น้ำ แล น้ำในบรรยากาศ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ก่อกำเนิดชีวิตและสร้างสมดุลของสสารบนโลก เป็นองค์ประกอบหลักของสิ่งมีชีวิต และ แหล่งน้ำ เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงอาศัยอยู่ของทั้งมนุษย์ สัตว์และพืช
ดาวเคราะห์ดวงนี้ ถูกปกคลุมด้วย แหล่งน้ำ มากถึงร้อยละ 71 หรือราว 2 ใน 3 ของพื้นที่ผิวทั้งหมด โดยมี “วัฏจักรน้ำ” (Water Cycle) ทำหน้าที่เชื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะทางธรรมชาติและการหมุนเวียนของน้ำบนโลก ตั้งแต่เมื่อ 3.8 พันล้านปีก่อน จากการเย็นตัวลงของโลกที่ก่อให้เกิดน้ำฝนและหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาสู่พื้นแผ่นดิน เกิดเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทั้งมหาสมุทรซึ่งรวบรวมปริมาณของน้ำบนโลกมากถึงร้อยละ 97 ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งขั้วโลก (ร้อยละ 2) แม่น้ำ ทะเลสาบ รวมถึงน้ำในดิน (ร้อยละ 1) และน้ำ (ความชื้น) ในชั้นบรรยากาศโลก
ประเภทของแหล่งน้ำธรรมชาติ
- แหล่งน้ำผิวดิน (Surface Water) คือ แหล่งน้ำกว่าร้อยละ 99 บนโลก ซึ่งสะสมน้ำฝนที่ตกลงมายังพื้นดิน ไหลตามความลาดชันของสภาพภูมิประเทศ ก่อนมาขังอยู่รวมกันจนก่อให้เกิดมหาสมุทร ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง และบึง จากการเป็นแหล่งน้ำบนพื้นผิวโลก จึงส่งผลให้น้ำผิวดินง่ายต่อการสัมผัสและปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ
- แหล่งน้ำใต้ดิน (Ground Water) คือ น้ำที่สะสมอยู่ในชั้นดิน หรือ “น้ำในดิน” และชั้นหิน หรือ “น้ำบาดาล” ของโลก ซึ่งเกิดจากการไหลซึมของน้ำบนผิวดิน ก่อนไปสะสมอยู่ในชั้นดินและชั้นหินต่าง ๆ หรือลึกลงไปกักเก็บอยู่ใต้พื้นดินใน “ชั้นหินอุ้มน้ำ” (Aquifer) น้ำใต้ดินมักสามารถคงคุณภาพของน้ำไว้ในระดับดีถึงดีเยี่ยม เนื่องจากสารแขวนลอยต่าง ๆ ถูกกรองโดยชั้นดินและหิน แต่แหล่งน้ำใต้ดินอาจมีโอกาสปนเปื้อนแร่ธาตุและสารเคมีบางอย่างจากชนิดของหินในชั้นหินใต้ดิน
- น้ำในบรรยากาศ (Atmospheric Water) คือ น้ำในสถานะต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศโลก เช่น เมฆ ฝน และหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) ไม่ว่าจะเป็นลูกเห็บ หิมะ ละอองน้ำ หมอก หรือไอน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆทั้งเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า การอุปโภคบริโภค การกสิกรรมและเกษตรกรรม หรือเพื่อป้องกันอุทกภัย เช่น บ่อน้ำ บ่อบาดาล อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่าง ๆ
การเกิดลำน้ำ
ในปัจจุบัน แหล่งน้ำแต่ละแหล่ง หรือแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่ล้วนมีขนาดและลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ทางธรรมชาติ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของแต่ละพื้นที่ ความเร็วและปริมาณของกระแสน้ำในแต่ละฤดูกาล รวมไปถึงระยะเวลาของการเกิดและการกัดเซาะ
