จากปรัชญาสู่วิถีชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง
ภาพถ่าย เริงฤทธิ์ คงเมือง
เรื่อง ศิริพร พรศิริธิเวช
บนเนื้อที่ 17 ไร่ภายในสวนสมรม (หรือสมลม — ภาษาถิ่นภาคใต้หมายถึง สวนขนาดเล็กที่ปลูกพืชผลผสมผสาน) ของสมบูรณ์ ศรีสุบัติ หรือลุงนิล ในวันนี้ พลุกพล่านไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศที่แวะเวียนมาทัศนศึกษาและดูงานในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ทุเรียนต้นใหญ่มีเถาพริกไทยเลื้อยขึ้นไปเกาะออกลูกสีเขียวสดเป็นพวง ขณะที่พื้นใต้ร่มทุเรียนเต็มไปด้วยพืชผลนานาชนิด เช่น กล้วย มังคุด และมะนาวขึ้นเบียดเสียดดูราวป่าดิบชื้น แต่กว่าจะมาเป็นสวนที่สร้างรายได้ไม่ขาดมือ และยังเหลือเผื่อจุนเจือผู้คนในวันนี้ เจ้าของสวนร่างสูงโปร่ง ผิวสีเข้ม และน้ำเสียงถิ่นใต้เป็นเอกลักษณ์ต้องผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างโชกโชน
“โธ่…ใครจะไปรู้ ตอนนั้นทุเรียนมันราคาดี” ลุงนิล เท้าความหลัง เมื่อครั้งที่ต้องนั่งกุมขมับกับความล้มเหลวของสวนทุเรียนกว่า 700 ต้นที่เฝ้าทะนุถนอมมาแรมปี แต่จากการขาดความรู้และประสบการณ์ทำให้ประสบกับภาวะขาดทุนจนมีหนี้สินท่วมตัว ด้วยความคิดว่าต้องปลูกทุเรียนอย่างเดียว เพราะทุเรียนราคาดี และเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ลุงนิลจึงระดมใส่ปุ๋ย อัดฉีดสารเคมีสารพัด ยี่ห้อไหนใครว่าดี ลุงนิลไม่รอช้า หามาประเคนใส่ “ช่วงหลังไม่มีเงินมาลงทุนทำระบบน้ำ ก็เลยตัดสินใจให้นายทุนมาทำสัญญาเหมาสวนทำทุเรียนนอกฤดู ด้วยความหวังว่าอีกไม่นานเกินรอทุเรียนจะให้ผลผลิต เดี๋ยวก็ได้เงินคืน” ลุงนิลเล่า
แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นดังหวัง เพราะเมื่อหมดสัญญาราคาขายทุเรียนปีนั้นดิ่งลงเหว ซ้ำร้ายเจ้าทุเรียนพระเอกในท้องเรื่องยังมาชิงตายตอนจบ ด้วยการทยอยยืนต้นตายหลายร้อยต้น เพราะพิษสงของสารเคมีที่ระดมใส่หวังจะให้ได้ผลดี ยิ่งไปกว่านั้น ผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์และแบ่งบานไปด้วยความฝันของชายวัยกลางคน กลับเปลี่ยนเป็นเนื้อดินแห้งแข็งที่ไม่สามารถปลูกต้นไม้ให้งอกงามดังเดิม ท้ายที่สุด ของแถมจากเหตุการณ์ทั้งมวลนี้ก็คือหนี้สินก้อนโตสองล้านกว่าบาทที่ดูเหมือนจะกองเกลื่อนอยู่ทุกแห่งหนที่ลุงนิลก้าวไป
“หมดปัญญา ไม่อยากอยู่แล้ว” เสียงลุงนิลเริ่มสั่นเครือ “ตอนนั้นหยิบปืนขึ้นมาแล้ว แต่ดีที่ลูกชายเดินเข้ามา ก็เลยเก็บปืนไว้ก่อน” ขณะที่ความสิ้นหวังกำลังกัดกินใจดั่งฝูงตั๊กแตนปาทังก้ารุมทึ้งต้นข้าวโพดบนผืนดินแห้งผากอยู่นั้นปาฏิหาริย์ก็บังเกิด กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ที่กำลังเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ขณะนั้นดังเข้าหูชายผู้สิ้นหวัง สมบูรณ์ ศรีสุบัติ เล่าว่า ”เป็นดั่งหยาดน้ำฝนชโลมใจ” ชายผู้เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ท่องพระราชดำรัสนั้นได้อย่างขึ้นใจว่า
…การจะเป็นเสือนั้น ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง…
…ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้…
ไม่น่าเชื่อว่าพระราชดำรัสไม่กี่ประโยคนั้นจะสามารถหยุดความคิดอันโง่เขลา และกระทั่งให้ชีวิตใหม่แก่สมบูรณ์ ศรีสุบัติ ในห้วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของชีวิต…
ย้อนหลังกลับไป 36 ปี หรือเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ความตอนหนึ่งว่า
…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป…
