วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า แม้จะมีข้อสงสัยในผลข้างเคียงที่ปรากฏออกมา แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นวัคซีนที่ช่วยชีวิตประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนาได้
ในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ผู้ผลิตวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์วัคซีนระยะที่สามในสหรัฐอเมริกาว่า วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพป้องกันอาการของโรคติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 76
การป้องกันของวัคซีนจะได้ผลดีมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีประสิทธิผลร้อยละ 85 และที่สำคัญที่สุด วัคซีนนี้สามารถป้องกันอาการร้ายแรงจากโรคโควิด-19 ได้มากถึงร้อยละ 100 และไม่มีรายงานผลข้างเคียงร้ายแรง แม้ว่าจะมีข้อกังขาในที่หลายประเทศในยุโรปได้สั่งหยุดการใช้วัคซีนชนิดนี้หลังจากมีผู้เสียชีวิตจากภาวะอาการลิ่มเลือด
แม้ว่าผลดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่าวัคซีนชนิดนี้อาจมีประสิทธิภาพที่ไม่เท่ากับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค และโมเดอร์นา แต่ก็ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่เพียงพอ
ผลการทดสอบขั้นต้นที่ออกมาถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ควบคุมดูแลการใช้วัคซีนในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และองค์การอนามัยโลกที่พยายามฟื้นคืนความเชื่อมั่นที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนกา
โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถใช้ผลการวิเคราะห์นี้เพื่อยืนยันต่อสาธารณชนได้ว่า วัคซีนนี้ปลอดภัย และยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนชนิดนี้ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
“หากวัคซีนนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง (กับภาวะลิ่มเลือด) จริง จะต้องมีสัญญาณที่ปรากฏออกมาอย่างรวดเร็วและชัดเจนกว่านี้” เอ็ดเวิร์ด โจนส์-โลเปซ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ คณะแพทยศาสตร์เค็ก มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในคณะทำงานด้านการทดสอบทางคลินิกวิทยาของวัคซีนแอสตราเซเนกาในสหรัฐฯ กล่าวและเสริมว่า “แต่เมื่อคุณใช้กับคนนับล้านคน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าการทดสอบทางคลินิก ผลข้างเคียงซึ่งปรากฏได้ยากก็จะชัดเจนขึ้นครับ”
ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีผู้คนกว่า 10 ล้านคนได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ยังไม่มีรายงานของภาวะลิ่มเลือดอุดตันอย่างรุนแรง โดยรวมแล้ว มีรายงานว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกามีภาวะลิ่มเลือดอยู่ 37 กรณีจาก 17 ล้านคนในสหราชอาณาจักรและยุโรป ในวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา แอนน์ เทย์เลอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของบริษัทกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “จำนวนของรายงานภาวะลิ่มเลือดจากกลุ่มประชากร ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในการใช้กับกลุ่มประชากรทั่วไป”
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวัคซีนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าวหรือไม่ “การเกิด (ลิ่มเลือด) ทั้งหมดก็ยังเป็นปัญหาอยู่” วิลเลียม ชัฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ และอาจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันแห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ กล่าวและเสริมว่า “เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นสัญญาณ ไม่ใช่ข้อสรุป แต่ต้องมีการตรวจสอบสัญญาณนี้ต่อไป ถ้าเกิดควัน ก็หมายความว่าอาจจะมีไฟ เราต้องแยกให้ออกระหว่างความเกี่ยวข้องจริงๆ กับสิ่งที่เป็นแค่เรื่องบังเอิญ”
ด้านนักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์ที่ศึกษาสุขภาพของคนงานชาวนอร์เวย์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะนี้กล่าวว่า ปฏิกิริยานี้เกิดจากวัคซีน คำอธิบายของเขาคือวัคซีนได้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองมากเกินไป นำมาสู่การก่อตัวของแอนติบอดีที่ก่อให้เกิดภาวะที่เกล็ดเลือดก่อตัวจนเป็นลิ่ม และในเวลาเดียวกัน แอนติบอดีเหล่านี้ก็ได้เกิดผลกระทบตรงกันข้าม ซึ่งการลดจำนวนลงของเกล็ดเลือด อันเป็นกระบวนการจำเป็นที่ก่อให้เกิดการเกิดลิ่มเลือด (for coagulating the blood) ก็จะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกภายในได้
