วิสัยทัศน์สู่โครงการสำรวจแอมะซอน

วิสัยทัศน์สู่โครงการสำรวจแอมะซอน

แม้ลุ่มนํ้าแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักในแง่ความกว้างใหญ่ไพศาล การสร้างระบบอากาศของตนเอง และความสําคัญยิ่งต่อสุขภาวะโดยรวมของโลกแต่เรายังรู้จักแอมะซอนน้อยมาก

แอมะซอนเป็นป่าฝนผืนใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่เกือบเจ็ดล้านตารางกิโลเมตรในเก้าประเทศลาตินอเมริกา มีทั้งผืนป่า พื้นที่ชุ่มนํ้าตามฤดูกาล แม่นํ้าสายใหญ่ และแควสาขาต่าง ๆ อันคดเคี้ยว รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพร้อยละ 10 ของโลก ความที่มีนํ้าฝนปริมาณมหาศาล แอมะซอนส่งนํ้าจากเทือกเขาแอนดีสลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก คิดเป็นปริมาณมากถึงร้อยละ 20 ของแม่นํ้าทั้งหมดในโลก

ทอมัส อี. เลิฟจอย นักชีววิทยา นักอนุรักษ์ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง และนักวิจัยคนสำคัญที่วางรากฐานการศึกษาป่าแอมะซอนมานานหลายทศวรรษ เคยเขียนถึงแอมะซอนไว้เมื่อปี 2019 ว่า ป่าแอมะซอนสร้างสรรค์ลมฟ้าอากาศของตนเองอย่างสำคัญ ด้วยวัฏจักรที่ส่งนํ้าฝนหลายล้านล้านลิตรกลับสู่อากาศในกระบวนการคายระเหย (evapotranspiration) ซึ่งเป็นการคายนํ้าของพืชรวมกับการระเหยจากพื้นผิวทั้งหมด นํ้าเหล่านี้จะถูกมวลอากาศพัดพาไปทางตะวันตกสู่เทือกเขาแอนดีส และเข้าสู่วัฏจักรคืนสู่ป่าในรูปของฝน

แม่น้ำแอมะซอน ในยามเช้า Amazon
อรุณรุ่งเหนือปากแม่นํ้าแอมะซอนที่ไหลผ่านป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในประเทศบราซิล โดยพานํ้าจืดปริมาณมากถึงร้อยละ 20 ของแม่นํ้าทั้งหมดในโลกลงสู่ทะเล และยังเป็นถิ่นของป่าโกงกางนํ้าจืดที่พบเป็นแห่งแรกของโลกด้วย

เลิฟจอยเป็นบุคคลแรกที่เสนอคำว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (biological diversity) เขายังเสนอแนวคิดพื้นฐานอันลํ้ายุค นั่นคือธรรมชาติต้องมีขนาดใหญ่ เพื่อให้มีความหลากหลาย ทำหน้าที่ได้ดี และมีเสถียรภาพ

ในทศวรรษ 1970 หลังจากเลิฟจอยสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก กฎหมายของประเทศบราซิลในขณะนั้น ระบุเงื่อนไขจำเพาะไว้ว่า หากเจ้าของที่ดินในป่าแอมะซอนประสงค์จะแผ้วถางป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์หรือปลูกพืชผลจะต้องเก็บพื้นที่ที่เป็นป่าเอาไว้ครึ่งหนึ่ง เลิฟจอยได้ชักชวนเจ้าของที่ดินบางส่วนทางเหนือของเมืองมาเนาส์ให้เก็บพื้นที่ป่าไว้ตามแนวยาว ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดยผืนป่าใหญ่น้อยเหล่านี้เป็นเหมือนเกาะป่าฝนท่ามกลางทะเลป่าโล่งเตียนที่ถูกแดดแผดเผา จากนั้นเขาและทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษา “เกาะป่า” เหล่านั้น เพื่อดูว่าการตัดขาดเป็นส่วน ๆ และขนาดของผืนป่าส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร

ชีวิตมหึมาที่มิอาจแบ่งแยก

การเฝ้าติดตามดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อปี 1979 เพียงไม่นานทีมนักวิทยาศาสตร์ก็พบหลักฐานซึ่งยืนยันทฤษฎีที่นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญอย่างเอดเวิร์ด วิลสัน กับรอเบิร์ต เอช. แมกอาร์เทอร์ นักนิเวศวิทยาเชิงคณิตศาสตร์ร่วมกันเขียนไว้เมื่อปี 1972 ในหนังสือ The Theory of Island Biogeography

ในบรรดานักวิจัยทั้งเจ็ดคณะ นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก รูทแมรี ปิลโก อัวร์กายา ผู้เติบโตในชุมชนเกชัวกับตำนานหมีแอนดีสที่มีบทบาทต่อวัฏจักรนํ้าของแอมะซอน ศึกษาภัยคุกคามต่าง ๆ ที่มีต่อหมี

นั่นคือเกาะทั้งหลายสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพด้วยอัตราเร็วเป็นพิเศษ และเมื่อระบบนิเวศขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของโลกแตกสลายลงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนเหมือนเกาะจากการคุกคามของมนุษย์ หย่อมพื้นที่เหล่านั้นจะสูญเสียความหลากหลายของตนเองลงไปด้วย

เลิฟจอยกับทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า “เกาะป่า” ใน ที่ดินที่ถูกตัดขาดจากป่าผืนใหญ่เหล่านั้น สูญเสียชนิดพันธุ์ต่างๆ ไปจริง  และยิ่งเกาะป่ามีขนาดเล็กเท่าไร ก็ยิ่งต้องเผชิญกับความสูญเสียรวดเร็วกว่าและรุนแรงกว่าที่เกาะป่าขนาดใหญ่ประสบมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น หากหย่อมป่ามีขนาดเล็กเกินกว่าจะเอื้อให้หมูเพ็กคารีหนวดขาวดำรงชีวิตอยู่ได้ หย่อมป่าแห่งนั้นย่อมสูญเสียสัตว์เช่นกบอย่างน้อยสี่ชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในปลักของหมูเพ็กคารี และสัตว์อื่น ๆ ไปด้วย การหักสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งออกไปจากระบบนิเวศ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นต่อเนื่องกันไปเป็นทอด ๆ ความสูญเสียที่ไม่อาจหยุดยั้งได้นี้เป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า การล่มสลายของระบบนิเวศ (ecosystem decay)

เมื่อปี 2019 เลิฟจอยและการ์โลส โนบรี นักอุตุนิยมวิทยาชาวบราซิล กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการชิ้นสำคัญที่เขียนร่วมกันว่า “แอมะซอนอันลํ้าค่ากำลังเข้าใกล้ความล่มสลายในเชิงกลไกการทำงานมากเหลือเกิน” และเสริมว่าเมื่อใดที่ป่าล้มตายลง ผลกระทบอันเลวร้ายยิ่งกว่าจะตามมาเป็นผลพวงนานัปการที่จะเกิดกับมนุษย์ พอ ๆ กับที่กบ หมูเพ็กคารี และแมลงปีกแข็งทั้งหลายต้องเผชิญ

ทั้งสองคนเขียนด้วยว่า ผลลัพธ์อันน่าหดหู่ที่ว่านี้ยังอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องอาศัย “เจตจำนงและจินตนาการ” ที่จะพลิกฟื้นให้ความสมดุลกลับคืนมา เลิฟจอยเองเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติทั้งสองประการ แต่เขาก็ล่วงลับไปแล้ว ขณะที่เรายังมีความเข้าใจในลุ่มนํ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล และแม่นํ้าที่ยาวเกือบ 7,000 กิโลเมตรสายนี้น้อยนัก

สำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืน

โครงการใหม่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กับโรเล็กซ์จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้ชื่อ โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืน (Perpetual Planet Amazon Expedition) เพื่อสร้างความกระจ่างในมิติต่าง ๆ ของระบบนิเวศอันยิ่งใหญ่นี้ ขณะเดียวกันก็มุ่งศึกษาด้วยว่า แต่ละส่วนเกื้อกูลความบริบูรณ์ของทั้งหมดอย่างไร

thomas peschak Amazon
ทอมัส เพสแชก ช่างภาพและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ริเริ่มโครงการสำรวจและบันทึกภาพลุ่มนํ้าแอมะซอน

