ซากเรืออับปางที่ถูกลืมในอลาสก้า บอกเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ที่น่าสนใจของสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2

ซากเรืออับปางที่ถูกลืมในอลาสก้า บอกเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ที่น่าสนใจของสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์โลกได้ลืมเลือนสมรภูมิที่หมู่เกาะอะลูเชียนระหว่างกองกำลังสหรัฐฯกับญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเศษซากของการต่อสู้อันดุเดือดในครั้งนั้นยังคงพบเห็นได้บนพื้นทะเลจนถึงทุกวันนี้

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์โลกได้ลืมเลือนสมรภูมิที่หมู่เกาะอะลูเชียนระหว่างกองกำลังสหรัฐฯกับญี่ปุ่นไปจนเกือบหมด ซึ่งปัจจุบันเศษซากของการต่อสู้อันดุเดือดในครั้งนั้นยังคงพบเห็นได้บนเกาะจนถึงทุกวันนี้ และชาวพื้นเมืองที่เคยเรียกเกาะอัตตูว่าบ้านยังคงได้รับถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ในอดีต เพราะมันทำให้บรรพบุรุษของพวกเขาต้องอพยพออกจากบ้านเกิดไปตลอดกาล

โวล์ฟกัง ตูเทียคอฟ นักวิจัยชาวสหรัฐฯ ที่มีเชื้อสายของชนพื้นเมืองได้ขึ้นเรือสำรวจจนมาถึงเกาะอัตตูครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม เธอประทับใจกับภาพที่เห็น ครั้งแรกที่ได้มาเยือนบ้านเกิดของบรรพบุรุษ “มันช่างซาบซึ้งและน่าทึ่งจริงๆ” คนประมาณ 20 คนยืนเงียบๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาทีก่อนที่จะมีใครสักคนพูดอะไรบางอย่างขึ้นมา” เธอกล่าว

เกาะอัตตูมีคนต่างถิ่นมาเยือนน้อยมาก ตอนนี้ไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นี่แบบถาวร และกรมอุทยานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาควบคุมการเดินทางมายังพื้นที่ปลายสุดของหมู่เกาะอะลูเชียนใของรัฐอลาสก้า อัตตูเป็นดินแดนทางตะวันตกสุดของสหรัฐอเมริกา แต่ในทางเทคนิคแล้วอยู่ในซีกตะวันออกของโลก

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนปี 1942 หกเดือนหลังจากการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ เกาะอัตตู (Attu island)  และ เกาะคิสก้า (Kiska island) ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะอะลูเชียนกลายเป็นพื้นที่เดียวของสหรัฐอเมริกาที่เคยถูกศัตรูยึดครอง หลังเกิดสงครามเกาะอัตตู ที่เรียกขานกันว่า เป็นชายหาดสังหารหมู่

ทั้งนี้ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พันเอกยาสุโกะ ยามาซากิ ได้รวบรวมทหารจำนวนกว่าหนึ่งพันนายเข้าตีที่มั่นของทหารอเมริกันแบบไม่เกรงกลัวความตาย เขาถือดาบซามูไรนำหน้าเหล่าทหารปะทะกับทหารอเมริกันจนสามารถเจาะแนวรับจนกินอาณาเขตเข้าไปถึงในหุบเขา กระทั่งกำลังส่วนหลังของกองทัพอเมริกันบนเกาะพ่ายแพ้

การยึดครองของทหารญี่ปุ่นกินเวลานานเกือบหนึ่งปี โดยต่อมาในปี 1943 กองทหารอเมริกันและแคนาดาได้รวมกำลังโจมตี จนยึดครองเกาะอัตตูจากญี่ปุ่นคืนได้สำเร็จ ยุทธการอัตตูได้รับการเล่าขานว่าเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 รายและบาดเจ็บอีกหลายพันคน จากสภาพอากาศที่หนาวจัด จนเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นจำนน มีทหารญี่ปุ่นรอดชีวิตเพียง 28 ราย

นับตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลงทั้ง เกาะอัตตู และ คิสก้า มีแต่เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ประมาณ 20 กว่าคน ผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้าพื้นที่ และไม่ค่อยมีใครมาเยียน ยกเว้นการสำรวจทางโบราณคดี 2-3 ครั้ง เช่นเดียวกับครั้งล่าสุดที่ โวล์ฟกัง ตูเทียคอฟ เดินทางมากับคณะ ซึ่งมีเป้าหมายในการบันทึกรายละเอียดที่หายไปของ สนามรบที่ถูกลืมในอลาสก้า

