จุดจบ ดวงอาทิตย์ เรื่อง ไมเคิล ฟิงเกิล
ศิลปกรรม มาร์ก เอ. การ์ลิก
ความที่ดวงอาทิตย์เป็นเพียงดาวมวลปานกลาง อีกราวห้าพันล้านปีข้างหน้า หลังจากเผาผลาญเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในตัวจนหมดสิ้น ผิวชั้นนอกของดวงอาทิตย์จะหลุดออก เหลือเพียง แกน ซึ่งในที่สุดจะอัดตัวจนกลายเป็นดาวแคระขาว (white dwarf) หรือซากดาวขนาดเท่าโลกเท่านั้น
ขณะที่ดาวซึ่งใหญ่กว่าดวงอาทิตย์สิบเท่ามีความตายอันน่าตื่นเต้นกว่านั้นมาก ผิวดาวชั้นนอกจะกลายเป็นซูเปอร์โนวาระเบิดออกสู่อวกาศ และเป็นหนึ่งในวัตถุที่สว่างเจิดจ้าที่สุด ในเอกภพอยู่ราวสองสัปดาห์ ในเวลาเดียวกัน แกนที่เหลือจะถูกแรงโน้มถ่วงบีบอัดลงเป็นดาวนิวตรอนทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 กิโลเมตรที่หมุนติ้ว ชิ้นส่วนดาวนิวตรอนขนาดเท่านํ้าตาลก้อนจะหนักถึงหนึ่งพันล้านตันบนโลก ความโน้มถ่วงของดาวนิวตรอนนั้นรุนแรงมาก ถึงขนาดที่ว่า ถ้าคุณทิ้งขนมมาร์ชแมลโลว์ลงไปสักชิ้น ขนมที่ตกถึงพื้นจะ สร้างพลังงานเท่ากับระเบิดปรมาณูหนึ่งลูกทีเดียว
แต่นั่นยังเทียบไม่ได้เลยกับฉากสุดท้ายของดาวที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 20 เท่าขึ้นไป ต่อให้คุณทิ้งระเบิดปรมาณูความรุนแรงระดับเดียวกับที่ทิ้งใส่เมืองฮิโระชิมะทุก ๆ หนึ่ง มิลลิวินาทีไปจนสิ้นอายุเอกภพ ก็ยังได้พลังงานไม่เท่ากับ ที่ถูกปลดปล่อยในชั่วขณะสุดท้ายที่ดาวยักษ์สักดวงยุบตัว เพราะแกนดาวจะยุบ อุณหภูมิพุ่งขึ้นถึง 55,000 ล้านองศาเซลเซียส แรงกดดันของความโน้มถ่วงนั้นไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ เหล็กแต่ละก้อนที่ใหญ่กว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ถูกบีบอัดจนเป็นเม็ดทรายยิบย่อยในพริบตา อะตอมแตกสลาย เป็นอิเล็กตรอน โปรตรอน และนิวตรอน ซึ่งถูกบดละเอียด ลงไปอีกเป็นควาร์ก เลปตอน และกลูออน แล้วป่นเล็กลง ๆ และแน่นขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง…
จนกระทั่งถึงไหนไม่มีใครรู้ การพยายามอธิบายปรากฏ- การณ์ยิ่งใหญ่เช่นนี้ด้วยทฤษฎีการทำงานของเอกภพทั้งสอง ทฤษฎีหลัก คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปและกลศาสตร์ ควอนตัม ต่างให้ผลสะเปะสะปะทั้งคู่แล้วดาวดวงนั้นก็กลายเป็นหลุมดำ
สิ่งที่ทำให้หลุมดำเป็นหุบเหวมืดมนที่สุดในเอกภพ คือความเร็วที่ต้องใช้ในการหลุดจากความโน้มถ่วงของมัน การออกจากโลกต้องใช้ความเร็วประมาณ 11 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าลูกปืนถึงหกเท่า แต่จรวดที่มนุษย์สร้าง ก็ทำความเร็วหลุดพ้นได้ตั้งแต่ปี 1959 เอกภพจำกัดความเร็วไว้ที่ 299,792 กิโลเมตรต่อวินาที นั่นคือความเร็ว แสงซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะหลุดจากเงื้อมมือของหลุมดำ อยู่ดี ฉะนั้นอะไรที่อยู่ในหลุมดำ ต่อให้เป็นลำแสง ก็ไม่มีทางเล็ดลอดออกมาได้ และความพิลึกบางอย่างของความ โน้มถ่วงสุดขั้วก็ทำให้เรามองเข้าไปในหลุมดำไม่ได้ หลุมดำ จึงเปรียบได้กับดินแดนที่ถูกเนรเทศจากทุกสิ่งในเอกภพ เส้นแบ่งระหว่างข้างนอกกับข้างในหลุมดำคือสิ่งที่เรียกว่า ขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) อะไรก็ตามที่ข้าม ขอบฟ้าเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ หรือมนุษย์ จะหายสาบสูญไปตลอดกาล
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักคิดผู้มีจินตนาการปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วิชาฟิสิกส์ ไม่เคยเชื่อว่า หลุมดำมีอยู่จริง สูตรของเขายอมรับการมีอยู่ของหลุมดำ แต่เขารู้สึกว่าธรรมชาติไม่มีทางยอมเด็ดขาด สิ่งที่ผิดธรรมชาติที่สุดสำหรับไอน์สไตน์คือความคิดที่ว่า ความโน้มถ่วงสามารถครอบงำแรงที่น่าจะยิ่งใหญ่กว่า เช่น แรงแม่เหล็กไฟฟ้าหรือแรงนิวเคลียร์ และเป็นเหตุให้แกน ของดาวมหึมาหายวับไปจากเอกภพได้ราวกับเวทมนตร์ของ นักมายากล
ไอน์สไตน์ไม่ใช่คนเดียวที่คิดอย่างนั้น ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า วัตถุใดจะหนาแน่นถึงกับสามารถรวบแสงไว้ใน “กำมือ” ได้
กระนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็นึกสงสัยในความเป็นไปได้มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปด จอห์น มิเชลล์ นักปรัชญาชาวอังกฤษ กล่าวถึงความคิดนี้ในรายงานถึงราชสมาคมแห่งลอนดอนเมื่อปี 1783 ไม่มีใครเรียกวัตถุสุดหนาแน่น แสนพิสดารนี้ว่าหลุมดำ แต่เรียกชื่อต่าง ๆ นานาว่า ดาวยะเยือก ดาวมืด ดาวยุบ หรือภาวะเอกฐานของ ชวาร์ซชิลด์ (Schwarzschild singularity) ตามชื่อ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้แก้สมการเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับ หลุมดำไว้มากมาย คำว่า “หลุมดำ” ใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1967 ในปาฐกถาของจอห์น วีเลอร์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ความคิดเกี่ยวกับหลุมดำก็ พลิกผันไปอย่างมาก สืบเนื่องจากเหตุผลหลักคือการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ในการส่องห้วงอวกาศ นับตั้งแต่รุ่งอรุณแห่งมนุษยชาติ การมองเห็นของเราจำกัดอยู่ที่สเปกตรัมของแสงที่ตามองเห็นได้ แต่ในทศวรรษ 1960 กล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์และกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้นักดาราศาสตร์รับแสงใน ความยาวคลื่นซึ่งสามารถส่องทะลุฝุ่นระหว่างดาว และทำให้เราเห็นเข้าไปถึงใน “กระดูก” ของดาราจักร ราวกับการเอกซเรย์ในโรงพยาบาล
