“ภาพถ่ายเล่าโลกแห่งปี 2024“
มองโลกผ่านเลนส์ กับภาพถ่ายยอดเยี่ยมจากช่างภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่ดั้นด้นไปยังสถานที่ห่างไกลทั่วทุกมุมโลก เพื่อบันทึกภาพน่าทึ่งที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ภาพถ่ายเหล่านี้ไม่ใช่การบันทึกเหตุการณ์สำคัญในรอบปีทั่วไป หากเป็นการสำรวจความอัศจรรย์ ความเปราะบาง ปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ต่อไปนี้คือภาพถ่ายที่ดีที่สุดของพวกเขา และเรื่องราวเบื้องหลัง
ผู้นำแห่งการ โดด ดำดิ่ง
ภาพถ่าย เบอร์ตี้ เกรกอรี
ณ อ่าวอาตกา แอนตาร์กติกา ลูกเพนกวินจักรพรรดิตัวหนึ่งกระโดดจากผาน้ำแข็งสูง 15 เมตร เพื่อการว่ายน้ำครั้งแรก ลูกเพนกวินเหล่านี้เพิ่งพ้นอกแม่เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า ต้องดูแลตัวเองและหาอาหารด้วยการออกล่าในทะเล
คู่กันแล้ว ไม่แคล้วคราส
ภาพถ่าย แอรอน ฮิวอีย์
ที่รัสเซลล์วิลล์ รัฐอาร์คันซอ วันที่ 8 เมษายน เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงทั่วทวีปอเมริกาเหนือตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงแคนาดา เมืองทางใต้อย่างรัสเซลล์วิลล์ ซึ่งเป็นทางผ่านของสุริยุปราคาได้จัดงาน “หนีตามคราส” ขึ้น โดยมีคู่รักกว่าหนึ่งร้อยคู่ เข้าพิธีแต่งงาน รวมถึง นิโคลัส แบล็กเวลล์ กับเคที เบาคอม (ซ้ายสุด กับลูก ๆ)
หาค่ำกินดึก
ภาพถ่าย บาบัก ตาเฟรชี
คอนแคน รัฐเท็กซัส ถ้ำค้างคาวฟรีโอทางต่อนใต้ของเท็กซัส คือบ้านในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของค้างคาวหางเข็มเม็กซิกันราว 10 ล้านตัว พวกมันจะบินกรูออกจากถ้ำ ช่วงพระอาทิตย์ตกแทบทุกวันเพื่อหาอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่คือมอท บาบัก ตาเฟรชี ผู้ถ่ายภาพนี้บอกว่าการบินออกจากถ้ำของค้างคาว “ดำเนินต่อเนื่องถึงสองชั่วโมง”
ความหวังใหม่ของแรด
ภาพถ่าย เอมี วีทาเล
เรื่อง นันยูกี เคนอา
แรดขาวถิ่นเหนือเพียงสองตัวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในโลก ทั้งคู่เป็นเพศเมียซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่เขตอนุรักษ์โอลเปเจตาในเคนยา โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธคอยเฝ้าตลอดเวลา สัตว์ชนิดย่อยในกลุ่มแรดขาวนี้ถูกล่าจน “สูญพันธุ์ในทางปฏิบัติ”เพื่อเอานอไปใช้ในงานแกะสลักและปรุงยาที่ไม่มีข้อ พิสูจน์ในเชิงสรรพคุณ แต่มีทางออกหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ โครงการนานาชาติไบโอเรสคิว (BioRescue) แถลงว่าพวกเขาทำให้แรดตั้งท้องด้วยวิธีผสมเทียมในหลอดแก้วได้เป็นครั้งแรก โดยย้ายตัวอ่อนแรดขาวถิ่นใต้ไปไว้ใน ท้องแม่อุ้มบุญแรดขาวถิ่นใต้อีกตัว (ตอนนี้ แรดขาว ถิ่นใต้ซึ่งเคยมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เป็นแรดที่มีประชากรมากที่สุด อันเป็นผลจากความพยายามอนุรักษ์กว่าหนึ่งศตวรรษ)
ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องหวานอมขมกลืน ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะทันยืนยันการตั้งท้อง แม่แรดอุ้มบุญกลับตายลงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผสมเทียมไปก่อน โดยผลการชันสูตรในภายหลังเผยว่าแม่แรดตั้งท้องอยู่แม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะ “ชวนให้ใจสลาย” เอมี วีทาเล บอกว่า นี่เป็นการพิสูจน์ว่าวิธีผสมเทียมในหลอดแก้วทำได้ในแรด ทีมไบโอเรสคิววางแผนจะย้ายตัวอ่อนแรดขาวถิ่นเหนือไปฝากไว้ในท้องแม่อุ้มบุญแรดขาวถิ่นใต้ตอนต้นปี 2025 กระบวนการนี้อาจช่วยแรดชนิดอื่นๆ ได้ สำหรับวีทาเล ผู้ทำสารคดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์แรดเหล่านี้มาตลอด 15 ปี ตัวอ่อนแรดคือ สัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่นของทีมงาน “สิ่งที่ขับเคลื่อน ทีมนี้คือการมองโลกในแง่ดีค่ะ” เธอบอกก่อนจะทิ้งท้ายว่า “พวกเขาก็แค่ไม่ยอมแพ้”
‘ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ เจือด้วยการยอมรับโดยดุษณี ถึงต้นทุนและความเสี่ยง ของการเดินทางนี้’
– เอมี วีทาเล
หลากศรัทธามาบรรจบ
ภาพถ่าย มาติเยอ ปาเลย์
ที่ชุมเขาปามิร์ ทาจิกิสถาน ศาลเจ้าในพื้นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของการนับถือผี ศาสนา โซโรอัสเตอร์ และพุทธศาสนาแห่งนี้มีชนเผ่าวาดีในท้องถิ่น ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายอิสมาอีลียะฮ์ดูแลรักษา ซากไม้ล้มเมื่อหลายปีก่อนถูกทิ้งไว้เช่นนั้นตามขนบดั้งเดิม โดยมีเขาไอเบกซ์และเขาแกะประดับ
แดนสวรรค์ตกอยู่ในอันตราย
ภาพถ่าย มุฮัมเหม็ด คิลิโต
ในทะเลทรายอันไพศาลของอียิปต์ โอเอชิสซีวาโอบอุ้มเมืองที่มีประชากร 35,000 คน รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาขี่อูฐ เล่นกระดานโต้ทราย ชมซากปรักโบราณและทะเลสาบน้ำเค็ม แต่ห้วงน้ำเหล่านี้คือสัญญาณอันตรายในแดนสวรรค์
ก่อนหน้าทศวรรษ 1980 แหล่งน้ำเดียวของโอเอซิสแห่งนี้ คือน้ำพุธรรมชาติ 200 แห่ง เพื่อขยาย กิจกรรมการเกษตรในภูมิภาค เกษตรกรเจาะบ่อน้ำบาดาลหลายพันบ่อ บ่อเหล่านี้เพิ่มปริมาณน้ำสำหรับการชลประทานได้ แต่เมื่อไม่มีระบบระบายน้ำที่วางแผนอย่างดี น้ำส่วนเกินก็กลายเป็นทะเลสาบน้ำทิ้งที่เป็นน้ำเค็ม และทำให้เกิดภาวะชุ่มน้ำและดินเค็ม
ความย้อนแย้งก็คือ การมีน้ำมากเกินไปในโอเอซิสกลางทะเลทรายส่งผลเสียต่อการเกษตรทำให้พืชเศรษฐกิจอย่างอินทผลัมยืนต้นตาย ที่นี่ไม่ใช่ที่เดียว พื้นที่โอเอซิสกว่า 81 ล้านไร่ทั่วโลกเสื่อมโทรมจนกลายเป็นทะเลทรายในช่วงปี1995 ถึง 2020
ควันหลงของนิวเคลียร์
