เจาะลึก การไขปริศนา การสร้างพีระมิด – คลี่คลายด้วย “ทางแม่น้ำเก่า”

เจาะลึก การไขปริศนา การสร้างพีระมิด – คลี่คลายด้วย “ทางแม่น้ำเก่า”

เจาะลึก การสร้างพีระมิด โดยใช้สาขาของแม่น้ำไนล์โบราณที่มีความยาวกว่า 64 กิโลเมตรซึ่งถูกค้นพบอยู่ใต้ผืนทรายอาจอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดพีระมิดหลายสิบแห่งในอียิปต์จึงถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่มันตั้งอยู่ในปัจจุบัน

การสร้างพีระมิด – มหาพีระมิดแห่งกีซา (The Great Pyramid of Giza) คือโบราณสถานชื่อดังของอารยธรรมอียิปต์โบราณที่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางผืนทะเลทรายในเมืองกีซา ประเทศอียิปต์ พีระมิดกีซาอยู่ห่างจากริมฝั่งอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำไนล์ออกไปราวสิบกว่ากิโลเมตร ทำเลที่ตั้งอันโดดเดี่ยวและไกลจากตัวเมืองจึงยิ่งเสริมให้โบราณสถานแห่งนี้ดูยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมาพื้นที่รอบ ๆ พีระมิดกีซาอาจไม่เงียบเหงาเหมือนในทุกวันนี้ เพราะงานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า ครั้งหนึ่งมหาพีระมิดแห่งกีซาเคยตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำสาขาหลักของแม่น้ำไนล์โบราณซึ่งมีเรือสัญจรไปมาอย่างคับคั่ง

“พวกเราคิดว่าแม่น้ำสายนั้นเป็นทางด่วนในการเดินทางของชาวอียิปต์โบราณค่ะ” เอมาน โกเนม (Eman Ghoneim) นักธรณีสัณฐานวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา วิลมิงตัน กล่าว

เด็กๆ ขี่ลาใกล้กับพีระมิดขั้นบันไดของดโจเซอร์ในเมืองซัคคาราห์ ประเทศอียิปต์ สร้างขึ้นประมาณปี 2650 ก่อนคริสตกาล ถือเป็นพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดของอียิปต์และสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่แม่น้ำไนล์เริ่มนิ่งพอที่จะใช้เดินทางได้ Photograph by KENNETH GARRETT, Nat Geo Image Collection

การสร้างพีระมิด – แม่น้ำใต้ผืนทราย

ในปัจจุบัน พบว่ามีพีระมิดที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 18 ถึงศตวรรษที่ 27 ก่อนคริสตกาล หรือเมื่อราว ๆ 1,000 ปีก่อน จำนวน 31 แห่ง ตั้งเรียงอยู่ตามแนวเนินที่ราบสูงในทะเลทรายทางตอนใต้ของอียิปต์ โกเนมและนักวิจัยคนอื่น ๆ ในทีมตั้งสมมติฐานมานานแล้วว่า พีระมิดเหล่านั้นอาจถูกสร้างขึ้นข้างแม่น้ำสาขาของแม่น้ำไนล์โบราณซึ่งแห้งเหือดไปเมื่อนานมาแล้ว และงานวิจัยก่อนหน้านี้ก็พบหลักฐานที่ชี้ว่า มีทางน้ำไหลผ่านบริเวณที่ตั้งของพีระมิดแห่งต่าง ๆ ในอียิปต์

งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างพีระมิดตามแนวแม่น้ำสาขาของแม่น้ำไนล์โดยโกเนมและทีมนักวิจัยถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Communications Earth & Environment เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื้อหาของงานวิจัยชิ้นนี้อธิบายถึงการค้นพบสาขาของแม่น้ำไนล์โบราณที่สาบสูญ จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมอย่างเชี่ยวชาญของโกเนมและการสำรวจตรวจสอบเส้นทางของแม่น้ำสาขาโดยใช้วิธีการทางธรณีฟิสิกส์

ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยของโกเนมและทีมคือ แผนที่สาขาแม่น้ำไนล์โบราณที่ยาวกว่า 64 กิโลเมตร ระหว่างเมืองลิชต์ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ประมาณ 48 กิโลเมตรและที่ตั้งของมหาพีระมิดแห่งกีซา

