เฮเลน ดันแคน หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวด้วยการจัดพิธีติดต่อภูตผีวิญญาณ ทว่า ในวันหนึ่ง สารที่เธอได้รับจากวิญญาณกลับกลายเป็นข่าวโศกนาฏกรรมของกองทัพเรือสหราชอาณาจักรที่ถูกเก็บเป็นความลับ ด้วยเหตุนี้เอง เธอจึงกลายเป็นผู้สร้างความหวาดหวั่นให้กับรัฐบาล
วันที่ 23 มีนาคม ปี ค.ศ. 1944 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าฝูงชนไปรวมตัวกัน ณ ศาลโอลด์ เบลีย์ (Old Bailey) ศาลอาญากลางในกรุงลอนดอนอย่างล้นหลามเช่นเดียวกับตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา และด้วยความที่ศาลชื่อดังแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ คดีที่ถูกยื่นฟ้องจึงเป็นคดีที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่คดีลามกอนาจาร ไปจนถึงคดีอันน่าขนลุกต่าง ๆ
นอกจากนั้น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิเมื่อหลายสิบปีก่อน ศาลแห่งนี้ยังเป็นสถานที่พิจารณาคดีที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอังกฤษมาก่อน หลายร้อยปีหลังจำเลยผู้กระทำผิดฐาน “เป็นแม่มด” รายสุดท้ายในอังกฤษถูกตัดสินประหารชีวิต หญิงร่างทรงนามว่า เฮเลน ดันแคน (Helen Duncan ) ก็ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในฐานเดียวกัน ต่อมาเธอได้กลายเป็นกลายเป็นจำเลยคนสุดท้ายที่ถูกตัดสินจำคุกภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติแม่มด (Witchcraft Act 1735) กฎหมายของประเทศอังกฤษที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดประกอบพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับแม่มด
เส้นทางที่นำดันแคนไปสู่ศาลศาลโอลด์ เบลีย์นั้นเกิดขึ้นจากสองสิ่งคือ ความลับของภาครัฐ และการจับกุมที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว เรื่องราวต่อไปนี้จะบอกเล่าถึงชีวิตของแม่ลูกหกวัยกลางคนที่ต้องชดใช้ความผิดจากการสร้างความหวาดหวั่นให้กับรัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ ของอังกฤษในช่วงสงคราม
แม่มด ผู้มองเห็นวิญญาณ
เฮเลน แม็คฟาร์เล็น (Helen MacFarlane) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1897 ที่แคเล็นเดอร์ เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ สถานที่แห่งนี้ทำให้เธอมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตวัยเด็กมากมาย ผู้คนต่างเชื่อกันว่าแม็คฟาร์เล็นมีสัมผัสพิเศษในการมองเห็นวิญญาณติดตัวมาตั้งแต่เกิด จึงได้รับชื่อเล่นว่า “เฮลลิช เนลล์ (Hellish Nell)”
ในช่วงระยะเวลาก่อนปี ค.ศ. 1926 เฮลลิช เนลล์ หรือเฮเลน แม็คฟาร์เล็นได้เปลี่ยนนามสกุลหลังแต่งงานกับเฮนรี ดันแคน (Henry Duncan) ในปี ค.ศ. 1916 เธอเริ่มทำอาชีพร่างทรงครั้งแรกที่เมืองดันดี ในสกอตแลนด์เป็นครั้งแรก จากนั้นจึงย้ายสถานที่ทำงานไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวที่ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ของเธอ
และในที่สุดดันแคนก็พบกับลูกค้ากลุ่มสำคัญของเธอ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคนสิ้นสุดลง ชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยได้เปิดรับแนวคิดของลัทธิเจตนิยม (Spiritualism) ซึ่งมีความเชื่อว่าคนเป็นสามารถสื่อสารกับวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้วได้
