตร์ของ โบราณคดีระหว่าง พ.ศ. 2560-2563 ศ.ดร.รัศมีรวบรวม ทีมวิจัยจากปริมณฑลที่รายรอบ เช่น มานุษยวิทยากายภาพ สาขาฟันมนุษย์และกระดูกสัตว์ วงปีไม้และสิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา พันธุ์ศาสตร์ประชากร สัตววิทยา พันธุศาสตร์ โมเลกุลและชีวสารสนเทศเข้ามาร่วมหาคำตอบที่ทำให้ปัจจุบันเขยิบเข้าใกล้อดีตทีละนิด

“พวกเขาคือนักวิจัยหนุ่มสาวค่ะ” ศ.ดร.รัศมีกล่าวถึง ทีมวิจัยสหวิทยาการ “เราตั้งคำถามท้าทายไปยังศาสตร์ที่ พวกเขาถนัด เรารู้ว่านักโบราณคดีมีข้อจำกัด การใช้ศาสตร์ที่หลากหลายในการตีความหลักฐานจึงเป็นวิธีการที่เราทำ มาตลอด”

“ผมเข้ามาร่วมงานกับอาจารย์รัศมีครั้งแรกช่วงประมาณปี 2546 ครับ” ดร.อธิวัตน์ วัฒนะพิทักษ์สกุล นักสัตววิทยา เท้าความหลังและอธิบายว่า  “งานของผมก็เหมือนกับการที่นักศึกษาแพทย์ศึกษากระดูกเพื่อรักษาคน แต่ผมศึกษากระดูกสัตว์เพื่อตอบคำถามถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต”

ไม่น่าเชื่อว่ากระดูกและฟันของสัตว์โบราณเปิดเผยภูมิทัศน์ในอดีตได้ ในกรณีของพื้นที่ตั้งแต่เพิงผาถํ้าลอด อำเภอ ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเลาะตามแนวเทือกเขาตะวันตกมาจนถึงมาเลเซียและเกาะชวาเมื่อ 12,000-34,000 ปีมาแล้ว มีสภาพแวดล้อมแบบป่าทุ่งหญ้ากว้างสลับกับบางบริเวณที่เป็นป่าดิบและป่าผลัดใบหรือที่เรียกกันว่า ‘สะวันนา’ (savanna forest) “ในอดีตแผ่นดินประเทศไทยเคยเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ใจกลางอ่าวไทยเคยเป็นทุ่งหญ้าหรือที่เรียกว่า ทุ่งซุนดา ซึ่งลักษณะทุ่งหญ้านี้อาจแผ่ลามยาวมาถึงปางมะผ้า” ดร.อธิวัฒน์เล่าถึงอดีตของปางมะผ้าในยุคนํ้าแข็ง

ภาพเขียนสีบนเพิงผา

การกินยังบอกเล่าชีวิตและสิ่งแวดล้อมของยุคสมัยได้ด้วย นักวิจัยจึงศึกษาสิ่งแวดล้อมโบราณผ่านการกินของคนและสัตว์ในยุคไพลสโตซีนตอนปลาย พวกเขานำตัวอย่างฟันจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอดไปศึกษาด้วยวิธีการวิเคราะห์ไอโซโทป เสถียร ซึ่งค่าที่ได้จากไอโซโทปเป็นเหมือนข้อความที่เคยถูกเขียนด้วยสำนวนของนักโภชนาการ บันทึกสิ่งที่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตโบราณกินเข้าไป ธาตุเหล่านี้จะถูกนำไปสร้างเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ความลับด้านสิ่งแวดล้อมจึงถูกเก็บงำไว้ในเส้นขน ผิวหนัง กระดูก และฟัน

