“สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1888”
โดย 33 นักคิดผู้กล้า ซึ่งมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ และนักวิชาการ ผู้มุ่งมั่นที่จะแสวงหามุมมองใหม่ ๆ และความเข้าใจที่เรามีต่อโลก พวกเขารับมือกับความ ท้าทายสำคัญในยุคสมัยของตน แน่นอนว่าหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปนับจากนั้น แต่ที่เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เรายังคงได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดที่ว่า ผู้คนที่ขับเคลื่อนด้วยพันธกิจร่วมกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นกับโลก สามารถสร้างผลกระทบมหาศาลได้
และด้วยจิตวิญญาณเช่นนี้ เราภูมิใจนำเสนอ ‘33 คนเปลี่ยนโลก’ หรือ The National Geographic 33 โดยยึดตามจำนวนผู้ก่อตั้ง นี่คือโครงการริเริ่มเพื่อยกย่องเชิดชูผู้นำวิสัยทัศน์ ผู้สร้างสรรค์ คนบันดาลใจ และนักผจญภัยจากทั่วโลก ผู้เชื่อว่า “โลกต้องการวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และการลงมือทำอย่างเร่งด่วน และกำลังตอบรับเสียงเรียกนั้น”
คนบันดาลใจ
อีวอน ชวีนาร์
เจ้าสัวมาดไม่ให้ ผู้สร้างแบนด์ผลิตภัณฑ์กลางแจ้งชื่อดัง ก่อนปล่อยมือจากบริษัทเพื่อช่วยโลก

อีวอน ชวีนาร์ หัวเราะเมื่อถูกถามว่าเสื้อผ้าชิ้นไหนของเขาเก่าที่สุด “ที่ผมมีอยู่เก่าเกือบหมดเลยครับ” ชายวัย 86 ปี เอ่ยพลางยิ้มกว้าง “ผมใช้ทุกอย่างจนพังคามือจริง ๆ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ปาตาโกเนีย (Patagonia) ซำเลืองไปรอบ ๆ ห้องทำงานในบ้านไร่ที่รัฐไวโอมิงของเขา จากนั้นยกมือขึ้นเพื่อให้เห็นแขนเสื้อสีชีดจางของเสื้อเชิ้ตตาหมากรุกที่เปื่อยยุ่ยของตนเอง
“ผมอยู่อย่างค่อนข้างเรียบง่ายมาตลอดชีวิตจริง ๆ ครับ ผมไม่ใช่ผู้บริโภคอะไร กับเขาหรอกครับ” นี่อาจฟังดูน่าแปลกใจ หรือกระทั่งเสแสร้ง เมื่อออกจากปากผู้ก่อตั้งบริษัทที่มียอดขายปีละหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง แต่ชวีนาร์ยืนยันมานานแล้วว่าเขาไม่ได้เริ่มทำแบรนด์ปาตาโกเนียเพื่อผลกำไร “ผมแค่หาเงินพอให้อยู่ได้สบาย ๆ ครับ” เขาบอกนิตยสาร นิวยอร์กเกอร์ เมื่อปี 1977 นั่นคือทั้งหมดที่ผมต้องการจากมันครับ”
เกือบครึ่งศตวรรษให้หลัง ในเดือนกันยายนปี 2022 เขายืนยันคำพูดนั้นและทำให้โลกธุรกิจตะลึงงันด้วยการประกาศว่าเขาจะบริจาคบริษัทมูลค่าสามพันล้านดอลลาร์ โดยยกหุ้นร้อยละสองให้ทรัสต์แห่งหนึ่งซึ่งจะสามารถนำผลกำไรไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ส่วนอีกร้อยละ 98 เป็นขององค์กรไม่แสวงกำไรที่ตั้งขึ้นใหม่อย่างโฮลด์ฟาสต์คอลเล็กทีฟ (Holdfast Collective) ซึ่งจะใช้เงินทุนที่ได้มาเพื่อสนับสนุนงาน ด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
การตัดสินใจบริจาคบริษัทของชวีนาร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นิตยสาร ฟอร์บส์ รวมชื่อเขาไว้ในรายชื่อมหาเศรษฐีพันล้าน เขาไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นเศรษฐีและการรับรู้นั้นก็รบกวนจิตใจเขาถ้าไม่มีปาตาโกเนีย เขาสามารถใช้ชีวิตแบบที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นได้ นั่นคือคาวบอยวัยแปดสิบในบ้านไร่ ผู้มีรายได้ปีละ 60,000 ดอลลาร์ ขับรถโตโยต้าโคโรลลาปี 1987 และสวมเสื้อผ้าเก่า ๆ
“ต่อให้ใช้ชีวิตใต้สะพานหรือในรถตู้ระหว่างตระเวนเล่นกระดานโต้คลื่นไปเรื่อย ๆ เขาก็คงมีความสุขพอ ๆ กับการใช้ชีวิตแบบคนรวยสักคนค่ะ” คริสทอมป์กินส์ ซีอีโอคนแรกของปาตาโกเนีย และคนใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่งของชวีนาร์ บอก
