เปิดตำนานจริง ชาวไวกิ้ง โหดเหี้ยมผิดมนุษย์ จริงหรือ?

เปิดตำนานจริง ชาวไวกิ้ง โหดเหี้ยมผิดมนุษย์ จริงหรือ?

นักรบ ชาวไวกิ้ง กระหายเลือดดังเรื่องราวเล่าขานจริงหรือ พวกเขาเป็นใครและใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร เรารวบรวม ข้อเท็จจริงเบื้องหลังความเชื่อแบบเหมารวม

ว่ากันว่า ชาวไวกิ้ง มีรูปร่างสูง ผมสีบลอนด์ นัยน์ตาเย็นชาสีฟ้า เป็นคนเถื่อนสวมหมวกเหล็กมีเขาน่าครั่นคร้าม หลงใหลในการปล้นสะดมและพิธีกรรมนองเลือด ทว่านี่คือ ภาพสะท้อนที่ถูกต้องของกลุ่มชนที่แผ่อิทธิพลหล่อหลอมไม่เฉพาะในแถบตอนเหนือของยุโรปเท่านั้น แต่ยังขยาย ไปถึงดินแดนห่างไกลด้วย หรือเป็นคำกล่าวอ้างเกินจริงกันแน่

ชาวไวกิ้ง, เรือไวกิ้ง
ผู้คนในกลุ่มเกาะเชตแลนด์เผาเรือจำลองในเทศกาลไฟประจำปี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการสิ้นสุดของฤดูหนาวและ เฉลิมฉลองมรดกวัฒนธรรมไวกิ้ง กลุ่มเกาะนี้ถูกชาวไวกิ้งยึดครองอยู่นาน 500 ปี กระทั่งถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสกอตแลนด์ (ภาพถ่าย: แอนดรูว์ เจ. เชียเรอร์/ ADOBE STOCK)

มีเรื่องเล่าและความเชื่อผิดๆ มากมายเกี่ยวกับชาวไวกิ้ง ตำนานเริ่มต้นจากการรุกรานหมู่เกาะบริติสไอลส์ ครั้งแรกๆ ตอนปลายศตวรรษที่แปด และตรึงจินตนาการของเรานับแต่นั้น เป็นแรงบันดาลใจให้ละครโอเปรา นวนิยาย การ์ตูน และกระทั่งวิดีโอเกม จนยากที่จะแยกแยะข้อเท็จจริงจากเรื่องแต่ง ทุกวันนี้ นักวิจัยยังคงสานต่อภารกิจนี้ด้วย การขุดค้นทางโบราณคดีและสืบเสาะค้นหาต้นกำเนิดของพวกเขา

การค้นพบเมื่อไม่นานนี้ชี้ว่า ไวกิ้งเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ไปถึงดินแดนโลกใหม่ หรือก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส อย่างน้อย 400 ปี และผลการศึกษาดีเอ็นเอชุดแรกๆ จากซากที่หลงเหลือของชาวไวกิ้งบ่งว่า พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่มีความหลากหลาย ขณะที่การขุดค้นต่างๆ พบขุมทรัพย์ที่ถูกฝังไว้ เช่น กรุเครื่องประดับที่พบนอกกรุงสตอกโฮล์มเมื่อปี 2022 ยิ่งเติมเชื้อไฟให้ความหลงใหลใคร่รู้ของเราเกี่ยวกับนักรบโบราณกลุ่มนี้

ไอซ์แลนด์, ไวกิ้ง, ชุมชนชาวไวกิ้ง
ชุมชนไวกิ้งแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ ตั้งอยู่ที่เชิงเขาเวสตราฮอร์นบนคาบสมุทรสตอกส์เนส ของไอซ์แลนด์ (ภาพถ่าย: นิก ฟ็อกซ์/ SHUTERSTOCK)

ว่ากันว่า
ไวกิ้งคือชนเผ่าเดียวกันกลุ่มหนึ่ง

เรามักคิดกันว่า ไวกิ้งเป็นชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียวกัน แต่อันที่จริง พวกเขาเป็นชนกลุ่มเล็กๆ ที่รวมตัวกันเลือกผู้นำ ขึ้นปกครองมากกว่า ชนเผ่าเหล่านี้บางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ร่วมมือกันวางแผนบุกโจมตีดินแดนห่างไกลอื่นๆ

