ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนที่ชื่นชอบซานตาคลอส สำหรับหนูน้อยคนนี้ ซานต้าใจดีอาจคือฝันร้าย
ขอบคุณภาพจาก https://www.popsugar.com/moms/photo-gallery/39191610/image/39191625/NOPE
ในคืนวันคริสต์มาส ซานตาคลอส ต้องเหนื่อยขนาดไหน?
คริสต์มาสคือช่วงเวลาแห่งความสุขที่หลายคนรอคอย เด็กๆ ได้รับของขวัญและขนมมากมาย ส่วนในผู้ใหญ่ได้พรอันวิเศษ คือการกลับบ้านไปใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง นอกเหนือจากพิธีมิสซา การกินดื่ม และไฟประดับหลากสีแล้ว อีกหนึ่งสัญลักษณ์อันเป็นสากลของวันคริสต์มาสก็คือ “ซานตาคลอส” ชายสูงวัยร่างอ้วน ใจดี ผู้มาพร้อมกับถุงของเล่นใบใหญ่ คือความปรารถนาที่เด็กๆ ทุกคนรอจะพบเจอ โดยเฉลี่ยเมื่ออายุได้ 7 ขวบ เด็กๆ จะเริ่มตระหนักได้ว่า ตำนานซานต้าที่พวกเขารักและชื่นชอบนั้นไม่ใช่เรื่องจริง และเป็นพ่อกับแม่นี่เอง ที่แอบให้ของขวัญมาตลอดหลายปี
อย่างไรก็ดีแม้จะฝันสลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเล่าขานของซานตาคลอสมีส่วนช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจริง อย่างน้อยก็ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ต้นกำเนิดของตำนานซานตาคลอสเชื่อกันว่ามาจาก “นักบุญเซนต์นิโคลัส” ที่มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ในเมือง Patara ที่ตั้งอยู่ในประเทศตุรกีปัจจุบัน ความใจดีของเซนต์นิโคลัสส่งผลให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่ว ว่ากันว่านักบุญผู้นี้นำสมบัติของตระกูลออกช่วยเหลือคนจนและคนป่วยทั่วเมือง และเมื่อเขาเสียชีวิตลงในวันที่ 6 ธันวาคม ผู้คนจึงถือเอาวันนี้เป็นวันที่รำลึกถึงคุณความดีของนักบุญผู้นี้
เรื่องราวของนักบุญเซนต์นิโคลัสเดินทางข้ามมายังสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อหนังสือพิมพ์นครนิวยอร์กรายงานข่าวการเฉลิมฉลองวันครบรอบการเสียชีวิตของนักบุญผู้นี้ โดยครอบครัวผู้อพยพชาวเนเธอร์แลนด์ และอันที่จริงคำว่า “ซานตาคลอส” ก็เพี้ยนมาจากคำว่า “ซินเตอร์คลาส” (Sinter Klaas) ในภาษาดัตช์ที่ใช้เรียกนักบุญเซนต์นิโคลัส
ภาพจำของซานตาคลอสมีจุดเริ่มต้นจาก John Pintard หนึ่งในสมาชิกสมาคมประวัติศาสตร์นิวยอร์ก ที่แกะสลักหุ่นไม้ของซานต้าขึ้นในปี 1804 ระหว่างการประชุมประจำปีของสมาคม และแน่นอนมีถุงใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยของเล่นและผลไม้ด้วย แต่อิทธิพลที่ทำให้ซานต้าแพร่กระจายไปทั่วอเมริกาคืองานเขียนของ วอชิงตัน เออร์วิง (Washington Irving) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่เขียนถึงซานต้าในหนังสือ “Knickerbocker’s History of New York” ประกอบกับบทกวีของ คลีเมนท์ คลาค มัวร์ (Clement Clarke Moore) ที่บรรยายถึงภารกิจส่งของขวัญของซานต้าไว้ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบขึ้นมากมายในช่วงคริสต์มาส บ้างแจกของขวัญจริง บ้างใช้ชุดซานต้าเป็นฉากบังหน้าในการขโมยของ ต่อมาภาพของซานตาคลอสก็ถูกนำไปโปรโมทตามห้างสรรพสินค้า ของตกแต่ง โฆษณาต่างๆ ตลอดจนภาพยนตร์ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ส่งผลให้ภาพจำดังกล่าวแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และในที่สุดก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาสที่ทุกคนทั่วโลกเข้าใจตรงกัน