องค์ประกอบไอโซโทปบ่งบอกว่า คนและสัตว์ในยุค นํ้าแข็งตอนปลายบริเวณพื้นที่ปางมะผ้ากินพืชที่ขึ้นในป่าทึบ รวมถึงพืชที่เกิดในสภาพแวดล้อมแบบป่าทุ่งหญ้า ข้อมูลนี้ กรุยทางไปสู่ข้อเสนอสำคัญของนักวิจัยว่า มนุษย์ในยุคนํ้าแข็ง สามารถเดินทางจากภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ลงไปยังเขตหมู่เกาะ ผ่านป่าทุ่งหญ้า ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัย  เรียกเส้นทางนี้ว่า “เส้นทางสะวันนา”

ปางมะผ้า
วัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลงไม้

“กระดูกของสัตว์ไขให้เรารู้ว่าในอดีตเคยมีสัตว์ชนิดใดบ้างซึ่งมันพลิกความเข้าใจที่เรามีต่ออดีตไปเลยครับ” ดร.อธิวัตน์ ใช้เวลากว่าสิบปีศึกษากระดูกที่พบในแหล่งโบราณคดีปางมะผ้าทั้งสามแห่งร่วมกับนักวิจัยจากสหวิทยาการที่ดำเนินมาตั้งแต่ ต้นทศวรรษ 2540 กระทั่งพบว่าคนในยุคไพลสโตซีนตอนปลายนิยมล่าสัตว์ในตระกูลเลียงผา ได้แก่ เลียงผา กวางผาจีน ถิ่นใต้ และกวางผาหิมาลัย ซึ่งปัจจุบันยังสามารถพบกวางผาหิมาลัยได้ในแถบเทือกเขาหิมาลัย

กระดูกกวางผาหิมาลัยจำนวน 30 ชิ้นที่ ดร.อธิวัตน์ใช้ ศึกษา เป็นหนึ่งในหลักฐานยืนยันการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศบริเวณปางมะผ้า จากอากาศหนาวเย็นในสมัย ไพลสโตซีนตอนปลาย อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นจนอากาศค่อยๆ อบอุ่นในสมัยโฮโลซีน เขาเล่าว่า  “เราพบหลักฐานการกระจายตัว ของกวางผาหิมาลัยในหลายพื้นที่ครับ พวกมันอยู่ที่เชียงใหม่ กระจายตัวไปถึงชัยภูมิเลยด้วยซํ้า แต่เมื่อหมดยุคนํ้าแข็งเข้าสู่ ยุคที่อากาศอบอุ่น กวางผาหิมาลัยก็เขยิบขึ้นไปถึงภูเขาหิมาลัย”

สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นได้เปลี่ยนชนิดของสัตว์ที่มนุษย์ล่ากระดูกสัตว์ที่พบในแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ เผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในยุคโฮโลซีน เมื่อคนในช่วงเวลาเดียวกันไม่นิยมล่าสัตว์ในตระกูลเลียงผาอีกแล้ว แต่สอดส่ายสายตามองสูงขึ้นไปเพื่อเล็งหาสัตว์ที่มีขนาดเล็กบนต้นไม้นักโบราณคดีพบหลักฐานของสัตว์กลุ่มลิงเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานี้

หลักฐานจำพวกกระดูกจากแหล่งโบราณคดีถํ้าผีแมนโลง ลงรักเผยให้เห็นว่า มนุษย์ในยุคโฮโลซีนตอนปลายเริ่มเลี้ยง สัตว์ประเภทหมู หมา ไก่ฟ้า เพื่อใช้เป็นเครื่องอุทิศศพ ภายในถํ้า “แทนที่จะออกไปเสี่ยงชีวิตล่าสัตว์ในป่าเหมือนคนในยุคก่อนหน้า พวกเขาหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้นครับ” ดร.อธิวัฒน์อธิบาย