“ไวกิ้ง” ไม่ได้หมายถึงชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สื่อถึงกิจกรรมหนึ่งมากกว่า ในช่วงสองศตวรรษที่เรียกกันว่า ยุคไวกิ้งนั้น ผู้อาศัยส่วนใหญ่ในยุโรปเหนือทำอาชีพประมง เพาะปลูก ค้าขาย และงานฝีมือ “การ ‘ออกไวกิ้ง’ คือสิ่งที่บุรุษอาจทำในวัยหนุ่มเพื่อสร้างชื่อเสียงเกียรติยศและสะสมทรัพย์สินที่ปล้นชิงได้ ทว่าผู้ที่เข้าร่วมการโจมตีต่างแดนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตนั้นหาได้ยาก” ไบรอัน แมกมาฮอน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขียนไว้ในหนังสือ ไวกิ้ง: ตำนานและความเชื่อผิดๆ

ชื่อ “ไวกิ้ง” เองนั้นมีต้นกำเนิดค่อนข้างแน่ชัด ในภาษานอร์สโบราณ คำนี้โดยทั่วไปหมายถึง “โจรสลัด” หรือ “ผู้รุกราน” น่าจะมีที่มาจากคำที่ใช้กันอยู่ก่อนแล้วในยุคไวกิ้ง สำหรับแมกมาฮอน คำนี้หมายถึง “คนที่ผจญภัยข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อโจมตีและปล้นสะดม” คำว่า “ ‘วิก’ (Vik) หมายถึง ‘อ่าว’ หรือ ‘ธารน้ำ’ ดังเช่นเรกยาวิกในไอซ์แลนด์ที่ซึ่งผู้อพยพชาวสแกนดิเนเวียเข้าไปตั้งรกรากครั้งแรกเมื่อราว ค.ศ. 870”

ฟริตซ์ อัสเคอแบร์ก นักประวัติศาสตร์ชาวสวีเดน เสนออีกแนวทางหนึ่งว่า คำกริยา วิกยา (vikja) แปลว่า หัก บิด หรือเบี่ยงเบน และชาวไวกิ้ง ตามที่อัสเคอแบร์กอธิบายไว้ในหนังสือว่าด้วยวัฒนธรรมนอร์ดิกโบราณ ก็คือกลุ่มคนที่ แปลกแยกจากขนบสังคมปกติ ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดออกทะเลไปแสวงหาชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ

ชาวไวกิ้ง
เหล่าผู้แสดงรับบทนักรบในเทศกาลของชาวสลาฟและไวกิ้งบนเกาะโวลิน โปแลนด์ ข้อได้เปรียบของกองทัพไวกิ้ง คือความคล่องตัวที่ได้จาก ลังสกิป เรือท้องแบนน้ำหนักเบา อาวุธของชาวไวกิ้งพบได้ทั่วไปในยุคนั้น โดยส่วนใหญ่ใช้หอก ดาบยาวราวหนึ่งเมตร และบางครั้งก็ใช้ขวานศึก โล่ไม้ทรงกลมที่ยึดด้วยโลหะเป็นของที่ขาดไม่ได้เพราะช่วยให้นักรบไวกิ้งป้องกันตนเองจากการฟาดฟันและลูกศรของศัตรู และยังใช้ก่อตัวเป็นแนวป้องกันด้วย (ภาพถ่าย: ริสซาร์ด ฟิลิโพวิกซ์/ISTOCK)

ว่ากันว่า
ไวกิ้งโหดเหี้ยมผิดมนุษย์

“บริเตนไม่เคยปรากฏความน่าสะพรึงกลัวมากเท่ากับที่ชนนอกศาสนาทำให้เกิดในขณะนี้มาก่อน… คนเถื่อนเหล่านี้เทเลือดของเหล่านักบุญรอบแท่นบูชา และเหยียบย่ำร่างของเหล่านักบุญในวิหารของพระเจ้าดุจเหยียบอาจมบนท้องถนน”

คำบรรยายชวนอกสั่นขวัญแวนของการบุกโจมตีลินดิสฟาร์นไพรออรี สำนักศาสนาแห่งหนึ่งบนเกาะนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษนี้เขียนขึ้นโดยนักวิชาการนาม อัลควินแห่งยอร์ก เมื่อ ค.ศ. 793 เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้น ยุคไวกิ้งในยุโรป ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 250 ปี

ชาวไวกิ้งก่อให้เกิดความกลัวฝังลึกก็จริง ทว่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การใช้ความรุนแรงนั้นมีอยู่ทั่วไป “ความโหดร้ายของชาวไวกิ้งไม่ต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น” โจแอนน์ ชอร์ตต์ บัตเลอร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกและเสริมว่า “พวกเขาหาได้โหดเหี้ยมไปกว่าคนชาติอื่นหรือเผ่าอื่นๆ เลย การฆาตรรม การวางเพลิง และการปล้นชิงเป็นเรื่องปกติ ในยุคนั้น”