เบื้องต้นเทคโนโลยีโซนาร์เผยให้เห็นเรือบรรทุกสินค้าของญี่ปุ่นชื่อ Kotohira Maru  เป็น 1 ใน 3 ซากเรือที่หลงเหลือจากการสู้รบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นักโบราณคดีค้นพบบริเวณรอบๆ ชายฝั่งเกาะอัตตู

เกาะแห่งบรรพบุรุษ

เจสัน รัปป์ นักโบราณคดีทางทะเลจากมหาวิทยาลัยอีสต์แคโรไลนา และ โดมินิก บุช ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ในองค์กรไม่แสวงหากำไร Ships of Discovery ได้นำคณะสำรวจไปยังเกาะอัตตูในเดือนกรกฎาคมปี 2024 เพื่อค้นหาซากเรืออับปางและโบราณวัตถุอื่นๆ ที่จมอยู่ใต้นํ้า ด้วยเรือวิจัยที่ชื่อ Norseman II

ทั้งนี้ ตูเทียคอฟ เป็นนักศึกษาจากสถาบันศิลปะอเมริกันอินเดียนในซานตาเฟที่เดินทางมาด้วย เธอคือ 1 ใน 2 ผู้ประสานงานทางวัฒนธรรมจากชนเผ่าควาลัง ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยูนันกะซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่เกาะอะลูเชียนมานับพันปี และงานหลักของเธอคือการศึกษา รวบรวม บันทึกวัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ของชนเผ่า เพื่อสนับสนุนการค้นพบทางวิทยาศาสตร์จากการสำรวจครั้งนี้

ทวิปนี้จึงคล้ายกับเป็นการเดินทางแสวงบุญส่วนตัวของตูเทียคอฟด้วย หลังจากญี่ปุ่นทิ้งระเบิดในเมืองอลูเทียนที่ดัตช์ฮาร์เบอร์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปี 1942 ปู่ของตูเทียคอฟที่ตอนนั้นยังเป็นเด็ก เป็นหนึ่งในประชากรเกือบพันคนที่ต้องอพยพหนีภัยสงครามจากอัตตูและหมู่เกาะอะลูเชียน ทางการสหรัฐฯ พาพวกเขาไปไว้ที่กระท่อมซอมซ่อในเขตปานแฮนเดิลของอลาสก้า โดยต้องอยู่ในสภาพไม่ต่างจากขอทาน แต่ก็ยังดีกว่าชาวยูนันกะประมาณ 45 คนยังถูกจับบนเกาะอัตตูระหว่างการรุกรานของญี่ปุ่น พวกเขาถูกทหารญี่ปุ่นจับขังคุก ซึ่งมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเอาชีวิตรอดมาได้หลังสงครามยุติ

แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุด แต่ชาวยูนันกะก็ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปที่อัตตู กองทัพสหรัฐฯ ได้เข้ายึดครองเกาะนี้หลังจากที่ญี่ปุ่นถูกขับไล่ออกไป จนในที่สุดเกาะก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง มีเพียงสถานีหน่วยยามฝั่งที่เพิ่งปิดตัวไปในปี 2010 โดยมีรายงานพบการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษบางส่วนบริเวณเกาะ

ปัจจุบันเกาะอัตตูคือส่วนหนึ่งของอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยแม้ว่าการเยี่ยมชมจะถูกกฎหมาย แต่ชนพื้นเมืองที่เคยอยู่อาศัยในอดีตและครอบครัวของพวกเขาก็ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปที่นั่น สำหรับตูเทียคอฟแค่ได้เห็นเกาะจากที่ไกลๆ ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์มหัศจรรย์มากแล้ว “มันเป็นเกาะสวยงามขนาดมหึมาที่มีภูเขา ทุ่งทุนดรา และชายหาดที่เต็มไปด้วยหินกับหญ้า ชายหาดไม่เพียงแต่เป็นสีเขียวเท่านั้น แต่ยังมีสีเขียวนีออนอีกด้วย มันดูเหมือนว่า เราอาจได้เห็นม้ายูนิคอร์นปรากฏตัวบนเกาะแห่งนั้น”

การค้นหาซากเรือในประวัติศาสตร์

ทีมงานได้ตรวจสอบบริเวณน่านน้ำรอบๆ เกาะอัตตูเป็นเวลา 11 วัน ซึ่งหมู่เกาะอะลูเชียนมีชื่อเสียงในเรื่องสภาพอากาศเลวร้าย มีทั้ง พายุ ลมแรง ฝน และหมอก แต่ช่วงที่สำรวจ คณะของพวกเขาโชคดีมาก เพราะหมู่เกาะแห่งมีสภาพอากาศที่แจ่มใสและคลื่นลมก็สงบอย่างไม่น่าเชื่อ