อย่างไรก็ตาม เอเมอร์ คุก ประธานขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ European Medicines Agency (EMA) กล่าวว่า “นี่เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่ากรณีผลข้างเคียงอันเลวร้ายนั้นเป็นเรื่องจริง ก็จะส่งผลในจำนวนน้อยคนที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในระดับที่อันตรายและภาวะเลือดออกในร่างกาย ดังนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่ วัคซีนชนิดนี้ยังปลอดภัยและได้ผล ซึ่งทางองค์กรจะทำการตรวจสอบต่อไป แต่ก็ได้ให้ไฟเขียวกับการใช้วัคซีนชนิดนี้ ด้านประเทศในยุโรปหลายประเทศก็มีแผนการนำเอาวัคซีนชนิดนี้กลับมาใช้แล้ว
วัคซีนแอสตราเซนเนกาทำงานอย่างไร
วัคซีนแอสตราเซนเนกาต่างจากวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาตรงที่การใช้เชื้อไวรัสที่ทำการตัดต่อเพื่อการนำพาชิ้นส่วนพันธุกรรมที่ถูกถอดออกมาจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าไปภายในเซลล์ของมนุษย์เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาจะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า mRNA เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนที่ต้องฉีด 2 เข็มในช่วงเวลาที่ห่างกัน 4-12 สัปดาห์
พื้นผิวของไวรัสโควิด-19 มีลักษณะเป็นหนาม หรือที่เรียกว่าสไปก์โปรตีน ไว้สำหรับใช้ยึดเกาะในเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งส่วนของสไปก์โปรตีนนี้เองกลายเป็นส่วนที่ผู้ผลิตวัคซีนให้ความสนใจ สำหรับวัคซีนแอสตราเซนเนกา นักวิทยาศาสตร์ผู้ผลิตใช้วัคซีนเพื่อประกบยีนของไวรัสที่ใช้สร้างสไปก์โปรตีนไปยังพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัด (cold virus) ที่ถูกตัดต่อซึ่งส่งผลกับสัตว์ประเภทชิมแปนซี ไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดเหล่านี้จะนำพายีนที่ก่อให้เกิดสไปก์โปรตีนเข้าไปติดในเซลล์ของมนุษย์ แต่จะไม่ก่อให้เกิดโรคที่มาจากไวรัสแต่อย่างใด
เมื่อวัคซีนแอสตราเซนเนกาถูกฉีดเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ ไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดนี้จะเข้าไปจับกับพื้นผิวของเซลล์และส่งดีเอ็นเอเข้าไป กลไกเซลล์ของมนุษย์จะใช้ดีเอ็นเอนี้ผลิตสไปก์โปรตีนที่เตือนไปยังระบบภูมิคุ้มกันว่ามีสิ่งแปลกปลอมบุกรุกเข้ามาภายในเซลล์
เมื่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตรวจจับสไปก์โปรตีนได้ จะมีปฏิกิริยาราวกับว่าร่างกายกำลังถูกจู่โจมจากไวรัสโคโรนาของจริง เซลล์ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่ต่อสู้กับการติดเชื้อและสร้างแอนติบอดีจะเริ่มปฏิบัติการ โดยวิธีการประกบสไปก์โปรตีนของไวรัสโคโรนา แอนติบอดีจะป้องกันการติดเชื้อโดยการขัดขวางสไปก์โปรตีนไม่ให้จับกับเซลล์มนุษย์ กระบวนการนี้จะป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ได้
วัคซีนช่วยชีวิตของบรรดาประเทศยากจน?
วัคซีนแอสตราเซนเนกาซึ่งเป็นวัคซีนที่ไม่ได้มีเป้าหมายการผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไรนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตให้กับบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนา และองค์การอนามัยโลกใช้วัคซีนนี้ในโครงการฉีดวัคซีนให้กับประเทศที่ยากจนหรือมีรายได้ปานกลาง เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ราคาไม่แพง ผลิตได้เร็วในปริมาณที่มาก และสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิของตู้เย็นปกติได้นานสุดถึง 6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิแช่แข็งเหมือนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาที่เก็บรักษาได้ยากกว่า
ในปัจจุบัน มีการอนุมัติใช้วัคซีนแอสตราเซเนกามากกว่า 70 ประเทศใน 6 ทวีป นอกจากนี้ วัคซีนชนิดนี้ก็ได้รับการยอมรับจากองค์กรอนามัยโลก และได้มีการเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนชนิดนี้ใน 142 ประเทศผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการรับประกันว่าประเทศที่ยากจะมีสิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนได้
“สิ่งที่น่ากังวลคือจะมีประเทศที่รู้สึกผิดหวังในเรื่องนี้” ชัฟฟ์เนอร์กล่าวและเสริมว่า “ในประเทศกำลังพัฒนา พวกเขาจะพูดว่า โธ่ คุณให้วัคซีนคุณภาพชั้นสองให้เรา”
การถูกขัดจังหวะในกระบวนการกระจายวัคซีนอาจทำให้ความพยายามในการลดผู้ติดเชื้อในระดับโลกอาจลดลงไป เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตตั้งใจว่าจะผลิตวัคซีนจำนวนมากให้ประเทศที่มีวัคซีนไม่เพียงพอ
ด้าน พอล ออฟฟิต แพทย์และผู้อำนวยการของศูนย์ศึกษาวัคซีนในโรงพยาบาลเด็กแห่งฟิลาเดลเฟีย และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวัคซีนวิทยาในคณะแพทยศาสตร์เพเรลแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า “นี่จะเป็นวัคซีนที่ราคาไม่แพง จัดเก็บได้ง่าย ซึ่งจะถูกส่งมอบให้คนทั้งโลก ผมเกรงว่าผู้คนจะไม่ต้องการให้มันถูกใช้ในเหตุผลที่ผิด ถ้ามันยังมีประเด็นข้อสงสัยในแง่ของความปลอดภัย เราจะต้องหาคำตอบให้ได้เนื่องจากความสำเร็จที่แท้จริง (ของวัคซีน) ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้”