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบอย่างไม่คาดคิดคือ ดาราจักรส่วนใหญ่ในเอกภพซึ่งมีอยู่มากกว่าหนึ่งแสนล้านดาราจักร มีศูนย์กลางที่อัดแน่นไปด้วยดาว แก๊ส และฝุ่น ณ ใจกลางของดินแดนอันสับสนอลหม่านในแทบจะทุกดารา-จักรที่มองเห็นได้นี้ รวมถึงทางช้างเผือกของเราด้วย คือวัตถุที่ทั้งหนักและเล็กมาก และมีความโน้มถ่วงรุนแรงยิ่ง จนไม่ว่าจะวัดอย่างไรก็มีคำอธิบายวัตถุนี้ได้เพียงอย่างเดียว มันคือหลุมดำนั่นเอง
หลุมเหล่านี้ใหญ่มหึมา หลุมดำที่ใจกลางทางช้างเผือก นั้นหนักกว่าดวงอาทิตย์ 4.3 ล้านเท่า ขณะที่ดาราจักรแอนดรอเมดาเพื่อนบ้านของเรามีหลุมดำที่หนักเท่ากับ ดวงอาทิตย์ 100 ล้านดวง ส่วนดาราจักรอื่น ๆ น่าจะมี หลุมดำที่หนักเป็นพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์ หรือกระทั่งหมื่นล้านเท่าก็เป็นได้ หลุมดำไม่ได้ใหญ่เช่นนี้ตั้งแต่เกิด แต่มาเพิ่มนํ้าหนักด้วยการกินเหมือนพวกเรานี่เอง
ภายในช่วงเวลาเพียงสามสิบปี ความเห็นของนักฟิสิกส์ก็เปลี่ยนไป หลุมดำที่เกือบจะเป็นเรื่องตลก กลายเป็น ข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง การณ์กลับกลายเป็นว่าหลุมดำมีอยู่ดาษดื่น น่าจะหลายล้านล้านหลุมด้วยซํ้า ถ้าคิดทั้งเอกภพ
ไม่มีใครเคยเห็นหลุมดำ และไม่มีใครจะได้เห็นด้วย เพราะไม่มีอะไรให้เห็น หลุมดำเป็นเพียงจุดว่างเปล่าในอวกาศ ว่างแบบไม่มีอะไรเลยจริง ๆ ตามที่นักฟิสิกส์บอก เรารู้ว่ามีหลุมดำจากผลของสิ่งที่มันกระทำต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อคุณถามผู้เชี่ยวชาญว่า เรามั่นใจแค่ไหนว่าหลุมดำมี อยู่จริง คำตอบที่ติดปากคือร้อยละ 99.9 ถ้าตรงใจกลาง ดาราจักรส่วนใหญ่ไม่มีหลุมดำ ก็ต้องมีสิ่งอื่นที่พิลึกยิ่ง กว่า แต่ข้อสงสัยทั้งมวลอาจหายไปได้ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะนักดาราศาสตร์กำลังจะส่องดูหลุมดำหลุมหนึ่งในขณะที่มันสวาปาม
หลุมดำใจกลางทางช้างเผือกซึ่งห่างจากเรา 26,000 ปีแสง คือหลุมดำคนยิงธนูเอ* (Sagittarius A* เขียน ย่อว่า Sgr A*) ชื่อหลังอ่านว่า เอ-สตาร์ (A-star) ขณะนี้ มันดูสงบและออกจะจู้จี้กับการกิน ขณะที่ดาราจักรอื่น ๆ มีวัตถุจอมเขมือบที่สวาปามทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ วัตถุนั้นเรียกว่า เควซาร์
