ชวนไขที่มาของ ตัวการ์ตูน ที่อ้างอิงจากสัตว์ตัวจริงในธรรมชาติผ่านนักชีววิทยา

ชวนไขที่มาของ ตัวการ์ตูน ที่อ้างอิงจากสัตว์ตัวจริงในธรรมชาติผ่านนักชีววิทยา

ชวนไขที่มาของ ตัวการ์ตูน ที่อ้างอิงจากสัตว์ตัวจริงในธรรมชาติผ่านนักชีววิทยา

สัตว์นานาชนิดที่ปรากฏเป็น ตัวการ์ตูน ในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน เกม หรือภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้ ถ้ามองโดยผิวเผิน เราอาจไม่ทราบว่ามันอาจมีตัวตนจริง และอาศัยอยู่สักแห่งบนโลกที่กว้างใหญ่ใบนี้ แต่ถ้าเรารับชมสื่อผ่านแว่นทางชีววิทยา ก็อาจทำให้เราเข้าใจที่มา สาเหตุหรือพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นที่ฉายอยู่บนสื่อได้

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2022 โซน Explorer นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย จัดการเสวนาที่ชวนเราย้อนวัยไปกับตัวละครในการ์ตูนดังที่อ้างอิงจากสัตว์ตัวจริงในธรรมชาติ ผ่านประสบการณ์ของฐานะนักวิจัยในดินแดนแห่งเสรีภาพ อย่างสหรัฐอเมริกา ของ ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ หรือ วิน นักชีววิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ National Geographic Explorer ผู้มีงานวิจัยในสื่อต่างๆ เช่น National Geographic, New York Times รวมถึง งานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของสารคดีชุด Super/Natural ของดิสนีย์

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ หรือ วิน นักชีววิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ National Geographic Explorer

มาดูกันว่าต้นกำเนิดสัตว์จากโลกภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องมีอะไรกันบ้าง

การตามหา Pikachu จากเกมโปเกมอนตัวจริง บนเทือกเขาร็อกกี้

“ปิกะ ปิก้า ปิกาจู!”

ปิกาจู หรือตัวละครมาสคอตจากโลกโปเกมอนที่ใครหลาย ๆ คนนึกถึงลักษณะที่คล้ายหนู มีหูยาว ตัวสีเหลือง แก้มสีแดงทั้งสองข้าง และมีหางเป็นรูปสายฟ้า แท้จริงแล้วเราสามารถพบปิกาจูในชีวิตจริงได้บนเทือกเขาสูง อากาศหนาวเย็นอย่างเทือกเขาร็อกกี้ในสหรัฐอเมริกา

ตัวการ์ตูน, ปิกกาจู
ที่มา Game Freak

วินได้เล่าย้อนกลับไปในสมัยที่เขาเรียนหนังสืออยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็ทราบจากแหล่งข่าวบนอินเตอร์เน็ตว่าปิกาจูมีอยู่จริง ประกอบกับนิสัยที่ชอบท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติของวินและเป็นแฟนตัวยงของโปเกมอนปิกาจู ทำให้เขาไปตามหาหนูตัวนี้บนเทือกเขาร็อกกี้ในรัฐโคโลราโด เทือกเขานี้ยาวที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ โดยกินพื้นที่ตั้งแต่รัฐทางตะวันตกสุดของประเทศแคนาดา จนถึงรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งติดกับประเทศเม็กซิโก และเมื่อขึ้นไปถึงบนเทือกเขา สิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งอำพรางตัวเองในซอกหิน ถ้ามันไม่ส่งเสียงร้อง ‘ปิ๊ดๆๆ’ สีขนของมันคงกลมกลืนไปกับสีของก้อนหินจนแทบมองไม่เห็นว่ามีสิ่งมีชีวิตนี้อยู่

