พาเรื่องราวไปให้ไกลกว่าภาพถ่าย 1 ภาพ กับ National Geographic Photo Storytelling Masterclass

พาเรื่องราวไปให้ไกลกว่าภาพถ่าย 1 ภาพ กับ National Geographic Photo Storytelling Masterclass

National Geographic Storyteller Collective โดย National Geographic Society ได้เชิญ National Geographic Explorer มาให้มุมมองด้านการเล่าเรื่องให้น่าสนใจตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ Masterclass ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งเป็นอีกเวทีที่ช่วยติวเข้มและสร้างชุมชนสำหรับการถ่ายภาพสารคดีไว้อย่างน่าสนใจ 

การเล่าเรื่องมีหลากหลายวิธี หากเป็นสารคดีภาพถ่ายในแบบของ  National Geographic ก็มีวิธีการเฉพาะตัวอยู่ เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของช่างภาพแต่ละคน กระนั้นก็มีมาตรฐานและวิธีคิดที่ต้องไปให้ถึง

ที่ผ่านมา National Geographic Thailand ได้พยายามสร้างกิจกรรมเพื่อสนับสนุนช่างภาพให้แสดงทักษะการเล่าเรื่องตลอดมา ตัวอย่างเช่นการประกวดสารคดีภาพถ่าย 10 ภาพเล่าเรื่อง ที่เราได้จัดมาถึงซีซั่น 9 ที่จะเตรียมเปิดรับสมัครเร็ว ๆ นี้ ก็เป็นเวทีหนึ่งสำหรับช่างภาพที่สนใจงานสารคดีได้เล่าเรื่องผ่านชุดภาพถ่าย 10 ภาพ ก็มีส่วนสร้างช่างภาพสารคดีและนักเล่าเรื่องมาไม่น้อย

รวมถึงการจัดการอบรมที่เราร่วมมือกับ National Geographic Storyteller Collective โดย National Geographic Society ที่ได้เชิญนักสำรวจของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก หรือ National Geographic Explorer จากประเทศต่างๆ มาขึ้นเวทีเสวนาในงาน Sustainability Expo (SX)  และจัดเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย และ Visual ในรูปแบบต่างๆ ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว มาถึงปีนี้ เราต้องการที่จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี โดยเริ่มที่ Masterclass ซึ่งเพิ่งจัดไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เราได้เชิญ พาโบล อัลบาเร็งกา (Pablo Albarenga) ช่างภาพสารคดีและนักสำรวจของ National Geographic ชาวอุรุกวัย ที่อาศัยอยู่ที่ประเทศบราซิล ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผลงานที่ได้รับรางวัลและเป็นที่กล่าวถึงคือผลงานชุดที่เล่าถึงชีวิตของชนพื้นเมืองแอมะซอนที่เผชิญการรุกล้ำของการเปลี่ยนแปลงที่มาถึงบ้านของพวกเขา โดยบวกความจริงเข้ากับมุมมองเชิงศิลปะ

 ชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย (Sirachai Arunrugstichai) ช่างภาพใต้น้ำ นักชีววิทยาทางทะเล และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic Explorers) ที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มาเผยวิธีคิดในการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน เหมือนมอบอาวุธเบื้องต้นที่ให้นำไปปรับใช้ได้เลย

ห้องเรียนนี้ไม่ได้มุ่งปูพื้นฐานการถ่ายภาพแบบที่เป็น Hard Skill เพราะผู้เข้าร่วมอบรมที่เชิญมาล้วนแต่มีประสบการณ์การถ่ายภาพและลงสนามมาแล้ว แต่เน้นการปรับปรุง Mindset เน้นวิธีการคิดของการถ่ายภาพการตั้งเป้าหมายของการสื่อสารในภาพรวม การวางแผนเพื่อลงพื้นที่ในภาคสนาม การจินตนาการถึงการวางองค์ประกอบภาพ ไปจนถึงกระบวนการหลังการถ่ายทำที่ช่างภาพต้องจัดลำดับ กล้าที่จะคัด-ตัดออก กับบางภาพที่ทำให้พลังของการสื่อสารได้ลดทอนลงไป แม้ว่าจะชอบภาพนี้มากมายขนาดไหนก็ตาม