นักโบราณคดีพบว่าโลงไม้ในแหล่งโบราณคดีถํ้าผีแมนโลง ลงรักเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 583 ถึง พ.ศ. 1083 หรือ พุทธศตวรรษที่หกถึงสิบเอ็ด ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการเกิดเมือง หริภุญไชยในภาคเหนือหรือดินแดนล้านนาที่เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่สิบสามถึงสิบสี่ กลุ่มคนใน “วัฒนธรรมโลงไม้” พื้นที่ อำ เภอปางมะผ้าเป็นสังคมระดับชนเผ่าสืบสายโคตรตระกูล เดียวกันและเป็นเครือญาติกัน เป็นสังคมไม่มีการแบ่งชนชั้นที่ ชัดเจน พวกเขาแบ่งหน้าที่การทำ งานกันตามความชำนาญ เฉพาะทาง ชัดเจนว่าพวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีสูงเกี่ยวกับงานเครื่องไม้ และมี ความรู้เกี่ยวกับป่าไม้เป็นอย่างดี

ปางมะผ้า
ความพิเศษของโลงไม้ที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ คือโลงไม้เหล่านี้ถูกวางไว้ในภูมิทัศน์ที่อยู่บริเวณเพิงผาซึ่งแตกต่างจากแหล่งโบราณคดีโลงไม้อื่นๆที่มักจะพบโลงไม้อยู่ในถ้ำ

ข้อมูลที่นักโบราณคดีได้จากการขุดค้นและผลการหาอายุ ด้วยวิธีคาร์บอน-14 จากแหล่งโบราณคดีถํ้าผีแมนโลงลงรัก ช่วยทำ ให้มองเห็นตะเข็บของเวลาตรงรอยต่อระหว่างยุคก่อน ประวัติศาสตร์กับสมัยประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ ชุมชนที่ อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในยุคเหล็กมีการปรับตัวที่แตกต่างจาก ชุมชนร่วมสมัยที่อาศัยอยู่ในที่ราบ โดยเฉพาะแบบแผนการ ปลงศพภายในถํ้าและเพิงผาบนภูเขา คนในวัฒนธรรมโลงไม้ น่าจะเป็นคนละกลุ่มกับคนที่อาศัยที่ปางมะผ้าในปัจจุบัน

ศ.ดร.รัศมีสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมโลงไม้ที่พบในปางมะผ้าอาจเป็นวัฒนธรรมที่นำเข้ามาจากคนภายนอก หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มคน “ไป่เย่ว” หรือคนป่าเถื่อนร้อยเผ่า พวกเขาคือกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายที่มีความแตกต่างไปจากวัฒนธรรมของชาวฮั่น อพยพเข้ามาอาศัยที่ปางมะผ้า พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างจำกัด ทำให้พัฒนาการของสังคมดำเนินไปอย่างล่าช้า หากเทียบกับชุมชนร่วมสมัยแห่งอื่นที่พัฒนาเข้าสู่ระดับแว่นแคว้นและรัฐแล้ว “เราพบว่าคนที่เคยอาศัยอยู่ที่ปางมะผ้าค่อนข้างสันโดษค่ะ” นักโบราณคดีหญิงและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้นี้ ตั้งข้อสังเกตจากหลักฐานที่ยืนยันถึงเรื่องดังกล่าว นั่นคือการที่นักวิจัยพบสิ่งของต่างถิ่นหรือของมีค่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยในภูมิภาคอื่น

“แต่ตอนที่เสนอข้อสันนิษฐานนี้ เรายังไม่ได้ทำดีเอ็นเอ นะคะ เราต้องการพิสูจน์ให้ได้ จึงชวนนักวิจัยเรื่องดีเอ็นเอ เข้ามาร่วมกันหาคำตอบ เราต้องการตรึงคำตอบให้ได้อย่าง ชัดเจน”

ปางมะผ้า, แม่ฮ่องสอน
ทิวทัศน์ของหมู่บ้านตัดกับเทือกเขาสลับซับซ้อนเช่นนี้เป็นภูมิทัศน์ของอำเภอปางมะผ้าที่อาจจะมีถ้ำอีกมากมายซ่อนอยู่บนเขา