นั่นอาจถือเป็นการพระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรก ก่อนที่ปรัชญาดังกล่าวจะมีการนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในอีกกว่า 20 ปีต่อมา ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ”ต้มยำกุ้ง” อันหนักหนาสาหัส รัฐบาลในขณะนั้นต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อยืนหยัดพึ่งพาตนเองพร้อมไปกับการดำเนินนโยบายสำคัญๆในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งดังเดิมได้อีกครั้ง
ไม่น่าเชื่อว่าแนวคิดที่พระองค์ทรงวางไว้เมื่อหลายสิบปีนั้น จะยังคงใช้ได้ดีและนำสมัยอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่งฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตผู้อำนวยการกองประเมินผลและข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งปัจจุบันลาออกมาเป็นชาวนาและเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และยังดำรงตำแหน่งประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ดร.วิวัฒน์ให้ทรรศนะว่า ”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงวางแผนคราวละไม่ต่ำกว่า 50 ปีเสมอ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกล
ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ”ต้มยำกุ้ง” เมื่อสิบกว่าปีก่อน (และตอกย้ำอีกครั้งด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ ”แฮมเบอร์เกอร์” ในปัจจุบัน) ได้เกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยและหลายประเทศทั่วโลกหันมาสนใจ และนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้อย่างแพร่หลายทั้งในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ ในส่วนของประเทศไทย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (1) ความว่า ”บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ” ขณะที่องค์การสหประชาชาติยกย่องว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีคุณูปการทั้งต่อประเทศไทยและนานาประเทศโดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
ในเช้าที่อากาศร้อนอบอ้าวของเดือนมีนาคมที่ผ่านมาราว 500 กิโลเมตรจากอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร อันเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนและสวนสมรมของลุงนิล ฉันเข้ามายืนเก้ๆ กังๆ พร้อมกับเหงื่อเม็ดเป้งที่ผุดขึ้นตามใบหน้าเมื่อแรกก้าวลงจากรถแท็กซี่และค่อยๆหายไปพร้อมสายลมเย็นที่พัดโชยอยู่ตรงหน้าป้อมกองวัง ประตูพระยมอยู่คุ้น ทางเข้าเขตพระราชฐานที่จะเข้าสู่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
หากจะว่าไปแล้ว สถานที่แห่งนี้คือประจักษ์พยานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดแห่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ทรงใช้ทดลองและบ่มเพาะแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงใจกลางกรุงเทพมหานคร
คุณศศิภา ตันสิทธิ หญิงสาวตาคม พูดจาฉะฉานเป็นเจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ทำหน้าที่นำฉันเยี่ยมชมส่วนต่างๆ ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เธอพาฉันผ่านไปตามถนนลาดยางสายเล็กที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้ นกหลายชนิดแข่งขันกันส่งเสียงร้อง ขณะที่กระรอกตัวอ้วนพีสองตัววิ่งไล่กันไปตามกิ่งไม้ โดยไม่สนใจผู้คน ห่างออกไปตรงพื้นที่โล่งมีเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวราวสิบคนในชุดเสื้อสีน้ำเงินกำลังสาละวนกับการถอนหญ้าและคัดน้ำเข้าแปลงนาข้าวทดลองที่กำลังปลูกต้นถั่วซึ่งชูยอดเขียวขจี
