มองโลกผ่านเลนส์ จากสารคดี บ้านวิชาเยนทร์ โดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

มองโลกผ่านเลนส์ จากสารคดี บ้านวิชาเยนทร์ โดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมในประวัติศาสตร์ผ่านภาพถ่ายออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา

นอกจากแสงแดดจ้าที่ดูเหมือนจะแรงกว่าปกติ เมื่อสะท้อนจากอิฐสีแดงของสถาปัตยกรรมอายุหลายร้อยปีแล้ว ความร้อนของอากาศตอน 10 โมงเช้า ทำให้ผมรวมทั้งผู้ร่วมทริปสำรวจบ้านวิชาเยนทร์ที่จังหวัดลพบุรีเหงื่อซึมจนปรากฏร่องรอยบนเสื้อด้านหลัง เมื่อเทียบกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์อื่นๆ แล้ว โบราณสถานแห่งนี้ดูมีสภาพสมบูรณ์กว่า เพราะยังเห็นรูปทรงของตัวบ้านอย่างชัดเจน ถึงอย่างนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผู้มีความรู้ทางสถาปัตยกรรมโบราณน้อยนิดอย่างผม ที่จะเห็นภาพเดียวกับผู้เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมมาโดยตรง และยังเชี่ยวชาญเรื่องรูปแบบสันนิษฐานทางสถาปัตยกรรม (visual construction) อย่างพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน สถาปนิกหนุ่มจากกลุ่ม “คิดอย่าง” ซึ่งนำชมบ้านวิชาเยนทร์ในวันที่เราสำรวจพื้นที่กันครั้งแรก

นอกจากผมแล้ว ในวันนั้นยังมีผู้ร่วมทริปอีกสามคนที่ชมและฟังพัชรพงศ์บรรยายถึงประวัติศาสตร์และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมด้วย แต่ผมไม่แน่ใจนักว่า ตลอดการอธิบายอย่างเพลิดเพลินในแบบที่ผู้ฟังสามารถสัมผัสได้ถึงแพสชันของผู้เล่า ผู้ฟังทุกคนจะสามารถเห็นภาพในจินตนาการอย่างแจ่มแจ้งและตรงกันมากเพียงใด

จากประสบการณ์ของผม ในฐานะช่างภาพที่ถนัดด้านการเล่าเรื่องราวของผู้คน และบรรณาธิการภาพที่ทำงานกับนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มาแปดปี และกำลังจะครบเก้าปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เรื่องเกี่ยวกับโบราณสถานนับเป็นโจทย์ยากในการเล่าเรื่องแบบสารคดี ความที่มีมิติของมนุษย์ (human touch) ในยุคปัจจุบันค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้อ่านอาจเข้าถึงยาก เราอาจเรียกเรื่องเล่าในลักษณะนี้ว่า เป็นเรื่องประเภท “แห้ง” และไม่ง่ายนักที่จะทำออกมาให้น่าอ่าน

เย็นวันนั้น ระหว่างทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ผมกับกองบรรณาธิการประเมินกันว่า สารคดีเรื่องนี้อาจใช้จำนวนหน้าน้อยกว่าสารคดีมาตรฐานที่เราเคยทำกันมา แม้เราจะมั่นใจในภาพประกอบและกราฟิกการสันนิษฐานทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานแห่งนี้มากเพียงใดก็ตาม

หากไม่นับข้อมูลที่ได้มาจากนักเขียนผู้วิจัยรูปแบบสันนิษฐานบ้านวิชาเยนทร์ (ผศ.ดร. พินัย สิริเกียรติกุล) และกลุ่มคิดอย่างที่ศึกษาจากบันทึกของฝรั่งหลายคนที่เข้ามาอยุธยาในยุคนั้นอย่างละเอียดแล้ว เมื่อลงมือค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อเริ่มทำงาน ผมพบว่ายังไม่ได้ข้อมูลตามที่ต้องการเท่าไรนัก แต่นั่นก็ตอกย้ำถึงความสำคัญของงานนี้ว่าเป็นเรื่อง ที่ควรทำ และต้องทำให้ดีเพื่อจะได้เป็นข้อมูลชุดที่คนอื่นสามารถนำไปต่อยอดต่อไปได้ด้วย

ในขั้นตอนปกติ เพื่อให้เห็นการบรรยายหรือการเล่าเรื่องด้วยภาพ (visual narrative) ที่ชัดเจน หลังจาก รวบรวมข้อมูลแล้ว ผมจะเริ่มคัดเนื้อหาที่สามารถเล่าเป็นภาพได้เก็บเอาไว้ และตัดส่วนที่เล่าเป็นภาพได้ยาก ออกไปก่อน แต่สำหรับงานที่มีข้อมูลน้อยนิดเช่นนี้ ผมพยายามไม่ตัดอะไรออก และใช้จินตนาการปะติดปะต่อเรื่องให้ได้มากที่สุดว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในอดีตบ้าง เรื่องราวเหล่านั้นนำไปสู่สิ่งใด และผลผลิตจากอดีตนั้นๆ จะส่งทอดมาสู่ผู้คนยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง พูดได้ว่าการร้อยเรียงเป็นชุดภาพทั้งหมดนั้น อาศัยจินตนาการของผมเองมาเติมแต่งก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่เป็นการแต่งเติมบนพื้นฐานของความน่าจะเป็นที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง

ในกรณีนี้ เมื่อมองในเชิงภูมิศาสตร์ ชุดภาพถ่ายของผมจึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในบริเวณบ้านวิชาเยนทร์และวังนารายณ์ แต่ขยายลงมาถึงป้อมวิไชยประสิทธิ์ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ที่ใครๆ สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ เพียงนั่งเรือโดยสารล่องไปตามแม่น้ำ

การที่บ้านวิชาเยนทร์ (ขวา) กับบ้านหลวงรับราชทูต (ซ้าย) ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ย่อมแสดงนัยสำคัญถึงอำนาจและอิทธิพลของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ ภาพจากมุมมองนี้แสดงถึงความมี “ลับลมคมใน” ภายในหมู่อาคารดังกล่าว

ที่ป้อมแห่งนี้  ในอดีต ฟอลคอนเคยกราบทูลขอให้สมเด็จพระนารายณ์สร้างป้อมไว้ทั้งสองฝั่งเพื่อป้องกันศัตรู โดยออกแบบตามป้อมปราการในฝรั่งเศส หากการสร้างป้อมที่ว่านี้สำเร็จทั้งสองฝั่ง ก็เป็นไปได้ว่าฝรั่งเศสอาจมีอิทธิพลควบคุมการเดินทางสู่อยุธยาและโฉมหน้าของประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนจากที่เป็นอยู่ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

ผมยังคิดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะเพิ่มมุมมองด้านอื่นให้ชุดภาพถ่าย เช่น การเสนอภาพการทำงานของ นักโบราณคดีที่มีส่วนในการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถาน ซึ่งแม้ว่าจะเสร็จสิ้นไปก่อนหน้านี้และไม่สามารถถ่ายภาพกระบวนการทำงานในพื้นที่จริงได้แล้ว แต่ผมอาจถ่ายภาพงานที่ผู้ช่วยนักโบราณคดีทำในปัจจุบัน ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยทำครั้งที่ร่วมขุดแต่งบ้านวิชาเยนทร์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพคร่าวๆ ถึงการทำงานของวิชาชีพนี้

ผมคิดว่าประเทศไทยในตอนนี้ การทำงานวิจัยและการเก็บบันทึกข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ ยังกระจุกตัวอยู่แต่ในวงของนักวิจัยและผู้ที่สนใจเฉพาะทางเท่านั้น เพื่อนต่างชาติคนหนึ่งของผมเคยพูดถึงบ้านเราว่าเป็น “the land of never- ending stories” หรือเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเล่าได้ไม่รู้จบ  เพียงแต่เรายังขาดนักวิจัยหรือนักเล่าเรื่องแขนงต่างๆ ที่ถ่ายทอดงานวิจัย หรือแปลชุดข้อมูลเข้าใจยากให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายขึ้นและนำเสนอให้คนทั่วไปได้รับรู้

เอกรัตน์ ปัญญะธารา กับโต๊ะทำงานที่จัดวางโบราณวัตถุอันแสดงถึงสภาพแวดล้อมและการทำงานของนักโบราณคดีในสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ภาพถ่าย: ณัฎฐพล เพลิดโฉม

ส่วนตัวผมคงจะยังทำงานเล่าเรื่องด้วยภาพเช่นนี้ต่อไป พร้อมทั้งคอยมองหา และสนับสนุนช่างภาพใหม่ๆ ที่สนใจงานเล่าเรื่อง เพื่อให้บ้านเรามีชุดข้อมูลมากขึ้น ดีขึ้น เพื่อการต่อยอดและการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่คนรุ่นหลังต้องการ

และแม้สารคดีเรื่อง “บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟอลคอน” จะได้รับการตีพิมพ์ในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ไปตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมากที่ผมจะตามถ่ายภาพต่อไป

สำหรับผม หยาดเหงื่อจากแสงแดดและความร้อนในวันแรกของการสำรวจบ้านวิชาเยนทร์ ซึ่งระเหยไปกลายเป็นคราบบนหลังเสื้อที่เห็นได้ชัดเมื่อกลับถึงบ้าน  เป็นสิ่งที่เหมือนกันระหว่างคนทำสารคดีกับนักวิจัย

จากบทความรวม “ภาพถ่ายยอดเยี่ยมแห่งปี 2022” เผยแพร่ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ธันวาคม 2565

บทความที่เกี่ยวข้อง

Recommend