โดยปกติแล้ว ดันแคนจะจัดพิธีติดต่อภูตผีวิญญาณขึ้นในพื้นที่มืดซึ่งมีเพียงแสงสลัวจากไฟสีแดง เธอจะนั่งอยู่หลังม่านและอัญเชิญให้เพ็กกี้และอัลเบิร์ต “วิญญาณผู้นำทาง” ของเธอออกมานำพิธี ในระหว่างนั้น เอ็กโทพลาซึม (Ectoplasm) ของเหลวสีขาวซึ่งบ่งบอกถึงการติดต่อกับวิญญาณจะไหลออกทางปากและจมูกของดันคน จากนั้นของเหลวเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปร่างจนคล้ายกับวิญญาณ ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาตินี้สร้างความตื่นกลัวและตื่นตาตื่นใจให้แก่บรรดาผู้เข้าร่วมพิธีเป็นอย่างมาก
หลังชื่อเสียงของดันแคนแพร่สะพัดออกไป เธอก็ตกเป็นจุดสนใจของบุคคลช่างสงสัยอย่าง แฮร์รี่ ไพรซ์ (Harry Price) นักค้นคว้าด้านวิญญาณและสิ่งลี้ลับ ไพรซ์ได้สอบสวนดันแคนในปี 1931 โดยความยินยอมของเธอ เขาเชื่อว่าหญิงรายนี้เป็นคนลวงโลก และถึงแม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าร่างกายของดันแคนผลิตเอ็กโทพลาซึมได้อย่างไร แต่ไพรซ์ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า ของเหลวที่ถูกขับออกมาเป็นเพียงผ้าขาวบางและไข่ขาวที่เธอกลืนลงไปแล้วขย้อนออกมา ยิ่งไปกว่านั้น วิญญาณที่ถูกสร้างขึ้นจากเอ็กโทพลาซึมยังมีลักษณะคล้ายตุ๊กตามากกว่าคนจริง ๆ
อย่างไรก็ดี ข้อสรุปจากการสอบสวนของไพรซ์ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อผู้ที่คลั่งไคล้ในตัวดันแคน พวกเขายังคงแย่งกันเข้าร่วมพิธีทรงเจ้าเข้าผีของเธอเช่นเดิม ถึงแม้ว่าอังกฤษจะเริ่มมีท่าทีจะเข้าร่วมสงครามอีกครั้งก็ตาม
พิธีติดต่อภูตผีวิญญาณและการจารกรรมข้อมูลช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อังกฤษประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี ค.ศ. 1939 ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม การเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ความลับทางการทหารรั่วไหลไปสู่บุคคลไม่ประสงค์ดี และเพื่อรักษาขวัญกำลังใจของประชาชน ทว่า ตามหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์กลับมีข่าวเขียนว่า “ร่างทรง” อาจเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ข้อมูลลับรั่วไหล ถ้าหากว่าร่างทรงติดต่อวิญญาณเหล่าทหารที่เสียชีวิตและล่วงรู้ข้อมูลสำคัญได้จริง ๆ จะมีวิธีการใดที่สามารถหยุดสายลับฝ่ายศัตรูจากการเก็บข้อมูลผ่านการเข้าร่วมพิธีติดต่อภูตผีวิญญาณได้หรือไม่
แม้พิธีติดต่อวิญญาณของเฮเลน ดันแคนจะไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับนาซี แต่ในขณะที่เดินสายจัดพิธีทั่วอังกฤษ ข่าวสารเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นกลับถูกถ่ายทอดออกมาขณะที่เธอกำลังทำหน้าที่ร่างทรง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1941 ดันแคนได้รับข่าวร้ายจากวิญญาณว่า เรือรบลำหนึ่งของอังกฤษจมแล้ว ในระหว่างที่กำลังนำพิธีในเมืองเอดินเบอระ
รอย ไฟร์เบรซ (Roy Firebrace) ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหารของสกอตแลนด์ได้เข้าร่วมพิธีในครั้งนั้น แม้ตำแหน่งระดับสูงของไฟร์เบรซจะทำให้เขามีสิทธิ์ที่จะทราบข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นความลับทางทหาร แต่เขากลับไม่เคยได้ยินข่าวนี้มาก่อน หลังพิธีติดต่อวิญญาณจบลง เขาได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างของดันแคน และพบว่าเรือหลวงฮูดของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร (H.M.S. Hood) เพิ่งจะสูญหายในยุทธนาวีที่ช่องแคบเดนมาร์ก (Battle of the Denmark Strait)
เป็นไปได้อย่างไรที่เธอจะทราบเรื่องนี้ก่อนไฟร์เบรซ ?
