123 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษที่ตั้งไข่ประชาธิปไตยในไทย ผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์ และบุคคลสำคัญของโลก

123 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษที่ตั้งไข่ประชาธิปไตยในไทย ผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์ และบุคคลสำคัญของโลก

วัน ปรีดี พนมยงค์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 คือวันครบรอบวันเกิดปีที่ 123 ของ นาย ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ เป็นอีกหนึ่งรัฐบุรุษและบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่มีบทบาทในหลายมิติ ไม่ว่าจะในแวดวงการเมืองการปกครอง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การศึกษา การธนาคาร ตลอดจนเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม

ประวัติ ปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ที่เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวชาวนา เขาเป็นบุตรของนายเสียงและนางลูกจันทร์ โดยเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ. 2456 ได้ใช้นามสกุลว่าพนมยงค์

ปรีดี ได้รับการส่งเสียให้รับการศึกษาที่ดี เริ่มการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ก่อนจะย้ายมากรุงเทพฯโดยเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามลำดับ เมื่อเรียนจบเขากลับบ้านเกิดมาช่วยพ่อทำนา 1 ปี ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2460 พร้อมกับศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภากับอาจารย์เลเดเกร์

นายปรีดี ใช้เวลาเรียนเพียงหนึ่งปีครึ่งก็สอบไล่ผ่านวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต เมื่อพ.ศ. 2462 ขณะมีอายุเพียง 19 ปี เขาต้องรอถึงอายุ 20 ปีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาตามระเบียบข้อบังคับในยุคนั้น แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง นายปรีดี ได้รับเป็นทนายความแก้ต่างให้กับฝ่ายจำเลยโดยได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจากผู้พิพากษาเจ้าของคดี และสามารถชนะคดีได้ด้วย

ต่อมา นายปรีดี ได้เป็นนักเรียนทุนศึกษาไปต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถสำเร็จการศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยปารีส ในปี 2469 ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎรในประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา

ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์ กับการอภิวัฒน์สยามและหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หรือ การอภิวัฒน์สยาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่รวมตัวดันเรียกตนเองว่า คณะราษฎร ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก

การปฏิวัติสยาม ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนากับพันเอกพระยาทรงสุรเดช ที่นำทหารออกมายึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ และช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน มีการเรียกประชุมรัฐมนตรีอาวุโส โดย นายปรีดี พยายามเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการพลเรือนอาวุโสสนับสนุนคณะราษฎร มิฉะนั้นแล้วการแสดงออกอันความสับสนอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากต่างชาติได้ รวมถึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศส่งข่าวไปยังคณะทูตต่างประเทศทั้งหมด พร้อมคณะราษฎรให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองชีวิตและธุรกิจของชาวต่างชาติและบรรลุพันธกรณีตามสนธิสัญญาของสยาม

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวที่ร่างขึ้นโดย นายปรีดี เขียน มีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน

สมัยประชุมแรกของรัฐสภาผู้แทนราษฎรประชุมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่เมื่อถึงปลายปีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและมีความเป็นสายกลางมากขึ้นก็ได้มีผลใช้บังคับแทนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 156 คน เลือกตั้ง 76 คน และอีก 76 คนได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งการจำกัดประชาธิปไตยถูกยกเลิกและรัฐบาลมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476

ด้าน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้รับเลือกจากสมาชิกคณะราษฎรให้เป็น นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการประนอมอำนาจกับอำนาจเก่า แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง 192 วัน สุดท้ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกขับออกจากตำแหน่งจากการทำรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

ส่วนบทบาทของการเป็นผู้นำเสรีไทยช่วงสงครามโลกของ นายปรีดี เริ่มต้นหลังจากที่รัฐบาลไทยตัดสินใจในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ยินยอมให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้วได้มีองค์การหรือขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นทั้งในไทยและกลุ่มคนไทยในอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา หรือเรียกกันต่อมาว่า ขบวนการเสรีไทย ซึ่งในประเทศไทยก่อตั้งโดย นาย ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ส่วนแรงขับดังกล่าวเกิดจากการที่ นาย ปรีดี พนมยงค์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในตอนนั้น ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จน นายปรีดี ต้องออกจากคณะรัฐบาลในเวลาต่อมา