ทอมัส เพสแชก นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นักชีววิทยาทางทะเล และช่างภาพ เป็นผู้นำเสนอโครงการตั้งต้นเพื่อออกสำรวจและบันทึกภาพแม่นํ้าแอมะซอนอย่างกว้างขวางและครอบคลุม ตั้งแต่เทือกเขาแอนดีสทางฝั่งตะวันตกไปจดทะเลฝั่งตะวันออก สมาคมให้การตอบรับและพัฒนาโครงการดังกล่าวร่วมกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากหลายแขนง กระทั่งความร่วมมือครั้งล่าสุดได้เริ่มต้นขึ้น นักสำรวจและนักวิจัยหลากสาขาจำนวนเจ็ดคณะที่ประกอบด้วยนักนิเวศวิทยา นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ นักทำแผนที่ นักธรณีวิทยา และนักอนุรักษ์ ออกเดินทางสู่ความลึกลํ้าของแอมะซอนตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2022 เป็นต้นมา ภายใต้คำชี้แนะและการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของความเข้าใจและภูมิปัญญาที่สืบทอดมาหลายชั่วคน

“จากเทือกเขาแอนดีสถึงมหาสมุทรแอตแลนติก แม่นํ้าแอมะซอนและลำนํ้าสาขาอีกหลายพันสาย ล้วนเป็นเส้นเลือดของทั้งภูมิภาค แม่นํ้าลำธารเหล่านี้ให้กำเนิดโครงข่ายทางนํ้าที่มีขนาดเท่าทวีปออสเตรเลีย” ทอมัส เพสแชก บอก

ค้นพบป่าโกงกางนํ้าจืดแห่งแรกของโลก

ภายในสองสามสัปดาห์แรกของการสำรวจสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าแอมะซอน ทีมที่นำโดยนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แอนเจโล แบร์นาดีโน ค้นพบป่าโกงกางนํ้าจืดเท่าที่รู้จักกันแห่งแรกของโลก ป่าโกงกางเกือบทั้งหมดเจริญเติบโตตามแนวชายฝั่งที่นํ้าเค็มจากทะเลท่วมถึง แต่ป่าโกงกางที่แบร์นาดีโนค้นพบ เป็นการผสมผสานของชนิดพันธุ์ไม้ลักษณะเฉพาะที่เจริญได้ในที่ที่มีความเค็มเล็กน้อยหรือไม่เค็มเลย ป่าแห่งนี้จะเป็นป่าผืนแรกที่ได้รับการเผยแพร่จากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน แบร์นาดีโนยังรวมทีมกับนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟิก มาร์กาเร็ต โอวูออร์ ในการสำรวจต้นโกงกาง สัมภาษณ์ชุมชนท้องถิ่น และดำเนินการสำรวจทำแผนที่นิเวศบริการต่าง ๆ เป็นครั้งแรกด้วย 

ทั้งสองได้รับความช่วยเหลือจากชีอาโก ซิลวา ผู้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับปรากฏการณ์นํ้าหลากที่ท่วมป่าริมฝั่งแม่นํ้าเป็นประจำ เขาใช้โดรน การสแกนด้วยเลเซอร์ และวัดขนาดต้นไม้อย่างอุตสาหะ เพื่อสร้างแบบจำลองสามมิติของป่าชุ่มนํ้าที่นํ้าท่วมถึงในลุ่มนํ้าแอมะซอนเป็นครั้งแรก

ป่าโกงกาง แอมะซอน
แอนเจโล แบร์นาดีโน (คนขวา) นักวิจัยที่ค้นพบป่าโกงกางนํ้าจืดแห่งแรกของโลก ซึ่งมีชนิดพันธุ์ไม้เฉพาะที่เจริญได้ในนํ้าเค็มน้อยหรือไม่เค็มเลย

การกลับมาของสัตว์ที่หายไป

นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แฟร์นันโด ตรูฆีโย เฝ้าติดตามการหายไปอย่างรวดเร็วของโลมาสีชมพูมาตลอด และทำงานร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นหลายแห่งเพื่อช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมกับโลมาเหล่านี้อย่างสันติ ที่ผ่านมาโลมาถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับการทำประมงท้องถิ่น ถึงตอนนี้ ตรูฆีโยสำรวจแม่นํ้าไปแล้ว 1,300 กิโลเมตรในสี่ประเทศ และประมาณการว่ามีโลมาสีชมพูอยู่ราว 1,400 ตัวในบริเวณดังกล่าว

โจเอา กัมปุช ซิลวา ผู้รับรางวัลเกียรติยศของโรเล็กซ์ (Rolex Awards for Enterprise) กับเพื่อนนักสำรวจ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อันเดรสซา สกาบิน ทำงานกับชุมชนท้องถิ่นในการติดป้ายข้อมูลและติดตามบรรดาสัตว์นํ้าจืดที่ถูกหาประโยชน์เกินขนาด เช่น เต่ายักษ์แม่นํ้าแอมะซอน แมนาที โลมาสีชมพู นากยักษ์ และเคย์แมนดำ เพื่อป้องกันสัตว์เหล่านี้ ทั้งสองคนเป็นคนแรกที่ติด

ป้ายข้อมูลจีพีเอสปลาอะราปัยมา ปลานํ้าจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และการทำงานอนุรักษ์โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางโดยได้ประจักษ์ถึงการฟื้นคืนของสัตว์ป่าอย่างน่ามหัศจรรย์

นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก รูทแมรี ปิลโกอัวร์กายา และแอนดี วิตเวิร์ท กำลังติดตามชนิดพันธุ์หลัก ๆ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชนพื้นเมือง นั่นคือหมีแอนดีสหรือหมีแว่น หมีชนิดนี้สำคัญต่อวัฏจักรนํ้าของแอมะซอนในแง่ที่พวกมันมีบทบาทในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ในป่าเมฆ ช่วยให้เกิด “กำแพง” พืชพรรณอันหนาแน่นทางฝั่งตะวันตกของเทือกเขาแอนดีสที่ดักไอนํ้าระเหยจากแอมะซอน และป้อนกลับสู่ป่าแห่งนี้

ในชุมชนเกชัว อัวร์กายาเติบโตมากับเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ เกี่ยวกับหมี ตอนนี้ เธอร่วมมือกับวิตเวิร์ทกำลังพยายามทำความเข้าใจว่าภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของพวกมันอย่างไร และการไหลของนํ้าที่ช่วยให้ป่าฝนมีชีวิตเช่นไรบ้าง

สถานีตรวจวัดอากาศที่สูงที่สุดในแอมะซอน

เดือนกรกฎาคม ปี 2022 นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนักวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ เบเกอร์ เพอร์รี และทอม แมตทิวส์ ติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศที่สูงที่สุดในเทือกเขาแอนดีสซึ่งอยู่ในเขตร้อนที่ความสูง 6,349 เมตร หรือเพียง 35 เมตรจากยอดเนบาโดเอาซังกาเต ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในภูมิภาคกุสโกที่มีประชากรหนาแน่น สถานีตรวจวัดอากาศแห่งนี้ป้อนข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาแบบเรียลไทม์โดยเฉพาะ ที่จะช่วยแจกแจงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อแหล่งต้นนํ้าของแอมะซอนที่ชุมชนปลายนํ้าต้องพึ่งพาอย่างไร

เพียงปีเดียวตั้งแต่โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์กับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเริ่มขึ้น โครงการดังกล่าวกำลังแปรเปลี่ยนสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับภูมิภาคอันโด่งดังแห่งนี้ และจะทำให้เห็นวิถีที่แม่นํ้าลำธารเหล่านั้นเชื่อมโยงกับผืนดินจากยอดเขาสูงที่สุดถึงป่าชายฝั่งเกื้อกูลพืชพรรณ สรรพสัตว์ และหมู่มวลมนุษย์ด้วย

เรื่อง  เดวิด ควาเมน

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำ.รวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำ.รวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


อ่านเพิ่มเติม

สัญญาณเตือนจากธารน้ำแข็งบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ

everest

Recommend