แต่หลุมดำคนยิงธนูเอ* กำลังเตรียมตัวกิน มันดูดเมฆแก๊สจี2 (G2) เข้าหาด้วยความเร็วประมาณ 3,000 กิโลเมตร ต่อวินาที ภายในไม่เกินหนึ่งปี เมฆแก๊สจี2 จะไปถึง ขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ ถึงตอนนั้น กล้องโทร- ทรรศน์วิทยุทั่วโลกจะเล็งไปทางหลุมดำคนยิงธนูเอ* และ ด้วยการรวมสัญญาณจากทุกกล้องเข้าเป็นกล้องโทรทรรศน์ วิทยุเสมือนที่มีขนาดใหญ่เท่าโลกเรียกว่า กล้องโทรทรรศน์ ขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon Telescope) เราจะ สร้างภาพสด ๆ ของหลุมดำ สิ่งที่เห็นจะไม่ใช่ตัวหลุมดำเอง แต่น่าจะเป็นสิ่งที่รู้จักกันในชื่อ จานพอกพูนมวล (accretion disk) หรือเศษซากที่แผ่เป็นวงแหวนรอบหลุมดำ ภาพนี้ น่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอถึงการมีอยู่ของหลุมดำ
หลุมดำไม่เพียงมีอยู่จริง แต่ยังอาจช่วยกระจายสสาร ไปในเอกภพอีกด้วย สสารที่หลั่งไหลเข้าสู่หลุมดำจะเสียดสีกันจนร้อนจัด อีกทั้งหลุมดำยังหมุนวนประหนึ่งบ่อนํ้าวน อันลึกลํ้าในห้วงอวกาศ ทั้งความเสียดทานและการหมุนวน ผสมกันทำให้สสารที่ไหลเข้าหาหลุมดำซึ่งอาจมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ พุ่งผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์ แต่ถูกเหวี่ยงออกไปแทน
สสารร้อนแรงนี้ถูกชักนำเข้าเป็นกระแสลำสสารที่พุ่ง ออกจากหลุมดำสู่อวกาศด้วยความเร็วสูงอย่างเหลือเชื่อ ลำสสารนี้อาจพุ่งทะลุดาราจักรไปไกลหลายล้านปีแสง พูดอีกนัยหนึ่งคือ หลุมดำหมุนปั่นดาวเก่าแก่ในศูนย์กลางดาราจักร แล้วฉีดลำแก๊สร้อนที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ ออกสู่ส่วนนอกของดาราจักร ในที่สุดแก๊สนั้นจะเย็นลง รวมตัวกัน และเกิดเป็นดาวดวงใหม่ สร้างชีวิตให้ดาราจักรราวกับเป็นนํ้าพุแห่งความเยาว์วัย
อ่านเพิ่มเติม : ยลโฉมชุดอวกาศแห่งอนาคต, รำลึก 48 ปีของการขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ ด้วยชุดภาพถ่ายหาดูยากจากนาซ่า
มีอยู่สองสามเรื่องเกี่ยวกับหลุมดำที่ต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง หลุมดำมีแรงดูดไม่ต่างจากดาวธรรมดาดวงหนึ่ง แต่ต้องนับว่าแรงสุดขีดเมื่อเทียบกับขนาดของมัน ลอง คิดเล่นๆ ว่า ถ้าจู่ๆ ดวงอาทิตย์กลายเป็นหลุมดำขึ้นมา มวลของมันจะยังเหมือนเดิม แต่เส้นผ่านศูนย์กลางจะหดจาก 1,392,000 กิโลเมตร เหลือไม่ถึง 6.5 กิโลเมตร โลกจะมืดมิดและหนาวเย็นทันที แต่ยังอยู่ในวงโคจรเดิมรอบดวงอาทิตย์ หลุมดำอดีตดวงอาทิตย์นี้จะยังดึงดูดโลกเหมือนกับดวงอาทิตย์ทั้งดวง
ดังนั้นวางใจได้ว่า หลุมดำไม่ดูด (อย่างน้อยก็ไม่ใช่อย่างที่นวนิยายวิทยาศาสตร์ทำให้หลายคนเชื่อว่า หลุมดำจะดูดกินทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งพวกเรา) เรื่องถัดไปเกี่ยวกับ เวลาจะพิสดารกว่ามาก เวลากับหลุมดำมีความสัมพันธ์ สุดประหลาด ความจริงเวลาโดยตัวมันเองก็เป็นแนวคิดแปลกประหลาดอยู่แล้ว คุณอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เวลาเป็นสิ่งสัมพัทธ์” หมายความว่า