ภาพถ่ายรำลึก 80 ปี วันดีเดย์ แห่ง สงครามโลกครั้งที่สอง ที่โลกไม่ลืม

ภาพถ่ายรำลึก 80 ปี วันดีเดย์ แห่ง สงครามโลกครั้งที่สอง ที่โลกไม่ลืม

ในวาระครบรอบ 80 ปี วันดีเดย์ หรือปฏิบัติการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เราขอรำลึกถึงเหล่าวีรชนผู้อยู่เบื้องหลังศึกครั้งสำคัญที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้เริ่มปฏิบัติการตามแผนการซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย เพื่อปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของกองทัพนาซี ปฏิบัติการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งมีรหัสเรียกว่า ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord) นั้นถูกวางแผนล่วงหน้าหลายเดือนในลอนดอนก่อนการโจมตีจะเริ่มขึ้น ซึ่งในระหว่างการเตรียมการนั้น กองกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนหลายแสนนายก็ได้เข้ามาประจำการอย่างพร้อมเพรียงในสหราชอาณาจักร

กองทหารเทิดพระเกียรติเจ้าหญิง
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1944 เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชินีในอนาคตของสหราชอาณาจักรในวัย 18 พรรษา ได้ทรงตรวจทัพกองพันทหารราบรักษาพระองค์เกรนาเดียที่ 2 ซึ่งประจำการอยู่ใกล้กับไบรตัน เมืองริมชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ ในระหว่างการเตรียมการสำหรับวันดีเดย์ (D-Day) ทหารราบรักษาพระองค์เกรนาเดียที่เดินทางไปถึงนอร์มังดีในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนั้น ถูกผนวกรวมเข้ากับกองพลยานเกราะรักษาพระองค์ของกองทัพบกสหราชอาณาจักร ซึ่งต่อมาทหารกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมในการปลดปล่อยบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ในปีเดียวกัน

ชีวิตที่ดำเนินต่อ
ในปี 1944 ขบวนยานยนต์ทหารของสหรัฐอเมริกาจอดเรียงรายอยู่บนถนนเซาแธมป์ตันเพื่อรอขนส่งไปยังนอร์มังดี ในขณะที่แอนนี แบกก์ตากเสื้อผ้าของเธอตามปกติ

ความร่วมมือระหว่างประเทศ
เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสัมพันธมิตร และวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ได้ตรวจเยี่ยมกองกำลังพลร่มของสหรัฐฯ ที่เข้ามาประจำการในอังกฤษ

ข้อความเสริมแรงสู้
กลุ่มทหารจากกองพลส่งทางอากาศที่ 6 ของอังกฤษยืนอ่านข้อความบนเครื่องร่อนฮอร์ซา (Horsa glider) ของพวกเขาซึ่งจอดอยู่บนลานบินในประเทศอังกฤษ ทหารเหล่านี้จะบินข้ามช่องแคบอังกฤษเพื่อส่งเสบียงและทหารจำนวนหนึ่งไปยังแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศส ในช่วงเย็นของวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944

การเดินทางอันยากลำบาก
รถถังเชอร์แมนของกองทหารม้าฮุสซาร์ที่ 13 และ 18 ของอังกฤษถูกนำขึ้นเรือขนส่ง ณ เมืองกอสปอร์ต ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ในเวลาต่อมา รถถังคันนั้นก็ได้ลงจอดบนหาดซอร์ด (Sword Beach) ในประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับทหารที่ยกพลขึ้นบก หลังจากนั้น บรรดาทหารม้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองพลน้อยยานเกราะที่ 27 ของกองทัพอังกฤษก็เริ่มบุกคืบลึกเข้าไปในนอร์มังดีเพื่อเข้าร่วมยุทธการที่ก็อง (Battle of Caen) ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

การรวมกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร
ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1944 กองเรือระบายพลแล่นนำหน้าเรือบัญชาการอย่างเรือหลวงบูโลโล (H.M.S. Bulolo) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตี ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทอดพระเนตรกองเรือเหล่านั้นจากเรือหลวง เรือระบายพลเหล่านั้นเป็นยานยนต์ที่มีความสำคัญต่อการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกมาก การซ้อมรบเกิดขึ้นในบริเวณน่านน้ำใกล้ชายฝั่งระหว่างเมืองเซาแธมป์ตันและเกาะไอล์ออฟไวต์ เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเขตกําบังคลื่นลมที่ปลอดภัยซึ่งกองเรือรบของอังกฤษใช้เป็นสถานที่รวมตัวก่อนออกเดินทางมาอย่างยาวนาน

การกระโดดแห่งศรัทธา
กองกำลังทหารแคนาดาจากกองพลทหารราบ Stormont, Dundas, and Glengarry Highlanders กระโดดจากเรือลงสู่น่านน้ำนอกชายฝั่งของหาดจูโน (Juno Beach) ในนอร์มังดี พร้อมแบกจักรยานติดตัวลงไป พวกเขาใช้มันเพื่อทำให้การเดินทางบนบกเป็นไปอย่างรวดเร็วและเงียบเชียบ