ทว่าหากซานตาคลอสมีตัวตนจริง ภารกิจส่งของขวัญให้แก่เด็กๆ (ที่ทำตัวดี) ท่ามกลางการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจำนวนประชากรโลกจะเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน? และเขาทำได้อย่างไร? คงไม่ใช่แค่ศรัทธาและความรักแน่ๆ ที่ช่วยให้ซานต้ายังคงทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในทุกคืนคริสต์มาส
ทำงานวันเดียวในหนึ่งปี
ซานตาคลอสส่งของขวัญให้แก่เด็กๆ ทั่วโลกได้อย่างไรภายในเวลาแค่คืนเดียว? ข้อสงสัยนี้ถูกวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์มากมาย ฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยากอะไรกะอีแค่นั่งรถลาก เหาะไปตามท้องฟ้าและจอดแวะตามบ้านต่างๆ แต่ลองจินตนาการถึงจำนวนเด็กทั้งหมดทั่วโลกดูจะเห็นว่าภารกิจส่งของขวัญนี้ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด
ในปี 2009 เกรกอรี่ โมน (Gregory Mone) บรรณาธิการนิตยสาร Popular Science Magazine ผู้เขียนหนังสือ “The Truth About Santa” ทดลองประมาณจำนวนของเด็กที่ต้องได้รับของขวัญอยู่ที่ราว 300 ล้านชิ้น ปกติบ้านหนึ่งน่าจะมีเด็กมากกว่าหนึ่งคน ดังนั้นตัวเลขกลมๆ ที่ซานต้าต้องแวะส่งของขวัญตามบ้านน่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 200 ล้านหลังในคืนเดียว เกรกอรี่ตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าซานต้าใช้เวลาในการส่งของขวัญอย่างเร็วที่สุดบ้านละ 30 วินาที นั่นเท่ากับต้องใช้เวลาถึง 100 ล้านนาที หรือคิดเป็น 190 ปี กว่าซานตาคลอสจะส่งของขวัญเสร็จ! ซึ่งคงไม่ดีแน่หากเด็กๆ ที่กำลังรอของขวัญวันคริสต์มาสในคืนนั้นได้สิ้นอายุขัยไปเสียก่อน
ข้ามมาปี 2017 ข้อมูลจาก “The Infographic Show” ฉายให้เห็นภาพความเหน็ดเหนื่อยมากขึ้น รายงานจาก Pew Research 96% ของชาวคริสต์เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ทว่าปัจจุบันวันคริสต์มาสไม่ใช่แค่กิจกรรมทางศาสนา หากคือวัฒนธรรม ดังนั้นจึงมีผู้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์อีกราว 81% ร่วมฉลองด้วย ปัจจุบันเด็กๆ ทั่วโลกที่อายุต่ำกว่า 15 ปี มีประชากรรวมประมาณ 1.9 พันล้านคน หากซานต้าจะส่งของขวัญจากซีกโลกตะวันออกที่มืดก่อนไล่ไปยังซีกโลกตะวันตก ตัวเขามีเวลารวม 32 ชั่วโมง ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้นในวันใหม่ พื้นที่ของแผ่นดินทั่วโลกรวมกันคิดเป็น 148.94 ล้านตารางกิโลเมตร นั่นหมายความว่าหากจะส่งของขวัญให้ทัน กวางเรนเดียร์ของซานต้าต้องเหาะด้วยความเร็วมากถึง 10,000 กิโลเมตรต่อวินาที!
