ด้วยโจทย์สำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นหลักใหญ่ใจความที่ทุกภาคส่วนได้หันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นแนวทางการจัดการปัญหามากมาย ไปตามบทบาทภารกิจที่แต่ละภาคส่วนรับผิดชอบ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน
เช่นเดียวกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นการจัดการน้ำท่วมเฉียบพลัน สถานการณ์ไฟป่า และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จากสนับสนุนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก GISTDA
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา GISTDA ยังย้ำจุดยืนในบทบาทภารกิจ ด้วยการจัดงานสัมมนา “Carbon Atlas 2024” ภายใต้แนวคิด “Satellite – Powered Carbon MRV for Climate Action” นวัตกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และรายงาน (Monitoring, Reporting, Verification: MRV) ขึ้นที่ ณ CDC Ballroom, ถนนประดิษฐ์มนูธรรม กรุงเทพฯ
โดยในงานสัมมนาดังกล่าว เป็นการเปิดเวทีให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), กรมป่าไม้, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การประเมินการกักเก็บและปลดปล่อยคาร์บอน และนำเสนอแพลตฟอร์มดิจิทัลการติดตาม รายงาน และตรวจสอบคาร์บอน (Carbon Atlas Platform) ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม
ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวระหว่างงานสัมมนา ถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับดาวเทียมในการตรวจสอบ ติดตาม และรายงานการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ (Satellite-based Carbon MRV) เช่น พื้นที่ป่าไม้ ป่าชายเลน และพื้นที่การเกษตร การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าและเกษตร รวมถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ เพื่อสนับสนุนการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ
และในปัจจุบัน GISTDA กำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการวัดและสำรวจคาร์บอนเครดิตในรูปแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม Digital Monitoring, Reporting, Verification : DMRV เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จึงมีการยกประเด็นดังกล่าว เข้ามาเป็นหัวข้อสำคัญข้อหนึ่งในการเสวนา “DMRV in Action – Overcoming Challenges to Implementing DMRV Systems” ที่ว่าด้วยยกระดับการวัดผลและสำรวจในรูปแบบใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้กำลังคน แต่สามารถเพิ่มความรวดเร็วและแม่นยำได้มากขึ้น
กล่าวคือ จากเดิมการ Monitoring, Reporting, Verification: MRV หรือ การตรวจสอบ ติดตาม และรายงานผลการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดขึ้นโดยการใช้คนเป็นหลัก หากแต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้และขยายไปสู่ Digital Monitoring, Reporting, Verification: DMRV ที่นอกจากบทบาทการสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ของ GISTDA ผ่านการใช้ดาวเทียมในการตรวจสอบ ติดตาม และรายงานการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานภูมิสารสนเทศ การตรวจสอบ ติดตาม และรายงานข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เช่น
- เครื่อง 3D Scanner สำหรับเก็บข้อมูลรายละเอียดของสถานที่
- อุปกรณ์ LiBackpack ตัวช่วยทำแผนที่ ที่สามารถแสดงสภาพแวดล้อมได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- โดรน LiDAR อุปกรณ์ตรวจจับระยะไกล ที่ใช้เลเซอร์ในการวัดระยะห่างของวัตถุบนพื้นดินกับเซนเซอร์ เพื่อคำนวณและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับสร้างแผนที่ 3 มิติอย่างแม่นยำ
ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้สามารถประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้รวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนยุ่งยากต่าง ๆ ลง เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน On Ground ในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ และยังกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) โดยบริษัทหรือองค์กรธุรกิจได้มากขึ้น จนนำไปสู่การสร้างคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ GISTDA ยังร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สำหรับการพัฒนาแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับป่าชุมชน เพื่อสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐาน T-VER และ Premium T-VER
นอกจากนี้ GISTDA ยังผสานความร่วมมือในภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานภาครัฐอีกหลายภาคส่วน เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชน ในการประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า ป้องกันไฟป่า และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงความร่วมมือกันในการพัฒนาแบบจำลองการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ร่วมกันในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ ในอนาคต GISTDA ยังมีเป้าหมายในการสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และตรวจสอบได้ เพื่อการจัดทำรายงานแห่งชาติ (National Communication: NC) และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report: BUR) สำหรับการดำเนินการด้านการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO
ด้วยความร่วมมือดังกล่าว ทำให้งาน Carbon Atlas 2024 ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับประชาชนไทย และร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างยั่งยืนต่อไป