มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette ) หรือพระนามเดิม อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา ราชินีองค์สุดท้ายของฝรั่งเศส สตรีที่มีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ยุโรป ผู้ถูกประหารด้วยกิโยตินตามพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระราชสวามี และโดนนำมาเป็นส่วนหนึ่งของช่วงพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส
ประวัติพระนาง มารี อ็องตัวแน็ต
มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) หรือพระนามเดิมคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna) ประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1755 ที่พระราชวังเชินบรุนน์ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยเป็นพระธิดาของ จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย
พระนางถูกเลี้ยงดูโดยอายาส เหล่าข้าราชบริพารของราชสำนัก (มาดาม เดอ บร็องเดส และต่อมาโดยมาดาม เดอ เลอเชนเฟลด์ ผู้เข้มงวด) ภายใต้การสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดของจักรพรรดินี ผู้มีแนวความคิดล้าหลังเกี่ยวกับการเลี้ยงดูโอรสและธิดาด้วยการควบคุมสุขอนามัยและกระยาหารอย่างเข้มงวด และการทรมานร่างกายด้วยกิจกรรมหนักหน่วง
สำหรับ มารี อ็องตัวแน็ต เติบโตขึ้นโดยที่การศึกษาของพระนางค่อนข้างถูกปล่อยปละละเลย ทรงสามารถอ่านออกเขียนได้เมื่อมีพระชนมายุเกือบสิบพรรษา ทรงอักษรภาษาเยอรมันได้ไม่ดีนัก ตรัสภาษาฝรั่งเศสได้น้อยนิด และยิ่งถ้าเป็นภาษาอิตาลีแล้วพระนางตรัสได้น้อยมาก แม้ว่าทั้งสามภาษานั้นจะเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาราชนิกูลของออสเตรียก็ตาม
มารี อ็องตัวแน็ต ได้หัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับคริสตอฟ วิลบัลด์ กลุค (คีตกวีชื่อดัง) และเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสกับโนแวร์ เมื่อพระมารดาต้องเลือกระหว่างนักแสดงสองคนเพื่อให้ทรงหัดการอ่านออกเสียงและร้องเพลง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ทัดทานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเห็นว่านักแสดงไม่มีคุณสมบัติพอ มาเรีย เทเรซา จึงได้ขอให้เขาจัดหาครูที่ราชสำนักฝรั่งเศสรับรองมาให้ ผู้ที่ถูกส่งมาคือ บิชอปแห่งแวร์มงด์ ผู้นิยมในยุคเรืองปัญญา และผู้นิยมศาสตร์แห่งการคัดตัวหนังสือ โดยเขาเป็นผู้ที่แก้ไขข้อบกพร่องทางการศึกษาของ มารี อ็องตัวแน็ต ได้สำเร็จ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของราชวงศ์ออสเตรียที่นิยมส่งลูกหลานไปดองกับราชวงศ์ต่างๆ ในประเทศยุโรป
อย่างไรก็ตาม ในแง่ความสวย มารี อ็องตัวแน็ต ได้ชื่อว่าเป็นพระธิดาที่มีพระสิริโฉมงดงามที่สุดในหมู่พระราชธิดาในอีกหลายพระองค์ ซึ่งแม้พระนางจะไม่ได้มีความโดดเด่นด้านการศึกษา แต่มีความสามารถด้านดนตรี แต่งกายด้วยแฟชั่นที่ทันสมัย รวมถึงมีเสน่ห์ด้านการพูดจาที่ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้คุยกับพระนางต่างก็หลงใหลในตัว มารี อ็องตัวแน็ต
ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1769 มาร์กีแห่งดูร์ฟอร์ต ได้มาสู่ขอ มารี อ็องตัวแน็ต ที่ตอนนนั้นมีตำแหน่งเป็น อาร์ชดัชเชสมารีอา จากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออภิเษกกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI de France) เมื่อพระนางมีพระชนมายุได้ 14 ชันษา
การอภิเษกสมรสของทั้งคู่ เป็นไปเพื่อสานสัมพันธ์ให้ดีขึ้นของราชวงศ์ออสเตรียกับราชวงศ์ฝรั่งเศส ที่ในอดีตเคยเป็นปฏิปักษ์กันกันมานาน แต่คนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนเคร่งศาสนาที่นำโดย ดยุกแห่งชัวเซิล เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้คัดค้านการอภิเษกสมรสในครั้งนี้ ทำให้เกิดการริเริ่มใช้คำเรียกพระนางว่า ผู้หญิงออสเตรีย ที่ใช้เป็นคำสบประมาท เนื่องจากชาวฝรั่งเศสมองว่าชาวออสเตรียบ้านนอก ตํ่าต้อย และพูดคนละภาษา (ชาวออสเตรียพูดภาษาเยอรมัน)
ชีวิตคู่ที่ไม่ราบรื่น
ชีวิตหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ฝันไว้ ช่วงแรกพระนางต้องมีการปรับตัวหลายอย่าง เพราะความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมออสเตรียกับฝรั่งเศส พระนางต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน ต้องทนทุกข์กับการปรับตัวให้เข้ากับพระราชพิธี และขนบธรรมเนียมประเพณีแบบฝรั่งเศส ไหนจะพระสวามีที่ถูกสอนให้รังเกียจออสเตรีย และจะพยายามตีตนออกห่างจากพระนาง ด้วยการหนีออกไปเข้าป่าล่าสัตว์ตั้งแต่เช้าตรู่ ทำให้พระนางทรงเกลียดและอึดอัดกับการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้างเป็นอย่างมาก (แต่ต่อมาก็มี มารี-เตแรซ)
ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริงหลังจากแต่งงานกันได้ 3 ปี ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยังไม่ยอมมีลูกกับพระนาง ปล่อยให้พระนางเผชิญข่าวลืออื้อฉาว การแบ่งพรรคแบ่งพวก ดึงเข้ากลุ่มในพระราชวัง ส่งผลทำให้ มารี อ็องตัวแน็ต ในวัยเพียง 16 ชันษา ใช้ชีวิตแบบอิสระและสนุกไปวันๆ จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างไม่ได้รับรู้เหตุการณ์บ้านเมืองเลยแม้แต่น้อย ว่าฝรั่งเศสในขณะนั้นวิกฤตหนัก ถึงขั้นราษฎรอดตายกันเป็นจำนวนมากเป็นเวลาหลายปี
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ต้องการพิสูจน์ตัวเอง พระนางจึงทุ่มแท้กับเรื่องเครื่องหอม เครื่องแต่งกาย และการประทินโฉม จึงใช้เงินจำนวนมากไปกับการปรับโฉมตัวเองให้กลายเป็นสาวฝรั่งเศสที่ราชวงศ์ให้การยอมรับ รวมถึงงานอดิเรกอย่าง การร้องเพลงของพระนางก็ทำให้มีการจัดปาร์ตี้ในพระราชวังบ่อยๆ
นอกจากนี้ พระนางถูกรายล้อมด้วยพระสหายสนิทจำนวนหนึ่ง (เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ บารอนแห่งเบอซองวาล ดยุกแห่งควงยี รวมถึงโยลองด์ เดอ โปลาสตรง กับเคาน์เตสแห่งโปลินยัก) ซึ่งสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่นางสนมคนอื่นๆ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล เหล่านี้เองที่ต่อมาทำให้คณะปฏิวัติฝรั่งเศสสามารถนำมาใช้ปลุกกระแสความเกลียดชังในหมู่ประชาชน
ในช่วงระยะต่อมา แม้ว่าจะประสบกับความยากลำบากมาก่อนหน้านี้ แต่ในท้ายที่สุดทั้งสองพระองค์ก็ทรงมีรัชทายาทสืบเชื้อพระวงศ์รวมสี่พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิง มารี-เตแรซ , เจ้าชายหลุยส์-โฌแซ็ฟ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส , พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส และ เจ้าหญิงโซฟี เฮเลนส์ เบียทริกซ์แห่งฝรั่งเศส
คดีสร้อยพระศออันอื้อฉาว
คดีสร้อยพระศอ คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชะตากรรมของ มารี อ็องตัวแนต ราชินีแห่งฝรั่งเศสอย่างมาก โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาสำคัญเพื่อโจมตีพระนาง
ในช่วงทศวรรษที่ 1780 ได้มีการสร้างสร้อยคอเพชรอันงดงามและมีค่ามากเส้นหนึ่งขึ้นมา ซึ่งช่างทำเครื่องประดับชาวฝรั่งเศส สร้อยคอเส้นนี้ถูกนำเสนอขายให้กับพระราชินีมารี อ็องตัวแนต แต่พระนางปฏิเสธที่จะซื้อ โดยมีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ มาดาม เดอ ลามอตต์ ที่หลงใหลในชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือย ได้วางแผนที่จะหลอกลวงให้ พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เชื่อว่าพระราชินีต้องการซื้อสร้อยคอเส้นนี้
เธอแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของพระราชินี และโน้มน้าวให้พระคาร์ดินัลซื้อสร้อยคอให้พระราชินี เมื่อเรื่องราวถูกเปิดโปงออกมาว่าพระราชินีไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสร้อยคอเส้นนี้ แต่ภาพลักษณ์ที่เสียหายไปแล้วนั้นยากที่จะกอบกู้คืนมาได้ หลายคนเชื่อว่าคดีสร้อยพระศอเป็นเพียงการใส่ร้ายป้ายสีพระนางเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์
Let them eat cake วลีที่เป็น Fake News ยุคแรกๆ
พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เป็นหนึ่งในราชวงศ์ยุโรปที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่ง เช่น การที่พระนางอาบนํ้าบ่อย ก็มีคนเอาไปลือว่าเพราะพระนางคบชู้ เป็นต้น แต่ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดคือประโยคที่ว่า Let them eat cake ว่า พระนางเป็นคนพูด
จุดเริ่มต้นของ Fake News ยุคนั้นมาจากการที่ประชาชาวฝรั่งเศสเริ่มบ่มเพาะความแค้นจากภาวะอดอยาก ขบวนการปฏิวัติได้แพร่ข่าวว่า พระนางมารี อ็องตัวแน็ต พูดว่า “Qu’ils mangent de la brioche” ที่หมายถึงการแนะนำประชาชนที่ไม่มีแม้ขนมปังจะกิน ให้ไปกินเค้กแทน นัยว่าพระนางแสดงออกถึงความไม่ใส่ใจความยากลำบากของชาวฝรั่งเศสที่กำลังเผชิญกับความอดอยากข้าวยากหมากแพง
แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีหลักฐานว่า มารี อ็องตัวแนต เคยพูดประโยคดังกล่าว นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าประโยคนี้เป็นเพียงการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อโจมตีพระนางและราชวงศ์ เพราะคำพูดนี้เกิดขึ้นมาก่อนที่ มารี อ็องตัวแนต จะได้เป็นราชินีของฝรั่งเศส โดยที่มาที่แท้จริงของประโยคดังกล่าวคือ ฌอง ฌากส์ รุสโซ นักเขียนชื่อดังที่เคยกล่าวถึงประโยคคล้ายคลึงกันนี้ในหนังสือ คำสารภาพ (Confessions) ของเขา ที่เล่าถึงเรื่องราวของเจ้าหญิงผู้หนึ่งที่ไม่สนใจความยากลำบากของประชาชนและแนะนำให้พวกเขากินขนมปังบรีย็อชแทนขนมปัง
อีกอย่างที่บ่งบอกว่า มารี อ็องตัวแนต ถูกจ้องโจมตีก็คือ ช่วงหนึ่งที่พระนางเบื่อหน่ายกับสังคมจอมปลอมในพระราชวังที่เหมือนต้องแสดงละครตลอดเวลา จึงสร้างตำหนักเล็กๆ รอบนอกพระราชวังแวร์ซาย เพื่ออยู่อาศัยอย่างสงบ โดยพระนางแต่งตัวง่ายๆ ด้วยผ้าฝ้าย และได้ให้จิตรกรมาวาดภาพเพื่อนำไปแสดงในปารีส แต่กระแสโจมตีก็ยังถาโถม ทั้งถูกตั้งคำถามจากชาวปารีสว่าทำไมไม่ใส่ผ้าไหมของฝรั่งเศส แต่งตัวโป๊เปลือย รวมถึงการไปสร้างตำหนักใหม่ก็เป็นความฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น
การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789
การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) คือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1789 ถึง ค.ศ. 1799 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมือง สังคม และความคิดของมนุษย์ทั่วโลกอย่างกว้างขวาง การปฏิวัติครั้งนี้ได้โค่นล้มระบอบกษัตริย์อันเป็นที่ยั่งยืนของฝรั่งเศส และนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
ช่วงนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับ พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกอัญเชิญมาอยู่ที่พระราชวังตุยเลอรี ก่อนที่จะถูกไต่สวนโดยคณะผู้แทนของสมัชชาแห่งชาติ พระองค์ได้ตอบคำถามอย่างคลุมเครือ คำตอบที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก จนมีกระแสเรียกร้องให้ถอดถอนพระองค์จากตำแหน่งกษัตริย์
ด้านพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ได้พบกับอองตวน บาร์นาฟ อย่างลับ ๆ ซึ่งต้องการโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยอมรับตำแหน่งกษัตริย์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยอมรับระบอบประชาธิปไตย และในวันที่ 30 กันยายน ได้มีการยุบสภาที่ปรึกษากษัตริย์ และตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาแทนที่