เวลาไม่ได้เคลื่อนไป ด้วยความเร็วเท่ากันสำหรับทุกคน ไอน์สไตน์ค้นพบว่า ความโน้มถ่วงมีผลกับเวลา ถ้าคุณวางนาฬิกาที่เที่ยงตรง มากไว้บนตึกระฟ้าทุกชั้น นาฬิกาจะเดินไม่เท่ากัน นาฬิกา บนชั้นล่างซึ่งใกล้ใจกลางโลกมากกว่า ต้องเผชิญแรง โน้มถ่วงมากกว่า จึงเดินช้ากว่านาฬิกาที่ชั้นบนสุด คุณไม่เคยสังเกตเรื่องนี้เพราะความแตกต่างนั้นมีน้อยเหลือเกิน แค่ระดับเศษหนึ่งส่วนพันล้านวินาทีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นาฬิกาบนดาวเทียมจีพีเอสจึงต้องเดินช้ากว่านาฬิกาบนโลกเล็กน้อย มิฉะนั้นระบบจีพีเอสจะสูญเสียความแม่นยำทันที
ด้วยความโน้มถ่วงที่ดึงดูดอย่างเหลือเชื่อ หลุมดำ คือยานเวลาหรือไทม์แมชีนดี ๆ นี่เอง ลองขึ้นจรวดไปหาหลุมดำคนยิงธนูเอ* เขยิบเข้าใกล้ขอบฟ้าเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุด แต่อย่าข้ามไป ทุกนาทีที่คุณอยู่ตรงนั้น เท่ากับเวลาในโลกผ่านไปแล้วหนึ่งพันปี และถ้าคุณข้ามขอบฟ้าเหตุการณ์ไปจะเกิดอะไรขึ้น คนข้างนอกจะมองไม่เห็นคุณหล่นลงไป สิ่งที่เห็นคือ คุณจะค้างอยู่ตรงขอบหลุมดำ หยุดอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น ตลอดกาล
แต่ถ้าว่ากันตามตำราแล้วคงไม่ตลอดกาล ไม่มีอะไร คงอยู่ชั่วนิรันดร์ แม้กระทั่งหลุมดำ สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ พิสูจน์แล้วว่าหลุมดำรั่วได้ การ เล็ดลอดออกไปเรียกว่า การแผ่รังสีฮอว์กิง (Hawking radiation) นานเข้าหลุมดำจะระเหยหายไปเอง แต่ต้องนานชั่วกัปชั่วกัลป์ จนหลุมดำอาจเป็นวัตถุชนิดเดียวที่เหลืออยู่ในเอกภพในอนาคตอันไกลโพ้น
ผู้สังเกตการณ์ด้านนอกอาจไม่เห็นคุณหล่นลงไปในหลุมดำ แต่จะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ หลุมดำคนยิงธนูเอ* นั้นใหญ่มากเสียจนขอบฟ้าเหตุการณ์ของมันอยู่ห่างจาก ศูนย์กลางราว 13 ล้านกิโลเมตร สิ่งที่เกิดขึ้นขณะข้าม ขอบฟ้าเหตุการณ์ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันในวงการฟิสิกส์ เป็นไปได้ว่าที่นั่นมีสิ่งที่เรียกว่า กำแพงไฟ และเมื่อไปถึง ขอบฟ้าเหตุการณ์ คุณก็จะไหม้เป็นจุณทันที
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปทำนายว่า เมื่อคุณข้ามขอบฟ้าเหตุการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างอื่น นั่นคือไม่เกิดอะไรเลย คุณจะข้ามไปโดยไม่รู้ตัวว่าได้หายไป จากการรับรู้ของส่วนอื่นในเอกภพแล้ว ว่ากันว่าหลุมดำนั้น ลึกไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่เป็นความจริง หลุมดำมีก้นหลุม แต่คุณจะไม่มีชีวิตอยู่ได้เห็นมัน ความโน้มถ่วงจะเพิ่มขึ้น ขณะคุณหล่นลงไป หากหล่นโดยเอาเท้าลง ส่วนเท้าของคุณจะประสบกับแรงดึงมากกว่าส่วนศีรษะ ตัวคุณจะถูกยืดออกจนขาดออกจากกัน นักฟิสิกส์เรียกสิ่งนี้ว่า “การทำให้กลายเป็นสปาเกตตี”