จากการไหลตามธรรมชาติของน้ำ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก การเกิดลำน้ำจึงเริ่มจากพื้นที่สูงไหลลงสู่ที่ต่ำ เมื่อฝนตกลงมายังพื้นดิน น้ำบางส่วนซึมลงสู่ชั้นดินและหิน ขณะน้ำที่เหลือจะไหลไปตามผิวหน้าดิน เกิดการกัดเซาะจนกลายเป็นร่องน้ำที่สามารถขยายจนกลายเป็นห้วย ลำธาร และแม่น้ำในท้ายที่สุด
ลำน้ำแต่ละสายสามารถจำแนก ตามอายุหรือตามระยะของการวิวัฒนาการของลำน้ำได้ ดังนี้
- ลำนำ้เกิดใหม่ หรือ ระยะปฐมวัย (Youthful Stage) คือ ลำน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ผ่านภูเขาหรือหุบเขาลาดชัน จึงมีความแรงและทิศทางการไหลที่ไม่คดเคี้ยว ก่อให้เกิดการพังทลายของดินทั้ง 2 ฝั่งของลำน้ำอย่างรุนแรง และยังส่งผลให้หน้าตัดของลำน้ำมีลักษณะคล้ายรูปของอักษรวี (V) อีกทั้ง ยังเป็นต้นกำเนิดของเกาะแก่งและน้ำตกต่าง ๆ
- ลำนำ้วัยหนุ่ม หรือ ระยะมัชฌิมวัย (Mature Stage) คือ ลำน้ำที่เริ่มมีลักษณะลาดชันและความลาดเทของท้องน้ำลดลง รวมถึงการกัดเซาะและกระแสน้ำที่ไหลช้าลง มีความคดโค้งและมีการขยายตัวของลำน้ำที่มากยิ่งขึ้น เกิดลำน้ำสายย่อยต่าง ๆ และสามารถพบที่ราบน้ำท่วมในบางส่วนของลำน้ำ
- ลำน้ำวัยชรา หรือ ระยะปัจฉิมวัย (Old Age Stage) คือ ลำน้ำที่ไหลจากที่ต่ำลงสู่พื้นที่ซึ่งมีระดับต่ำยิ่งกว่าหรือไหลลงสู่ทะเล จากการกัดเซาะที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ลักษณะของท้องน้ำคล้ายรูปอักษรยู (U) มีการไหลของกระแสน้ำที่เชื่องช้าลงและคดเคี้ยวมากขึ้น เกิดเป็นลำน้ำสายใหญ่ที่ไม่มีน้ำตกและเกาะแก่งอีกต่อไป มีแต่ทางน้ำโค้งตวัดและทะเลสาบรูปแอก (Oxbow Lake) มากขึ้น รวมถึงที่ราบน้ำท่วมถึงอันกว้างขวาง และการสะสมตัวของตะกอนปริมาณมาก
ธรณีพิบัติภัย
ธรณีพิบัติภัย (Geohazard) คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของโลก เช่น การเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีภาคและการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งธรณีพิบัติภัยทั้งหลายเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน
ประเภทของธรณีพิบัติภัย
- ธรณีพิบัติภัยจากน้ำผิวดิน เช่น อุทกภัย หรือ น้ำท่วมที่เกิดจากทั้งน้ำท่วมขังและน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำป่า แผ่นดินถล่มที่เกิดจากการอิ่มตัวของดิน รวมถึงการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำ คลื่นลม หรือเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
- ธรณีพิบัติภัยจากน้ำใต้ดิน เช่น การทรุดตัวของแผ่นดินที่เกิดจากการนำน้ำใต้ดินมาใช้ในปริมาณมากเกินควร หรือการเกิดหลุมยุบจากการก่อสร้างของมนุษย์ในพื้นที่ซึ่งมีภูมิประเทศใต้ผิวดินเป็นหินปูน หินโดโลไมต์ และหินอ่อน ซึ่งหินเหล่านี้ อาจพังทลายได้ง่ายจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/water-cycle/
ทรูปลูกปัญญา – https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/33834
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว – http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=7&chap=7&page=t7-7-infodetail05.html
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ – http://www.lesa.biz/earth/hydrosphere/water-resources