เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับไดโนเสาร์จะอยู่ร่วมโลกกัน?

เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับไดโนเสาร์จะอยู่ร่วมโลกกัน?

เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับ ไดโนเสาร์ จะอยู่ร่วมโลกกัน?

ในภาพยนตร์ Jurassic World: Fallen Kingdom มนุษยชาติต้องเผชิญกับคำถามทางศีลธรรมครั้งใหญ่นั่นคือ เราจะปกป้องไดโนเสาร์ที่โคลนนิ่งขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ เมื่อพวกมันกำลังจะถูกล้างบางจากภูเขาไฟระเบิด? หรือเราควรปล่อยให้พวกมันกลับไปสูญพันธุ์เช่นเดิม?

สิ่งที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความสงสัยใคร่รู้ไว้ว่าหากไดโนเสาร์สามารถฟื้นคืนชีพกลับมาได้จริง จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อมันต้องอาศัยอยู่บนโลกร่วมกับมนุษย์? และเหล่านี้คือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์

 

ดีเอ็นเอไดโนเสาร์

ในภาพยนตร์ Jurassic Park ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถสกัดเอาดีเอ็นเอออกมาจากยุงที่ฝังอยู่ในก้อนอำพันได้ ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ปัจจุบันนักบรรพชีวินวิทยาพบฟอสซิลของแมลง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมากมายที่ถูกเก็บรักษาไว้่ในอำพัน (ในจำนวนนี้รวมไปถึงหมัดโบราณจากยุคครีเตเชียสที่ดูดเลือดของไดโนเสาร์เข้าไปเต็มท้องด้วย) แต่พวกเขายังไม่สามารถฟื้นคืนชีพไดโนเสาร์ให้กลับมาเช่นภาพยนตร์ได้ แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาพบจะไปไกลกว่าในหนังก็ตาม เช่นในปี 2016 มีรายงานการค้นพบหางของไดโนเสาร์ในอำพัน ซึ่งยังคงสภาพดีอยู่โดยประกอบด้วยผิวหนังและเส้นขน

อย่างไรก็ดีแม้ชิ้นส่วนนั้นๆ ของไดโนเสาร์จะถูกเก็บรักษาไว้ได้ดีแค่ไหนภายในก้อนอำพันก็ตาม แต่โอกาสที่จะสกัดเอาดีเอ็นเอซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่นั้น แทบเป็นไปไม่ได้

“ดีเอ็นเอที่เก่าแก่ที่สุดที่เราเคยพบมีอายุเพียงหนึ่งล้านปี ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างไดโนเสร์ขึ้นมาอีกครั้งแบบในหนัง” Susie Maidment นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรรมชาติวิทยาในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรกล่าว

อย่างไรก็ตาม Maidment กล่าวเสริมว่าปัจจุบันมีการค้นพบว่าโปรตีน และเนื้อเยื่อบางอย่างสามารถยังคงถูกเก็บรักษาไว้ได้ ฉะนั้นจึงเป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะบอกว่านักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถสกัดดีเอ็นเอจากฟอสซิลของไดโนเสาร์ได้เลย

และตลอด 25 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ Jurassic Park ออกฉาย นักบรรพชีวินวิทยาทั่วโลกค้นพบฟอสซิลใหม่ๆ มากมาย รายงานจาก Steve Brusatte นักสำรวจจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และผู้เขียนหนังสือ The Rise and Fall of the Dinosaurs

“เรารู้ว่าเกิดอาชีพใหม่แน่ ถ้าเรากลายเป็นคนแรกที่สกัดดีเอ็นเอ แต่ตลอดความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครพบแม้แต่ดีเอ็นเอเดียวของไดโนเสาร์ ซึ่งจีโนมที่สมบูรณ์คือองค์ประกอบที่สำคัญในการโคลนนิ่งไดโนเสาร์” Brusatte กล่าว

