GISTDA พัฒนาแพลตฟอร์ม LANDX รับมือ EUDR

GISTDA พัฒนาแพลตฟอร์ม LANDX รับมือ EUDR

การบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR ได้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง นับจากที่สหภาพยุโรปได้ประกาศให้สินค้าเกษตร 7 ชนิดทั้งที่ส่งเข้าและออกจากสหภาพยุโรป (EU) ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ต้องแสดงที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางว่า ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และกระบวนการผลิตต้องถูกต้องตามกฎหมาย

[ BRANDED CONTENT FOR GISTDA ] นับถอยหลังสู่การเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) ที่เลื่อนเวลาจากเดิม 30 ธ.ค. 2567 ออกไป 1 ปี โดยจะมีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2568 สำหรับผู้ประกอบการและผู้ค้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง และวันที่ 30 มิถุนายน 2569 สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA จึงได้ต่อยอดการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศ  มาสู่การพัฒนา “ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน” ผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “LANDX” (Land Explorer) เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและเกษตรกร  ให้สามารถใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการเป็นหลักฐานยืนยันสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับตามกฎระเบียบ EUDR

EUDR คืออะไร และจะส่งผลกับใคร

EUDR หรือ European Union Deforestation Regulation คือ กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป ที่มุ่งเป้าไปที่การควบคุมป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมทั่วโลก เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์บางประเภทที่เข้าหรือออกจากสหภาพยุโรป

กฎระเบียบดังกล่าว ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยกำหนดสินค้าควบคุม 7 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ถั่วเหลือง โค โกโก้ และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวข้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ กระดาษ ยางรถยนต์ ช็อกโกแลต เป็นต้น จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลัก 3 ข้อได้แก่  1) สินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free) นั่นคือสินค้าต้องได้รับการพิสูจน์ว่า ไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าหรือสร้างความเสื่อมโทรมของป่าหลังปี 2563 โดย EU อ้างอิงนิยาม “ป่า” ตาม FAO รวมถึงพิจารณาตามข้อเท็จจริงเชิงพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมได้อีกทางหนึ่งด้วย 2) สินค้าผลิตถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ผลิต (Legality requirement) เช่น สิทธิในการใช้ที่ดิน สิทธิมนุษยธรรม สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และศุลกากร และ 3) มีการตรวจสอบสถานะ (Due diligence) ของผู้ประกอบการ (Operator) และผู้ค้า (Trader) ผ่านระบบที่ EU กำหนด เพื่อประกอบการตรวจสอบและประเมินสินค้า ตามการจัดระดับความเสี่ยงของประเทศผู้ผลิต (Country benchmarking) 

ข่าวดี! เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low Risk) ทำให้มีการสุ่มตรวจเพียง 1% ซึ่งทำให้การจัดทำข้อมูลประกอบการตรวจสอบ Due Diligence Statement หรือ DDS มีความซับซ้อนน้อยและอัตราการสุ่มตรวจสินค้าต่ำลงกว่าระดับเสี่ยงมาตรฐาน (Standard Risk) ที่ จะมีการสุ่มตรวจ 3% และระดับเสี่ยงสูง (High Risk) ที่มีการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวด สูงถึง 9% ซึ่งจะมีความยุ่งยากในการเตรียมข้อมูลและเอกสารประกอบหลายรายการ

อย่างไรก็ดี แม้ในขณะนี้สหภาพยุโรป จะประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำภายใต้กฎ EUDR แต่หลายฝ่ายยังมีมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ในหลายมิติ เนื่องด้วยกฎระเบียบที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ กล่าวคือเป็นได้ทั้งปัญหาและโอกาส

โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทย จะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ ก็คือเรื่องต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ในการเก็บข้อมูลพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geo Location) ของพื้นที่เพาะปลูก แหล่งที่มาของสินค้า วันที่ผลิต และเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าสินค้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า การทำ Due Diligence หรือการประเมินและลดความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เพื่อพิสูจน์ที่มาของสินค้า ซึ่งอาจรวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือการใช้เทคโนโลยี และการรายงานข้อมูล การจัดทำ Due Diligence Statement เพื่อยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป ซึ่งเกษตรกรรายย่อยอาจต้องเผชิญกับปัญหามากที่สุด หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำหรือแสดงหลักฐานเอกสารสิทธิที่ดินที่ไม่ชัดเจน

ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนด EUDR ได้นั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะสูญเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญได้ ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถปรับตัวต่อความซับซ้อนที่เกิดขึ้น ก็อาจถูกผลักออกจากห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะยาว

ในทางตรงกันข้าม ภายใต้กฎระเบียบ EUDR นี้ อาจจะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยการปรับปรุงกฎระเบียบภายในให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ลดการทำลายป่า และส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ได้ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้ ขณะเดียวกันในด้านเทคโนโลยี การมาของ EUDR ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบข้อมูลพิกัดทางภูมิศาสตร์ และการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาคการเกษตรของประเทศโดยรวมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รับมือ EUDR ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ

 จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้ว่าหนึ่งในหลักใหญ่ใจความสำคัญคือ การแสดงแหล่งที่มาของวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องแสดงให้ว่ามีที่มาที่ถูกต้องโปร่งใส ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในกลุ่มสินค้าเกษตรทั้ง 7 ชนิด ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นแรงผลักดันให้ GISTDA พัฒนาแพลตฟอร์ม LANDX ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ในการทำรายงานประกอบการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปตามมาตรการ EUDR หรือมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ร่วมรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

โดยแพลตฟอร์ม LANDX จะทำหน้าที่ในการพิสูจน์แหล่งที่มา ด้วย Base Map หรือชุดข้อมูลแผนที่ฐานจากภาพถ่ายดาวเทียม ที่มีความละเอียด 50 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร จากดาวเทียมธีออส (THEOS-2) และดาวเทียมรายละเอียดสูงมากอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้การตรวจสอบย้อนกลับมีข้อมูลที่จะใช้ยืนยันได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ GISTDA กำลังดำเนินการแปลข้อมูลพื้นที่ป่าของประเทศไทย ตามนิยามที่ใกล้เคียงกับ FAO หรือองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

ด้วยศักยภาพดังกล่าว เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจสามารถใช้งานการตรวจสอบแปลงพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรได้ โดยเข้ามาที่แพลตฟอร์ม LANDX ที่จะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ และระบุแปลงที่ดินของตนเองในระบบ จากนั้นระบบจะตรวจสอบว่าที่ดินแปลงนั้น ๆ ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าบนชุดฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภายในประเทศไทยและต่างประเทศ

สนับสนุนการตรวจสอบสิทธิในที่ดินทำกิน

นอกจากการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือยืนยันการทำเกษตรโดยปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่าแล้ว แพลตฟอร์ม LANDX ยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบสิทธิในที่ดินทำกินของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่ดินของรัฐ และอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์สิทธิ เพื่อขอรับบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ GISTDA ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศและภาพถ่ายดาวเทียม  ได้จัดทำชุดข้อมูลแผนที่ฐานหรือ Base Map ที่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีทั้งชุดข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมการใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตที่เก็บมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 และภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงในปัจจุบัน จากดาวเทียมไทยโชต และดาวเทียมธีออส 2 รวมถึงจากดาวเทียมพันธมิตรทั่วโลก ซึ่งในทุกปี GISTDA จะมีการอัปเดทแผนที่ฐานที่ผ่านการปรับแก้ความถูกต้องทางเรขาคณิต เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลที่ทันสมัย ถูกต้องและมีความแม่นยำเชิงตำแหน่งสูง สามารถรองรับการใช้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบสิทธิในที่ดินทำกิน เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และสามารถนำไปใช้ในการระบุพิกัดพื้นที่แหล่งผลิต เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐานของ EUDR ได้

จากศักยภาพและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องของ GISTDA  ทำให้  “แพลตฟอร์ม LANDX”  กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและข้อมูลภูมิสารสนเทศของประเทศไทย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

 

“บทความนี้เป็นเนื้อหาที่ผลิตขึ้นโดยการสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มิได้สะท้อนความคิดเห็นของ National Geographic และกองบรรณาธิการของ National Geographic ฉบับภาษาไทย”

Recommend