แน่นอนว่าซานต้าไม่จำเป็นต้องให้ของขวัญแก่เด็กที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ และหากตัดพื้นที่ที่ไม่มีใครอาศัยอยู่อย่างไซบีเรีย หรือทะเลทรายโกบีออกไปแล้ว ข้อมูลจาก CIA จำนวนของเด็กๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์จะเหลืออยู่ที่ราว 526 ล้านคน ทว่างานส่งของขวัญแก่เด็กๆ ทั้งหมดนี้ในหนึ่งคืนก็ยังดูเป็นไปไม่ได้อยู่ดี เมื่อพิจารณาจากความเร็วและน้ำหนักเป็นตันๆ ของของขวัญจำนวนมากมาย ไหนจะเวลาที่ต้องเสียไปกับการหาทางเข้าบ้าน และตำแหน่งที่จะวางกล่องของขวัญใต้ต้นคริสต์มาสอีก เว้นแต่ว่าเขาจะมีเวทมนตร์ ทุกวันนี้ยานอวกาศที่รวดเร็วที่สุด “Parker Space Probe” ซึ่งสร้างโดยนาซ่าสำหรับการสำรวจดวงอาทิตย์ สามารถทำความเร็วได้ถึง 700,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 194 กิโลเมตรต่อวินาที ความเร็วดังกล่าวช่วยให้การเดินทางจากกรุงวอชิงตันดีซี ไปยังกรุงโตเกียวใช้เวลาเพียงไม่ถึงนาที แต่ก็ยังห่างชั้นเมื่อเทียบกับภารกิจของซานตาคลอส ในกรณีที่เขามีตัวตนอยู่จริง
“แสงเดินทางด้วยความเร็วมากถึง 299,792 กิโลเมตรต่อวินาที ความเร็วขนาดนี้ทำให้ภารกิจของซานตาคลอสกลายเป็นเด็กอนุบาลไปเลย และตามทฤษฎีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไม่มีวัตถุใดจะเคลื่อนที่เร็วไปกว่าแสงได้”
อันที่จริงนักวิทยาศาสตร์หลายท่านไม่เชื่อว่าซานตาคลอสจะเดินทางได้เร็วขนาดนั้น ยิ่งมีกวางเรนเดียร์เป็นตัวขับเคลื่อนด้วยแล้ว พวกเขาคิดว่าหากซานตาคลอสกำลังเตรียมภารกิจส่งของเล่นในคืนนี้ “ฟิสิกส์” ต่างหากที่เป็นผู้ช่วยสำคัญ หาใช่พละกำลัง
ดร. ลาร์รี ซิลเวอร์เบิร์ก (Dr.Larry Silverberg) ศาสตราจารย์ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลและอากาศยานของมหาวิทยาลัยนอร์ธคาโรไลนาสเตทขบคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตัวเขามองว่าซานตาคลอสต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากทฤษฎีสัมพัทธภาพ ในการส่งของขวัญให้แก่เด็กๆ นับล้านให้ทันในหนึ่งคืน โดยไม่จำเป็นต้องควบรถลากด้วยความเร็วมากกว่าเสียง เจ้าสิ่งที่ว่านี้คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Relativity clouds” ที่ช่วยให้ซานต้าสามารถยืด หด หรือพับ งอ กาลเวลาได้ และทำให้ภารกิจการส่งของขวัญที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน เหลือเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
และเป็นไปได้ไหมที่ซานต้าจะใช้ประโยชน์จากมิติอื่นเรียกซานตาคลอสคนอื่นๆ ให้มาช่วยเหลือ ซึ่งจะยิ่งทำให้งานส่งของขวัญรวดเร็วขึ้นหลายเท่าเมื่อมีซานต้าเป็นกองทัพ และเมื่อถึงวันคริสต์มาสบนโลกต่างมิติ (ซึ่งอาจไม่ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมเสมอไป) ซานตาคลอสจากโลกของเราก็เดินทางไปช่วยเหลือเป็นการตอบแทน นั่นหมายความว่าซานตาคลอสไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว และไม่ได้ทำงานแค่วันเดียวต่อปีอีกแล้ว แต่ภารกิจส่งของขวัญคือความร่วมแรงร่วมใจครั้งใหญ่ตลอดทั้งปี แชนแนลยูทูป Private Iris ทดลองคำนวณตามทฤษฎีนี้ สมมุติให้มีซานตาคลอสจากมิติอื่นมาช่วยรวมเป็นซานต้า 1 ล้านคน แต่ละคนแวะส่งของขวัญตามบ้านคนละ 6 หลังต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่าในเวลา 32 ชั่วโมง พวกเขาจะสามารถส่งของขวัญได้มากถึง 192 ล้านหลังเลยทีเดียว