“ดีเอ็นเอสลายตัวเร็วมาก ในเวลาแค่หลายร้อยปีมันก็สลายเหลือเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว” Mike Benton นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในสหราชอาณาจักรกล่าว “ต้องใช้เทคนิคมากมายในการเชื่อมต่อข้อมูลทางพันธุกรรมที่ขาดหายเหล่านี้เข้าด้วยกัน ฉะนั้นแล้วจนกว่าจะมีใครพบดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ ตอนนี้ในหมุดหมายของการโคลนนิ่ง เปรียบเทียบง่ายๆ เรายังไม่ได้ก่ออิฐก้อนแรกเลยด้วยซ้ำ”

 

ชีวิตมีทางของมัน

ขณะนี้ทีมวิจัยในสหรัฐอเมริกากำลังพยายามอย่างหนักในการใช้เทคโนโลยีสกัดเอาดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตโบราณ ทว่าการฟื้นคืนชีพสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งก็ตามไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าพวกมันเพิ่งจะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 20 ปีก่อนก็ตาม

เทคโนโลยีการตัดต่อยีนในปัจจุบันใช้เทคนิคที่เรียกว่า CRISPR ซึ่งขณะนี้กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถผสมเอายีนของสัตว์ต่างๆ เข้าด้วยกันไม่ต่างจากที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ใน Jurassic Park ทำ

ในภาพยนตร์ภาคแรก นักพันธุศาสตร์ใช้ดีเอ็นเอของกบเติมเต็มดีเอ็นเอส่วนที่ขาดหายไปจากก้อนอำพัน ในโลกแห่งความเป็นจริง George Church นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดกำลังพยายามใส่ดีเอ็นเอสกัดจากแมมมอธเข้าไปในจีโนมของช้างเอเชีย ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นคืนชีพให้แมมมอธ

“ฉันเองก็พูดไม่ได้เต็มปากว่ามันจะเป็นไปไม่ได้” Victoria Arbour ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์มีเกราะจากพิพิธภัณฑ์ Royal Ontario ในเมืองโทรอนโต ของแคนาดากล่าว “ขณะนี้หลายแขนงของวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนานวัตกรรมที่น่าทึ่ง อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในอนาคตเช่นการฟื้นคืนชีพไดโนเสาร์ ไม่แน่ว่าอาจเกิดขึ้นจริงในอีก 25, 50 หรือ 100 ปีข้างหน้า”

ไดโนเสาร์
ยุคจูราสสิค (199.6 ล้านปี – 145.5 ล้านปีก่อน) มีสภาพภูมิอากาศอบอุ่น และชุ่มชื้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชพรรณ และสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์อุบัติขึ้นในช่วงเวลานี้ ในจำนวนนี้ได้แก่ สเตโกซอรัส, บราคิโอซอรัส, อัลโลซอรัส และอื่นๆ อีกมากมาย

 

อย่ากินนักท่องเที่ยว!

ว่าแต่หากเราสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมาได้จริงด้วยเทคโนโลยี พวกมันจะสามารถอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ได้ไหม?

อ้างอิงจากความสัมพันธ์ของเรากับผู้ล่าสมัยใหม่อย่างสิงโต, หมาป่า และหมี เป็นที่ชัดเจนว่าเราอยู่ร่วมกันยาก และในอนาคตมีแนวโน้มว่าสัตว์เหล่านี้ยิ่งจะมีจำนวนน้อยลงๆ ในขณะที่มนุษย์กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

Arbour เองเล่าว่าเธอเองก็วาดฝันว่าจะได้อยู่ในโลกที่มีแองคิโลซอรัสคำรามกึกก้องอยู่ในป่า ทว่าเป็นเรื่องยากที่สัตว์กินพืชขนาดใหญ่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์ แม้ว่าพวกมันจะกินพืชก็ตาม เนื่องจากเราใช้พื้นที่ป่าไปแล้วมหาศาลกับการเพาะปลูก และสร้างที่อยู่อาศัย