วิน อธิบายว่า ไพก้า (pika) ไม่ใช่หนู แต่เป็นสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับกระต่าย เช่นเดียวกับหนูที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับกระรอก เจ้าไพก้านี้จะอาศัยอยู่บนภูเขาสูง ที่มีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น ไพก้าจะตายหากอยู่ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ การอยู่บนพื้นที่สูงทำให้เจ้าไพก้าอยู่ใกล้ชิดกับก้อนเมฆ และมักจะเป็นบริเวณที่มีฟ้าผ่า คล้ายกับปิกาจูที่สามารถปล่อยพลังสายฟ้าได้

ตัวการ์ตูน, ปิกกาจู
Photo: Cody Looman

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ อัตสึโกะ นิชิดะ (Atsuko Nishida) ศิลปินที่ออกแบบปิกาจูได้ออกมาเปิดเผยว่าแรงบันดาลใจในการสร้างปิกาจูไม่ใช่หนู (ไพก้า) แต่เป็นกระรอก เดิมทีจะให้ปิกาจูเป็นสีชมพูแต่ก็เปลี่ยนใจใช้สีเหลืองแทนเพราะเชื่อว่าปิกาจูตัวสีเหลืองจะเข้าถึงคนอื่นได้ง่ายกว่า อัตสึโกะยังไขความกระจ่างจากชื่อของ Pikachu ว่า ‘pika pika’ เป็นคำเสียงเลียนธรรมชาติในภาษาญี่ปุ่นขณะฟ้าผ่า และ ‘chu chu chu’ ก็เป็นคำเลียนเสียงร้องของหนูเหมือนเสียง จี๊ดๆๆๆ

เรื่องของหมาป่า Coyote และนก Road Runner จากการ์ตูน Looney Tunes ที่ทะเลทรายในอเมริกา

ขณะที่วินพานักเรียนไปทำงานวิจัยที่ทะเลทรายหนึ่งในสหรัฐ เพื่อศึกษาหาปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหนูในทะเลทรายสองสายพันธุ์ ทีมวิจัยได้นำกล้อง camera trap ไปตั้งในละแวกเต็นท์ที่พัก วินกล่าวว่า เมื่อตกดึกเขาได้ยินเสียงอะไรบางอย่างนอกเต็นท์ เมื่อออกมาช่วงเช้ามืดก็เจอมูลของสัตว์ จึงไปตรวจที่กล้องก็พบว่ากล้องได้บันทึกภาพหมาป่าไคโยตีตัวหนึ่งเดินผ่านหน้าเต็นท์ไป

ตัวการ์ตูน, ไคโยตี

ไคโยตี (Coyote) หรือสุนัขสีน้ำตาลจอมเด๋อจากเรื่องลูนีย์ตูนส์ (Looney Tunes) การ์ตูนคอเมดีสุดฮิตของอเมริกา หมาไคโยตีนี้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในทะเลทราย ออกหากินในเวลากลางคืน ในการ์ตูนไคโยตีมักจะสรรหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อไล่จับนกโรดรันเนอร์ (Road Runner) อยู่เสมอแต่ก็ไม่เคยจับมันได้สำเร็จ เพราะความสามารถในการวิ่งเร็วของนกตัวนี้ เราจึงเห็นว่าโรดรันเนอร์ไม่ค่อยชอบบิน และมีลักษณะคล้ายกับนกกาเหว่า หากแตกต่างกันที่นกกาเหว่าออกไข่ให้ตัวอื่นเลี้ยงแทน

ตัวการ์ตูน,

ตัวการ์ตูน,
Photo: Warner Bros

ยิ่งน่าตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ เมื่อสำนักข่าวแห่งหนึ่งเผยแพร่คลิปวิดีโอหมาไคโยตีวิ่งไล่นกโรดรันเนอร์ในชีวิตจริง จากการค้นพบนี้ก็ทำให้เราทราบว่าหมาป่าไคโยตีและโรดรันเนอร์มีตัวตนอยู่จริง ๆ แถมยังมีพฤติกรรมไล่ล่า-วิ่งหนีเหมือนในการ์ตูนอีกด้วย!