ทางน้ำบาฮะร์ เอล ลิเบย์นี (Bahr el-Libeini) ที่อยู่ใกล้กับกลุ่มพีระมิดอาบูซีร (Abu Sir pyramids) คือสาขาของแม่น้ำไนล์โบราณสายเล็ก ๆ เพียงสายเดียวที่คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ในอดีตนั้นแม่น้ำสาขาสายนี้เคยกว้างกว่า 800 เมตรและลึกกว่า 24 เมตร โกเนมและทีมนักวิจัยได้ตั้งชื่อให้แม่น้ำสาขาของแม่น้ำไนล์สายนี้ขึ้นว่า “อะห์รามัต” (Ahramat) จากคำในภาษาอาหรับที่แปลว่า พีระมิด

การสร้างพีระมิด
นักธรณีสัณฐานวิทยา เอมาน โกเนม ศึกษาลักษณะทางภูมิประเทศของส่วนของสาขาแม่น้ำโบราณอาห์รามัตที่ตั้งอยู่ด้านหน้ามหาพีระมิดกิซ่าและสฟิงซ์ PHOTOGRAPH COURTESY EMAN GHONEIM

ดาวเทียมและเม็ดทราย

เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โกเนมผู้เติบโตในประเทศอียิปต์ได้สังเกตเห็นร่องรอยของสาขาแม่น้ำอะห์รามัตผ่านภาพมัลติสเปกตรัมจากดาวเทียม ซึ่งแสดงให้เห็นข้อมูลในช่วงความยาวคลื่นของแสงที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้เป็นครั้งแรก จากนั้น เธอจึงนำข้อมูลแบบจำลองความสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM) ซึ่งได้มาจากข้อมูลเรดาร์ดาวเทียมไปทำการตรวจสอบเพื่อระบุความสูงของลักษณะภูมิประเทศและความสูงของพื้นที่ที่มีความผิดปกติซึ่งคาดว่าเป็นร่องรอยของอะห์รามัต

หลังโกเนมสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาธรณีสัณฐานวิทยาและเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางธรณีของภูมิประเทศแล้ว เธอก็สามารถระบุร่องรอยของแม่น้ำโบราณที่สูญหายไปเป็นเวลานานได้ โดยโกเนมพบว่าพื้นที่ของอดีตแม่น้ำนั้นถูกเม็ดทรายจากทะเลทรายทับถมและต่อมาถูกใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรต่อเนื่องนานหลายศตวรรษ

แม้ว่าข้อมูลจากดาวเทียมชุดก่อนจะมีรายละเอียดไม่มากพอที่จะนำไปใช้วิเคราะห์หาตำแหน่งที่แน่ชัดของสาขาของแม่น้ำไนล์โบราณได้ แต่ข้อมูลชุดใหม่ที่โกเนมได้จากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นสามารถทำให้เธอวิเคราะห์และระบุความยาวโดยรวมของสาขาของแม่น้ำไนล์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

การสร้างพีระมิด
ทีมวิจัยจัดระเบียบตัวอย่างดินที่เก็บมาจากแขนงของแม่น้ำไนล์ที่ “สูญหาย” Photograph Courtesy Eman Ghoneim

ระดับน้ำของแม่น้ำไนล์

นักอียิปต์วิทยาได้จัดทำลำดับพัฒนาการคร่าว ๆ ของมนุษย์ยุคแรกที่อาศัยอยู่ในหุบเขาไนล์ (Nile valley) ขึ้น เมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน ภูมิอากาศแบบทะเลทรายในภูมิภาคบริเวณหุบเขาไนล์แปรสภาพเป็นเป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา จากการที่ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นหลังช่วงสุดท้ายของยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (Last Ice Age) สิ้นสุดลง

จูดิธ บันเบอรี (Judith Bunbury) นักธรณีโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของโกเนมและทีม อธิบายว่า เมื่อประมาณ 5,000 ถึง 12,000 ปีที่แล้ว หุบเขาไนล์ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตหรือการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากในขณะนั้น แม่น้ำไนล์โบราณอยู่ในช่วงที่เรียกว่า “Wild Nile” หรือช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำไนล์สูงมากจนน้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ของหุบเขา พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวจึงกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอด

“มนุษย์เพิ่งจะเริ่มเข้าไปยังหุบเขาไนล์หลังช่วง Wild Nile สิ้นสุดลงค่ะ อาจจะเข้าไปเพื่อหาปลา” บันเบอรีกล่าว แล้วอธิบายเสริมต่อว่า ในช่วงประมาณ 2700 ปีก่อนคริสตกาล ระดับน้ำในแม่น้ำสาขาสายต่าง ๆ ของแม่น้ำไนล์เริ่มทรงตัวและปลอดภัยเพียงพอสำหรับการตั้งถิ่นฐาน รวมไปถึงการสถาปนาราชอาณาจักรเก่าแห่งอียิปต์ (Old Kingdom of Egypt) ขึ้น แม้ว่าจะยังมีน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งก็ตาม