พาโบล อัลบาเร็งกา (Pablo Albarenga) ช่างภาพสารคดีและนักสำรวจของ National Geographic ชาวอุรุกวัย ที่เบสอยู่ที่ประเทศบราซิล ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย (Sirachai Arunrugstichai) ช่างภาพใต้น้ำ นักชีววิทยาทางทะเล และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic Explorers)

ถอดวิธีคิดและการทำงานของช่างภาพสารคดี National Geographic 

การถ่ายภาพเป็นทั้งความรู้และมุมมองทางศิลปะ แต่ถึงเช่นนั้น ชั้นเรียนนี้ก็แยกองค์ประกอบของชุดภาพถ่ายสารคดีที่เป็นเสมือนส่วนประกอบหลักในการนำเสนอสารคดีใน Topic หนึ่งซึ่งส่วนประกอบเหล่านั้นคือ

  1. Sense of place ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นสถานที่ ผ่านการรับรู้ ซึ่งเป็นการสะสมทำให้เกิดบุคลิกเฉพาะตัวของพื้นที่นั้นๆได้ การเลือกสถานที่ซึ่งเหมาะกับหัวข้อที่จะนำเสนอจึงสัมพันธ์กันอย่างมาก
  2. Portrait ที่ไม่ได้จำกัดความหมายแค่การถ่ายบุคคล แต่การบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นต้องขับเน้นความเด่นชัดของเอกลักษณ์ของสิ่งที่จะถ่าย การวางองค์ประกอบ รวมถึงการจัดแสงให้สิ่งนั้นโดดเด่น และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาที่สุด
  3. Details หรือรายละเอียดที่ทำให้สิ่งนี้น่าสนใจมากขึ้น ตัวอย่างจากองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ ที่ผ่านการสังเกตจากผู้บันทึกเหตุการณ์นี่เอง ที่ทำให้เมื่อผนวกเข้ากันจะเป็นความแตกต่าง และเป็นการอธิบายให้เห็นภาพใหญ่
  4. Storytelling moment ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการบันทึกภาพที่เป็นจังหวะสำคัญ เป็นจังหวะที่แสดงถึงหัวใจของการสื่อสาร
  5. Surprise หรือความประหลาดใจ ซึ่งใน class นี้ ยกตัวอย่างชัดเจน ถึงความพยายามในการมีภาพที่ผู้ชมคาดเดาไม่ได้ ในชุดภาพ
  6. Closure เปรียบเสมือนบทสรุป หรือจุดจบที่ทำให้คนดูเกิดความคิดหรือตั้งคำถามกับสิ่งที้เราจะสื่อสาร

ห้องเรียนนี้ไม่ได้มุ่งปูพื้นฐานการถ่ายภาพแบบที่เป็น Hard Skill แต่เน้นการปรับปรุง Mindset เน้นวิธีการคิดของการถ่ายภาพการตั้งเป้าหมายของการสื่อสารในภาพรวม

สำหรับ 6 องค์ประกอบของชุดภาพถ่ายนี้ เปรียบได้กับส่วนประกอบหลักหรือหมุดหมายหลักที่ผู้ถ่ายภาพควรยึดถือไว้ในการผลิตผลงาน แต่ถึงเช่นนั้นด้วยความเป็น “ศิลปะ” ทำให้ชุดภาพถ่ายมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยืดหยุ่น เช่น ต้องไม่ทำผู้ชมต้องเบื่อกับการดูภาพ หรือ Don’t bore your audience หรือถ้าจะขยายความเป็นไทยก็อธิบายได้ง่ายๆว่า เราไม่ควรสื่อสารอะไรที่ผู้ชมเดาทางได้นั่นเอง