อย่างไรก็ดี ข่าวการทำสงครามกับราชวงศ์ของประเทศเพื่อนบ้านได้แพร่สะพัดไปทั่ว ในบรรดาเชื้อพระวงศ์ของยุโรปทั้งหมด ออสเตรียทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกกดดันที่สุด ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านมารี อ็องตัวแน็ตและเรียกพระนางว่าเป็น นางปิศาจ หรือไม่ก็ มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย และยังกล่าวโทษว่าพระนางเป็นผู้ทำให้เมืองหลวงนองไปด้วยเลือด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1792 คำแถลงการณ์ของเบราน์ชไวค์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากท่านเคานท์ ฮาน แอกเซล เดอ แฟร์ซอง ได้จุดเพลิงแค้นของประชาชนชาวฝรั่งเศสได้สำเร็จ
เหตุการณ์บานปลายจนประชาชนได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ด้วยการบุกพระราชวังตุยเลอรี พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จำต้องลี้ภัยในสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติ ที่ต่อมาได้ลงคะแนนให้ถอดถอนพระองค์ชั่วคราว และให้พระองค์เสด็จไปประทับที่คอนแวนต์ของนิกายเฟยยองต์ วันรุ่งขึ้น เชื้อพระวงศ์ก็ถูกนำตัวมาไว้ที่ห้องขังของโบสถ์ ระหว่างการสังหารหมู่เชื้อพระวงศ์ในเดือนกันยายน เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู (บางเอกสารระบุว่าเป็นสนมของพระนางมารี ไม่ใช่ เจ้าหญิง) และพระเศียรของเจ้าหญิงถูกเสียบไว้ที่ปลายหอกและตั้งไว้นอกหน้าต่างห้องที่ประทับของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ไม่นานต่อมา หลังจากที่สงครามได้เริ่มขึ้น สภาคณะปฏิวัติได้ประกาศให้เชื้อพระวงศ์ตกอยู่ในฐานะตัวประกัน ราวต้นเดือนธันวาคม ได้มีการค้นพบ ตู้เหล็ก ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้ซ่อนเอกสารลับของพระองค์ จึงจำเป็นต้องจัดการไต่สวนคดีขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ท้ายที่สุดทั้ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และ พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกตั้งข้อหากบฏหลังฝ่ายคณะปฏิวัติฝรั่งเศสอ้างว่าพบหลักฐานในการหลบหนี รวมถึงการติดต่อให้ราชวงศ์ออสเตรียมาช่วย วันที่ 26 ธันวาคม ที่ประชุมใหญ่แห่งชาติลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารด้วยด้วยกิโยตินเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793
กระทั่งในวันที่ 27 มีนาคม มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ หนึ่งในคณะปฏิวัติได้เรียกร้องกับสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ให้จัดการกับราชินีอีกองค์ วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมารถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า และในวันที่ 2 สิงหาคม พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิง โดยนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส
อนึ่ง พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อเป็นทรราชย์ขั้นร้ายแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม โดยในเวลา 12:15 น.พระนางถูกประหารด้วยกิโยตินและเสด็จสวรรคตหลังจากที่ได้ปฏิเสธจะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่คณะปฏิวัติจัดหาให้ พระราชกระแสสุดท้ายของพระนางคือ อภัยให้เราด้วย เมอซีเยอ เราไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากพระนางเผลอไปเหยียบเท้าของเจ้าพนักงานเพชฌฆาต
พระบรมศพของพระนางถูกฝังในหลุมฝังศพลา มาเดอเลน บนถนนอ็องฌู-ซังต์-ตอนอเร ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1815 พระบรมศพของพระนางถูกขุดขึ้นมา และถูกย้ายไปฝังไว้ที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพ : Courtesy National Gallery of Art
ข้อมูลอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Marie_Antoinette