คุณศศิภาเล่าว่า แปลงนาผืนเล็กนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองขับ ”ควายเหล็ก” หรือรถไถแบบสี่ล้อคันแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2504 ด้วยพระองค์เอง เพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว โดยข้าวพันธุ์แรกที่ปลูกคือ ข้าวพันธุ์หอมนางนวล ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำขวัญข้าวหรือขวัญแม่โพสพขึ้น และเมื่อรวงข้าวสุกได้ที่ก็เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง โดยผลผลิตข้าวที่ได้ทรงให้นำไปเก็บรักษาพันธุ์ไว้ที่กรมการข้าวเพื่อใช้ในการเพาะปลูกในปีถัดไป อีกส่วนหนึ่งนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
หากมองอย่างผิวเผิน บรรยากาศโดยรอบของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดูไม่ต่างไปจากแปลงไร่นาของเกษตรกรไทยทั่วไปนัก แต่ในบริเวณอื่นๆ จะเป็นอาคารทดลองและโรงงาน ที่นี่มีกิจกรรมการศึกษาและการทดลองมากกว่า 35 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ อาทิ โครงการป่าไม้สาธิต และโครงการนาข้าวทดลอง กับโครงการกึ่งธุรกิจ อาทิ โครงการโรงโคนมสวนจิตรลดา และโครงการเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น
นอกเหนือจากกิจกรรมทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงให้ความสำคัญกับการทดลองและการพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และไบโอดีเซล เป็นต้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ริเริ่มโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยการศึกษาแนวทางการนำน้ำมันปาล์มมาใช้งานแทนน้ำมันดีเซล นอกจากนั้นยังได้พระราชทานเงินทุนวิจัยเบื้องต้นเพื่อใช้สร้างอาคารและซื้ออุปกรณ์ในการทดลองผลิตเชื้อเพลิงแอลกอฮอล์จากอ้อยที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 ด้วยทรงเล็งเห็นว่าจะเกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นในอนาคต และทรงเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอ้อยสูง อ้อยส่วนที่เกินจากการผลิตอาหารควรนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ซึ่งก็คือผลิตแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ยังสามารถรองรับในกรณีที่อ้อยราคาตกต่ำได้อีกด้วย
นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เข้าเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และต้องตื่นเต้นปนฉงนกับเจ้าโคเนื้อสีน้ำตาลแดง และกระบือสีดำตัวย่อมๆที่กำลังยืนเคี้ยวเอื้องทำหน้าตากรุ้มกริ่มอยู่ข้างๆ ปลักโคลนภายในคอกที่กั้นไว้อย่างดี ”โคสีน้ำตาลแดงเป็นโคโคลนนิ่งพันธุ์บราห์มันแดงเพศเมียที่ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้น้อมเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วน ‘กระบือปลักแฝด’ นางก้อน เงื่อมผา เกษตรกร อำเภอเขาฉกรรธ์ จังหวัดสระแก้ว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1 คู่ คุณศศิภากล่าว แต่การได้เห็นโคและกระบืออาศัยอยู่ภายในเขตรั้วพระราชวังนั้นนับว่าเกินความคาดหมายไปไกลโข ฉันไม่รู้ว่าพระราชวังของกษัตริย์บ้านเมืองอื่นเป็นอย่างไร แต่เดาว่าคงไม่มีโคและกระบือเป็นแน่
“อย่าทำมาก ต้องค่อยๆทำ ต้องเรียนรู้ก่อนค่อยทำจริง” คือประโยคที่ลุงนิลเล่าให้บรรดาผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนและสวนสมรมอันร่มครึ้ม ในวันที่เราเจอกัน
