[ Branded Content For EGCO Group ] ผาหัวนาค อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งสำหรับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของภาคอีสาน ด้วยหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ซุกซ่อนอยู่ในผืนดินกว้างไกลหลายพันไร่ ที่ชี้ให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งเทือกเขาภูแลนคากับที่ราบสูงภูเขียว เคยเป็นพื้นที่เดียวกัน ก่อนเวลาจะพาให้แยกออกจากกันอย่างช้า ๆ อย่างในปัจจุบัน
หากเจาะจงไปที่ ‘หิน’ ในบริเวณผาหัวนาค รวมถึงไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างมอหินขาว เป็นหินในหมวดหินพระวิหาร ซึ่งเป็นชั้นหินทรายที่มีสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีเทา มีเนื้อเม็ดละเอียดไปจนถึงหยาบ สำคัญกว่านั้นคือ การค้นพบละอองเรณูบริเวณฐานของหมวดหินนี้ แสดงให้เห็นว่า เป็นหินที่สะสมตัวในช่วงยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ตอนต้น หรืออยู่ในช่วง 125 – 145 ล้านปี ซึ่งการค้นพบซากดึกดำบรรพ์เรณูสัณฐานดังกล่าว จึงเป็นหลักฐานในการกำหนดอายุของชั้นหิน ที่ถูกเก็บรักษาในชั้นหินตะกอนขนาดละเอียดที่สะสมตัวในสภาพไร้ออกซิเจน
สภาพแวดล้อมของผาหัวนาค หากมองเผิน ๆ อาจไม่ได้บ่งบอกความพิเศษออกมาชัดเจนนัก แต่นอกจากร่องรอยของการเดินทางข้ามกาลเวลามากว่าร้อยล้านปี ที่นี่ยังมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างหิน ดิน และป่า ช่วยบอกเล่าความเป็นมาของผืนป่าต้นน้ำ ที่เชื่อมโยงกันอย่างน่าอัศจรรย์ตามบทบาทในระบบนิเวศ
พลาญหินทรายอายุกว่าร้อยล้านปี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบนิเวศที่นี่ เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านหินทรายที่ดูแข็งแกร่งราวกับจะตั้งอยู่เช่นนั้นตลอดไป ก็เกิดผุกร่อนจนกลายเป็นดินทราย ผสมกับ อินทรียวัตถุ และแปรสภาพเป็นแหล่งอาหารของพืช ขณะเดียวกันสภาพภูมิประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยพลาญหินทรายแห่งนี้ ก็สร้างวัฎจักรธรรมชาติ ให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกัน เหล่าพืชพรรณก็ค่อย ๆ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝน กระทั่งเกิดเป็นสังคมพืชที่หลากหลาย มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขาต่ำ พื้นที่แนวเชื่อมต่อทางนิเวศระหว่างป่าแต่ละประเภท รวมถึงระบบนิเวศเฉพาะตัวบนพลาญหิน และที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำชี ซึ่งมีความสำคัญต่อทุกชีวิตตลอดลำน้ำ
ซึ่งหลังจากนี้ ความเข้าใจในพื้นที่ดังที่กล่าวไปอาจไม่ได้อยู่เฉพาะในตำราเพียงอย่างเดียว เมื่อการพัฒนา “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค” ได้เกิดขึ้นและเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน รอต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนให้เข้ามาสัมผัส
ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา เส้นทางฯ ดังกล่าว เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีจุดเริ่มต้น (Trail Head) อยู่บริเวณจุดบริการนักท่องเที่ยวผาหัวนาค มีความยาว 2.66 กิโลเมตร เป็นแนวทางเดินปูนสลับกับทางเดินดินปนทราย ที่ลัดเลาะไปตามภูมิประเทศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ่านแนวสันเขารูปอีโต้ (Cuesta) บริเวณผาหัวนาค พลาญหินทรายที่มีอายุมากกว่า 125 ล้านปี สลับกับธรรมชาติแบบทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขาต่ำ ป่าบนพลาญหิน และพืชหลากหลายชนิดสองข้างทาง เช่น เหียง ยางกราด เต็ง พะยอม ตองหมอง จอกบ่อหวาย เสม็ดแดง หัวใจทศกัณฐ์ ม้าวิ่ง เป็นต้น สร้างภูมิทัศน์ที่แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยในหน้าแล้งพืชพรรณต่าง ๆ จะพากันยุบตัวลง ก่อนจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเมื่อหน้าฝน และเตรียมออกดอกขยายพันธุ์เพิ่มในหน้าหนาว สร้างความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้กล่าวในพิธีส่งมอบเส้นทางฯ ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีใจความบางช่วงบางตอนว่า