แต่ชิ้นส่วนของคุณจะตกถึงก้นหลุม ณ ใจกลางหลุมดำ มีแดนปริศนาเรียกว่า ภาวะเอกฐาน (singularity) การ เข้าใจภาวะเอกฐานได้จะเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คุณต้องสร้างทฤษฎีใหม่ให้ก้าวลํ้าทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ และกลศาสตร์ควอนตัม ทฤษฎีทั้งสองจำลองความเป็นจริง ได้ดี ยกเว้นในบริเวณสุดขั้วอย่างภายในหลุมดำ
ภาวะเอกฐานในจินตนาการจะเล็กแสนเล็ก แล้วเล็ก ยิ่งกว่านั้นอีก ต่อให้ขยายภาวะเอกฐานขึ้นล้านล้านเท่า สองหน กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงที่สุดในโลกก็ยังมองไม่เห็น แต่มี บางสิ่ง อยู่ตรงนั้นแน่ๆ อย่างน้อยก็ในเชิงคณิตศาสตร์ บางสิ่งนั้นไม่ใช่แค่เล็ก แต่ยังหนักเกิน กว่าจะคิดจินตนาการได้อีกด้วย แต่อย่าสนใจเลยว่ามัน คืออะไร นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่บอกว่ามีหลุมดำอยู่ แต่ไม่มีทางผ่านเข้าไปได้ เราจะไม่มีวันรู้ว่าในภาวะเอกฐานมีอะไร
แต่นักคิดนอกกรอบสองสามคนยืนยันว่าไม่ใช่แบบนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความคิดที่ยอมรับกันมากขึ้นในหมู่ นักฟิสิกส์ทฤษฎีคือ เอกภพของเราไม่ใช่ทั้งหมด ในความเป็นจริงเราอยู่ในพหุภพ (multiverse) หรือเอกภพจำนวนมากซึ่งต่างคนต่างอยู่เหมือนรูพรุนในฟองนํ้า ทฤษฎีซึ่งยัง เป็นที่ถกเถียงกันมากนี้บอกว่า การสร้างเอกภพใหม่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคุณนำสสารจากเอกภพที่มีอยู่แล้วไปอัดจนเหลือนิดเดียว แล้วปิดผนึก
ฟังดูคุ้นหูบ้างไหม อย่างไรก็ตาม เรารู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาวะเอกฐานอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เอกภพของเราอุบัติ ขึ้นเมื่อ 13,800 ล้านปีก่อนในการระเบิดครั้งใหญ่หรือ บิ๊กแบง ชั่วขณะก่อนหน้านั้น ทุกสิ่งถูกอัดไว้ในจุดที่เล็ก เป็นอนันต์และหนาแน่นสุดขีด ซึ่งก็คือภาวะเอกฐาน บางทีพหุภพอาจเป็นเหมือนต้นโอ๊ก วันดีคืนดีผลโอ๊กก็ร่วงลงดินที่อุดมสมบูรณ์ และงอกเป็นต้นใหม่ทันที เช่นเดียวกับภาวะเอกฐานที่เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ของเอกภพใหม่
ดังนั้น หลักฐานว่าอะไรอยู่ในหลุมดำก็ชักจะน่าเชื่อถือ ลองมองไปทางซ้าย มองไปทางขวา แล้วหยิกตัวเองดู หลุมดำหลุมหนึ่งอาจเกิดขึ้นในอีกเอกภพหนึ่ง แต่เราอาจกำลังอยู่ในหลุมดำหลุมนั้น
อ่านเพิ่มเติม : ยลโฉมชุดอวกาศแห่งอนาคต, รำลึก 48 ปีของการขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ ด้วยชุดภาพถ่ายหาดูยากจากนาซ่า