การสร้างพีระมิด
ภาพแกะสลักหินโบราณของอียิปต์แสดงให้เห็นชาวประมงสองคนพร้อมกับปลาที่จับได้ของพวกเขา ปลาที่จับได้จากแม่น้ำไนล์อาจเป็นอาหารของคนงานก่อสร้างพีระมิด Photograph by KENNETH GARRETT, Nat Geo Image Collection

การสร้างพีระมิด

โกเนมมั่นใจว่า แนวของสาขาแม่น้ำอะห์รามัตที่ค้นพบเป็นทางน้ำสายสำคัญที่ถูกใช้ในยุคอาณาจักรเก่าจนถึงช่วงราว ๆ 2,200 ปีก่อนคริสตกาล การศึกษาเส้นทางของแม่น้ำสาขาสายนี้จะช่วยให้นักโบราณคดีสามารถระบุตำแหน่งของโบราณสถานแห่งต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น และทำให้โบราณสถานเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและดูแลอย่างเหมาะสม

แนวสาขาแม่น้ำอะห์รามัตคือเส้นทางการเดินเรือขนส่งวัสดุในการสร้างพีระมิดที่สำคัญในยุคนั้น “ชาวอียิปต์โบราณจำเป็นจะต้องใช้อะห์รามัตเป็นทางน้ำสายหลักในการขนส่งวัสดุสำหรับการสร้างพีระมิดที่หนักหลายตันและลำเลียงคนงานไปยังสถานที่ก่อสร้างค่ะ พวกเขาใช้สาขาของแม่น้ำสายนี้เป็นเหมือนกับทางด่วนสำหรับเรือ” โกเนมกล่าว

ในบางพื้นที่ พีระมิดถูกสร้างขึ้นใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำอะห์รามัตไหลผ่านมาก นักวิจัยพบว่า พีระมิดบางแห่งนั้นตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำไม่ถึง 100 เมตร ข้อมูลที่บ่งบอกถึงความใหญ่โตของสาขาแม่น้ำอะห์รามัต ซึ่งได้จากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์และการวิเคราะห์ตัวอย่างดินจากบริเวณเฉพาะตลอดระยะเวลาหลายเดือนนั้น สร้างความตกตะลึงให้กับบรรดานักวิจัยมาก

โดยปกติแล้ว แม่น้ำอะห์รามัตจะมีความกว้างประมาณ 400 เมตร แต่ผลจากการศึกษาของโกเนมและทีมกลับแสดงให้เห็นว่า บริเวณตอนเหนือของแม่น้ำอะห์รามัตถูกสร้างให้มีความกว้างมากกว่าปกติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือขนส่งสามารถแล่นเข้าไปเทียบท่าใกล้กับสถานที่ก่อสร้างพีระมิดกีซาได้

“อะห์รามัตเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีความกว้างใกล้เคียงกับแม่น้ำไนล์ในปัจจุบันค่ะ” โกเนมกล่าว “และการที่อะห์รามัตอยู่ใกล้กับพีระมิดหลายสิบแห่งยังบ่งบอกว่า มันเป็นทางน้ำที่มีความสำคัญมากในสมัยอียิปต์โบราณ” เธอเสริม

การสร้างพีระมิด
ภาพมุมสูงของพีระมิดขั้นบันไดของดโจเซอร์ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในทะเลทรายใกล้กับพื้นที่ชลประทาน Photograph by KENNETH GARRETT, Nat Geo Image Collection

การแล่นเรือสองฝั่ง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน อะห์รามัตหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำไนล์โบราณนั้นสูญหายไปเกือบทั้งหมด ผลจากงานวิจัยชี้ว่า อะห์รามัตเปลี่ยนทิศทางเดินของน้ำไปทางตะวันออก ต่อมาในช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาล แม่น้ำทั้งสายก็ถูกตะกอนดินโคลนและทรายทับถม โดยตะกอนเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทางธรณีวิทยาหรือถูกลมพัดมาจากทะเลทราย

บรรดานักวิจัยพบว่า พีระมิดในช่วงราชอาณาจักรกลางแห่งอียิปต์ (Middle Kingdom of Egypt) หรือเมื่อประมาณ 1780 ถึง 2040 ปีก่อนคริสตกาลนั้น ถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่ไกลออกไปทางด้านตะวันออกของพีระมิดที่สร้างในช่วงอาณาจักรเก่า ด้วยเหตุนี้จึงเกิดข้อสันนิษฐานขึ้นว่า สิ่งก่อสร้างโบราณเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นตามแนวสาขาแม่น้ำอะห์รามัตที่เปลี่ยนทิศทางไปด้านตะวันออก