ภาพถ่าย ชิงกี ชุกลา
ชาชา อินเดีย เป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ซิงที ชุกลา บันทึกภาพผลกระทบจากการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินของอินเดียในช่วงปี 1974 ถึง 1998 สามศรีพี่น้องชาฮีดา, ซาบีรา และกัมโม คาตุน กำลังทำอาหารที่บ้านตอนที่รู้สึกถึงแรงระเบิด ในทศวรรษ 1990
เชื้อเพลิงเหลวจากดวงอาทิตย์
ภาพถ่าย ดาวีเด มอนเตเลโอเน
เชื้อเพลิงสังเคราะห์นี้ได้จากแสงแดด น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีศักยภาพในการทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ซินฮีเลียน (Synhelion) บริษัทสัญชาติสวิส เปิดโรงงานผลิตพลังงานทางเลือกนี้ในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลก
ปฏิสังขรณ์สู่ความมลังเมลือง
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
พระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย นับจากปี 2555 โครงการปฏิสังขรณ์วัดไชยวัฒนาราม จากความร่วมมือของกรมศิลปากร กองทุนโบราณสถานโลก และกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม ช่วยคืนความมลังเมลืองให้แก่สถาปัตยกรรมเอกแห่งศิลปะอยุธยา
เพลงรักข้ามกาลเวลา
ภาพถ่าย จอห์น สแตนเมเยอร์
สปริงฟิลด์ รัฐอิลินอย เมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 221 ปีที่จักจั่นบรูดสิบสาม ซึ่งมีวัฏจักรชีวิต17 ปี กับบรูดสิบเก้า ซึ่งมีวัฏจักรชีวิต 13 ปี โผล่ขึ้นจากดินพร้อมกัน ในแถบมิดเวสต์และตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯตามลำดับ ทำให้เสียงร้องหาคู่ของพวกมันก้องไปทั่ว
ความรู้ล้ำในถ้ำลึก
กาพถ่าย ร๊อบบี โซน
จังหวัดอึงกูนีเอ กาบอง ในถ้ำบองโกโล กลุ่มนักวิจัยเก็บข้อมูลปริมาณฝนในอดีตด้วยการวิเคราะห์หินงอก เป้าหมายของโครงการภูมิอากาศบรรพกาลในแอฟริกาตะวันตก คือการทำความเข้าใจภัยคุกคามด้านภูมิอากาศที่มีต่อการเกษตรทั่วภูมิภาค
แกะรอยเสือโคร่งดำที่หายาก
ภาพถ่าย ประเสนชิต ยาทวะ
รัฐโอฑิศา อินเดีย เขตสงวนเสือโคร่งสิมิลิปาลครอบคลุมพื้นที่ 2,750 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันออกของอินเดียและเป็นที่อยู่ของประชากรเสือโคร่งที่มีสีดำเทียมในธรรมชาติเพียงกลุ่มเดียว ลายดำที่เป็นเอกลักษณ์นี้เกิดจากการกลายพันธุ์ที่พบในประชากรเสือโคร่งที่สิมิลิปาลเท่านั้น โดยครึ่งหนึ่งของเสือโคร่ง 27 ตัว ที่อาศัยอยู่ที่นี่เป็นเสือโคร่งดำ