หลังจากได้ฟังพระราชดำรัสผ่านทางโทรทัศน์ในวันนั้นลุงนิลคนใหม่ได้เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ จากที่เคยมุ่งแต่จะทำเงินจากการปลูกทุเรียนเพียงชนิดเดียว ก็เริ่มมุ่งมั่นทำการเกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริอย่างบากบั่นอดทน ชายผู้มาพร้อมวิสัยทัศน์ใหม่เอี่ยมเน้นการใช้พื้นที่ทุกส่วนในสวนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยหันมาปลูกพืชหลักและพืชเสริมพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย
“แรกๆลุงก็ปลูกพืชที่ชอบกิน และกินสิ่งที่ปลูกได้ก่อน” เกษตรกรผู้ผ่านชีวิตมาโชกโชนอธิบาย ”หลังจากนั้นลุงก็เริ่มทำบัญชีครัวเรือน” ซึ่งบัญชีรายรับรายจ่ายนี้เองที่ทำให้ลุงนิลรู้ในสิ่งที่คาดไม่ถึงมาก่อน นั่นคือแกต้องหมดเงินไปกับปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงปีละไม่ใช่น้อย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นสักนิด ลุงนิลจึงเริ่มหันมาใช้สิ่งที่มีอยู่คือมูลจากสุกรที่เลี้ยงไว้มาใช้แทนปุ๋ยเคมี เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นในสวนลุงนิลไม่กวาดทิ้ง เพราะอีกไม่นานก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ส่วนยาฆ่าแมลงนั้น เกษตรกรตัวยงรายนี้เปลี่ยนมาใช้น้ำส้มควันไม้ที่สามารถผลิตได้เองแทน
กรณีความสำเร็จหลังชีวิตพังครืนกลางกองหนี้สินของลุงนิล ด้วยการพึ่งตนเองก่อนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ตนและครอบครัวมีอยู่มีกินเป็นเบื้องต้น เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็จำหน่ายจ่ายแจก จนกระทั่งสุดท้ายลุงนิลก็สามารถปลดหนี้สินทั้งหมดกว่าสองล้านบาทได้ภายในเวลาเพียง 6 ปี นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของเกษตรกรผู้ยึดหลักการพึ่งตนเองอุ้มชูตนเองได้ตามหลักเบื้องต้นว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิต
ในระยะแรกๆ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวคิดดังกล่าวอาจใช้ได้กับสังคมเกษตรกรรม แต่ดูจะขัดแย้งและเป็นขั้วตรงข้ามกับกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มองว่า นี่เป็นคำกล่าวของผู้ที่ยังไม่รู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยอธิบายว่า ”แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ใช้ได้กับทุกภาคส่วนไม่ขัดกับกระแสเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์หรือการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องของการทำกำไรสูงสุด เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้พูดถึงการทำกำไรสูงสุดที่อยู่อย่างยั่งยืน” และขยายความเกี่ยวกับการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ หมายถึงความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว โดยปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต และคุณธรรมคือการยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียรการมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปันให้สังคม
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คืออีกบุคคลหนึ่งที่เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง ได้ให้ทรรศนะว่า ”คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริงผู้ประกอบการอาชีพอื่นๆ เช่นพ่อค้า ข้าราชการ และบริษัทต่างๆ สามารถนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเปรียบเสมือนเป็นการปักเสาเข็มก่อนจะสร้างบ้าน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการวางรากฐานของบ้านให้มั่นคงก่อนจะก่อสร้างตัวบ้านต่อไป”