ช่วงวันที่ 10 ธันวาคม เมื่อ นายปรีดี ทราบเรื่องการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของคนไทยขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว จึงได้ส่งตัวแทนเสรีไทยในประเทศไปจีน และบางคณะไปถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ขณะที่เสรีไทยในต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาปฏิบัติการในไทยด้วยการโดดร่มมาลงในภูมิภาคต่างๆ เพื่อต่อต้านทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในไทย

สำหรับการปะทะกันระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นแบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการมีอยู่ของ เสรีไทย ทำให้ไทยรดพ้นจากการเป็นชาติแพ้สงคราม แม้จะเคยร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ความร่วมมือลับ ๆ ของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ ไทยมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ สหรัฐฯถือว่าไทยไม่เคยประกาศสงครามต่อประเทศของตน หลังสงครามยุติพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง นายปรีดี ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส

ปรีดี พนมยงค์ สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นาย ปรีดี พนมยงค์ ถูกผู้ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 ของประเทศไทย ในวันที่ 24 มีนาคม 2489 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ประกาศใช้ นายปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 มิ.ย. พ.ศ. 2489 และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น แต่ยังไม่ทันได้ตั้งคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ. 2489 นายปรีดี ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 11 มิ.ย. ก่อนจะถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2489 และมีการสนับสนุนให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งแทน

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง พร้อมสั่งการให้จับตัว ปรีดี พนมยงค์ แต่ นายปรีดี ได้รับการคุ้มครองจากฝ่ายทหารเรือและได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษและสหรัฐอมริกาในไทยให้หนีไปสิงคโปร์ จากสิงคโปร์ นายปรีดี เดินทางไปฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ โดยมีความพยายามที่จะกลับประเทศไทยผ่านการติดต่อกับฝ่ายทหารบกเพื่อที่จะกลับมาต่อสู้ทางการเมืองโดยสันติวิธี แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากคณะรัฐประหาร

นายปรีดี ตัดสินใจจะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจโดยติดต่อกับฝ่ายทหารเรือ โดยมีพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการมณฑลทหารเรือที่ 2 และรักษาการผู้บังคับกองพลนาวิกโยธินสนับสนุน เมื่อ 26 ก.พ. พ.ศ. 2492 ซึ่งมีการเข้ายึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ล่วงรู้ถึงแผนการยึดอำนาจ ประกอบกับทหารเรือบางฝ่ายไม่เข้าร่วม ทำให้การยึดอำนาจไม่ประสบผลสำเร็จ จนมีการเจรจาหยุดยิงในวันที่ 27 ก.พ. จากนั้นบทบาทการเมืองในประเทศของ นายปรีดี ก็สิ้นสุดลง

นายปรีดี ลี้ภัยในต่างแดนเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี เขาพำนักอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 21 ปี และใน พ.ศ. 2513 นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนช่วยเหลือให้นายปรีดีเดินทางจากจีนไปยังกรุงปารีส ซึ่งต่อมาได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ของฝรั่งเศส ให้พำนักอยู่ที่นั่นได้

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายปรีดี ตระหนักว่า ราษฎรไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นปัญหาสำคัญในการเสริมสร้างระบอบการปกครองดังกล่าวให้มั่นคง ท่านจึงคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดสอนวิชากฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และวิชาอื่นแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า แต่ท่านก็ไม่มีโอกาสทำตามตั้งใจได้ เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายเดือน

ดังนั้น นายปรีดี จึงได้ผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พ.ศ.2476 จนสามารถก่อตั้ง มหาวิทยาลัยตลาดวิชา แห่งแรกของสยาม คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก. ซึ่งมีลักษณะ พิเศษ เกี่ยวพัน กับการเมืองและความเป็นไปของชาติตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ.2477 ซึ่งนายปรีดีได้กล่าวรายงานว่า “ในสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” โดย นายปรีดี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ผลิตบัณฑิตและผู้ได้รับประกาศนียบัตรสาขาต่างๆ คือสาขาธรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ และสาขาการบัญชี ออกไปปฏิบัติงานในภาครัฐบาลและภาคเอกชน ในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งมีความรู้ทั้งด้านกฎหมาย การเมือง (รัฐศาสตร์) และเศรษฐศาสตร์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแก่ราษฎรไทย ซึ่งการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นการเสริมสร้างสติปัญญาของคนไทย โดยเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางสังคม การก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานทางสังคมของประเทศไทย

ผู้วางรากฐานธนาคารชาติ

ปรีดี พนมยงค์ คือผู้วางรากฐานธนาคารชาติ โดยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้มอบหมายให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง เค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นเพื่อใช้เป็นแผนบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ หนึ่งในข้อเสนอคือการจัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือการเป็นนายธนาคารของรัฐบาล ทั้งในด้านการจัดหาทุนและให้เงินรัฐบาลกู้เพื่อทำนุบำรุงเศรษฐกิจ

สำนักงานธนาคารชาติไทย ที่ ปรีดี พนมยงค์ ผลักดันจนออกเป็นพระราชบัญญัติให้มีการจัดตั้งขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2485 โดยหลังจากสิ้นสุดกระบวนการตามวิธีพิจารณาแล้ว รัฐบาลก็ได้นำ พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482 ตราไว้ ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2482 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 26 ตุลาคม 2482

ที่ทำการของสำนักงานธนาคารชาติไทย ตั้งอยู่ที่กรมบัญชีกลาง ตึกซ้ายมือประตูวิเศษชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง มีพนักงานเริ่มแรกทั้งหมด 18 คน โดยถือกำเนิดมาตามแรงผลักดันทางการเมืองผสมกับความต้องการองค์กรที่จะช่วยจัดการด้านการเงินให้รัฐบาล ทว่าเมื่อเปิดทำการเพียงเพียงสองปีครึ่ง ก็ถูกยุติลงด้วยแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศจากญี่ปุ่น ซึ่งไทยร่วมเป็นพันธมิตรด้วยในสงครามมหาเอเชียบูรพา ก่อนจะเกิดธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในภายหลัง

ปรีดี พนมยงค์

ชีวิตส่วนตัวของ ปรีดี พนมยงค์

นาย ปรีดี พนมยงค์ แต่งงานกับ คุณหญิง พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2471 และมีชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด 55 ปี มีบุตรธิดา 6 คนคือ ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และ วาณี

นอกจากเป็นนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ ปรีดี ยังเป็นนักเขียนฝีมือดี โดยเขียนจดหมายไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนหนังสือเล่มที่มีชื่อเสียงของท่าน ได้แก่ บันทึกข้อเสนอเรื่อง ขุดคอคอดกระ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 , ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน , ความเป็นมาของชื่อ ประเทศสยาม กับ ประเทศไทย , จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม และ ประชาธิปไตย เบื้องต้นสำหรับสามัญชน เป็นต้น

ช่วงก่อนเที่ยง ของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นาย ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 82 ปี ด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน

14 ปีหลังนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรม คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเมื่อวันที่ 13 พ.ค. พ.ศ.2540 เสนอชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ ไปยังองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติเพื่อขอให้ยูเนสโกบรรจุชื่อเขาไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาล

กระทั่งในปี พ.ศ. 2543 นาย ปรีดี พนมยงค์ จึงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็น 1 ใน บุคคลสำคัญของโลก ในวาระ 100 ปีชาตกาล

ขอบคุณภาพจาก สถาบัน ปรีดี พนมยงค์

ที่มา

https://th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์

https://pridi.or.th/th/content

https://www.bbc.com/thai/thailand-52598950

อ่านเพิ่มเติม 107 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมประวัติและผลงาน บุคคลสำคัญของโลกที่ยูเนสโกยกย่อง

Recommend