“นั่นแหละค่ะพรสวรรค์ของอีวอน” ชีวิตสมถะคือมรดกตกทอดของชายผู้นี้ “ผมเป็นนักปืนเขามอมแมม และแนวคิดเรื่องความมอมแมมนี้ ผมก็ได้มาจากพ่อครับ” ชวีนาร์บอก “ผมเคยไม่มีเงินอะไรกับเขาหรอก เคยกินกระทั่งอาหารแมว ดักกระรอกและย่องเข้าไปในบ้านชาวบ้านเพื่อขโมยผลไม้ในสวน”
นับตั้งแต่นั้น ชวีนาร์ปีนเขามาแล้วทุกทวีป และทุกวันนี้เขารู้สึกว่านี่คือกีฬาที่เขาคิดถึงจริง ๆ (ร่างกายผมเสียศูนย์ไปหมดแล้วครับ” เขาถอนใจ) ถึงอย่างนั้น ความเชื่อมโยงทางใจกับภูมิทัศน์ของชุมชนนักปืนเขาก็ทำให้เขาตระหนักมานานแล้วถึงวิถีที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไม่อาจฟื้นคืนตลอดหกทศวรรษ เขาพยายามทำธุรกิจ โดยทำร้ายโลกน้อยลง
“ปาตาโกเนียไม่ใช่บริษัทที่ยั่งยืนครับ” ชวีนาร์ยอมรับ “ไม่มีอะไรแบบนั้นหรอก ผมไม่ได้มองกิจกรรมเพื่อสังคมของเราว่าเป็นเรื่องของการกุศล แต่เป็นราคาค่างวดที่ต้องจ่ายของการทำธุรกิจ ของการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ ทันทีที่เราตระหนักเรื่องนั้นเราจะอยากทำอะไรบางอย่าง” ชวีนาร์พูดถึงการมองโลกแง่ร้ายอยู่ตลอด เป็นต้นว่าเขาเชื่อว่า
วิกฤติสภาพภูมิอากาศไม่มีทางแก้ได้จนกว่าคนจะรู้สึกเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับธรรมชาติ เขาเชื่อว่าบริษัทมหาชนจะไม่มีทางเลือกความยั่งยืนที่แท้จริงเหนือกว่าผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น แต่เขาหักล้างข้อกังขานั้นด้วยอุดมคติที่ว่า ปัจเจกบุคคลสามารถ สร้างความสำเร็จได้ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเหมาะสมในกรณีของเขาคือแบรนด์สินค้ากลางแจ้งใหญ่ที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก
ชวีนาร์บอกว่า ตอนนี้เขากระตือรือร้นกับการดำเนินงานของปาตาโกเนียยิ่งกว่าตอนวางมือจากบริษัทเมื่อสองปีก่อนเสียอีกนั่นเป็นเพราะเขาจำเป็นต้องแน่ใจว่า มันจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต หากปาตาโกเนียจะมีโอกาสใด ๆ ในการทำพันธกิจอันหาญกล้าของบริษัทที่ระบุว่า “เพื่อปกปักรักษาโลกอันเป็นบ้านของเรา” ให้เป็นจริงได้
– เกรยสัน เฮเวอร์ คูร์ริน –
ผู้นำวิสัยทัศน์
เจนนิเฟอร์ อูเชนดู
นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ ผู้เปิดพื้นที่ให้ชาวแอฟริกันพูดถึงความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม

หลายปีมาแล้วที่เจนนิเฟอร์ อูเซนดู เตือนเพื่อนร่วมชาติชาวไนจีเรียถึงอันตรายที่ใกล้เข้ามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไม่ทันตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องข้อหนึ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือเธอรู้สึกกลัดกลุ้มและเป็นกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนในซีกใต้โลกประสบผลกระทบรุนแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมักไม่ได้เชื่อมโยงถึงต้นเหตุแท้จริงของปัญหาเหล่านั้น
สำหรับอูเซนดู ผู้รับหน้าที่ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นและเขียนบล็อกซัสตีไวบส์ (SustyVibes) เพื่อช่วยให้คนหนุ่มสาวลดรอยเท้าคาร์บอนของตน และสนับสนุนให้ผู้คนรับผิดชอบมากขึ้น รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เธอรู้สึกเหมือนยังสร้างความแตกต่างได้ไม่เร็วพอแน่นอนว่าเหล่าผู้นำนานาชาติดูเหมือนไม่จริงจังกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ชุมชนของเธอกำลังเผชิญอยู่ “ฉันมาจากพื้นที่ที่ผู้คนขุ่นเคืองและท้อแท้ค่ะ” เธอบอก