ความลับของหอยนางรมในเรื่อง Alice in Wonderland

หากกล่าวถึง อลิซในแดนมหัศจรรย์ นวนิยายระดับโลก มีต้นฉบับจากสหราชอาณาจักร ได้เล่าเรื่องสาวน้อยนามว่า อลิซ วิ่งตามกระต่ายสีขาวเข้าไปในโพรงกระต่าย และไปโผล่ในโลกแฟนตาซีมหัศจรรย์ ระหว่างทางเธอได้เจอกับสิ่งมีชีวิตและเรื่องราวสุดแปลกประหลาดมากมาย หนึ่งในนั้นคือการบังเอิญได้พบกับฝาแฝดทวีเดิลดีกับทวีเดิลดัม (Tweedledee and Tweedledum) สองพี่น้องได้เล่าถึงความโหดร้ายของวอลรัสกับช่างไม้ (the Walrus and the Carpenter) ที่ทำกับเหล่าหอยนางรมตัวน้อย ๆ  ให้อลิซฟัง

ตัวการ์ตูน,

“วอลรัสกับช่างไม้เป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งเขาอยากกินหอยนางรม ก็เดินไปหลอกแม่หอยนางรมว่าขอพาลูกๆ ขึ้นมาเดินเล่นบนบกได้ไหม แม่หอยก็หันไปดูปฏิทิน ก็เห็นว่าอยู่ในเดือน MARCH แม่หอยนางรมเตือนลูก ๆ ว่าหอยไม่ควรออกไปเดินบนบกในเดือนที่มีตัว R แต่สุดท้ายแล้วเจ้าวอลรัสก็หลอกล่อลูกหอยนางรมขึ้นมาบนบกได้สำเร็จและจับกินหมดจนเกลี้ยง”

ตัวการ์ตูน,

เหตุผลที่แม่หอยนางรมห้ามลูก ๆ ขึ้นมาบนบกในช่วงเดือนที่มีตัว R ยังคงเป็นปริศนาสำหรับวิน จนกระทั่งเขาเข้าร่วมประชุมงานวิชาการที่เมืองนิวออลีน รัฐหลุยเซียนา วินเล่าว่า “รุ่นพี่คนไทยที่รู้จักกับป้าคนไทยที่อยู่ที่นั่นมา 40 ปี คุณป้าอึ่งและคุณลุงสมนึกได้พาไปเลี้ยงอาหารเมนูหอยนางรม แล้วคุณป้าก็พูดว่า รู้ไหมว่าหอยนางรมที่ดีควรจะกินในเดือนที่มีตัว R” ในอีกนัยหนึ่งเราไม่ควรกินหอยนางรมในเดือนที่ไม่มีตัว R หรือเดือนในช่วงหน้าร้อนอย่าง May June July และ August

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองนิวออลีน รัฐหลุยเซียนา

วินอธิบายว่าฤดูร้อนในประเทศเขตอบอุ่น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น แพลงก์ตอนในทะเลจะโตขึ้นเร็วกว่าปกติ จึงมีการสะสมของสารพิษตะกั่วเกิดขึ้น คนในอดีตจึงไม่กินหอยนางรมในช่วงนี้ แต่สำหรับเหล่าหอยนางรมแล้วหน้าร้อนเป็นฤดูที่เป็นมิตรต่อการดำรงอยู่ของมันที่สุด

