หัตถกรรมไทย จะไประดับโลกอย่างไร? เสวนา “SACIT CRAFT POWER: GURU PANEL “

หัตถกรรมไทย จะไประดับโลกอย่างไร? เสวนา “SACIT CRAFT POWER: GURU PANEL “

sacit เชิญ 9 กูรู ระดมความเห็น มองให้ทะลุ Craft Trends ประเทศไทย

หนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยให้โด่งดังในระดับสากล

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 sacit เชิญ 9 กูรูผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมไทย มาระดมความคิดเห็นมองไปในอนาคต เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก และสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เผยแพร่ไปในระดับสากล และเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า sacit ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ได้จัดประชุมเสวนา “sacit Craft Power” SACIT The Future of Crafts : Guru Panel ขอรับความเห็น ข้อเสนอแนะและข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในหลายมิติที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือถึงแนวโน้มในการศิลปพัฒนาสินค้างานศิลปหัตถกรรมในตลาดโลก เพื่อให้เห็นแนวทางความต้องการของ ตลาดในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตขยายในตลาดโลกได้มากขึ้น

การประชุมเสวนาในครั้งนี้ sacit ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมไทย 9 ท่าน มาแสดงความ คิดเห็น ให้เกิดข้อมูล 3 ด้าน อันได้แก่ Unseen Craft Thainess Craft Power โดยเชิญ ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรมราชบัณฑิตยสภา / ครูมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทผลงานเครื่องทอ ปี 2559 (ผ้ากาบบัว) / ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) / ดร.สิริกร มณีรินทร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถรรมไทย(องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ ท้องถิ่น สำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา)  /  ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการ, บริษัท อโยธยาเทรด(93) จำกัด และ บริษัท สหัสชา (1993) จำกัด / รศ. ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และ อาจารย์ ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการนำศิลปะไทยต่อยอดสู่ออกแบบร่วมสมัย และเรื่องสี “ไทยโทน”

นางสาวชลดา สิทธิวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) / นายอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม (CEA), นายพิติรัตน์ วงศ์สุทินวัฒนา หัวหน้างานยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน สำนักท่องเที่ยวโดย ชุมชน (อพท.) ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 9 ท่าน ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่สำคัญ

โดยการประชุมเสวนาในครั้งนี้ sacit ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมไทย 9 ท่าน มาแสดงความ คิดเห็น ให้เกิดข้อมูล 3 ด้าน อันได้แก่

– Unseen Craft: สร้างแรงบันดาลใจใหม่จากศิลปหัตถกรรมไทยที่ยังไม่เคยเห็น ด้วยการจัดการองค์ความรู้ของศิลปหัตถกรรมไทยที่กำลังจะสูญหาย, เผยแพร่เรื่องราวคุณค่าของภูมิปัญญาที่คนยุคใหม่ไม่เคยเห็น และสร้างมูลค่าใหม่จากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่กำลังถูกลืม

– Thainess: ความเป็นไทยที่ภาคภูมิใจ โดยการสร้างกลยุทธเผยแพร่คุณค่าของศิลปหัตถกรรมไทย, สร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมที่ตอบรับกับสมัยนิยม และสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

– Soft Power: สร้างพลังแบบไทย สู่อิทธิพลความคิดระดับโลก โดยการให้บทบาทภาครัฐและเอกชนในการสร้างอิทธิพลด้านความคิด, การส่งออกวัฒนธรรมผ่านงานศิลปหัตถกรรมไทย และการวัดผลสำเร็จในการสร้าง Soft Power

โดยผู้เชี่ยวชาญทั้ง 9 ท่าน ได้มีความเห็นโดยสรุปว่า งานศิลปหัตถกรรมและหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยนั้นมีเสน่ห์และคุณค่าอันประเสริฐที่ควรแก่การอนุรักษ์และส่งเสริม เนื่องจากเป็นสะท้อนภูมิปัญญาอันลึกซึ้งของบรรพชนไทยในการนำวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีทั้งคุณค่าการใช้สอยและความงดงามตามแบบฉบับของศิลปวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่เครื่องจักสานที่มีรูปแบบและลวดลายสวยงามแต่แข็งแรงทนทาน ไปจนถึงผ้าทอลายละเอียดประณีตที่มีการถักทอด้วยเทคนิคพิถีพิถันโบราณ

