มลภาวะทางเสียง เป็นหนึ่งในปัญหาของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะ เขตที่มีการจราจรหนาแน่น หรือใกล้กับสถานีขนส่งสาธารณะ อย่างสนามบิน สถานีรถไฟ และสถานีรถประจำทาง ซึ่งมลภาวะทางเสียง ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจของหมนุษย์ได้หลากหลายรูปแบบ
มลภาวะทางเสียง (Noise Pollution) คือ สภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังอันไม่พึงประสงค์หรือเสียงรบกวนที่ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกลายเป็นภัยอันตรายต่อทั้งร่างกาย (เสียงที่มีความดังเกินกว่า 85 เดซิเบล)
มลพิษทางเสียงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่เกิดขึ้นในมหานครและเมืองใหญ่ทั่วโลก ปัญหาที่เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการอยู่อาศัยของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากการจราจร การก่อสร้าง การขุดเจาะถนน เสียงจากเครื่องยนต์นานาชนิดบนท้องถนน หรือแม้แต่เสียงจากอุปกรณ์สื่อสารตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น
แหล่งกำเนิดเสียงที่สามารถก่อให้เกิดการรบกวน
- เสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงฟ้าร้อง ลมพายุ และเสียงการระเบิดของภูเขาไฟ
- เสียงจากสัตว์ หรือ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น เสียงสุนัขเห่าหอน เสียงร้องของสัตว์ต่าง ๆ
- เสียงจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น
- เสียงเครื่องยนต์ในยานพาหนะ เช่น รถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน
- เสียงเครื่องกลหนักที่ใช้ในการก่อสร้าง เสียงเครื่องขุดเจาะถนน
- เสียงจากเครื่องขยายเสียงบนรถโฆษณาเคลื่อนที่ เสียงตามสาย
- เสียงดังจากสถานประกอบการ ทั้งเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม อู่ซ่อมรถยนต์ เสียงจากโรงมหรสพ หรือ สวนสนุก
ระดับเสียงที่มนุษย์สามารถได้ยินและมาตรฐานของระดับเสียงทั่วไป
ประเภทของเสียง | ความดังของเสียง (หน่วย : เดซิเบล เอ หรือ dBA) |
เสียงการสนทนาธรรมดา | ~ 60 |
เสียงเครื่องตัดหญ้า | ~ 70 |
เสียงรถยนต์ | ~ 80 |
เสียงจากการจราจรทางน้ำ | 80 – 110 |
เสียงรถบรรทุก | 90 – 120 |
เสียงเครื่องขุดเจาะถนน | 100 – 120 |
เสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม | 60 – 120 |
เสียงเครื่องบิน | 100 – 140 |
มาตรฐานของระดับเสียงของกรมควบคุมมลพิษ | ไม่เกิน 70 (เฉลี่ย 24 ชม.) |
มาตรฐานระดับเสียงขององค์การอนามัยโลก | ไม่เกิน 78 (เฉลี่ย 8 ชม.) |
ผลกระทบจาก มลภาวะทางเสียง
มลภาวะทางเสียงส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติงานท่ามกลางเสียงดังรบกวนต่อเนื่องยาวนานในแต่ละวัน ซึ่งมลภาวะทางเสียงไม่เพียงก่อให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญ แต่ยังสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เช่น การสูญเสียการได้ยินอย่างช้า ๆ หรือ ภาวะประสาทหูเสื่อมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในกลุ่มคนทำงาน ซึ่งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังต่อเนื่องยาวนานเหล่านี้ (Noise Induced Hearing Loss : NIHL) นอกจากนี้ มลภาวะทางเสียงยังส่งผลต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น
- ผลกระทบต่อร่างกาย : การสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร โรคความดันโลหิตสูง และภาวะการไหลเวียนโลหิตบกพร่อง ตลอดจนโรคหัวใจ
- ผลกระทบต่อสุขภาพจิต : การนอนหลับไม่เพียงพอจากเสียงรบกวน ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดและสภาวะตื่นตระหนกที่สามารถพัฒนาไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิตและภาวะซึมเศร้า
- ผลกระทบต่อสมาธิ การเรียนรู้ และการทำงาน : โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน ซึ่งเสียงรบกวนสามารถส่งผลต่อการจดจำ สมาธิ ความสนใจ หรือแม้แต่ทักษะในการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การอ่าน การฟัง และการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่
ไม่เพียงเฉพาะในสังคมของมนุษย์ มลภาวะทางเสียงยังส่งผลกระทบต่อวงจรและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในระบบนิเวศ โดยเฉพาะสัตว์ป่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลให้นกบลูเบิร์ด (Bluebird) วางไข่น้อยลงหรือการขัดขวางการสื่อสารและการกำหนดทิศทางของวาฬและโลมาในมหาสมุทร
เสียงดังเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นบนบกหรือในทะเล ต่างส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ในหลากหลายด้าน เช่น การหลบภัยและการหลีกหนีจากสัตว์นักล่า การออกหาอาหาร หรือแม้แต่การออกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ มลภาวะทางเสียงทำให้สัตว์จำนวนมากดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/noise-pollution/
https://www.noaa.gov/education/resource-collections/ocean-coasts/ocean-currents
http://www.rmuti.ac.th/user/thanyaphak/Web%20EMR/Web%20IS%20Environmen%20gr.4/Mola7.html
http://bio.flas.kps.ku.ac.th/courses/201/4.pdf