วินยังเสริมอีกว่านักชีววิทยาที่ศึกษาเปลือกหอยนางรมที่รัฐจอร์เจีย เป็นผู้ไขปริศนาความเชื่อเรื่องการกินหอยในเดือนที่มีตัว R ยาวนานกว่า 4,000 ปี โดยทราบอายุเปลือกหอยจากการตรวจสารเคมีสะสมในเปลือกหอย อีกทั้งยังพบว่าในหอยนางรมมีหอยปรสิตอาศัยอยู่ ซึ่งปรสิตหอยมีอายุขัยเพียง 1 ปีเท่านั้น หอยปรสิตสามารถบอกช่วงอายุของหอยได้ สมมติว่าหอยเกิดในเดือนมกราคมและตายในเดือนธันวาคม หอยขนาดเล็กจะเป็นหอยในเดือนมกราคม หอยขนาดใหญ่ก็เป็นหอยในเดือนธันวาคม

ด้วยเหตุที่ว่าทำไมจึงไม่กินหอยในช่วงฤดูร้อน ก็เพราะว่านักชีววิทยานี้พบเปลือกหอยที่คนกินแล้วทิ้งไว้บนบกทุกเดือนยกเว้นเดือนในฤดูร้อน และเมื่อนำเปลือกหอยมาตรวจหาช่วงอายุผ่านปรสิตหอย กลับไม่พบหอยปรสิตใดที่บอกอายุเปลือกหอยในช่วงเดือนฤดูร้อนเลย 

ปลาอะไรส่องแสงได้ในเรื่อง Finding Nemo

ยังจำฉากที่นีโมกับโดรี่พบแสงสว่างบางอย่างใต้ท้องทะเลลึกได้อยู่ไหม? ทั้งสองไล่ตามแสงไฟอย่างมีความสุขจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะแสงนั่นเป็นส่วนหนึ่งของปลาประหลาดน่ากลัวฟันยักษ์ เราจะมาไขความลับกันว่าปลาอะไรที่ส่องแสงได้ใน Finding Nemo แล้วปลานั้นมีจริงหรือไม่

ตัวการ์ตูน,
photo: disney

ย้อนกลับไปสมัยที่วินยังเรียนอยู่ที่ Scripps Institution of Oceanography รัฐแคลิฟอร์เนีย วันหนึ่งในช่วงฤดูร้อน มีโทรศัพท์โทรเข้ามาในห้องเก็บตัวอย่างของสถาบันว่าพบสัตว์ประหลาดมาเกยตื้นที่ชายหาด และพบว่าปลาตัวนั้นเป็นปลาในกลุ่มเดียวกันกับปลา Anglerfish ในน้ำตื้น แต่ปลาตัวนี้เป็นปลาในน้ำลึก ลักษณะร่วมที่สำคัญคือ มีเบ็ดตกปลาอยู่ที่หัวเล็ก ๆ

ตัวการ์ตูน,

“ปลา Anglerfish ใน Finding Nemo มีอยู่จริง ปลาตัวนี้เป็นปลาในทะเลน้ำลึก ซึ่งมืดมาก จึงต้องสร้างแสงเพื่อล่อเหยื่อด้วยตัวเอง โดยตรงกระเปาะมีกลุ่มของแบคทีเรียอาศัยอยู่ช่วยให้เรืองแสง ซึ่งแตกต่างจากหิ่งห้อยที่มีการปล่อยเอนไซม์ เกิดการแตกสลายแล้วค่อยเรืองแสง” วินกล่าว

เป็นเรื่องราวสมเหตุสมผลที่มาร์ลินและโดรี่มีพฤติกรรมว่ายน้ำเข้าหาแสง เรียกว่า พฤติกรรมสัญชาตญาณ (innate behavior) กล่าวคือ โดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตจะเคลื่อนที่เข้าหาแสง เพราะแสงเป็นแหล่งอาหารให้พืชสังเคราะห์ จนมีสัตว์เข้ามาบริโภคจนเกิดเป็นห่วงโซ่อาหาร สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำลึกจะไม่เห็นแสงทั้งชีวิต แต่เมื่อเห็นดวงไฟก็จะพุ่งเข้าหาโดยสัญชาตญาณ เช่นเดียวกับร่างกายมนุษย์เมื่อไปสัมผัสความร้อนจะมีการสะดุ้งกลับอัตโนมัติ