อย่างไรก็ดี การสร้างให้คนรุ่นปัจจุบันซึ่งคุ้นเคยกับของสำเร็จรูปทางการค้ามากกว่า ได้ตระหนักถึงคุณค่าและเสน่ห์อันน่าหลงใหลในงานหัตถกรรมพื้นบ้านเหล่านี้ ถือเป็นความท้าทายสำคัญ จำเป็นต้องอาศัยการสร้างการรับรู้ เผยแพร่องค์ความรู้ และส่งเสริมความเข้าใจผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลที่นำเสนอชิ้นงานหัตถกรรมชนิดต่างๆ พร้อมข้อมูลความเป็นมา ขั้นตอนการสร้างสรรค์ และความหมายไปตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อแบบดั้งเดิมและสื่อใหม่อย่างสื่ออนไลน์ ควบคู่ไปกับการรวบรวมจัดทำหนังสือหรือนามานุกรมศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อเป็นฐานข้อมูลความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ข้อมูลของงานหัตถกรรมไทยเผยแพร่ไปในวงกว้างมากขึ้น

ส่วนข้อเสนอแนะในด้านความต้องการให้ศิลปและหัตถกรรมไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในระดับสากลนั้น จำเป็นต้องมีการสื่อสารคุณค่าความเป็นไทยและความโดดเด่นด้านความงดงามไปพร้อมๆ กันอย่างมีกลยุทธ์ ซึ่งอาจทำได้โดยการนำเสนอผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่ผสานเรื่องราวชุมชน ประวัติความเป็นมา รากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น เข้ากับขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีปราชญ์ชาวบ้านหรือช่างผู้ชำนาญการเป็นผู้บอกเล่าเบื้องหลังการผลิต เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของงานหัตถกรรมแก่นักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ควรมีการผสานความเป็นไทยจากวัตถุดิบและแนวคิดงานหัตถกรรมภูมิปัญญาดั้งเดิม กับการออกแบบร่วมสมัยที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเข้าถึงตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนการรักษาและพัฒนาอุตสาหกรรมงานศิลปหัตถกรรมให้อยู่รอดและยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการมุ่งเน้นการอบรมและถ่ายทอดฝีมือให้แก่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากปัจจุบันช่างผู้มีฝีมือในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมส่วนใหญ่มีอายุมากแล้ว ขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ และลูกหลานของช่างมักไม่ค่อยให้ความสนใจสืบทอดงานนี้ หันไปประกอบอาชีพอื่นหรือศึกษาในสาขาวิชาอื่นมากกว่า จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และทักษะฝีมือด้านหัตถกรรมแก่คนรุ่นใหม่ ทั้งในสถาบันการศึกษา และการจัดฝึกอบรม up-skill และ re-skill เพื่อสร้างบุคลากรงานศิลปหัตถกรรมมืออาชีพรุ่นใหม่

นอกจากนี้ยังควรมีการบ่มเพาะจิตสำนึกให้ช่างหัตถกรรมรุ่นใหม่เหล่านี้ตระหนักถึงคุณค่าและรายได้ที่ดีจากงานฝีมือ เพื่อกระตุ้นและธำรงไว้ซึ่งแรงบันดาลใจในการสืบสานอาชีพนี้ต่อไป ควบคู่ไปกับการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่งานหัตถกรรมนับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมหรือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่สำคัญของชาติ และตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นอกเหนือจากการอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมแล้ว สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการนำงานหัตถกรรมเหล่านี้มาบูรณาการและสร้างมูลค่าเพิ่มเชื่อมโยงกับ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ประเภทอื่นๆ เช่น การนำมาสร้างประสบการณ์ใหม่ในธุรกิจบริการต้อนรับและการท่องเที่ยว การออกแบบตกแต่งร้านค้าหรือสถานที่ต่างๆ ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น หรือการนำมาผสมผสานกับการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยใช้สูตรสำเร็จของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ประกอบด้วยทุนทางวัฒนธรรม (วัตถุดิบ แนวคิดจากงานหัตถกรรม) ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จในผลิตภัณฑ์ไอศกรีมวัดอรุณ เป็นต้น ด้วยวิธีเหล่านี้เอง จะเป็นการสานพลังและยกระดับหัตถกรรมไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

โดยผลที่ได้จากการประชุมเสวนาในครั้งนี้จะนำไปรวบรวม และสังเคราะห์ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมี ประสบการณ์ และเกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่งานศิลปหัตถกรรมในบริบทต่างๆ เพื่อที่จะนำไปจัดทำกรอบแนวคิด SACIT The Future of Craft, Trends Forecast 2025 โดยผลที่ได้จากการจัดทำ Trends Forecast 2025 จะช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมไทยก้าวหน้าไปในทุกมิติ และมีความยั่งยืน

รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนา และเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ความคิดสร้ างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นการสืบสานและยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เผยแพร่ในระดับสากล และสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตในเวทีโลกต่อไปในอนาคต

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพ กรานต์ชนก บุญบำรุง

Recommend