นักวิจัยใช้เทคโนโลยีโซนาร์จนสามารถค้นพบซากเรืออับปางในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกว่า 3 ลำ คือ เรือบรรทุกสินค้าของญี่ปุ่น 2 ลำและเรือวางสายเคเบิลของสหรัฐอเมริกา 1 ลำ ในน่านน้ำรอบๆ เกาะอัตตู นักวิจัยคิดว่าเรือสินค้าทั้งสองลำได้ขนส่งเสบียงให้กับกองทหารรักษาการณ์ของญี่ปุ่น ส่วนเรืออเมริกันลำดังกล่าวเข้ามาภายหลังหลายเดือน ตอนที่ทหารญี่ปุ่นถูกขับไล่ออกไปแล้ว

การสำรวจที่เกาะคิสก้า

การสำรวจที่เกาะอัตตูสะท้อนการสำรวจที่คล้ายกันที่เกาะคิสก้าเมื่อปี 2018 ซึ่งนำไปสู่การค้นพบส่วนท้ายเรือของ USS Abner Read เรือพิฆาตอเมริกันที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงในเดือนสิงหาคม ปี 1943 ที่ระเบิดหลังโจมตีเหมืองทะเลของญี่ปุ่น เรือได้รับการช่วยเหลือ แต่มีลูกเรือ 71 คนเสียชีวิตที่เกาะคิสก้า และอีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการสูดดมควันพิษ (ต่อมาเรือ USS Abner Read จมลงเมื่อปี 1944 ในการรบที่อ่าวเลย์เต ประเทศฟิลิปปินส์)

การสำรวจในปี 2018 ยังพบซากเรือดำน้ำของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ชื่อ I-7 ด้วย ซึ่งมันได้รับการเสียหายอย่างหนักจากการถูกเรือพิฆาตของกองทัพสหรัฐฯ ยิงในเดือนมิถุนายน 1943 จนเกยตื้นบนโขดหิน รวมถึงซากเรือดำน้ำเล็กของญี่ปุ่นที่ถูกทำลาย โดยเป็นเรือดำน้ำขนาดที่มีพื้นที่ให้ทหารได้เพียง 2 คนขับ ใช้ในการลอบยิงตอร์ปิโดใส่เรือรบศัตรู และบชิ้นส่วนของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator ของสหรัฐอเมริกาที่ถูกปืนต่อต้านอากาศยานยิงร่วงขณะโจมตีค่ายทหารของญี่ปุ่นบนเกาะคิสก้า

เรื่องราวจากซากเรือดำน้ำ

รายงานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการสำรวจเกาะคิสก้าได้รับการตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2024 ในวารสารนาวิกวิทยาระดับนานาชาติ (International Journal of Nautical Archaeology)

“แนวทางของเราคือการสำรวจและบันทึกว่าสนามรบใต้น้ำมีหน้าตาเป็นอย่างไร” ดร.แอนดรูว์ ปิเอตรุสกา นักโบราณคดีทางทะเลจากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปป์ส แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก ผู้นำการสำรวจกล่าว มีการสำรวจทางโบราณคดีที่สำคัญบนเกาะที่เป็นสมรภูมิสงคราม ซึ่งเป็นเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสำรวจของเขา และพวกเขายังมีแนวคิดที่จะจำลองเหตุการณ์ในสนามรบขึ้นมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ซากเรือดำน้ำ I-7 มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ทหารอเมริกันทิ้งระเบิดใส่ญี่ปุ่นที่คิสก้าตั้งแต่แรก ดังนั้นญี่ปุ่นจึงพยายามหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีทางอากาศ ดังนั้นเรือดำน้ำจึงมีบทบาทในการจัดหาอาหาร-สิ่งของให้กับทหารหลายพันคนที่ยึดครองพื้นที่อยู่

อนึ่ง กองทัพสหรัฐฯ ได้เปรียบทางอากาศ และทำให้เรือบนผิวน้ำของญี่ปุ่นเข้ามาในพื้นที่ได้ยาก ดังนั้น ดร.แอนดรูว์ เชื่อว่า เรือดำน้ำ I-7 จึงมีความสำคัญมากกับทหารรักษาการณ์ญี่ปุ่น เมื่อมันถูกทำลาย ฝ่ายญี่ปุ่นจึงพ่ายแพ้