“ฉันรู้สึกเหมือนว่าถ้าตัวเองไม่รู้เท่าทันภาวะอารมณ์เหล่านี้ดีพอ ฉันก็สมควรล้มเลิกความคิดแล้วไปทำอย่างอื่นเสียดีกว่า” จากนั้น ในปี 2020 อูเซนดูก็เกิดความคิดหนึ่ง เธอเริ่มโครงการตรวจสอบและสำรวจปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน
ชุมชน โครงการความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมในแอฟริกา หรือทีป The Eco-Anxiety in Africa Project: TEAP) เป็นองค์กรในเลกอส ที่ช่วยให้หนุ่มสาวชาวแอฟริกันได้พบปะพูดคุยกันถึงความรู้สึกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สองปีต่อมา ทีปเปิดร้านกาแฟในสำนักงาน เพื่อเป็นที่รวมตัวของสมาชิก ผู้นำโครงการทีปหวังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเสริมพลังในหมู่ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 700 คน ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นการปลูกต้นไม้มากขึ้นหรือลดค่าไฟ การพูดคุย กันในหมู่สมาชิกมักสำรวจปัญหาความยากลำบากร่วมด้วย
“ในไนจีเรีย ถึงเราจะรวมตัวกันเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนจะพูดถึงการว่างงานหรือราคาอาหารที่แพงขึ้น เพราะเรามองว่าสิ่งเหล่านี้ คือผลกระทบที่กว้างกว่าของปัญหาค่ะ” อูเชนดูบอก
นับตั้งแต่นั้น เธอขยายโครงการทีบไปอีกหลายรัฐของไนจีเรียและวางแผนจะฝึกคนในองค์กรต่าง ๆ ให้สร้างพื้นที่แบบเดียวกันในแอพริกาใต้ กานา และเคนยา ขณะเดียวกัน เธอก็ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมในอังกฤษว่าด้วยผลกระทบด้านอารมณ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของผู้คนในเมืองใหญ่ ๆของแอฟริกา ซึ่งอาจช่วยให้การตระหนักรู้ถึงปัญหากระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นสำหรับอูเชนดู การจัดพื้นที่ให้หนุ่มสาวชาวแอฟริกันพูดคุยถึงความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้การต่อสู้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าดำเนินต่อไป“หากคนหนุ่มสาวรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง นั่นไม่ใช่แค่วิกฤติสาธารณสุข แต่เป็นหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่ะ” เธอบอก
“เราต้องมีพลัง ที่จะทำอะไรบางอย่าง” นั่นคือทรัพยากรมีค่าอีกอย่างหนึ่งที่ต้องปกป้อง”
– ชาร์ลีย์ ล็อก –
ผู้นำวิสัยทัศน์
มุฮัมมัด มันซูร์ โมฮุดดิน
แพทย์ผู้ค้นพบผู้บริจาคหัวใจพันธุ์ใหม่ที่ไม่น่าเชื่อ

บางครั้งโศกนาฏกรรมก็นำไปสู่การค้นพบอันยิ่งใหญ่ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนตอนทีมศัลยแพทย์ของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ นำโดยมุฮัมมัด มันซูร์ โมฮุดดิน และบาร์ตลีย์ กริฟฟิท ลงมือผ่าตัดที่เป็นการปฏิวัติวงการให้ชายวัย 57 ปีผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นสุดท้าย เดวิด เบนเน็ตต์ ซีเนียร์ ถูกปฏิเสธการปลูกถ่ายหัวใจตามแบบแผนทั่วไปเนื่องด้วยปัจจัยด้านสุขภาพหลายประการ นี่คือสิ่งที่คนหลายพันคนต้องเผชิญในแต่ละปี โมฮุดดินแนะนำทางเลือกใหม่ นั่นคือหัวใจหมูที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรมเพื่อลดโอกาสที่ร่างกายจะปฏิเสธอวัยวะใหม่ให้น้อยที่สุด
การทดลองที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2022 ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในช่วงแรก เบนเน็ตต์เสียชีวิตประมาณสองเดือนต่อมาหลังจากหัวใจล้มเหลวเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากระบบภูมิคุ้มกัน คนไข้รายที่สองของโมฮุดดิน ซึ่งเป็นผู้ชายชื่อ ลอว์เรนซ์ ฟอเซ็ตต์ อยู่ได้เกือบหกสัปดาห์ เขาเสียชีวิตในปี 2023 หลังระบบภูมิคุ้มกันปฏิเสธหัวใจใหม่ สำหรับโมฮุดดิน ผู้นำการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามชนิดพันธุ์ หรือจากสัตว์สู่คน การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะแต่ละครั้งมอบความเข้าใจอันล้ำค่าให้แก่ความเป็นไปได้ของศาสตร์ใหม่นี้
ในโลกอุดมคติแห่งอนาคต เราจะมีหัวใจมากเกินพอสำหรับทุกคน ถึงแม้หมูที่โมฮุดดินนำหัวใจมาใช้จะมียีนประมาณ 30,000 ยีน แต่ส่วนที่ต้องดัดแปรเพื่อให้ใช้กับมนุษย์ได้มีเพียง 10 ยีนเท่านั้น บางคนรู้สึกว่าแนวคิดในการฆ่าหมูเพื่อเอาอวัยวะของมันมาใช้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่โมฮุดดินเชื่อว่าการทำเช่นนี้มีข้อดีมากกว่า “เมื่อไรก็ตามที่เราพูดถึงการช่วยชีวิต นั่นย่อมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดครับ” เขาบอก
– คริส เกย์โอมาลี –
นักผจญภัย
มายา กาเบย์รา
นักโต้คลื่นยักษ์ ผู้โจมตีขยะพลาสติกที่เกลื่อนมหาสมุทร

มหาสมุทรที่นาซาเร หมู่บ้านชาวประมงริมชายฝั่งโปรตุเกส สงบไร้คลื่นลมตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี แต่พอถึงฤดูหนาว พายุบางลูกหอบคลื่นลมผ่านหุบผาชันใต้น้ำ เปลี่ยนคลื่นให้กลายเป็นเหมือนภูเขาน้ำเคลื่อนที่ขนาดใหญ่โตมโหฬารเสียจนมีผู้เปรียบเปรยว่าเป็นเอเวอเรสต์แห่งมหาสมุทรเลยทีเดียว
นักโต้คลื่นยักษ์พากันมาที่นาซาเรตั้งแต่ปี 2011 หลังจากคลิปวิดีโอที่แกร์เร็ตต์ แมกนามารา โต้คลื่นสูง 24 เมตร ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดหมายขึ้นชื่อว่ามีคลื่นลูกใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับโอกาสนั้นคือ มายา กาเบย์รา ชาวบราซิลผู้มีเสียงหัวเราะที่ติดต่อกันได้ เธอมาพร้อมความฝันที่หลายคนมองว่าหลุดโลก กล่าวคือเธออยากโต้คลื่นลูกใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน
กาเบย์ราเติบโตในรีโอเดจาเนโร ชอบเรื่องตื่นเต้นท้าทาย เป็นโรคหืดรุนแรง และมีภาวะวิตกกังวลจากความกลัวว่าจะ “หายใจไม่ออกตาย” ตามคำพูดของเธอ สิ่งนี้น่าจะทำให้คนจำนวนมากหลีกเลี่ยงทะเลเปิด แต่สำหรับกาเบย์รา มันกลับเป็นตรงกันข้าม “เธอใช้เวลาน่าจะครึ่งชีวิตในมหาสมุทรค่ะ” สเตฟานี จอห์นส์ ผู้กำกับสารคดี Maya and the Wave ปี 2022 บอก “ชีวิตเธอผ่านเรื่องหนักหนาสาหัสมาสารพัด แต่เธอมีความสามารถเฉพาะตัวที่จะก้าวข้ามสิ่งนั้นไปอีกฝั่งหนึ่งได้”
ความพยายามช่วงแรกๆของกาเบย์ราที่นาซาเรจบลงด้วยหายนะ เมื่อปี 2013 ขณะโต้คลื่นใหญ่โตมโหฬารที่สุดลูกหนึ่งในชีวิต เธอถูกซัดตกน้ำ และเมื่อถูกลากขึ้นมาบนชายหาดในที่สุด เธอต้องได้รับการปั๊มหัวใจกู้ชีพ ประสบการณ์เฉียดตายครั้งนั้นทั้งล้ำลึกและเจ็บปวด “เวลาเราก้าวไปอีกฝั่งหนึ่ง [ของชีวิต] มันมืดมิดและเต็มไปด้วยปัญญาค่ะ” กาเบย์ราเท้าความหลัง เธอขาหักข้างหนึ่ง กระดูกสันหลังเสียหายอย่างรุนแรง และภาวะวิตกกังวลก็รุนแรงกว่าเดิม
หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังสามครั้งและพักฟื้นอีกสี่ปีต่อมา บางอย่างในตัวเธอเริ่มเปลี่ยนไป “ฉันลุกขึ้นได้อีกครั้งค่ะ” เธอบอก และเธอรู้สึกเข้มแข็งขึ้น ในเดือนมกราคม ปี 2018 กาเบย์ราออกโต้คลื่นยักษ์สูง 21 เมตรที่นาซาเร ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดที่ผู้หญิงเคยพิชิต สองปีต่อมา เธอทำลายสถิติของตัวเองด้วยการโต้คลื่นสูง 22 เมตรที่นั่น ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดที่มีคนโต้ในฤดูกาลนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิง แน่นอนว่า การใช้เวลาในมหาสมุทรทำให้เธอตระหนักรู้อย่างชัดเจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการแพร่กระจายไปทั่วของขยะและพลาสติก
ตอนเป็นเด็ก เธอเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการอนุรักษ์ต่างๆและคุณค่าของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากพ่อ ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคกรีนของบราซิล “ขณะล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร ฉันหวนนึกถึงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับการอนุรักษ์ที่ซึมซับจากพ่อ” เธอบอก “จากนั้น ฉันก็ดำดิ่งลงสู่ห้วงน้ำสีน้ำเงิน” ตอนนี้ เธอใช้ชื่อเสียงในฐานะนักโต้คลื่นผู้โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของโลกรณรงค์สนับสนุนวิธีแก้ปัญหาต่างๆ กาเบย์รารับตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์กรไม่แสวงกำไรชื่อ โอเชียนา ตั้งแต่ปี 2021 และในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก เธอเป็นพลังขับเคลื่อนในการรณรงค์ขององค์กรเพื่อผลักดันให้ธุรกิจส่งอาหารรายใหญ่ที่สุดในบราซิล ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก
ทักษะการสื่อสารของเธอมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของการรณรงค์ “เธอรู้ว่าจะเข้าถึงสาธารณชนได้อย่างไรครับ” จิม ไซมอน ซีอีโอของโอเชียนา บอก “และเธอก็รับรู้ถึงความปรารถนาของผู้คนที่จะเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับมหาสมุทร”
เมื่อปี 2022 เธอได้รับเลือกเป็นทูตเพื่อมหาสมุทรและเยาวชนของยูเนสโก ซึ่งเป็นบทบาทที่เธอทำงานเพื่อสื่อสารกับคนหนุ่มสาวในประเด็นอนุรักษ์ต่างๆ “ในฐานะนักโต้คลื่น เราพยายามใกล้ชิดกับมหาสมุทรอยู่ตลอดค่ะ” เธอบอก “และเวลาเรารักอะไรบางอย่าง เราจะใส่ใจ ฉันรู้สึกโชคดีที่ได้สร้างความผูกพันนี้กับมหาสมุทรและสามารถดูแลตัวเองให้ปลอดภัยเวลาอยู่ในนั้นได้ จะเป็นการไม่ยุติธรรมถ้าฉันไม่พยายามและสื่อสารเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่ได้เรียนรู้ขณะใช้เวลาอยู่ในท้องทะเลออกไปสู่วงกว้างค่ะ”
– มอลลี แลงมิวร์ –
นักผจญภัย
วิกเตอร์ โกลเวอร์
มนุษย์อวกาศผู้เริ่มต้นยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศ

มนุษย์อวกาศ วิกเตอร์ โกลเวอร์ กำลังเตรียมตัวเดินทางท่องอวกาศออกไปไกลกว่าที่มนุษย์คนใดเคยไป สำหรับภารกิจอาร์ทิมิส 2 ที่มีกำหนดส่งขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2026 เขาจะเดินทางไกลจากดวงจันทร์ไปอีก 8,000 กิโลเมตร เตรียมพร้อมให้กับการลงจอดบนดวงจันทร์ในอนาคตและการเดินทางที่ยาวนานขึ้นเพื่อไปยังดาวอังคาร โกลเวอร์ หนึ่งในมนุษย์อวกาศผิวดำเพียง 17 คนจากจำนวนกว่า 350 คนที่นาซาส่งไปสู่อวกาศ เชื่อว่าการสำรวจทำนองนี้กำลังจะเป็นมากกว่าแค่การไปยังที่ที่ไกลมาก ๆ “ดวงตาเรามองขึ้นไป หัวใจก็ลอยสูง” เขาบอก “แรงบันดาลใจร่วม การสนับสนุนร่วม คือสิ่งที่ผสานเราให้เป็นหนึ่งเดียวกันครับ”
– โมซี ซีเคร็ต –
คนบันดาลใจ
มิเชลล์ โหยว
เจ้าของรางวัลออสการ์ ผู้ส่องแสงให้เราเห็นภาระอันหนักอึ้งของผู้หญิงในเขตภัยพิบัติ