“เราไม่ชอบให้สัตว์ตัวใหญ่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่” เธอกล่าว “ยิ่งไม่ต้องจินตนาการต่อเลยว่าเราจะอยู่ร่วมกับนักล่าตัวใหญ่ยักษ์อย่างทีเร็กซ์ได้อย่างไร ในเมื่อที่ทวีปอเมริกาเหนือเรายังไม่อยากเผชิญกับหมาป่า และเรากำจัดพวกมันอย่างมีประสิทธิภาพเสียด้วย ฉะนั้นแล้วการจะอยู่ร่วมโลกกับสัตว์กินเนื้อขนาดตัวใหญ่กว่าหมาป่าถึง 70 เท่านี่ยิ่งเป็นไปได้ยาก”

อีกหนึ่งข้อสำคัญก็คือ ไดโนเสาร์อาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่ต่างจากปัจจุบันมาก Maidmant เสริมว่า ภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้ายังไม่ถือกำเนิดขึ้นเสียด้วยซ้ำในยุคครีเตเชียส และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เองก็ยังไม่วิวัฒนาการขึ้น

“ไดโนเสาร์จะกินอะไร, ระบบย่อยอาหารของพวกมันจะรับมือกับสิ่งใหม่ได้ไหม? พวกมันจะอยู่ร่วมกับผู้ล่าที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างไร? หรือเราจะเก็บพวกมันไว้ที่ไหน? มันควรมีสิทธิได้รับการคุ้มครองไหม? ฉันคิดว่าประเด็นทางศีลธรรมมากมายที่ตามมาเป็นเรื่องยากพอๆ กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” Maidmant กล่าว

“ไดโนเสาร์จะไม่ต่างจากมนุษย์ต่างดาวบนโลก” Brusatte เองเห็นด้วย  “พวกมันวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อใช้ชีวิตบนโลกเมื่อสิบ หรือร้อยล้านปีก่อน ซึ่งต่างจากปัจจุบันมาก ทวีปไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิม บรรยากาศก็เปลี่ยน พืชพรรณก็ไม่ใช่แบบนี้ พวกมันอาจปรับตัวไม่ได้เลย”

 

ยินดีต้อนรับสู่ Jurassic World

แต่ Brusatte ย้ำเตือนเราถึงความจริงพื้นฐานข้อหนึ่ง: ไดโนเสาร์อยู่ร่วมโลกกับเรามาตลอด ในรูปแบบของนก ทุกวันนี้บรรดาสัตว์ปีกทั้งหลายล้วนเป็นลูกหลานของนกที่หากินบนพื้นดินในยุคไดโนเสาร์ ซึ่งพวกมันรอดชีวิตจากการตกของอุกกาบาตเมื่อราว 66 ล้านปีก่อน

ไก่งวง, นกกระจอกเทศ หรืออินทรีไม่ได้มีพฤติกรรมแตกต่างจากไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง เวโลซิแรพเตอร์ นั่นแสดงให้เห็นว่าอีกนัยหนึ่งมนุษย์เองก็อยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ได้ “เราเลี้ยงไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลี้ยง, กินพวกมัน หรือแม้แต่เพลิดเพลินกับการดูพวกมันในสวนสัตว์ หรือแม้แต่ใช้พวกมันเป็นมาสคอตสำหรับทีมกีฬาทีมโปรด” Brusatte กล่าว

Arbour เองกล่าวว่าแม้เธอจะรักงานวิจัยที่กำลังพยายามนำสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมา แต่เธอคาดหวังว่าผู้คนจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน “ยิ่งเรารู้สึกมหัศจรรย์เมื่อได้มองฟอสซิลของไดโนเสาร์ในพิพิธภัณฑ์มากเท่าไหร่ ยิ่งบันดาลใจให้เราเห็นคุณค่าของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ตลอดจนตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยร่วมโลกกับเราในปัจจุบันมากเท่านั้นค่ะ”

เรื่อง จอห์น พิคเรล

 

อ่านเพิ่มเติม

ทีเร็กซ์ขยับลิ้นไม่ได้แบบในภาพยนตร์

Recommend