นอกจากบันเบอรีจะคิดว่า การสร้างพีระมิดอาจมีส่วนทำให้เกิดการทับถมของตะกอนดินโคลนและทรายในแม่น้ำเพิ่มขึ้นแล้ว เธอยังเชื่อว่า อะห์รามัตเริ่มถูกทับถมมาตั้งแต่ประมาณ 2500 ปีก่อนคริสตกาล

ในช่วงนั้น มาสตาบาหรือหลุมฝังศพของฟาโรห์เชปซีสกาฟ (Mastaba of Shepseskaf) ซึ่งมีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างทรงสีเหลี่ยมผืนผ้าที่ยกพื้นสูงและมีหลังคาแบนราบ ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ระหว่างเมืองซักการาและดาห์ชูร์ แม่น้ำอะห์รามัตที่กำลังแห้งเหือดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สุสานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบ “หลุมฝังศพของฟาโรห์ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบที่ค่อนข้างจะเรียบง่าย เพราะในขณะนั้นการขนส่งทางน้ำทำได้ยากกว่ายุคก่อนค่ะ” บันเบอรีกล่าว

ฮาร์เดอร์ เชย์ชา (Harder Sheisha) เป็นนักเรณูวิทยาจากมหาวิทยาลัยมาร์เซย์ในฝรั่งเศส ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของโกเนมและทีม แต่อย่างไรก็ตาม เธอได้รวบรวมตัวอย่างหลักฐานของสิ่งแวดล้อมในอดีตจากบริเวณทางน้ำซึ่งอยู่ใกล้กับที่ตั้งของพีระมิดกีซาแล้วนำไปศึกษา ผลจากงานวิจัยของเชย์ชาอาจมีความสอดคล้องกับงานวิจัยเกี่ยวกับการค้นพบอะห์รามัตที่โกเนมและทีมเพิ่งจะตีพิมพ์ไป

เชย์ชาตั้งข้อสังเกตว่า ความกว้างและความลึกของสาขาแม่น้ำอะห์รามัตขัดแย้งกับบางทฤษฎีที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น แนวคิดที่ว่าทางน้ำที่ใช้ขนส่งสิ่งต่าง ๆ ไปยังแหล่งก่อสร้างพีระมิดนั้นมีลักษณะแคบและตื้นตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ยังอาจจะเนืองแน่นไปด้วยเรือจนการเดินทางเป็นไปอย่างติดขัด แต่โกเนมนั้นเชื่อว่า แม่น้ำอะห์รามัตกว้างและลึกพอที่เรือจะสามารถแล่นสวนกันได้

ขั้นตอนต่อไปที่ทีมวิจัยของโกเนมจะทำคือการนำซากพืชและเปลือกหอยที่ฝังอยู่ใต้ตะกอนดินไปตรวจหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี เพื่อวิเคราะห์หาช่วงเวลาที่แม่น้ำอะห์รามัตถูกใช้เป็นเส้นทางเดินเรือที่แน่นอน และเพื่อจัดทำแผนที่ทางทิศเหนือและทิศใต้ของสาขาแม่น้ำอะห์รามัตเพิ่มเติมจากแผนที่เดิมที่มีเพียงข้อมูลเกี่ยวกับสาขาแม่น้ำไนล์โบราณความยาวกว่า 64 กิโลเมตรที่ไหลผ่านพีระมิด

“ในตอนนี้ทีมวิจัยของเรากำลังมุ่งเน้นไปที่การศึกษาสาขาแม่น้ำไนล์โบราณที่อยู่ทางตอนเหนือของอียิปต์อยู่ค่ะ สำหรับสาขาแม่น้ำทางตอนกลางและตอนใต้นั้นเราจะทำการสำรวจ ศึกษา และทำแผนที่เพิ่มเติมเป็นลำดับต่อ ๆ ไป” โกเนมกล่าว และเสริมว่า “นอกจากนี้ เราจะขยายขอบเขตการวิเคราะห์ของการวิจัย เพื่อสืบหาว่าสาขาแม่น้ำที่เราเรียกว่า อะห์รามัต มีต้นกำเนิดอยู่ที่ไหนกันแน่ บางทีมันอาจจะอยู่ใกล้กับบริเวณชายแดนของประเทศซูดานก็ได้ค่ะ”

เรื่อง ทอม เมตคาล์ฟ

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม เอกสาร 4,500 ปี ไขชีวิตคนงาน สวัสดิการ เบื้องหลัง “พีระมิดอียิปต์”

Recommend