ทอร์, เทพเจ้าสายฟ้า
เทพเจ้าสายฟ้า ทอร์ ใช้ค้อนศักดิ์สิทธิ์สู้กับยักษ์ในภาพเขียนฝีมือมาร์เตน เอสกิล วิงเงอ ศิลปินสวีเดนในศตวรรษที่ สิบเก้า ในฐานะโอรสของโอดิน มหาเทพของชาวนอร์ส ทอร์จึงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลแห่งทวยเทพที่ชาวไวกิ้งเคารพบูชา เทพแห่งสายฟ้าผู้นี้ทำให้เกิดอสุนีบาตจากการขว้างค้อนมีลเนียร์ สัญลักษณ์อื่นๆ ของทอร์รวมถึงเข็มขัดและถุงมือเหล็ก ทอร์สามารถฟาดฟันด้วยพละกำลังที่ไร้ขีดจำกัด และค้อนที่ขว้างออกไปจะกลับคืนมาเองเสมอ

ว่ากันว่า
ไวกิ้งดื่มกินจากหัวกะโหลก

ความที่มีเรื่องเล่าสารพัดว่าด้วยความโหดร้ายของนักรบจากสแกนดิเนเวีย จึงเป็นไปได้ที่จะยัดเยียดพฤติกรรมน่าชังบางอย่างให้เป็นของชาวไวกิ้งไปโดยปริยาย เช่น ความนิยมชมชอบดื่มจากหัวกะโหลกของศัตรู ความเชื่อผิดๆ อันโด่งดังนี้เกิดจากการแปลหรือการถอดความที่ตกหล่น

นอกจากจะเป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักเดนมาร์กในศตวรรษที่สิบเจ็ดแล้ว โอเล วอร์ม ยังเป็นนักภาษาศาสตร์ผู้คลั่งไคล้จารึกรูน หรือศิลาจารึกอักษรรูน (อักขระนอร์สและเยอรมันโบราณ) เมื่อปี 1636 วอร์มตีพิมพ์งานเขียนว่าด้วยอักษรรูน โดยยกบทกวีนอร์สที่ตัวเอกเอ่ยอ้างว่า ตนจะดื่มเหล้าเอลในวัลฮัลลา อันเป็นสวรรค์ของเหล่านักรบชาวนอร์สที่ถูกสังหารในตำนาน จากกิ่งก้านโง้งเว้าของกะโหลก

กวีอ้างถึงกิ่งก้านสาขาที่งอกจากกะโหลกสัตว์ ซึ่งก็คือเขา ทว่าแพทย์หลวงผู้นี้กลับแปลวลีนี้เป็นภาษาลาตินว่า ex craniis eorum quos ceciderunt “จากกะโหลกของคนเหล่านั้นที่พวกเขาสังหาร” จนเพิ่มแง่มุมเลวร้ายอีกแง่มุมหนึ่งในชื่อเสียงที่ฉาวโฉ่อยู่แล้วของชาวไวกิ้ง แม้จะมีบันทึกถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ดื่มกินจากหัวกะโหลกของศัตรูอยู่จริงๆ แต่เรื่องนี้กลับมีแนวโน้มจะผูกโยงกับชาวไวกิ้ง

ชาวไวกิ้ง, เรือไวกิ้ง
เรือที่มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่เก้าลำนี้ขุดพบที่เนินสุสานแห่งหนึ่ง พร้อมซากร่างของผู้นำชาวไวกิ้งในเมืองก็อกสตัด ของนอร์เวย์ นี่คือ สเนกา เรือรบหลักของกองเรือไวกิ้ง ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้งในออสโล (ภาพถ่าย: ไอริก อีร์เกนส์ ยอห์นเซน/ CULTURAL HISTORY MUSEUM, UNIVERSITY OF OSLO)

ว่ากันว่า
ไวกิ้งทรมานเหยื่อในพิธี “อินทรีโลหิต”