เครื่องมือใหม่ในการสำรวจเกาะอัตตูและเกาะคิสก้า

การสำรวจเกาะทั้ง 2 ต้องอาศัยหุ่นยนต์ใต้น้ำเพื่อทำแผนที่และการค้นหาพื้นทะเลเพิ่มเติม ทีมงานคิสก้าใช้เวลาสองสัปดาห์บนเรือวิจัยรอบเกาะ และสำรวจสถานที่หลักด้วยอุปกรณ์โซนาร์บนยานพาหนะใต้น้ำอัตโนมัติ (AUV) 4 ลำที่ทำงานโดยอิสระปราศจากมนุษย์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำ ยาน AUV มาใช้รอบๆ เกาะคิสก้า และนักวิจัยทราบว่าพวกเขาสามารถจัดทำแผนภูมิพื้นที่ก้นทะเลขนาดใหญ่ได้อย่างละเอียดและกว้างกว่าการใช้โซนาร์แบบลากแบบเดิม โดยยานหุ่นยนต์ AUV หลายตัวสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องตลอดวงจร 24 ชั่วโมง

ด้านนักวิจัยที่อัตตูได้ทำงานร่วมกับยานพาหนะควบคุมระยะไกลน้ำหนักเบาพิเศษ (ROV) ซึ่งเชื่อมต่อกับเรือวิจัยและถ่ายทอดภาพสดจากส่วนลึกในทะเล โดยยาน ROV ใช้งานกับที่นี่ได้ดีกว่ายาน AUV เนื่องจากข้อมูลใน AUV จะถูกดาวน์โหลดหลังจากที่มันถูกดึงกลับขึ้นมาที่เรือสำรวจ ไม่ได้เห็นภาพสดๆ แบบยานหุ่นยนต์ ROV ซึ่งการสำรวจทางโบราณคดีทางทะเลในอนาคตในพื้นที่นี้จะใช้เทคโนโลยีทั้งสองอย่างร่วมกันอย่างเหมาะสม

การศึกษาเกาะอัตตูที่อาจบอกเล่าสิ่งใหม่ที่น่าสนใจ

ซากเรือใหม่ๆ บริเวณเกาะอัตตูถูกบันทึกข้อมูลไว้จำนวนมาก โดยได้รับการประมวลผลใหม่การสำรวจของหลายภาคส่วนจากสหรัฐฯ รวมถึงโครงการ World Scan ของญี่ปุ่นที่พัฒนายานหุ่นยนต์ ROV ขึ้นมา

การวิจัยทางประวัติศาสตร์ยังบอกเป็นนัยถึงรายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กับการเลือกที่จะรุกรานหมู่เกาะอะลูเชียน นักประวัติศาสตร์มองว่า มันเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากการโจมตีในยุทธการมิดเวย์ (Midway) ของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942

ญี่ปุ่นหวังใช้เกาะอัตตูเป็นฐานทัพสำหรับการโจมตีทางอากาศไปยังเกาะอื่นๆ และแผ่นดินใหญ่ในอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นแผนการที่ไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า ทหารญี่ปุ่นอาจเชื่อว่าการยึดครองดินแดนของสหรัฐฯ ในพื้นที่อเมริกาเหนือจะเป็นประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ โดยพวกเขาเรียกเกาะอัตตูว่า เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม

ขณะเดียวกันการสำรวจอัตตู ยังเป็นประสบการณ์สำคัญของ ตูเทียคอฟ ในการแบ่งปันความรู้ของเธอกับนักวิจัย ตูเทียคอฟ ใช้เวลาส่วนหนึ่งค้นคว้าประวัติครอบครัวของเธอ และประเมินโอกาสที่วันหนึ่งชาวยูนันกะจะได้กลับไปอาศัยอยู่ที่เกาะอัตตู แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมยังคงเป็นอันตราย เพราะมีพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีอยู่

“การกลับมาอาศัยอยู่บนเกาะเป็นเป้าหมายของเราอย่างแน่นอน นั่นเป็นหนึ่งในภารกิจของฉันที่ต้องการทำให้สำเร็จ การฟื้นฟูเกาะและนำมันกลับมาสู่กลุ่มคนของเรา เพื่อที่จะได้เติบโตไปพร้อมกับการสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมา” เธอกล่าว

เรื่อง : Tom Metcalfe

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ 

ภาพ : East Carolina University/ThayerMahan, Inc./NOAA Ocean Exploration

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม : พบ เรือดำน้ำ สหรัฐฯ ที่สูญหายไปแบบไร้ชะตากรรมในสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 ณ นอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหลังจากผ่านไปกว่า 70 ปี 

Recommend