เมื่อหนึ่งทศวรรษก่อน มิเชลล์ โหยว ไปเยือนกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล กับสามีในปัจจุบัน ฌ็อง โตดต์ ตอนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่นั่น ทั้งคู่ร่วมงานอีเวนต์ที่โรงแรมไม่สูงมากนักแห่งหนึ่งและรอดพ้นอันตรายอย่างฉิวเฉียด
หลังแผ่นดินไหวครั้งนั้น โหยวตกตะลึงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 คน และอีกหลายล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย สิ่งที่ส่งผลต่อเธอมากที่สุด คือความรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ “ถ้าเราไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินที่ต้องไปถึงที่เกิดเหตุก่อน อย่าพยายามช่วยค่ะ เราจะเกะกะกีดขวางพวกเขาเปล่า ๆ” เธอเล่า ถึงอย่างนั้น อีกหลายสัปดาห์ต่อมา โหยวก็กลับไปเนปาลอีกครั้ง ท่ามกลางเหตุแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อก และแผ่นดินถล่ม เพื่อทำงานกับลีฟทูเลิฟอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจีโอในนิวยอร์กที่จับมือกับสำนักชีในท้องถิ่นเพื่อช่วยหมู่บ้านต่างๆ
เธอกลับไปอีกครั้งในปีถัดมา เพื่อเข้าร่วมในความพยายามบรรเทาทุกข์ต่อเนื่องของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เธอไปเยือนแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในหุบเขากาฐมาณฑุและหมู่บ้านห่างไกลชานเมืองหลวง สำหรับโหยว เธอรู้สึกว่าการส่งสารแห่งความหวังไปให้ถึงผู้คนทั้งในเมืองและตามหมู่บ้านห่างไกลเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
โหยว วัย 62 ปี เติบโตในมาเลเซียและเริ่มอาชีพในฮ่องกงช่วงทศวรรษ 1980 บนจอเงิน เธอพลิกบทบาทให้ผู้หญิงของบอนด์ใน Tomorrow Never Dies ช่วยให้ภาพยนตร์เอเชียเข้าสู่กระแสหลักจาก Crouching Tiger, Hidden Dragon และได้รางวัลออสการ์จาก Everything Everywhere All at Once ซึ่งเธอเอ่ยถึงการกีดกันทางเพศและอายุระหว่างกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัล
ตอนนี้เธอนำจิตวิญญาณของการโอบรับนั้นไปใช้ในพื้นที่ภัยพิบัติ และล่าสุดก็เพ่งความสนใจไปยังตุรกีและซีเรีย ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวหลายครั้งในปี 2023 โดยครั้งรุนแรงที่สุดวัดได้ 7.8 หรือเท่ากับความรุนแรงในโศกนาฏกรรมที่เนปาล เธอเชื่อว่าการเสริมพลังให้ผู้หญิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือสิ่งสำคัญเป็นพิเศษ เพราะพวกเธอมักเป็นคนแรกๆที่ก้าวออกมาช่วยผู้อื่นยามวิกฤติ แต่กลับมีแนวโน้มจะถูกกระทำด้วยความรุนแรงและถูกข่มเหงรังแกสูงมาก ประสบการณ์ในเนปาลทำให้เธอเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ผู้หญิงคือพลังขับเคลื่อนเบื้องหลังการฟื้นฟูชุมชนต่าง ๆ
“ผู้หญิงเหล่านี้รวมพลังกันเพื่อแก้สถานการณ์ค่ะ” เธอบอก “ฉันเห็นความยืดหยุ่นนั้นได้ และพวกเธอก็หัวก้าวหน้ากันมากๆ” ตัวอย่างเช่นที่หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในเขตสินธุปาลจอกของเนปาล เธอช่วยตั้งศูนย์เก็บรวบรวมน้ำนม งานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแบบนี้ทำให้เธอเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป “สำหรับฉัน ตราบใดที่คนมีความหวัง เราจะมุ่งหน้าต่อไปไม่หยุดค่ะ” เธอบอก “นั่นคือสิ่งที่ทรงพลังที่สุด”
– คารีนา โชคาโน –
นักผจญภัย
แพ็ตตี โกเนีย
นักเคลื่อนไหว ผู้ทำให้กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นมิตรกับชุมชนหลากหลายทางเพศมากขึ้น