(มิติอื่นๆ เป็นอย่างไร เรียนรู้เพิ่มเติมผ่านวิดีโอนี้)
ด้านเกรกอรี่ โมน มองว่า “รูหนอน” คืออีกสิ่งที่ซานต้าสามารถใช้ประโยชน์ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางได้ รูหนอนคือทฤษฎีที่ว่ามิติต่างๆ สามารถถูกพับ บิด งอ เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางได้ จินตนาการว่ามีกระดาษแผ่นหนึ่งที่มีจุด A อยู่ที่มุมซ้ายบน และจุด B อยู่ที่มุมขวาล่าง การจะเดินทางจากจุด A ไป B ก็ต้องผ่านกระดาษทั้งแผ่น แต่ถ้ามิติที่เราอาศัยอยู่สามารถพับเข้าหากันให้จุดทั้งสองประกบ จากนั้นก็สอดท่อเล็กๆ ลงไปจะหว่างจุด A และ B เจ้าท่อเล็กๆ นี้เองคือรูหนอนที่ช่วยให้ซานตาคลอสไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางจากบ้านหลังหนึ่งไปยังบ้านอีกหลัง หรือเรียกว่าใช้ทางลัดข้ามกาลอวกาศไปเลย
อย่างไรก็ดีทุกวันนี้รูหนอนยังคงเป็นแค่ทฤษฎี และยังไม่ถูกสร้างในเร็ววันแน่ เว้นแต่ซานตาคลอสจะยอมเผยองค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้งหมดของเขาให้แก่มวลมนุษยชาติ ก็แหม การข้ามเวลาจากระบบสุริยะของเราไปเยือนเพื่อนต่างดาวมันน่าตื่นเต้นกว่าข้ามจากบ้านหลังหนึ่งไปยังอีกหลังเพื่อส่งของขวัญเยอะ! แต่ใครจะรู้ที่ซานต้ายังคงเก็บเงียบซุกของดีเอาไว้กับตัวคนเดียวแบบนี้อาจเป็นกุศโลบาย เพื่อให้มนุษย์เราพยายามขวนขวายหาคำตอบด้วยตนเองก็เป็นได้ ในเมื่อพิสูจน์แล้วว่าตำนานซานตาคลอสช่วยให้เด็กๆ ทำตัวดี มีพฤติกรรมน่ารักขึ้นจริง ทั้งยังเติมเต็มจินตนาการพวกเขาขนาดนี้
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน “อาร์เธอร์ ซี คลาก” (Arthur C. Clarke) เขียนบรรยายในนิยายวิทยาศาสตร์ของเขาว่าในโลกอนาคตผู้คนจะสามารถติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมได้ ไปจนถึงแช่แข็งร่างเพื่อรอวันฟื้นคืนมาใหม่ ทุกวันนี้การสื่อสารผ่านดาวเทียมคือเรื่องธรรมดา ส่วนเทคโนโลยีการแช่แข็งเก็บรักษาสมองและร่างกายกำลังถูกพัฒนา หากเด็กๆ ในรุ่นถัดจากเราหลายสิบปีจะค้นพบทฤษฎีใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ โดยมีซานตาคลอสเป็นแรงบันดาลใจ คริสต์มาสปีนั้นคงพิเศษสุดๆ
(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรูหนอนได้ที่วิดีโอนี้)
อ่านเพิ่มเติม
แครมปัสคือใครกัน? ทำความรู้จักกับอสุรกายแห่งคริสต์มาส
แหล่งข้อมูล
หนังสือ “รู้ทันซานต้า” (The Truth About Santa) เขียนโดย เกรกอรี่ โมน
Researcher Explains How Santa Delivers Presents in One Night
FYI: How Long Would It Take Santa To Deliver Presents To Every Kid On Earth?
Why It’s OK for Kids to Believe in Santa Claus
Can science prove Santa is real? | Private Iris investigates
Could Santa Actually Deliver All Of The Presents On Christmas?