ตัวอย่างดีเอ็นเอที่ผมนำมาจากอาจารย์รัศมี เราสามารถสกัดได้แค่ดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียครับ ในขณะที่ดีเอ็นเอ ส่วนอื่นๆ เรากำลังวิเคราะห์ผลอยู่” รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา เข้ามาร่วมทีมวิจัยกับ ศ.ดร.รัศมี เพื่อ “ตรึงคำตอบ” ด้วยนวัตกรรมการตรวจดีเอ็นเอโบราณตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ถึง 2563

รศ.ดร.วิภูบอกว่า การสกัดดีเอ็นเอโบราณในถํ้าเขตร้อนเป็นงานยาก หลักฐานโบราณคดีที่สามารถสกัดดีเอ็นเอได้ดีจะอยู่ในถํ้าหินปูนที่มีอากาศเย็น ในขณะที่หลักฐานที่นักโบราณคดีพบในถํ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสน้อยที่จะสกัดดีเอ็นเอได้สำ เร็จ เมื่อเทียบกับหลักฐานที่พบในยุโรปหรือในเอเชียทางเหนือ “ทีมวิจัยของเราสามารถสกัดดีเอ็นเอที่ได้จากถํ้าผีแมนโลงลงรักได้เพียงสี่ตัวอย่างครับ” รศ.ดร.วิภู กล่าว จากตัวอย่างที่มีทั้งหมด 200-300 ตัวอย่าง เมื่อนำดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียอายุระหว่าง 1,800-1,600 ปี เปรียบเทียบกับคนชาติพันธุ์ในปัจจุบัน ทำให้พวกเขาพบว่า ผลดีเอ็นเอมีความคลายคลึงกับกลุ่มคนที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก

ภาพหน้าคนสร้างขึ้นจากกะโหลกเพียงบางส่วนที่พบที่เพิงผาถ้ำลอด เป็นผลงานของ ดร.ซูซาน เฮย์ส มหาวิทยาลัยวุลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย ทำให้เราได้เห็นรูปร่างหน้าตาของ “เลดี้แห่งถ้ำลอด” ผู้มีอายุกว่า 13,000 ปี

“พวกเขามีดีเอ็นเอใกล้เคียงกับชาติพันธุ์มอญที่สุดครับ” นักชีววิทยาผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ที่จารึกในรูปแบบดีเอ็นเอ เล่าว่า ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นทำให้อาจารย์รัศมีเกิดคำถามตามมาว่า “ทำไมผลดีเอ็นเอจึงไม่คล้ายกับดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ลีซูหรือไทใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ซึ่งผมก็บอกไม่ได้ครับ”

แม้จะได้คำตอบแล้ว แต่อย่างที่บอกคำตอบเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามใหม่ “ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจเราต้องหาคำตอบกันต่อไป” ศ.ดร.รัศมีบอก

ตัวอย่างดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์มอญมีลักษณะผสมผสานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งการผสมผสานที่ปรากฏในผลวิเคราะห์ของทีมวิจัย เผยให้เห็นเส้นทางการเดินทางอันซับซ้อนของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มอญ “มอญเป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์ที่อพยพไปมาและเจอผู้คนเยอะมากครับ พวกเขากระจายตัวไปพม่า อินเดีย ไทย ซึ่งความยากก็อยู่ตรงนี้แหละครับ” รศ.ดร.วิภูเล่า

การสืบค้นหลักฐานทางโบราณคดีปางมะผ้ายังคงต้องดำเนินต่อไป การค้นคว้าดูเหมือนเป็นงานไม่มีวันสิ้นสุด เพราะคำตอบนำ ไปสู่คำถามประหนึ่งสายโซ่ของวิทยาการ ศ.ดร.รัศมี และ รศ.ดร.วิภูคาดหวังตรงกันว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานโบราณคดีเพื่อไขคำตอบที่ถูกเก็บงำไว้ในบรรพกาล

เรื่อง วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2564


อ่านเพิ่มเติม ภารกิจขุดค้นประวัติศาสตร์แห่ง เรือโบราณพนมสุรินทร์ เรือโบราณพันปียุคทวารวดี

Recommend