แน่นอนว่า การทำให้มันตื่นเต้น และเดาไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเซอร์ไพร์สตลอดเวลา  แต่การถ่ายภาพที่น่าสนใจก็ไม่ควรผลิตซ้ำมุมมองเดิม ๆ หรือบริบทเดิมๆ ที่ถูกบอกต่อกันมา มิเช่นนั้น นั่นก็จะเป็นเพียงแค่ภาพที่สวยงามด้วยองค์ประกอบภาพอีกภาพหนึ่ง แต่ไม่ได้สร้างอิมแพ็คใดๆ ให้กับผลงานของเรา

อย่าลืมว่า พลังของการเล่าเรื่อง ไม่เพียงทำให้เรื่องที่พูดถึง เป็นที่สนใจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งต่ออารมณ์ และมุมมองที่มีต่อสิ่งนั้น ทั้งด้านบวกและด้านลบได้ 

ถึงตรงนี้ วิทยากรทั้งสอง ชักชวนให้ผู้เข้าร่วมคลาสได้คิด และเสนอแนวทางที่จะทำให้การถ่ายภาพครั้งต่อไปมีแบบแผนมากขึ้น โดยการแนะนำ List สำหรับการสร้างผลงาน 

ประกอบไปด้วย 1. Research หรือการค้นคว้าข้อมูลก่อนลงสนามทุกครั้ง 2.  การทำ Shortlist ถึงสิ่งที่ต้องทำ และควรจะมีในงานชุดนี้ 3. Previsualize ซึ่งมาจากคำว่า Preview + visualize หรือลงรายละเอียดไปถึงเฟรมภาพ หรือองค์ประกอบของภาพที่จะมีในงานนี้ และ 4. Plan การวางแผนว่าจะทำให้งานชิ้นนี้สำเร็จได้อย่างไร ตั้งแต่การเริ่มเดินทาง จนถึงกระบวนการบรรณาธิการภาพ

การสร้างผลงานในทุกๆครั้งคือความท้าทายเหมือนที่การบรรยายตอนหนึ่งได้บอกว่า  Marking a story is always a new challenge แต่ในทุกๆครั้งที่การสำรวจเริ่มขึ้น นั่นก็ทำให้เราได้เชื่อมโยงกับผู้คน ธรรมชาติ และเรื่องราวรวมถึงได้เรียนรู้สิ่งใหม่นั่นเอง

นอกจากการเตรียมตัวและการทำงานภาคสนามแล้ว ขั้นตอนสำคัญในการนำเสนอเป็นสารคดีภาพก็คือการเลือกว่าชุดภาพสุดท้ายที่ต้องการนำเสนอนั้นจะเป็นภาพใดบ้าง จากจำนวนภาพนับพันนับหมื่นที่ได้กดชัตเตอร์ไป จะกลายมาเป็น 10 ภาพสุดท้ายได้อย่างไร เป็นกระบวนการที่ช่างภาพต้องทำงานกับภาพอย่างหนักในการวิเคราะห์ว่า แต่ละภาพเล่าเรื่องได้ตามโจทย์ที่วางไว้หรือไม่ เบื้องหลังของภาพนั้น ๆ เล่าอะไรออกมา องค์ประกอบในตัวภาพนั้นเอง และเมื่อเรียงร้อยเข้ากับภาพอื่น ๆ นำเสนอได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการเล่าหรือไม่ เป็นกระบวนการที่ไม่ง่าย เต็มไปด้วยการตัดใจและความเสียดาย เพราะหลายครั้งภาพที่มีเรื่องราวที่จับใจช่างภาพเหลือเกิน ก็จำเป็นต้องถูกคัดออก

นอกจากช่างภาพที่จะทำงานนี้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ต้องทำงานร่วมกับบรรณาธิการในการหารือกันครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ กระบวนการนี้เอง ที่เรานำมาปรับใช้ใน Masterclass ครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้สัมผัสประสบการณ์นั้นไปด้วยกัน

ติวเข้มในกลุ่มย่อย ในช่วง Portfolio review เพื่อการถ่ายทอดเทคนิคและมุมมองกันอย่างจุใจ

ผู้เข้าอบรมแสดงผลงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อน ซึ่งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดในการทำงานกันอย่างสนุกสนาน