เสือโคร่งที่สิมิลิปาลทั้งขี้อายและขี้ตื่น เพื่อบันทึกภาพเสือ ยาทวะติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ที่ใช้ระบบอินฟราเรดในการลั่นชัตเตอร์บนเส้นทาง 24 เส้น ในจำนวนนี้มีสามเส้นทางที่พบร่องรอยเสือเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่เสือดูเหมือน รู้ว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ข้างหน้า จึงเปลี่ยนเส้นทางและหลบไปจากรัศมีกล้อง “ถึงผมจะพรางกล้องแล้ว ก็เถอะครับ” เขาอธิบาย “พวกมันคงบอกว่า เจ้า สิ่งนี้ไม่คุ้นเลย ขอหลบไปดีกว่า” ส่วนสัตว์อื่นๆเช่น ลิงและช้าง เข้ามาเล่นกล้องจนพัง ยาทวะใช้เวลาวันละ 14 ถึง 16 ชั่วโมงจัดการอุปกรณ์และปรับปรุงเทคนิคการพรางตาไม่ให้เสือจับได้ ในที่สุดเขาก็ได้ภาพเสือเพศเมียอายุน้อยภาพนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพเสือโคร่งดำไม่กี่ภาพที่เขาบันทึกได้จากการใช้เวลา 60 วันในเขตสงวน
ที่พำนักถาวร
ภาพถ่าย คริสตี เฮมม์ คล็อก
เบนสัน รัฐแอริโศนา นกแก้วมาคอว์มักแสดงพฤติกรรมเครียดเวลาถูกขัง ทำให้การเลี้ยงพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่อง ท้าทาย ด้วยเหตุนี้จึงมีนกจำนวนมากมาลงเอยที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์โอเอซิส ที่นี่ เจเน็ต ทรัมบูล ผู้ดำเนินกิจการศูนย์ฯ พยายามหลอกล่อพวกมันด้วยวอลนัต
เปลี่ยนวิธีตามวิถี
ภาพถ่าย แจสเปอร์ ดูเอสต์
โกเชเนชตี โณมาเนีย หลังเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว คอนสตันติน ดันคีลา จึงปรับแนวทางการทำฟาร์มของตนเอง เมื่อหิมะในฤดูหนาวมีน้อยลง หญ้าในหุบเขาเริ่มหายาก เขาตัดสินใจต้อนฝูงปศุสัตว์ขึ้นเขาไปยังทุ่งหญ้าแบบแอลป์ที่อยู่สูงกว่าเดิม
กำเนิดชีวิตและอาหาร
ภาพถ่าย ไรอัน ทิดแมน
รัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ปลาเฮร์ริงแปซิฟิกวางไข่นอกชายฝั่งเกาะแวนคูเวอร์ ทุกฤดูใบไม้ผลิ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดภาพแปลกตาที่มักกินเวลาไม่ถึงหนึ่งวันและเป็นแหล่งอาหารล้ำค่าให้สัตว์ชนิดอื่น ๆ รวมถึงสิงโตทะเลตัวนี้
ทางแพร่งอันตราย
เรื่องและภาพถ่าย แจสเปอร์ ดูเอสต์
ซิโอมา แซมเบีย แจสเปอร์ ดูเอสต์ กำลังบันทึกภาพความพยายามระดับนานาชาติในการปกป้องฉนวนทางเดินข้ามพรมแดนของสัตว์ป่า (transborder wildlife corridor) ตอนได้ข่าวว่ามีช้างถูกรถชนตายเมื่อคืนก่อนหน้าบนทางหลวงสายเอ็ม 10 นอกเขตอุทยานแห่งชาติซิโอมาอึงเกวซี ช้างต้องข้ามทางหลวงสายนี้เพื่อไปยังแม่น้ำแชมบีซี แหล่งน้ำเดียวของพวกมันในช่วงหลายเดือนที่ร้อนและแห้งแล้ง
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เพิ่มขึ้น เมื่อถนน หมู่บ้าน และไร่นา รุกล้ำถิ่นอาศัยของช้างและสัตว์ป่าอื่น ๆ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและรูปแบบฝนเปลี่ยนไป บีบให้มนุษย์กับสัตว์แก่งแย่งทรัพยากรเช่น น้ำ กันมากขึ้น ในอดีต ชาวบ้านพบเห็นช้างนาน ๆ ครั้งเท่านั้น แต่ตอนนี้ พวกเขาบอกดูเอสต์ว่า ช้างบุกเหยียบย่ำทำลายพืชผลและทรัพย์สินอื่น ๆเวลาพวกมันยกโขยงเข้าหมู่บ้าน “เรารู้สึกได้ถึงความเครียดเลยครับ” ดูเอสต์บอก
