เทอร์เทิล ในระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกา ฝ่ายอาณานิคมอเมริกันได้สร้าง เรือดำน้ำ ที่จอร์จ วอชิงตันเรียกว่า “ความทุ่มเทของอัจฉริยะ” ขึ้น เรือที่ดำลงไปในมหาสมุทรได้ลำนั้นยังอยู่ใต้ผืนน้ำหรือไม่
ในปัจจุบัน เรือดำน้ำ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และวงการการท่องเที่ยว ทว่าแนวคิดในการนำเรือดำน้ำมาใช้งานในด้านต่าง ๆ อาจมีมานานกว่าที่เราคิด เพราะหนึ่งในเรือดำน้ำลำแรก ๆ ของโลกนั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 18
กองทัพคอนติเนทัล (ทหารฝ่ายอเมริกัน) เป็นพวกที่พร้อมออกรบและเด็ดเดี่ยวจึงเลือกใช้การทำศึกแบบกองโจรเพื่อที่จะจัดการกับกองทัพอังกฤษที่ออกรบอย่างมีแบบแผนมากกว่า ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่นั้นต่างฝ่ายต่างก็คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จำเป็นในช่วงสงครามขึ้น โดยฝ่ายอเมริกาได้คิดค้นหมึกล่องหนที่ช่วยให้สายลับหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ของอังกฤษได้อย่างแนบเนียน ในขณะที่อังกฤษคิดค้นปืนแบบบรรจุท้ายรังเพลิงขึ้นเพื่อเพิ่มที่ประสิทธิภาพของอาวุธที่นำมาใช้ในสงคราม
แต่กลับไม่มีใครคาดว่าจะมีการรบใต้น้ำมาก่อน ยกเว้นอาณานิคมอเมริกาที่เป็นฝ่ายก่อกบฏ
บุชเนลล์ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างเทอร์เทิล
ขณะที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยเยลในปี ค.ศ. 1775 เดวิด บุชเนลล์ ลูกชายชาวนาธรรมดาๆ คนหนึ่งก็ได้ติดตามความเป็นไปของการก่อกบฏในช่วงเริ่มต้น และจินตนาการต่อว่าจะเป็นอย่างไรหากคนเราสามารถทำการสู้รบใต้ผืนน้ำได้ เขาเริ่มอยู่ไม่นิ่งและพยายามประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ออกมาหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยกองกำลังของอเมริกา
บุชเนลล์เชื่อว่าการรบทางทะเลจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติในครั้งนี้หลังจากที่เขาทราบว่ารัฐบาลอังกฤษได้ส่งกองกำลังทหารจำนวนมากมาทางเรือและใช้ข้อได้เปรียบจากกองทัพเรือของฝั่งตนในการปิดล้อมพื้นที่ของชาวอาณานิคมที่ก่อกบฏเพื่อบีบบังคับให้กองกำลังเหล่านั้นยอมแพ้
บุชเนลล์เห็นดังนั้นจึงต้องการจะต่อกรกับเรือรบอังกฤษโดยใช้วิธีการใหม่ ซึ่งวิธีนั้นคือการ “โจมตีจากใต้น้ำ” ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงเริ่มสร้างยานพาหนะรูปแบบใหม่ที่สามารถดำลงไปในน้ำและลอยอยู่ใต้ผืนน้ำได้ ยานในลักษณะนี้จะทำให้ผู้ควบคุมสามารถนำระเบิดเวลาไปทิ้งใส่เรือลำอื่นได้
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อบ่งชี้ที่แน่ชัดว่าแผนการของบุชเนลล์นั้นแปลกใหม่ขนาดไหน หรือได้รับอิทธิพลจากนวัตกรรมในสงครามทางทะเลของยุโรปมามากเพียงใด เป็นไปได้ว่าเขาอาจอ้างอิงข้อมูลมาจากบันทึกของนักประดิษฐ์ชาวดัตช์เช่น คอร์เนลิส เดร็บเบล ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเรือดำน้ำขึ้นเป็นครังแรกในปี ค.ศ. 1620 สิ่งที่ผู้คนรับรู้ได้อย่างชัดเจนคือท้ายที่สุดแล้วบุชเนลล์ก็ได้ติดต่อกับผู้ฝักใฝ่การปฏิวัติคนอื่น ๆ รวมไปถึงไอแซ็ก ดูลิตเติล ช่างทำนาฬิกาที่เป็นคนสร้างเครื่องมือวัดความแม่นยำให้กับยานที่สร้างขึ้นใหม่ของเขา
ยานพาหนะของบุชเนลล์เกิดมาจากภาพในจินตนาการ เขานึกถึงเรือรูปร่างคล้ายถังไม้สำหรับหมักเบียร์ที่มีขนาดใหญ่พอจะให้ผู้ควบคุมหนึ่งคนอยู่ข้างในได้และนำชิ้นส่วนของตัวเรือชั้นนอกที่มีลักษณะเหมือนกระดองของเต่าอีกสองชิ้นมาประกบเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้เองเรือดำน้ำลำนี้จึงถูกตั้งชื่อว่าเทอร์เทิลหรือเรือเต่านั่นเอง ภายในเรือไม้โอ๊คทรงกลมนี้ผู้ควบคุมจะใช้กระสอบถ่วงน้ำหนักและปั๊มน้ำในการเติมน้ำเข้าใต้ท้องเรือเพื่อทำให้จมลงใต้น้ำ