ทหารอเมริกันในเรือระบายพลซึ่งมุ่งหน้าไปยังหาดโอมาฮาในวันดีเดย์ ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทหารของฝ่ายพันธมิตรเกือบ 160,000 นายได้ทำการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี

ความดุเดือดของการสู้รบ
เหล่าทหารช่างของอังกฤษซึ่งเป็นวิศวกรที่มีหน้าที่ซ่อมแซมสะพานและถนน รวมไปถึงวางและกู้ระเบิดนั้นเดินทางไปถึงหาดซอร์ดในวันดีเดย์ ด้านหลังของพวกเขามีหน่วยแพทย์ที่คอยช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และนอกจากนั้น ไกลออกไปลิบ ๆ ยังมีทหารหน่วยคอมมานโดจากกองพลน้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 1 กำลังยกพลขึ้นบกอยู่

การเสียสละที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ร่างทหารอเมริกันที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของฝรั่งเศสถูกนำไปวางเรียงไว้ในสุสานชั่วคราวที่นอร์มังดี หลังสงครามสิ้นสุดลง ศพเหล่านั้นบ้างก็ถูกส่งกลับไปยังสหรัฐฯ บ้างก็ถูกนำไปฝังไว้ในสุสานที่ยุโรป ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 หรือในวันดีเดย์เพียงวันเดียว มีทหารชาวอเมริกันถูกสังหารไปราว ๆ 2,501 นาย ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งของทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตลงในวันนั้น ในยุทธการนอร์มังดีที่ตามมา มีทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเสียชีวิตลงราว 73,000 นาย และได้รับบาดเจ็บร่วม 153,000 นาย

เครื่องลากยานไร้ยนต์
เครื่องร่อนจากกองทัพอากาศที่ 9 ของสหรัฐฯ ลงจอดที่นอร์มังดีในวันแรกของการเข้าบุก โดยฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ยานเหล่านั้นในการขนพลทหารราบ อาวุธ และเสบียงไปยังจุดหมายที่กำหนด การจะนำเครื่องร่อนขึ้นบินได้สำเร็จนั้น ทั้งตัวนักบินและผู้บังคับเครื่องบินที่ใช้ลากยานไร้เครื่องยนต์เหล่านี้ขึ้นไปบนท้องฟ้าและปล่อยลงไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องบนพื้นดินจะต้องใช้ทักษะขั้นสูง ยกตัวอย่างเช่นในภาพนี้ เครื่องบิน C-47 ที่ทำหน้าที่ลากเครื่องร่อนบินข้ามช่องแคบอังกฤษมายังนอร์มังดียังคงขับวนอยู่บนฟ้า ในขณะที่เครื่องร่อนลำที่เกิดความผิดพลาดหลังถูกปล่อยลงมานั้นตกลงสู่พื้นในตำแหน่งที่ห่างจากยานลำอื่น ๆ มาก

ถนนทุกตรอกซอกซอย
ในเดือนสิงหาคม ปี 1944 กองทหารอเมริกันออกลาดตระเวนตรวจตราตามเมืองการองตองในแคว้นนอร์มังดี การสู้รบอย่างดุเดือดเพื่อควบคุมเมืองนี้สิ้นสุดลงในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1944 หรือวันที่กองทัพของนาซีเยอรมนีซึ่งยึดครองเมืองอยู่ได้ยอมจำนนต่อกองพลส่งทางอากาศที่ 101 ของสหรัฐฯ การบุกยึดคืนเมืองการองตองกลับมาได้นั้นทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีฐานทัพในการโจมตีท่าเรือสำคัญในเมืองแชร์บูร์

เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

หลังตกอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซีนานถึง 4 ปี ในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้รับอิสรภาพคืนมา ในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1944 ฝูงชนต่างส่งเสียงชื่นชมขบวนยานยนต์เฉลิมฉลองชัยชนะของกองทัพฝรั่งเศสที่ขับผ่านหน้าประตูชัยในปารีส สองวันก่อนหน้านี้ มีทหารกลุ่มแรกเดินทางมาถึงกรุงปารีสพร้อมกับรถถังเชอร์แมนที่ทางสหรัฐฯ จัดหาให้ ทหารกลุ่มนั้นคือกองร้อยที่ 9 ของกองทัพฝรั่งเศส หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ La Nueve (ลา นูเอเว) ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกเป็นชาวสเปน จากนั้นในวันถัดมา กองพลทหารราบที่ 4 ของสหรัฐอเมริกาก็เดินทางมาถึงเมืองหลวงแห่งนี้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าปารีสจะได้รับอิสรภาพกลับคืนมาแล้ว แต่ผู้คนยังต้องเผชิญกับความหิวโหยอยู่ ดังนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรจึงทุ่มเทเวลามากมายให้กับการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าและทรัพยากรจำเป็นมายังเมืองหลวงของประเทศนี้

เรื่อง กองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม เจาะเบื้องลึก-เปิดแผนลับ ‘ วันดีเดย์ ‘ แห่ง สงครามโลกครั้งที่สอง

วันดีเดย์

 

Recommend