บางครั้ง กิจกรรมกลางแจ้งสร้างความรู้สึกไม่เป็นมิตรให้ชุมชนหลากหลายทางเพศ นั่นคือข้อสรุปที่วิน ไวลีย์ ได้รับตอนเป็นเด็กในค่ายฤดูร้อนที่จัดโดยกลุ่มลูกเสือ “ฉันถูกปลูกฝังระบบกิจกรรมกลางแจ้งของชายชาตรีที่เน้นระเบีบบวินัยแบบทหาร เหมือนคำพูดที่ว่า ‘เราต้องแข็งแกร่งเพื่อจะอยู่รอด’ ค่ะ” ไวลีย์เล่า
ทุกวันนี้ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยวิสัยทัศน์อันน่าอึดอัดต่อกิจกรรมกลางแจ้งคนนั้นได้กลายมาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวที่เกิดจากเรื่องราวที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว และทำเช่นนั้นด้วยรองเท้าส้นสูง หลังจากคลิปที่เขาใส่รองเท้าบู๊ตส้นสูงหกนิ้วไปเดินป่ากลายเป็นไวรัลเมื่อปี 2018 “ราชินีแบกเป้” คนสำคัญของโลกก็ถือกำเนิดขึ้น แพ็ตตี โกเนีย นักเคลื่อนไหวในโฉมหน้าของแดร็ก (Drag) ที่พยายามทำให้กลุ่มแอลจีบีทีคิวรู้สึกสบายใจกับกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น “ฉันคิดว่าเรื่องเล่าเหมารวมสำหรับชุมชนหลากหลายทางเพศมักไม่พ้นการหนีเข้าไปสู่เมืองใหญ่ๆเพื่อแสวงหาการยอมรับ” แพ็ตตี (ผู้ใช้สรรพนามเวลาแต่งหญิงว่า เธอ) บอก “และฉันรู้สึกเหมือนตัวเองวิ่งสวนทางเข้าไปในป่าค่ะ”
แพ็ตตีสื่อสารจากบ้านของเธอในเมืองเบนด์ รัฐออริกอน ขณะออกไปเดินป่ารอบๆบึงโปรดแห่งหนึ่ง เธอโด่งดังเรื่องการปรากฏตัวในเสื้อผ้าหรูหรา บางส่วนตัดเย็บโดยใช้ผ้าเต็นท์เก่ามาทำใหม่ แม้วิธีสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเธอจะเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เธอไม่ใช่พวกมือใหม่ “แดร็กควีนเป็นแนวหน้าของชุมชนในการจัดการและการประท้วงเสมอ” แพ็ตตีบอก นี่เป็นประเด็นที่นิก ออฟเฟอร์แมน นักแสดงจากซีรีส์ Parks and Recreation ออกโรงสนับสนุน เมื่อปีที่แล้ว เขาเชิญเธอไปแสดงในเทศกาลตลกของเน็ตฟลิกซ์ที่ลอสแอนเจลิส เป็นส่วนหนึ่งของค่ำคืนขบขันที่จัดขึ้นเพื่อจุดประกายให้คนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแสดงของแพ็ตตีรวมถึงบทพูดคนเดียวยาวเหยียดว่าด้วยภาพยนตร์ Finding Nemo และปลาการ์ตูนเพศผู้ที่เปลี่ยนเพศได้
เมื่อปี 2023 เธอเปิดตัวมิวสิกวิดีโอที่ทำร่วมกับโย-โย หม่า นักเชลโลชื่อดัง และควินน์ คริสโตเฟอร์สัน นักดนตรีข้ามเพศชนพื้นเมือง ที่ถ่ายทำในอุทยานแห่งชาติคีนายฟยอร์ดในรัฐอะแลสกา เพื่อให้คนตระหนักถึงการถอยร่นอย่างต่อเนื่องของธารน้ำแข็งเอ็กซิต ที่แห่งนี้มีความหมายลึกซึ้งสำหรับบุคคลที่อยู่เบื้องหลังบทบาทแดร็กควีนผู้นี้ เพราะเป็นสถานที่ที่ไวลีย์นำอัฐิของบิดาผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมาโปรยเมื่อหลายปีก่อน
ไวลีย์เผยว่าตนมีความสัมพันธ์ “ที่ซับซ้อน” กับพ่อ แต่การรำลึกถึงเขาขณะออกพายเรือคายักในรัฐบ้านเกิดของผู้เป็นพ่อช่วยคลี่คลายสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ บางทีงานสนับสนุนของแพ็ตตีที่ทำในนามของเบรฟเทรลส์ องค์กรไม่แสวงกำไรที่จัดค่ายฤดูร้อนและการท่องเที่ยวแบบแบกเป้ให้เยาวชนหลากหลายทางเพศ อาจช่วยเยียวยาแผลเก่าได้ในลักษณะเดียวกัน
– มิกกี แร็ปคิน –
คนบันดาลใจ
ดอน ชีเดิล
นักแสดงเลื่องชื่อ ผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศในชุมชนสุ่มเสี่ยงทีละแห่ง

เดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ไฟป่าลามไปทั่วลอสแอนเจลิส ดอน ชีเดิล กับภรรยา รวมทั้งคนอื่นๆอีกหลายหมื่นคนในภูมิภาค ต้องอพยพจากบ้านใกล้แปซิฟิกแพลิเซดส์ “เราขนเสื้อผ้าจำนวนหนึ่งและข้าวของที่ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น รูปภาพ ภาพวาดของลูกๆ แค่นั้นเองครับ” เขาบอก นี่เป็นวิกฤติใกล้บ้านอย่างไม่น่าเชื่อสำหรับนักแสดงและนักเคลื่อนไหวผู้เคยชินกับการมีส่วนร่วมกับเรื่องเหล่านี้ในที่ไกลออกไปมายาวนาน ในฐานะทูตสันถวไมตรีของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และสมาชิกคณะกรรมการบริหารโซลูชันส์โปรเจกต์ ซึ่งสนับสนุนองค์กรระดับชุมชนกว่า 300 แห่งให้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศใน 45 รัฐ
ในแง่หนึ่ง ไฟป่าที่ทำให้บ้านของชนชั้นแรงงานและคฤหาสน์หรูวอดวายไม่ต่างกัน คือเครื่องเตือนใจเราว่า ภาวะฉุกเฉินจากสภาพภูมิอากาศไม่เลือกเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือบัญชีธนาคาร “มันคือการแสดงให้เห็นอย่างโต้งๆถึงธรรมชาติอันเสมอภาคของภัยพิบัติในตอนเริ่มต้น” ชีเดิลบอกโดยเน้นคำท้ายๆเป็นพิเศษ “และสุดท้าย เราจะได้เห็น เพราะเรารู้ว่าในสถานการณ์ทำนองนี้ กลุ่มคนเปราะบางที่สุดและมีตัวแทนน้อยที่สุด คือคนที่จะเผชิญความเสียหายสูงสุดและมีความสามารถจะฟื้นตัวกลับมาได้ต่ำสุด”
ทัศนคติอันกระจ่างชัดนี้เองทำให้ชีเดิล วัย 60 ปี สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะโซลูชันส์โปรเจกต์ซึ่งเขายังคงเน้นย้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติต่อไป องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 โดยนักแสดง มาร์ก รัฟฟาโล กับหุ้นส่วนอีกสองคน จัดสรรเงินกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ชุมชนแนวหน้าทั่วสหรัฐฯ โดยชุมชนส่วนใหญ่ เช่น ไรส์เซนต์เจมส์ที่ต่อสู้กับผลกระทบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใน “ตรอกมะเร็ง” ของลุยเซียนา และโตนิโซนีอานี ซึ่งมุ่งปกป้องวัฒนธรรมชนพื้นเมืองและการเข้าถึงแหล่งน้ำบนภูเขายอดราบแบล็กเมซาของรัฐแอริโซนา มีสตรีผิวสีเป็นผู้นำ
“ผมสนใจเรื่องความยุติธรรมและการมีตัวแทน [ในทางกฎหมายและการเมือง] อย่างมากมาตลอดครับ” ชีเดิลบอก “จากนั้น พอเรากลายเป็นพ่อ ความกังวลทุกเรื่องในโลกก็ตกอยู่กับเรา” หลังรับบทเป็นผู้จัดการโรงแรม พอล รูเซซาบากีนา ในภาพยนตร์ Hotel Rwanda เมื่อปี 2004 ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ชีเดิลผลิตสารคดีเรื่อง Darfur Now ว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางตะวันตกของซูดาน เช่นเดียวกับคนจำนวนมาก สารคดี An Inconvenient Truth ของอัล กอร์ เมื่อปี 2006 เปิดหูเปิดตาให้ชีเดิลเห็นความจำเป็นเร่งด่วนของวิกฤติการณ์ “เราจะทำอะไรได้บ้าง” เขาจำได้ว่าคิดแบบนี้ “แล้วผมก็คิดว่า พอเราถามคำถามพวกนั้นกับจักรวาล จักรวาลจะตอบว่า ลองทำแบบนี้ดูไหมล่ะ”
เขารู้จักโซลูชันส์โปรเจกต์จากการร่วมงานกับรัฟฟาโลในภาพยนตร์ห้าเรื่องของจักรวาลมาร์เวล และเขายังเชื่อมั่นว่า การเป็นดาราสามารถดึงให้คนสนใจความพยายามเช่นนั้นได้โดยตรง “บ่อยครั้งที่คนดัง หรืออะไรก็ตามที่คนเรียกพวกเรา พยายามพาตัวไปให้พ้นจากความสนใจของสื่อ ส่วนคนที่กำลังต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้กลับไม่สามารถเรียกร้องความสนใจจากสื่อได้ครับ” เขาบอก
– เบรตต์ มาร์ติน –
สามารถติดตามเรื่องราวของ The National Geographic 33 คนเปลี่ยนโลก ประจำปี 2025 ทั้ง 33 คน ได้ในนิตยสาร National Gepgraphic ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2568 สั่งซื้อนิตยสารได้แล้ววันนี้ ที่ร้านหนังสือชั้นนำ หรือสั่งซื้อทางเว็บไซต์ได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/641302