จากนั้นผู้ควบคุมเรือจะมีอากาศที่เพียงพอต่อการหายใจประมาณ 30 นาที ในขณะที่เคลื่อนตัวไปยังเป้าหมายโดยใบพัดและหางเสือด้วยแรงจากมือและเท้า และใช้แสงที่ส่องผ่านหน้าต่างในการนำทาง เมื่อขับเรือดำน้ำมาถึงเรือของศัตรูแล้วผู้ควบคุมจะใช้เครื่องมือที่ติดอยู่ข้างเรือในการเจาะให้ท้องเรือของศัตรูเป็นรู ใส่ระเบิดเวลาเข้าไป และขับเรือหนีด้วยความเร็วก่อนที่จะเกิดการระเบิดขึ้น
เรือเทอร์เทิลของบุชเนลล์ในสงคราม
ในเวลาไม่นานนัก เรือดำน้ำเทอร์เทิลของบุชเนลล์ได้สร้างความประทับใจจากผู้สนับสนุนมากมาย เช่น เบนจามิน แฟรงคลิน ผู้หลงใหลในเทคโนโลยี และเบนจามิน เกล แพทย์และนักเขียนที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติ แม้แต่จอร์จ วอชิงตันเองก็ทราบข่าวเกี่ยวกับเรือดำน้ำของบุชเนลล์ เขาเขียนในจดหมายฉบับหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1785 ว่าเรือเต่าลำนี้เป็น “ความทุ่มเทของอัจฉริยะ” แต่เขาก็เขียนไว้เช่นเดียวกันว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ของบุชเนลล์อาจจะได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ
ต่อมา เมื่อเรือดำน้ำของบุชเนลล์เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1776 ลางไม่ดีของเรือที่วอชิงตันเขียนไว้ว่าเป็นหนึ่งในก็จุดเด่นของนักประดิษฐ์คนนี้ก็เผยออกมา เมื่อเอซรา น้องชายของบุชเนลล์ที่ได้รับตำแหน่งผู้ควบคุมเรือคนแรกล้มป่วยในคืนวันภารกิจและไม่สามารถเข้าร่วมปฏิบัติการณ์นี้ได้
ผู้ที่ทำหน้าที่ในการบังคับเรือดำน้ำเทอร์เทิลพร้อมซองบรรจุดินปืนคือ จ่าเอซรา ลี ในคืนวันที่ 6 กันยายนเขาต้องบังคับเรือเต่าลำนี้ไปยังเรือ HMS Eagle ของอังกฤษที่จอดอยู่ ณ ท่าเรือนิวยอร์ก น่าเสียดายที่บริเวณที่จ่าลีดำลงไปเจาะนั้นเป็นเหล็กไม่ใช่ไม้ เขาจึงต้องล้มเลิกภารกิจและขับเรือกลับขึ้นฝั่งเนื่องจากไม่สามารถเจาะเรือของอังกฤษได้
แม้ว่าเรือเทอร์เทิลจะทำภารกิจไม่สำเร็จ ทว่าระเบิดเวลาของบุชเนลล์ที่ถูกทิ้งไว้บนเรือไม่ทำให้เขาผิดหวัง
“การระเบิดของดินปืนเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึงสามสิบนาที แรงระเบิดทำให้น้ำพุ่งขึ้นเป็นลำขนาดมหึมาคล้ายกับพวยน้ำ พร้อมกับเสียงกึกก้องราวกับฟ้าผ่า” เจมส์ ทาเชอร์ ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันได้บันทึกเหตุการณ์นี้ลงในวารสารทางทหารของเขา นอกจากนี้เขายังบันทึกไว้ว่า “นายพลพัทนัมและคนอื่น ๆ ที่รอผลของภารกิจนี้ด้วยความกังวลต่างก็รู้สึกพอใจเป็นอย่างมากเมื่อเห็นความประหลาดใจและความกลัวผู้คนบนเรือในขณะที่ระเบิดลับนี้ทำงานบนตัวเรือ”
ชะตากรรมของเรือเทอร์เทิล
ปัญหาหลากรูปแบบตั้งแต่เรื่องกระแสน้ำไปจนถึงความผิดพลาดของผู้ควบคุมเรือมักจะขัดขวางเป้าหมายของเรือเต่าลำนี้แม้ว่าจะพยายามออกไปปฏิบัติภารกิจอีกเพียงไม่กี่ครั้งก็ตาม ท้ายที่สุดเรือเทอร์เทิลก็จมลงใต้ทะเลพร้อมกับเรือที่ทำหน้าที่ขนส่งมันในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1776 นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าฝ่ายอาณานิคมอเมริกาสามารถเก็บกู้ตัวเรือขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นกับเรือเต่าลำนี้บ้าง
อย่างไรก็ตาม บุชเนลล์ถือเป็นผู้ที่ทำให้ชาวอเมริกันได้ทราบถึงความเป็นไปได้ของการรบทางทะเล การวางรากฐานการใช้ตอร์ปิโด การใช้ระเบิดเวลา การใช้ยานที่ขับเคลื่อนโดยใบพัด และการประดิษฐ์เรือดำน้ำ ดังที่อเล็กซ์ โรแลนด์ นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าเรื่องราวของเรือดำน้ำเทอร์เทิลถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของสงครามและบรรดาถ้อยคำสรรเสริญที่มีจุดประสงค์ที่แท้จริงเพื่อสืบต่อชาตินิยมแบบวิทยาศาสตร์ ความภูมิใจของผู้ที่รักชาติ และรสนิยมในการเล่าเรื่องของมนุษย์
สำหรับบุชเนลล์แล้วแม้ว่าระเบิดแบบใหม่ที่เขาเป็นผู้คิดค้นจะถูกใช้ในสงคราม แต่เขาจะเป็นที่รู้จักและถูกจดจำในฐานะผู้ประดิษฐ์เรือเทอร์เทิล เรือดำน้ำในยุคแรกเริ่มที่เรื่องราวจางหายไปตามกาลเวลาและกระแสเทคโนโลยี
เรื่อง เอริน เบลกมอร์ (Erin Blakemore)
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