บนข้อเท็จจริงที่ว่า พลาสติก ผลิตมาจากกระบวนการปิโตรเลียม ซึ่งนักเคมีค้นพบว่า น้ำมันเหลือทิ้งจากโรงกลั่นสามารถนำมาผลิตเป็นมอนอเมอร์ (monomer) เพื่อสร้างพอลิเมอร์ใหม่ๆ ทดแทนพอลิเมอร์จากธรรมชาติอย่างยางพารา ผลิตได้ง่ายกว่า ในต้นทุนราคาที่ต่ำกว่า ทำให้ในระยะเวลาเพียงร้อยกว่าปี พลาสติก กลายเป็นวัสดุที่ครองโลกได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นขยะในช่วงเวลาเพียงพริบตา
บนข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำมันดิบ ต้นเรื่องของพลาสติก เกิดจากเศษซากของไดโนเสาร์ที่เคยยิ่งใหญ่และครองโลกในยุคดึกดำบรรพ์มานั้น แม้วันนี้จะสูญพันธุ์ไปสิ้น แต่เศษซากที่กลายเป็นพลังงานธรรมชาติให้โลกนั้นยังคงอยู่ เพียงแต่เศษซากส่วนหนึ่งของไดโนเสาร์ที่กลับมาครองโลกอีกครั้งเป็นรูปแบบพลาสติก พร้อมกับพลังทำลายล้างที่ต้องรอวันย่อยสลายถึง 450 ปี
วันที่ไดโนเสาร์กลับมาครองโลกอีกครั้ง
วันนี้ พลาสติกที่ผลิตขึ้นชิ้นแรกของโลกยังไม่ย่อยสลาย ความตระหนัก บวกกับความกังวลใจในข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดเป็นคำถามที่คละด้วยความวิตกของ ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น ที่โลกผลิตพลาสติกออกมาอย่างมหาศาล เพียงช่วงเวลา 100 กว่าปี สิ่งของทุกอย่างทำมาจากพลาสติก และมนุษย์ต่างใช้พลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ศิลปินกล่าวว่า ในปีที่เขาเกิดคือปี 1960 เป็นยุคที่เขายังไม่ได้รู้จักกับพลาสติก แต่พอเขาโตขึ้น ทุกคนก็หันมาใช้กันอย่างมากมาย ทำให้เกิดข้อคำถามที่ว่า หากเขาหยุดใช้พลาสติกจะเป็นอย่างไร คำถามเชิงทดลองเริ่มที่ครอบครัวของเขา ก่อนจะค้นพบว่ามันจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อทุกคนบนโลกยังคงใช้กันอยู่
เช่นเดียวกับ “ของเล่น” ที่อยู่ในความทรงจำของเด็กๆ พลาสติกที่เคยเป็นที่รัก แต่มีอายุอันสั้นเพราะความเบื่อหน่าย หรือชำรุดตามสภาพ ฟูจิและภรรยาของเขาจึงเริ่มก่อตั้งตลาดแลกเปลี่ยนของเล่นขึ้นชื่อว่า คาเอโกะ บาซาร์ เริ่มต้นในปี 1997 เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็กได้นำของเล่นที่ไม่ได้ใช้แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน มีหลายชิ้นถูกเปลี่ยนให้เป็นของเล่นมือสองชิ้นใหม่ ในขณะที่บางชิ้นกลับถูกทิ้งไว้ตรงนั้นไม่ได้ถูกเลือกให้กลายเป็นของรัก อีกไม่นานจะกลายเป็น “ขยะพลาสติก” ในอนาคตอย่างแน่นอน
จูราสสิค พลาสติก : เมื่อของเล่นไม่ใช้แล้วกลายเป็นงานศิลปะ
จากตัวการ์ตูนที่เราคุ้นหน้าในร้านอาหารฟาสฟู๊ด ความน่ารักที่เคยอยู่ในใจในช่วงเวลาหนึ่ง ความเห่อเหิมที่เก็บคอลเล็กชั่นนี้ให้ครบ ของเล่นพลาสติกกลายเป็นของเหลือใช้ในช่วงเวลาต่อมา แต่ศิลปินไม่ได้ทำให้มันจบลงที่ถังขยะอย่างที่เคยเป็น
Jurassic Plastic จูราสสิค พลาสติก งานศิลปะชิ้นใหญ่เต็มเนื้อที่อาคาร อาเหนก ป้าสง ช่างชุ่ย เต็มไปด้วยของเล่นเหลือใช้หลากหลายสีสันกว่า 100,000 ชิ้น ทั้งจากการรับบริจาคจากโรงเรียนต่างๆ ในเครือข่ายในเมืองไทย และบางส่วนมาจากประเทศญี่ปุ่น ศิลปินถ่ายทอดเรื่องราวผ่านประติมากรรมรูปไดโนเสาร์และสัตว์ต่างๆ ด้วยข้อสงสัยที่ว่า เป็นไปได้ไหมที่พลาสติกจะยังมีความทรงจำเกี่ยวกับไดโนเสาร์อยู่
แสง สี สร้างความตื่นตาตั้งแต่แรกเห็น เสียงที่ดึงเข้าสู่บรรยากาศในยุคไดโนเสาร์ ก่อนเผยให้เห็นถึงความน่ารักที่ซ่อนเร้นอยู่ในของเล่นทุกชิ้นที่ศิลปินจัดวางให้เกิดลวดลายตามเฉดสี ให้ทุกคนได้ตามหาของเล่นที่เคยรัก ในส่วนใดส่วนหนึ่งของผลงาน นิทรรศการครั้งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาขยะของเล่นที่มีจำนวนมหาศาล ซึ่งของเล่นพลาสติกเป็นเพียงส่วนหนึ่งในบรรดาขยะพลาสติกที่กำลังยึดครองโลกและเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ แต่ยังเป็นหนึ่งเสียงสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างขยะจากลัทธิบริโภคนิยมและผลิตของเล่นมากเกินความจำเป็น
Jurassic Plastic Exhibition by Hiroshi Fuji เกิดจากความร่วมมือระหว่าง เจแปนฟาวน์เดชั่นกรุงเทพ และช่างชุ่ย จัดแสดงที่อาคาร อาเหนก ป้าสง ช่างชุ่ย ตั้งแต่วันนี้จนถึง 14 ตุลาคม 2562 ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00-22.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00-22.00 น. (หยุดทุกวันพุธ) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ FB ChangchuiBKK
เรื่อง JOMM YB
ภาพ ND24