“เส้นทางฯ ถูกออกแบบให้มีมาตรฐาน เดินง่าย แข็งแรงและปลอดภัย ด้วยจุดมุ่งหมายให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึง เข้าใจ เรียนรู้ธรรมชาติและสภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและมีคุณค่าเฉพาะตัวอย่างใกล้ชิด ผ่านป้ายสื่อความหมายธรรมชาติตลอดแนวเส้นทางฯ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมเส้นทางลาดตระเวนและแนวกันไฟป่า ด้วยเจตนาที่ว่า หากพื้นที่มีการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง และในอนาคตเรามีแผนที่จะอบรมและส่งเสริมให้ชุมชนและเยาวชนเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำเที่ยวเส้นทางฯ นี้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่”
เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติลำดับที่ 10 ที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ EGCO Group โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลที่ EGCO Group ก่อตั้งขึ้นและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ โดยความร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาขึ้น ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ที่เข้ามาออกแบบพัฒนาระบบและป้ายสื่อความหมายธรรมชาติตลอดเส้นทางฯ
ทำให้ระหว่างทางนักท่องเที่ยวสามารถศึกษาข้อมูลให้ละเอียดขึ้นด้วยตนเอง ผ่านป้ายสื่อความหมายธรรมชาติทั้ง 14 จุด และป้ายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณอีก 5 จุด ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงสภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลายตลอดเส้นทาง โดยนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาราว 1.5 – 2 ชั่วโมง ก็จะสิ้นสุดเส้นทาง (Trail End) ที่จะบรรจบกับจุดชมวิวระเบียงเบิ่งหม่องตะเวน จุดชมทิวทัศน์ของพื้นที่ราบเกษตรสมบูรณ์และภูเขียว
นอกจากนี้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ยังออกแบบด้วยแนวคิดให้เป็นเส้นทางฯ ที่มีมาตรฐาน เดินง่าย และปลอดภัย ซึ่งในบางจุดที่สัญญาณโทรศัพท์ไม่ครอบคลุม ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ SOS เอาไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินอีกด้วย นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าถึง สัมผัส และเรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาและธรณีวิทยาของพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะป่าบนพลาญหินอายุกว่า 125 ล้านปี รวมถึงธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลได้อย่างใกล้ชิด
ทางด้านนายเด่น รัตนชัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ในฐานะผู้ดูแลที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ ยังกล่าวเสริมถึงการพัฒนาเส้นทางฯ ดังกล่าวอีกว่า
“ผมมองว่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้อของการจัดตั้งอุทยานฯ 1) เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 2) เพื่อนันทนาการ 3) เพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัย
“เส้นทางศึกษาธรรมชาติจึงเปรียบเสมือนห้องเรียนกลางแจ้งขนาดใหญ่ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ เข้ามาศึกษา เป็นแหล่งนันทนาการที่มีจุดเด่นที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสกับธรรมชาติ แล้วก็มีสิ่งอํานวยความสะดวกที่มีความเหมาะสม และสุดท้ายคือประเด็น เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ถามว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร ผมมองว่า ในขณะที่นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ก็เหมือนกําลังลาดตระเวนทำหน้าที่ช่วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีกทางหนึ่ง ส่วนป้ายสื่อความหมายต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนทรัพยากรธรรมชาติ ทําให้นักท่องเที่ยวที่เข้าไปศึกษา ได้เรียนรู้ เกิดการเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ จนก่อให้เกิดความหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป”