หัวใจแห่งอาณาจักร ปะการังของฟิลิปปินส์ยังคงเต้นแรง

หัวใจแห่งอาณาจักร ปะการังของฟิลิปปินส์ยังคงเต้นแรง

ขณะที่แนวปะการังทั่วโลกเผชิญความท้าทายใหญ่หลวง แต่เพราะเหตุใด

แนวปะการังตุบบาตาฮาในฟิลิปปินส์กลับยังคงสมบูรณ์อย่างน่าประหลาดใจ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1981 แอนเจลีก ซองโก ยังเป็นลูกจ้างประจำเรือท่องเที่ยวทางทะเลและดำน้ำ เธอหลงใหลในความงามของหมู่เกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ซึ่งเปรียบได้กับหัวใจแห่งอาณาจักรปะการังของฟิลิปปินส์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา เธอเห็นเงามืดของมนุษย์คืบคลานเข้าปกคลุมน่านนำ้ทะเลซูลูที่เธอคุ้นเคย

ชาวประมงจากที่ห่างไกลอย่างจังหวัดเกซอนซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบ 600 กิโลเมตร พากันมุ่งหน้าสู่น่านน้ำรอบแนวปะการังตุบบาตาฮา (Tubbataha Reef) พร้อมความหวังถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลที่ตามมาคือหายนะโดยแท้ ระเบิดไดนาไมต์ฆ่าปลาตายเป็นเบือ ขณะที่การใช้ยาเบื่ออย่างไซยาไนด์ตามแนวปะการังทำให้ปลาและสัตว์นํ้าบางชนิด [เช่น ปลาสวยงามและกุ้งมังกร] มึนงงจนจับได้ง่าย ตามเกาะเล็กเกาะน้อยของแนวปะการัง ชาวประมงจับนกทะเลและเก็บไข่นก

ฝูงปลาว่ายอยู่ในแนวปะการัง ตุบบาตาฮา
ฝูงปลามงแหวกว่ายราวกับแม่นํ้าสีเงินที่ไหลผ่านทุ่งปะการังหลากสีในน่านนํ้ารอบเซาท์อะทอลล์ของแนวปะการัง ตุบบาตาฮา

“แม้ตอนนั้นฉันยังไม่เข้าใจถึงคุณค่าเชิงนิเวศวิทยาของสภาพแวดล้อมทางทะเลด้วยซ้ำ แต่ก็มั่นใจว่าความสวยงามเหล่านั้นต้องได้รับปกป้องเอาไว้” ซองโก บอกกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund) ในปี 2015

ปี 2001 ซองโกสมัครเป็นผู้จัดการอุทยานตุบบาตาฮา ซึ่งได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลเมื่อปี 1988 นับจากนั้นมา เธอก็อุทิศชีวิตให้กับการปกป้องแนวปะการัง ความพยายามของซองโกไม่สูญเปล่า เพราะขณะที่แนวปะการังทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน แนวปะการังของตุบตาฮากลับมีสภาพสมบูรณ์อย่างน่าประหลาดใจ

“สิ่งแรกที่คุณรู้สึกได้ก็คือ คุณอยู่ท่ามกลางพงไพรใต้สมุทร” เป็นคำกล่าวของสองช่างภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เดวิด ดูบิเลต์ (ซึ่งเป็น Rolex Ambassadorด้วย) และคู่ชีวิต เจนนิเฟอร์ เฮย์ส ซึ่งไปเยือนแนวปะการังแห่งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2017 “คุณเผชิญหน้ากับท้องทะลและสรรพชีวิตในครรลองของมัน ไม่ใช่ของคุณ”

ท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ตก เหนือ แนวปะการัง
ฟ้าสีแดงเพลิงบรรจบกับผืนนํ้า ขณะพระอาทิตย์ตกเหนือแนวปะการังตุบบาตาฮา สองช่างภาพ เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส บรรยายถึงอาทิตย์อัสดงที่นั่นว่า “งดงามจับตาที่สุด…ที่เราเคยเห็นบนโลกใบนี้”

รวม ๆ แล้ว ตุบบาตาฮาคือบ้านของปลาราว 600 ชนิด และปะการังแข็ง 360 ชนิด หรือราวครึ่งหนึ่งของชนิดเท่าที่รู้จักกัน ขณะที่เกาะเล็กเกาะน้อยในอุทยานช่วยโอบอุ้มคอโลนีนกทะเลแห่งท้าย ๆ ในฟิลิปปินส์โดยให้ที่พักพิงแก่นกราว 100 ชนิด

“สัญญาณทั้งหมดบ่งชี้ว่า แนวปะการังตุบบาตาฮาเข้าใกล้สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นสภาพธรรมชาติดั้งเดิมครับ” จอห์น แมกมานัส นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยไมแอมี กล่าว

ปกป้องสมบัติทางธรรมชาติ

สันติภาพหรือข้อตกลงที่ธรรมชาติกับมนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้นที่ตุบบาตาฮานั้นนับว่าโดดเด่นมาก ในบริเวณที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) อัน

เป็นซอกมุมที่ความหลากหลายทางชีวภาพจัดว่ารุ่มรวยที่สุดแห่งหนึ่งในน่านนํ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นบริเวณเดียวกับที่การทำประมงเกินขนาดและการเดินเรือระหว่างประเทศ มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตุบบาฮาตาหลีกเลี่ยงหรือรอดพ้นจากชะตากรรมของแนวปะการังใกล้เคียงที่เผชิญการทำประมงเกินขนาดได้อย่างไร เหตุผลส่วนหนึ่งคือความโดดเดี่ยว ตุบบาตาฮาทอดตัวอยู่ใกล้ตอนกลางของทะเลซูลู ห่างไกลจากหมู่เกาะใกล้ที่สุดที่มีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 140 กิโลเมตร

แต่ในทศวรรษ 1980 ชาวประมงท้องถิ่นเริ่มใช้เรือยนต์ที่เรียกว่า บังกา (banga) เวะเวียนเข้ามาในน่านน้ำอันรุ่มรวยของแนวปะการังตุบบาฮาตาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะที่ชาวประมงเหล่านั้นเริ่มจู่โจมตุบบาตาฮา นักอนุรักษ์และนักรณรงค์เคลื่อนไหวก็ร้องขอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ลงมือทำอะไรสักอย่าง

พอถึงปี 1988 คอราซอน อากีโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ประกาศให้ตุบบาตาฮาเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ห้าปีต่อมา ยูเนสโกก็ขึ้นทะเบียนแนวปะการังตุบบาตาฮาเป็นแหล่งมรดกโลก

กระนั้น คำประกาศไม่ว่าจะเกิดขึ้นในมะนิลา หรือปารีส คงแทบไม่มีความหมายและไม่ต่างอะไรจากเสือกระดาษ หากไม่นำไปสู่ผลเป็นรูปธรรมกลางทะเลซูลู จุดนี้เองที่ซองโกเข้ามามีบทบาทตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา เธอมุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างการสนับสนุนจากสาธารณชนที่มีต่อแนวปะการังแห่งนี้

ซองโกยังมีกฎหมายอยู่ข้างเธอ ฟิลิปปินส์ห้ามการทำประมงในน่านนํ้ารอบตุบบาตาฮา และเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโกยังสามารถขยายการป้องกันแนวปะการังจากการเดินเรือด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานผู้กระตือรือร้น ซึ่งบางส่วนเป็นทหารจากกองทัพฟิลิปปินส์ ช่วยปกป้องตุบบาตาฮา มาตั้งแต่ปี 1995

ฉลามวาฬ ว่ายน้ำ ในทะเล
ฉลามวาฬปรากฏกายในท้องนํ้ารอบแนวปะกะรังตุบบาตาฮา แนวปะการังแห่งนี้เป็นบ้านของฉลาม 11 ชนิด

ความพยายามไม่ธรรมดาเหล่านี้ช่วยรักษาผลประโยชน์สุดวิเศษที่ตุบบาตาฮาหยิบยื่นให้ เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือที่นี่ได้รับการยกย่องในฐานะแหล่งดำนํ้าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวคิดเป็นเม็ดเงินแล้วมากกว่าผลประโยชน์จากกิจกรรมประมงในน่านน้ำรอบแนวปะการงั แห่งนี้หลายเท่าตัว

ตุบบาตาฮายังช่วยส่งเสริมการทำประมงแนวปะการัง (coral-reef fishery) ของฟิลิปปินส์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 29 ของผลผลิตประมงรวมในประเทศ

ตามข้อมูลจากแอนเจล อัลกาลา นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยซิลลิแมนในฟิลิปปินส์ กระแสนํ้ามหาสมุทรพัดพาตัวอ่อนสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลจากตุบบาตาฮาไปยังส่วนอื่นๆ ของทะเลซูลู การไหลบ่าเข้ามานี้ช่วยเติมเต็มน่านน้ำที่มีการทำประมง และเป็นหลักประกันให้ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

แล้วภัยคุกคามในอนาคตเล่า

แม้จะประสบความสำเร็จในหลายด้าน แต่ตุบบาตาฮายังคงเผชิญความท้าทายหลายประการ เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานยังคงพบเห็นรังนกทะเลที่สร้างจากขยะพลาสติกที่คลื่นพัดพามา และแม้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การประมงผิดกฎหมายก็ยังไม่หมดไปง่าย ๆ

ปลาการ์ตูน ดอกไม้ทะเล แนวปะการัง
ปลาการ์ตูนซุกกายอย่างปลอดภัยอยู่ในดอกไม้ทะเลเจ้าบ้านที่แนวปะการังตุบบาตาฮา

และขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไป การเฝ้าระวังในระดับท้องถิ่นไม่สามารถหยุดยั้งการอุ่นขึ้นและเป็นกรดมากขึ้นของทะเลซูลู ส่งผลให้ปะการังล่อแหลมสุ่มเสี่ยงต่อการฟอกขาวที่นับวันมีแต่จะรุนแรงและอันตรายมากขึ้น ระหว่างปี 2014 ถึง 2017 ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลกครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่บันทึกไว้ ส่งผลให้ตุบบาตาฮาเผชิญความเครียดจากการฟอกขาวยาวนานสองปีหลังผ่านช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบนานหลายทศวรรษ

รายงานฉบับหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ของยูเนสโกคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2040 แนวปะการังแห่งนี้จะเผชิญแรงกดดันจากความร้อนรุนแรงอย่างน้อยสองครั้งในหนึ่งทศวรรษ หากเราไม่ชะลอการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก ความเครียดจากแรงกดดันนี้จะเล่นงานตุบบาตาฮาเป็นประจำทุกปี เมื่อถึงปี 2040 และนั่นอาจหมายถึงจุดจบของแนวปะการังแห่งนี้

แต่อย่างน้อยในตอนนี้ ตุบบาตาฮายังคงยืนเด่นเป็นสง่า เป็นดั่งปราการปะการังที่บรรดาผู้พิทักษ์จะต่อสู้เพื่อปกป้องและอิ่มเอมไปกับความอัศจรรย์ของมันจนถึงที่สุด

“ฉันไม่รู้จะสรรหาคำพูดใดมาบรรยายความงามหลากล้นที่คุณเห็น [ที่ตุบบาตาฮา] ได้ค่ะ” แฟนนี ดูแวร์ หัวหน้าโครงการศูนย์มรดกโลกทางทะเลของยูเนสโก กล่าวก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ภาพถ่ายไม่มีทางเก็บหรือบันทึกสิ่งที่คุณพบเห็นและสัมผัสจริงๆ ได้หรอกค่ะ”

เรื่อง ไมเคิล เกรชโค

ภาพถ่าย เจนนิเฟอร์ เฮย์ส และ เดวิด ดูบิเลต์


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


อ่านเพิ่มเติม คิดค้นวิธีใหม่เพื่อวัดความเปราะบางของป่าเขตร้อน

Recommend