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1941 ระหว่างที่ดันแคนกำลังรับสารจากวิญญาณในพิธีที่จัดขึ้นที่เมืองพอร์ตสมัทในอังกฤษ เธอได้รับข่าวร้ายเกี่ยวกับกองทัพเรืออีกครั้ง วิญญาณทหารเรือบอกกับเธอว่า เรือรบหลวงบาแรฮ์ม (H.M.S. Barham) ถูกเรือดำน้ำเยอรมนีโจมตีด้วยตอร์ปิโดจนจมลงพร้อมลูกเรือจำนวน 862 นาย หลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น รัฐบาลอังกฤษเก็บข่าวนี้เป็นความลับนานถึง 2 เดือนก่อนจะแถลงให้สาธารณชนรับรู้ในเดือนมกราคม ปี 1942
แล้วดันแคนล่วงรู้เหตุการณ์ที่ถูกเก็บเป็นความลับทางราชการเช่นนี้ได้อย่างไร? ความสงสัยนี้ทำให้บรรดาหน่วยงานของรัฐเฝ้าติดตามและจับตามองเธออย่างเงียบ ๆ
สองปีต่อมา ดันแคนได้กลับมาจัดพิธีติดต่อวิญญาณที่เมืองพอร์ตสมัทอีกครั้ง ในครั้งนี้ ร้อยโท สแตนลีย์ เวิร์ธ (Lieutenant Stanley Worth) เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมพิธี เขาสงสัยในความสามารถของดันแคน โดยเฉพาะตอนที่เธออ้างว่าได้เชิญวิญญาณญาติที่ยังมีชีวิตของเขามา ด้วยความกระตือรือร้นที่จะเปิดโปงว่าแท้จริงแล้วดันแคนเป็นนักต้มตุ๋น เวิร์ธได้เข้าร่วมพิธีติดต่อวิญญาณอีกรอบ และในครั้งนี้เขานำตำรวจนอกเรื่องแบบไปด้วย ระหว่างที่ดันแคนกำลังดำเนินพิธี ตำรวจก็ได้พุ่งตัวจากที่นั่ง กระชากม่านของเธอออก และเข้าจับกุมเธอด้วยความรวดเร็ว
การพิจารณาคดี แม่มด ในศตวรรษที่ 20
ความน่าหวาดกลัวต่อแม่มดเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนศาลอังกฤษและสกอตแลนด์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 16 ยุคสมัยที่การเป็นแม่มดมีโทษหนักถึงประหารชีวิต ตามเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา จำเลยคนสุดท้ายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากความผิดฐานเป็นแม่มดในปี ค.ศ. 1727 คือ เจเน็ต ฮอร์น (Janet Horne)
อย่างไรก็ตาม เมื่อดันแคนถูกจับกุม ศาลอังกฤษกลับตั้งข้อหาร่างทรงจอมหลอกลวงคนนี้ว่ามีความผิดฐานละเมิดพระราชบัญญัติคนจรจัด ค.ศ. 1824 (The Vagrancy Act 1824) กฎหมายในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันประชาชนจากการถูกบรรดาหมอดู หมอผี หรือร่างทรงหลอกลวง
ทว่า ด้านฝ่ายโจทก์กลัวว่าดันแคนจะพ้นผิดด้วยการใช้เทคนิคกฎหมาย เพราะเธอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการเข้าพิธีติดต่อวิญญาณ ไม่ใช่สำหรับการให้บริการทางเวทมนตร์คาถาหรือพลังเหนือธรรมชาติ ในเวลาต่อมา หน่วยงานของรัฐจึงตั้งข้อกล่าวหาว่า ดันแคนละเมิดพระราชบัญญัติแม่มด ค.ศ. 1735 กฎหมายที่ออกมาหลังเจเน็ต ฮอร์นถูกการประหารชีวิตเพียงไม่กี่ปี โดยจุดประสงค์หลักของกฎหมายฉบับนี้คือ การนำประเทศไปสู่ยุคใหม่ ด้วยการลงโทษผู้ที่กล่าวอ้างว่าตนประกอบพิธีกรรมแม่มด หรือกล่าวหาว่าผู้อื่นประกอบพิธีกรรมแม่มดด้วยโทษจำคุก
ถึงแม้ว่าคดีของดันแคนจะสามารถทำการไต่สวนที่ศาลในเมืองพอร์ตสมัทได้ แต่ผู้พิพากษาของศาลนั้นกลับตัดสินว่าเธอควรถูกพิจารณาคดีที่ศาลโอลด์ เบลีย์ ศาลอาญากลางในกรุงลอนดอนแทน เนื่องจากเป็นคดีที่มีลักษณะร้ายแรงอย่างมาก