นักรบแห่งนอร์ดิกยังมีพฤติกรรมน่ารังเกียจอีกประการหนึ่ง นั่นคือการทิ้งสัญลักษณ์ “อินทรีโลหิต” ไว้บนร่างเหยื่อที่ยังมีชีวิต เนื่องจากตัวอย่างอ้างอิงแรกมาจากบทกวีนอร์สบทหนึ่ง นี่จึงอาจเป็นอีกกรณีของการตีความตรงตามตัวอักษร จนเกินควร ตามที่เอเลนอร์ โรซามุนด์ แบร์ราโคลห์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางจากมหาวิทยาลัยเดอแรม อธิบายไว้ในหนังสือ เลยล่วงแดนเหนือ: การเดินทางของชาวไวกิ้งและมหากาพย์นอร์สโบราณ ในพิธีดังกล่าว เหยื่อจะถูกแหวกอกเพื่อเปิดซี่โครงและตัดให้ขาดจากกระดูกสันหลัง ปอดถูกดึงออกมาและจัดวางในลักษณะคล้ายปีก บางคนเชื่อว่าที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ร่างกายโบยบินไปสู่โอดิน เทพเจ้าสำคัญในเทพปกรณัมนอร์ส ได้

โรเบอร์ตา แฟรงก์ จากมหาวิทยาลัยเยล ตั้งคำถามถึงความถูกต้องแม่นยำของพิธีดังกล่าวมานานแล้ว เธอเชื่อว่า เรื่องนี้น่าจะมาจากนักเขียนชาวคริสต์สแกนดิเนเวียยุคแรกๆ ที่มุ่งตีตราบรรพบุรุษไร้ศาสนาของตน “กระบวนการทำอินทรีโลหิตต่างกันไปตามที่มา ทั้งยังมีลักษณะป่าเถื่อน น่ากลัว และใช้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละศตวรรษที่ผ่านไป” เธอเขียนไว้ใน บรรณนิทัศน์ประวัติศาสตร์อังกฤษ

ชาวไวกิ้ง
ชาวไวกิ้งทิ้งจารึกรูนหลายพันชิ้นที่แกะสลักอักขระโบราณของพวกเขาไว้เบื้องหลัง หัวมังกรแกะสลักจากศตวรรษที่เก้าค้นพบในเนินสุสานอูเซอแบร์กซึ่งสตรีชนชั้นสูงสองคนถูกฝังในเรือท่ามกลางสมบัติจำนวนมาก (ภาพถ่าย: MUSEUM OF CULTURAL HISTORY, UNIVERSITY OF OSLO/เคิร์สเตน เจ. เฮลเกลันด์)

ว่ากันว่า
ชาวไวกิ้งสวมหมวกเหล็กมีเขา

บางตำนานอาจมีที่มาจากนิทานพื้นบ้าน ซึ่งรวมถึงหมวกเหล็กมีเขาอันเลื่องลือ เราพบหมวกเหล็กจากยุคไวกิ้งเพียงใบเดียว นั่นคือหมวกเหล็กยาร์มุนด์บูที่ขุดพบในริงเงอริเกอ ประเทศนอร์เวย์

ในการจำลองภาพยุคไวกิ้ง นักรบดูเหมือนไม่สวมเครื่องป้องกันศีรษะใดๆ หรือไม่ก็สวมหมวกธรรมดาที่อาจทำจากเหล็กหรือหนังสัตว์ ถึงจะมีตัวละครที่มีเขาปรากฏในศิลปะนอร์ดิกอยู่บ้าง เช่น ในผ้าทอประดับฝาผนังอูเซอแบร์ก แต่แมกมาฮอนอธิบายว่า สิ่งเหล่านั้นมักเป็นตัวแทนของเทพเจ้าหรือปีศาจมากกว่านักรบที่เป็นมนุษย์

ที่มาหนึ่งของหมวกเหล็กมีเขาก็คือ คาร์ล เอมิล โดปเลอร์ นักออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับการแสดงอุปรากรรอบปฐมทัศน์เรื่อง แหวนแห่งนีเบลุง (Ring of the Nibelung) ของวากเนอร์ในเทศกาลไบร็อยท์เมื่อปี 1876 อีกทฤษฎีหนึ่งมาจากโยฮัน ออกุสต์ มัลสตรอม ศิลปินชาวสวีเดนในศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งวาดสิ่งนี้ไว้ในภาพเขียนเกี่ยวกับมหากาพย์ นอร์ดิกของตน