นอกจาก Anglerfish ยังมีหลายสายพันธุ์แล้ว ลักษณะที่โดดเด่นของปลาชนิดนี้คือ ตัวเมียมีรูปร่างใหญ่กว่าตัวผู้ ทำหน้าที่หาอาหาร ในขณะตัวผู้มีขนาดเล็กจิ๋ว ไม่มีก้านที่หัว ไม่หาอาหาร จะหาตัวเมียเพียงอย่างเดียว เมื่อตัวผู้หาตัวเมียเจอแล้ว ตัวผู้จะกัดที่พุงของตัวเมีย เส้นเลือดของตัวผู้และตัวเมียก็จะรวมกัน ตัวผู้จะได้อาหารจากตัวเมียอย่างเดียวและแบ่งสเปิร์มให้ตัวเมียสืบพันธุ์ โดยในหนึ่งตัวของตัวเมีย สามารถมีตัวผู้มากกว่า 3 ตัวก็เป็นได้

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่าเพราะเหตุใดปลาพวกนี้สามารถเชื่อมต่อเส้นเลือดกันได้เลยโดยที่ไม่มีการขัดกันทางสายโลหิตเหมือนมนุษย์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการแพทย์ในอนาคต

Alien vs Predator

วินกล่าวว่าเขาเคยไปออกเรือเพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำลึก หนึ่งในสัตว์ที่เขาเก็บได้และมีข้อมูลคาดว่าน่าจะเป็นที่มาของเอเลี่ยนจากภาพยนตร์ Alien vs Predator คือ แอมพิพอด (Amphipod) สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง อาศัยทั้งในน้ำและบนบก ข้อสังเกตคือแอมพิพอดเป็นปรสิตในสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง แต่เราจะไม่เรียกแอมพิพอดว่าปรสิต จะเรียกว่าพาราซิตอยด์ (parasitoid) แทน

ปรสิต คือ สิ่งมีชีวิตอาศัยร่างโฮสอยู่ ดูดกินอาหารจากโฮสแต่ไม่ฆ่าโฮสให้ตาย เช่น พยาธิ ในขณะที่พาราซิตอยด์ คือ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยร่างโฮสอยู่ ดูดกินอาหารจากโฮส และฆ่าโฮสไปด้วย ถ้าแอมพิพอตเข้าไปอยู่ในร่างใครตัวนั้นก็จะตาย เหมือนที่เอเลี่ยนในหนังที่เข้าไปอาศัยในร่างคน (โฮส) กัดกินภายในของคน และเมื่อตัวเอเลี่ยนพุ่งออกมาจากร่าง คนนั้นก็จะตาย

ในขณะที่พรีเดเตอร์เชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมากจากปลา Sarcastic fringehead เป็นปลาที่อเมริกันชนรู้จัก และรับรู้การมีตัวตนอยู่ของปลาตัวนี้เป็นอย่างดี

ตัวการ์ตูน,
รูปถ่าย Quora
ตัวการ์ตูน,
รูปถ่าย Oriana Poindexter

ตัวละครสัตว์ในโลกภาพยนตร์ทั้งห้าเรื่องนี้ล้วนได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจากสิ่งมีชีวิตจริง เรียกได้ว่าเป็นความใส่ใจในรายละเอียดของผู้ผลิตตัวละครเหล่านี้ที่เลียนแบบรูปลักษณ์ และพฤติกรรมสัตว์จนออกมาเป็นผลงานภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลก

(ชมคลิปวิดีโอบันทึกการเสวนาบางส่วนได้ที่นี่)

เรื่อง สุดาภัทร ฉัตรกวีกุล

โครงการสหกิจศึกษา นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ดำเนินรายการ อาศิรา พนาราม


อ่านเพิ่มเติม นักสำรวจที่เล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนโลก ใน National Geographic Talk ครั้งแรกที่ไทย

Recommend