ในที่เกิดเหตุ ผู้คนที่ผ่านทางเข้ามามุงดูและมีรถโดยสารที่พานักเรียนมาหลายคัน ถึงแม้ตามปกติคนกับช้างจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันนัก แต่ชาวบ้านจำนวนมากไม่เคยเห็นช้างใกล้ ๆ มาก่อน ผู้คนเข้าไปสัมผัสตัวและลูบงวงช้างอย่างตื่นเต้นมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น ฉนวนทางเดินของสัตว์ป่าที่ดูเอสต์บันทึกภาพ แสดงให้เห็นว่าทั้งมนุษย์และสัตว์มีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร เช่น น้ำและที่ดิน และสิ่งนี้มีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา “นี่คือการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการอยู่ร่วมกัน” เขาบอก
ปีนภูไปดูไฟ
ภาพถ่ายปีเตอร์ ฟิชเซอร์
อันตีกัว กัวเตมาลา ภูเขาไฟฟวยโกปะทุอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2002 การปืนยอดเขาอากาเตนันโก ภูเขาคู่แฝดที่สงบของมันจะเอื้อให้นักผจญภัยได้เห็น ทัศนียภาพจากแนวสันเขาเดียวกับภูเขาไฟฟวยโก
เจาะโลกใบจิ๋ว
ภาพถ่าย อิงโก อาร์นดท์
คอนสตันซ์ เยอรมนี อิงโก อาร์นดท์ ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยคอนสตันซ์ เพื่อสร้างรังสำหรับสังเกตพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของมดไม้ เขาเฝ้าสังเกตมดงานเพศเมียทำความสะอาดไข่ ตัวอ่อนสร้างปลอกหุ้มตัวเองและฟักตัว เหมือนมดน้อยตัวนี้
กุหลาบในกำมือ
ภาพถ่าย เรนา เอฟเฟนดี
คาลาตอึมโกวนา โมร็อกโก ทุกฤดูใบไม้ผลิ โมร็อกโก จัดเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บกุหลาบ โดยคนเก็บกุหลาบ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิง จะเด็ดดอกตูมตั้งแต่ฟ้าสาง จากนั้นจึงคัดแยกดอกกุหลาบด้วยมือดอกที่ดีที่สุดนำไปกลั่นเป็นน้ำมันและน้ำกุหลาบ
ปลาสองน้ำ
ภาพถ่าย เจสัน กัลลีย์
อุทยานประจำรัฐแฟนนิงสปริงส์ รัฐฟลอริดา หลังฟ้าสาง ฝูงปลาสนุ้กและปลากระบอกเทาแหวกว่ายไปมาระหว่างแม่น้ำซูวอนี ที่มีสีน้ำตาลเข้มกับน้ำพุแฟนนิง พุน้ำจืดหนึ่งในพันแห่งของรัฐฟลอริดา ช่วงน้ำหลากปลายฤดูหนาว น้ำในแม่น้ำที่เย็นกว่าและหนาแน่นกว่า จะไหลลอดเข้ามาใต้น้ำใส ที่อุ่นกว่าในร่องน้ำที่เชื่อมระหว่างน้ำพุกับแม่น้ำ
สัญญาณความหวังที่อ่าวมาหยา
ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
กระบี่ ประเทศไทย ลูกฉลามครีบดำหรือฉลามหูดำแหวกว่ายในท้องน้ำตื้นของอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติ
หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี สะท้อนความหวังที่เกิดจากความพยายามในการฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการปิดหาดท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งนี้เมื่อปี 2561