โดปเลอร์, มัลสตรอม และคนอื่นๆ อาจได้แรงบันดาลใจจากการค้นพบหมวกเหล็กมีเขาโบราณในยุคนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการระบุว่าเก่าแก่กว่ายุคไวกิ้ง บางที ศิลปินอาจได้แรงบันดาลใจจากเสียงสะท้อนที่แว่วมา ของนักประวัติศาสตร์กรีกและโรมันโบราณที่บรรยายชาวยุโรปเหนือว่าสวมหมวกมีเขาก็เป็นได้ เครื่องประดับศีรษะไม่เพียงล้าสมัยก่อนถึงยุคไวกิ้งอย่างน้อยหนึ่งร้อยปี แต่ยังอาจเป็นสิ่งที่มีเพียงนักบวชเชื้อสายเจอร์แมนิกและนักบวช ชาวนอร์สสวมใส่เฉพาะเพื่อประกอบพิธีกรรมอีกด้วย

นักท่องเที่ยวสามารถย้อนเวลากลับไปกว่าหนึ่งพันปีก่อนได้ที่รีเบอ เมืองเก่าแก่ที่สุดของเดนมาร์ก ศูนย์ไวกิ้งแห่งหนึ่งที่นั่นจำลองสภาพชีวิตหมู่บ้านขึ้นใหม่ ชุมชนไวกิ้งส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเพาะปลูก พวกผู้หญิงมักดูแลบ้านเรือนเช่นที่เห็นอยู่นี้ ชาวไวกิ้งมีทาส หรือผู้คนที่จับมาจากการออกปล้นชิง คนเหล่านี้จะทำงานกรรมกรหนักๆ และถูกนำไปขายด้วย โดยบางส่วนส่งไปยังเมืองคอนสแตนติโนเปิลเพื่อแลกกับผ้าไหมและสินค้าอื่นๆ (ภาพถ่าย: RIBE VIKINGECENTER/VISIT DENMARK)

ว่ากันว่า
ชาวไวกิ้งตัวสูงใหญ่และมีผมสีบลอนด์

“ไวกิ้ง” ทำให้เรานึกภาพชายรูปร่างกำยำล่ำสัน ผมสีอ่อน ตาสีฟ้า หรือพูดไปแล้วก็คงประมาณ คริส เฮมสเวิร์ท ที่แสดง เป็น ทอร์ เทพเจ้าสายฟ้า แต่ลิส ล็อก ฮาร์วิก จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน สรุปจากการศึกษาดีเอ็นเอโครงกระดูก ในสุสานยุคกลางว่า ในยุคนั้นมีการผสมผสานของคนผมบลอนด์ ผมแดง และผมสีน้ำตาล ไม่ต่างจากปัจจุบัน สังคมไวกิ้งไม่ได้มีแต่ผู้สืบเชื้อสายจากชาวสแกนดิเนเวียเท่านั้น “มีการผสมผสานทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว” ฮาร์วิกบอก และสีของดวงตาก็หลากหลายเช่นเดียวกับสีผม

ถึงแม้แนวคิดว่าด้วยความสูงผิดปกติของชาวไวกิ้งจะเป็นตำนานตามที่แมกมาฮอนบอก ผู้ชายโดยทั่วไป จากแดนเหนือในยุคนั้นมีความสูงราว 1.73 เมตร เฉลี่ยพอๆกับชายชาวยุโรป โภชนาการอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ฤดูร้อนที่สั้นและฤดูหนาวที่ทารุณในสแกนดิเนเวียหมายถึงทรัพยากรอาหารอันจำกัด ดังนั้น การปล้นชิงจึงอาจเป็นช่องทางเพื่อแสวงหาอาหารมาบำรุงร่างกายก็เป็นได้

กระทั่งแนวคิดที่ว่าชาวไวกิ้งไม่ชอบอาบน้ำก็เหมือนจะถูกหักล้างด้วยหลักฐานทางโบราณคดีที่ว่า หลุมฝังศพและแหล่งขุดค้นอื่นๆ ของพวกเขาเต็มไปด้วยหวี แหนบ และมีดโกน อยู่ข้างซากร่างทั้งชายหญิง พวกเขาอาจใช้สบู่ที่มีความเป็นด่างสูงเพื่อขจัดเห็บเหาซึ่งมีผลข้างเคียงในการกัดสีผมด้วยก็เป็นได้

บทความนี้ปรับปรุงจากสารคดีที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาโปแลนด์

เรื่อง โรเบิร์ต โกสเชลนีย์
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี ชาวไวกิ้ง ประวัติศาสตร์และตำนาน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/587166


อ่านเพิ่มเติม เลฟ เอริกสัน ไวกิ้งผู้ค้นพบวินแลนด์ ชายผู้เหยียบแผ่นดินทวีปอเมริกาก่อน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

เลฟ เอริกสัน
เลฟ เอริกสัน

Recommend