พื้นที่ต้นน้ำ : พื้นที่แห่งคุณค่าของชีวิต

พื้นที่ต้นน้ำ : พื้นที่แห่งคุณค่าของชีวิต

ในประเทศไทย วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงตามหลักภูมิศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั้งป่าไม้ แม่น้ำ ที่ราบลุ่ม และชายฝั่ง เป็นแหล่งก่อกำเนิดทรัพยากรมากมายในประเทศ แต่ในปัจจุบัน ด้วยหลากหลายปัจจัยทั้งจากมนุษย์เอง และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติ และท้ายที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเรา

หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน จึงก่อตั้งโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำขึ้นมากมาย รวมไปถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพระราชดำริอีกหลายร้อยโครงการ เพื่อให้สายน้ำยังคงเป็นแหล่งสร้างชีวิตให้กับคนไทยต่อไป

พื้นที่ต้นน้ำของประเทศไทยนับเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการเกิดวงจรของสายน้ำ ในทางกลับกันพื้นที่ที่เสื่อมโทรมย่อมส่งผลต่อการดูดซับน้ำและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน จึงเกิดเป็นความพยายามฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำให้มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไว้ได้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่คนในพื้นที่ และผู้คนที่อยู่ปลายน้ำต่อไป

เอสซีจี (SCG) เป็นหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” เป็นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เอสซีจีน้อมนำมาเป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง

ในพื้นที่ต้นน้ำได้ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศ และส่งต่อน้ำไปยังกลางน้ำ หรือพื้นที่ราบอย่างเป็นระบบผ่านระบบแก้มลิงและกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแห้งแล้งด้วยสระพวงเชิงเขา พร้อมทั้งฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งด้วยการสร้างบ้านปลา เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล

ในปี 2562 นี้ เอสซีจียังคงขยายการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มาใช้ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางของโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ที่มุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ คนในพื้นที่ยังได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ถึงการบริหารจัดการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างรู้คุณค่า นับเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่จำเป็น และเป็นการสร้างคุณค่าหมุนเวียนให้แก่ทรัพยากร อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ในส่วนของการสร้างฝายชะลอน้ำ เอสซีจียังเน้นย้ำการสร้างฝายจากวัสดุท้องถิ่นและวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในป่า หรือชุมชน เช่น ไม้ไผ่ ขอนไม้ล้มตาย และก้อนหิน นอกจากนี้ยังพิจารณาความเหมาะสมในจุดที่มีการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มีต้นไม้น้อย เป็นที่โล่ง เผชิญกับปัญหาแห้งแล้ง เป็นลำธารที่มีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝน และน้ำแล้งในช่วงฤดูร้อน เป็นต้น

โดยสิ่งหนึ่งที่เอสซีจียึดถือปฏิบัติมาตลอด 10 ปีของการดำเนินโครงการสร้างฝายชะลอน้ำคือ การไม่เข้าไปสร้างฝายในพื้นที่ที่ระบบนิเวศสมบูรณ์อยู่แล้ว ในระยะยาว จุดประสงค์ของการสร้างฝายนั้นเป็นไปเพื่อการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ในใจคน หรือกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งชุมชนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการ และดำเนินการอนุรักษ์น้ำด้วยตนเอง กระบวนการนี้ช่วยให้คนในชุมชนมีการสื่อสารกันมากขึ้น ร่วมกันแก้ปัญหา รวมถึงวางแผนหาแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเอสซีจีและภาคีร่วม เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกเท่านั้น

นอกจากการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในกิจกรรมรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที แล้ว การจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังจัดงานในรูปแบบ Green Event โดยนำแนวทางปฏิบัติ SCG Circular way มาปรับใช้ เช่น เสื้อที่แจกให้ผู้ร่วมงานที่ทำจากผ้าเหลือใช้จากการผลิตในโรงงาน การออกแบบตกแต่งสถานที่จากวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงการรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมงานนำกระบอกน้ำส่วนตัวและถุงผ้ามา เพื่อลดการสร้างขยะในงาน เป็นต้น

สำหรับในกิจกรรมที่จัดขึ้น ผู้เข้าร่วมและผู้นำชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี ได้เข้าร่วมการเรียนรู้ประโยชน์จากการคัดแยกขยะ ซึ่งนับเป็นกระบวนการสำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้คุณค่าของทรัพยากร และรู้จักการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน เช่น การแยกเศษอาหารที่เป็นขยะอินทรีย์ก็สามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ เป็นต้น ซึ่งภายในงานได้มีการจัดกิจกรรรม “แยกขยะให้ถูกถัง สร้างพลังหมุนเวียน เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา” เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการแยกขยะ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขยะแต่ละประเภท โดยเอสซีจีได้ดำเนินการกิจกรรมลักษณะเช่นนี้จนเกิดผลเป็นรูปธรรมไปแล้วที่บ้านแป้นโป่งชัย อำเภอบ้านสา จังหวัดลำปาง และนับเป็นชุมชนต้นแบบในการสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ และหมุนเวียนนำมูลค่าของวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หลักการในการคัดแยกขยะให้เกิดพลังหมุนเวียนทำได้โดยคำนึงถึงคุณค่าของวัสดุนั้นๆ และจัดการกับขยะด้วยวิธีการที่ถูกต้อง โดยชุมชนบ้านแป้นโป่งชัยมีวิธีจัดการกับขยะประเภทเช่น

การจัดการขยะรีไซเคิล ชาวบ้านจะแยกวัสดุเป็นหมวดต่างๆ เช่น กระดาษ สังกะสี พลาสติก และขวดแก้ว เป็นต้น แล้วนำไปขายให้กับธนาคารขยะชุมชนหรือนำกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำ เป็นการเสริมสร้างนิสัยการแยกขยะ และช่วยสร้างรายได้จากขยะอีกด้วย

การจัดการขยะเปียก เศษอาหารที่เหลือทิ้งจากครัวเรือนถูกรวบรวมไว้ในถังหมัก เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือทำนำหมัก บางครั้งก็สามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ได้

การจัดการขยะอันตราย เช่น ถ่ายไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ เป็นขยะที่ต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม และชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแลกไข่ไก่ได้ที่ธนาคารขยะชุมชนได้อีกด้วย

ด้วยวิธีการเหล่านี้ ชาวบ้านได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และเกิดจิตสำนึกที่รู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทำให้เกิดการหมุนเวียนมูลค่าของวัสดุสิ่งนั้น จากที่จะกลายเป็นขยะทิ้งไปอย่างเดียว แต่สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ได้

ที่ผ่านมา โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ที่ดำเนินการไปแล้วนั้น ได้ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ชุมชนโดยรอบสามารถหารายได้จากการมีทรัพยากรน้ำหมุนเวียนกลับมาในพื้นที่ รวมไปถึงสัตว์ป่าหลายชนิดกลับเข้ามาหากิน นอกจากนี้ กิจกรรมที่จัดขึ้นยังได้สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เกิดความตระหนักและรู้คุณค่าของการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ เพื่อในอนาคต เราจะได้มีทรัพยากรน้ำไว้ใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

ใครสนใจในโครงการหรืออยากหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ด้านล่าง
https://www.scg.com/lovewater
https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/

Recommend