การพิจารณาคดีของดันแคนที่ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี 1944 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากสาธารณชนรวมไปถึงสื่อต่าง ๆ นอกจากนั้น คดีนี้ยังถูกจับตามองและถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีข้อหาที่ไม่สามารถพบได้ทั่วไป บรรดาสื่อมวลชนต่างเร่งรายงานข่าวด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการพิจารณาคดีแม่มดในยุคใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น คดีนี้ยังโด่งดังจนวินสตัน เชอร์ชิล นายกนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้นให้ความสนใจ และเรียกการพิจารณาคดีที่แปลกประหลาดนี้ว่า “เรื่องไร้สาระที่แสนจะล้าหลัง”
ต่อมา ในวันที่ 3 เมษายน คณะลูกขุนก็ได้ตัดสินให้เฮเลน ดันแคนมีความผิด
ชีวิตหลังถูกจับกุม
ในวันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1944 ไม่กี่เดือนหลังคดีของดันแคนถูกตัดสิน กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มปฏิบัติการตามแผนการลับ โดยเข้าโจมตีฝรั่งเศสซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี ระยะเวลาระหว่างช่วงที่ดันแคนถูกจับกุมและฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มปฏิบัติการวันดีเดย์ (D-Day) ทำให้มีบางคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า การที่รัฐบาลพุ่งเป้าไปที่ร่างทรงชาวสกอตแลนด์คนนี้เป็นความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ความลับของภาครัฐถูกเปิดเผยก่อนการบุกโจมตี นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์อย่าง ฟรานซิส ยัง (Francis Young) ยังชี้ว่า “แม้จะยังไม่มีอะไรที่สามารถยืนยันข่าวลือพวกนี้ได้โดยตรง แต่ยอมรับว่าท่าทีของศาลต่อดันแคนนั้นผิดปกติมาก”
ในขณะที่ปฏิบัติการวันดีเดย์เกิดขึ้นไกลออกไปหลายร้อยไมล์ ทีมกฎหมายของดันแคนก็เตรียมยื่นคำอุทธรณ์เพื่อลดโทษให้เธอ แต่เมื่อยื่นไปแล้วศาลปฏิเสธไม่ยอมรับคำร้อง เฮเลน ดันแคนจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำฮอล์โลเวย์ (Holloway Prison) และได้กลายเป็นจำเลยคนสุดท้ายที่ต้องโทษจำคุกจากการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติแม่มด นอกจากนี้ เจน ยอร์ก (Jane Yorke) ร่างทรงวัย 72 ปี ยังเป็นจำเลยอีกหนึ่งคนที่ถูกตัดสินให้มีความผิดในฐานเดียวกัน ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1944 เธอถูกปรับเป็นเงิน 5 ปอนด์ (หรือราว ๆ 200 กว่าบาทตามค่าเงินในปัจจุบัน) ทว่าไม่ถูกสั่งจำคุก และ 7 ปีหลังจากนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ถูกยกเลิกไป
หลังจากดันแคนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในช่วงท้ายปี ค.ศ. 1944 เธอก็กลับมาทำอาชีพร่างทรงดังเดิม การทำเช่นนี้ทำให้เธอยิ่งตกเป็นเป้าหมายของตำรวจ แต่ไม่ว่าอย่างไร กลุ่มผู้ติดตามของดันแคนก็ยังเลือกสนับสนุนเธอต่อไปเรื่อย ๆ หลังเธอเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1956 พวกเขาได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้อภัยโทษเธอ
ส่วนเบื้องหลังของพิธีติดต่อภูตผีวิญญาณของดันแคนนั้นยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ เนื่องจากไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเธอทราบชะตากรรมของเรือหลวงฮูดและเรือรบหลวงบาแรฮ์มได้อย่างไร ความลับนี้จึงตายไปพร้อมกับดันแคน เช่นเดียวกับเหล่าวิญญาณที่เธออัญเชิญมา
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