สร้างชุมชนนักเล่าเรื่องผ่านการอบรม

National Geographic Thailand ได้พยายามสร้างกิจกรรมเพื่อสนับสนุนช่างภาพให้แสดงทักษะการเล่าเรื่องตลอดมา ตัวอย่างเช่นกิจกรรมประกวดสารคดีภาพถ่าย 10 ภาพเล่าเรื่อง ที่เราได้จัดมาถึงซีซั่น 9 ที่จะเตรียมเปิดรับสมัครเร็ว ๆ นี้ ก็เปิดโอกาสให้ช่างภาพที่สนใจงานสารคดีได้เล่าเรื่องผ่านชุดภาพถ่าย 10 ภาพเป็นสารคดี 1 เรื่อง

รวมถึงการจัดการอบรมร่วมกับ National Geographic Storyteller Collective ที่ได้เชิญนักสำรวจของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก หรือ National Geographic Explorer จากประเทศต่างๆ มาขึ้นเวทีเสวนาในงาน Sustainability Expo (SX) และยังมีเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย และ Visual ในรูปแบบต่างๆ ปีละ 1 ครั้งต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว มาถึงปีนี้ เราเลือกที่จะกิจกรรมด้วยกันตั้งแต่ต้นปี ไปตลอดทั้งปี โดยเริ่มที่ Masterclass ครั้งนี้

Masterclass 01 เราเลือกเชิญช่างภาพรุ่นใหม่ที่เคยร่วมกิจกรรมกับเราและจากการคัดเลือกโดยช่างภาพของ National Geographic ผ่านผลงานของพวกเขาที่เราเคยรู้จักมาแล้ว ในรูปแบบ Portfolio Review หรือการนำผลงานของตนมาให้วิทยากรดู ให้ความเห็น และแนะแนว หลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีคิดและกระบวนการทำงานในแบบของ  National Geographic เราสนับสนุนให้ทุกคนนำไปพัฒนางานของตัวเองต่อ และนำผลงานที่ขัดเกลาแล้วมาให้วิทยากรมาช่วย Edit อีกครั้งในงานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ครั้งหนึ่ง พาโบล เคยพูดกับเราว่า ช่างภาพเป็นหนึ่งในอาชีพที่โดดเดี่ยวที่สุด มันเป็นเรื่องดีเสมอที่ได้มาเจอคนในแวดวงเดียวกัน ได้มาแบ่งปันเรื่องราวการทำงานร่วมกัน รวมถึงหากมี “รุ่นพี่” ที่ช่วยแนะนำให้ความเห็นกับงาน เจอผู้คนมากประสบการณ์มาเปิดมุมมองใหม่ ๆ โอกาสในการพัฒนาฝีมือและเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นเสมอ การที่เราชวนให้พวกเขานำผลงานกลับมาคุยกันอีกครั้ง ก็เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และรู้ว่าบทเส้นทางที่ไม่ง่ายนี้ ยังมีผู้คนแวดล้อมอยู่ในเส้นทางเดียวกัน 

นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เราจัดการเวิร์คช็อปในรูปแบบ Portfolio review สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ เวิร์คช็อปจบ คนไม่จบ การสนทนายังดำเนินต่อ เมื่อหมดเวลาการใช้งานห้องแล้ว ก็พากันไปหาที่ทางหอบผลงานไปนั่งคุยกันต่อ ทุกคนกระหายที่อยากจะได้ความคิดเห็นจากหลากหลายมุม ถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่และชุมชนนักเล่าเรื่องให้ทุกคนมาแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันได้ สร้างเครือข่ายและโอกาสรองรับผลงานชั้นดี ชุมชนแห่งนี้ก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งต่อเรื่องราวซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมและส่งผลกระทบเชิงบวกได้

หลังจากเราก็ยังมีการจัดเวิร์คช็อปและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเล่าเรื่องต่อไป อยากชวนให้ทุกคนติดตามและร่วมเดินทางไปกับเรา


อ่านเพิ่มเติม : Immersive Storytelling Masterclass สร้างชุมชนนักเล่าเรื่องในแบบ National Geographic

Recommend