ระหว่างการพูดคุยกับลุงนิลช่วงหนึ่ง คำตอบที่มาพร้อมกับน้ำเสียงสั่นเครือของลุงนิลหลังฉันถามว่า ”หากมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลุงนิลจะกราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่าอย่างไร” ลุงนิลตอบว่า “ผมโชคดีที่เกิดเป็นคนไทย ชีวิตของผมอยู่ได้ถึงวันนี้ก็ด้วยพระบารมีของพระองค์” ลุงนิลยังบอกฉันถึงเหตุผลที่ยอมเปิดสวนอันสงบร่มรื่นของตนเพื่อเป็น ”โรงเรียน” ให้ผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาศึกษาเรียนรู้ หลังสามารถใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหนี่ยวนำเอาชีวิตขึ้นจากหุบเหวแห่งหนี้สินอันมืดมนมาได้สำเร็จ คือปณิธานที่ให้ไว้กับตนเองว่า ”จะขอเพาะกล้าเศรษฐกิจพอเพียงหว่านลงให้ทั่วแผ่นดินไทย เพื่อเป็นการตอบแทนคุณของแผ่นดิน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
เสียงนกกายังคงร้องประสานเซ็งแซ่และโผบินไปมาดูครึกครื้นยิ่งกว่าบริเวณอื่นใด หลังจากคุณศศิภานำฉันเข้ามายังส่วนที่เป็นสวนป่าไม้สาธิต ในเขตพระราชฐานของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ท่ามกลางความร่มรื่นของพรรณไม้หลากชนิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมมาปลูกไว้ ตลอดสองข้างทางมีต้นยางนาสูงชะลูดขึ้นเรียงราย คุณศศิภาเล่าว่า ”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพาะเมล็ดต้นยางด้วยพระองค์เอง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และทรงปลูกด้วยพระองค์เองเลยค่ะ”
ก่อนหน้านี้ คำถามที่ฉันเฝ้าถามกับตัวเองมาตลอดว่า “พอเพียง” คืออะไร ณ สถานที่แห่งนี้เองที่ทำให้ฉันได้คำตอบอย่างกระจ่าง สิ่งที่ฉันพบเห็นและเรื่องราวที่ได้รับฟังตลอดการตามเก็บข้อมูลพร้อมกับช่างภาพ ได้ฉายภาพแห่งความเรียบง่ายและความสมถะในพระราชจริยวัตรอย่างชัดแจ้ง ตอกย้ำให้ฉันเชื่อมั่นในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนประชาชนของพระองค์ตลอดมา ซึ่งสอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า ”สนฺตุฏฺี ปรมํ ธนํ” ความรู้จักพอเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
อ่านเพิ่มเติม : ประพาสต้นบนดอย สี่ทศวรรษโครงการหลวง, ๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ยุวกษัตริย์
Recommend
ย้อนรอยกำเนิดคำสาป มัมมี่
ภาพยนตร์เกี่ยวกับมัมมี่สามารถนำกลับมาเล่าใหม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตราบใดที่ตำนานว่าด้วยมนตร์ขลังแห่งคำสาปของมัมมี่ยังไม่มีวันจางคลาย
ปลากัดไทย … มัจฉานักสู้ผู้ล้ำค่าสง่างาม
เสียงฮือฮาดังกระหึ่ม เมื่อ ปลากัดไทย กำลังพองตัวว่ายวนดูเชิงชั้นคู่ต่อสู้… กระโดงและครีบหางสีน้ำเงินแกมแดงโบกสะบัดพัดพลิ้วไปมาอย่างมีชั้นเชิงอ่อนช้อยงดงาม ฉับพลัน มันก็ถูกจู่โจมด้วยคมฟันอันแหลมกริบเข้าที่ใต้ลำตัว…
เผยวงการร่างทรงในมุมมองที่คุณอาจยังไม่เคยรู้
การทรงเจ้า เเละ ร่างทรง ถือได้ว่าเป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมประเพณีไทยมาตั้งเเต่โบราณกาล ทว่าศรัทธาเหล่านี้มีจริงหรือไม่?
ความรู้ประจำวัน : คุณอาจเป็นญาติกับเจงกิส ข่าน
หลายคนคงรู้จักเจงกิส ข่าน บรุษนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างอาณาจักรมองโกล แต่รู้หรือไม่ว่าบนโลกใบนี้ทุกๆ 200 คนจะมีอยู่หนึ่งคนที่มีความเกี่ยวข้องทางดีเอ็นเอกับเจงกิส…