การเกิดดินถล่มในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

การเกิดดินถล่มในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน จนดินบนภูเขาดูดซับน้ำไว้ในปริมาณมาก มักจะเกิดเหตุการณ์ ดินถล่ม ปรากฏบนหน้าสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง

ดินถล่ม (Landslide) หรือ “โคลนถล่ม” คือ หนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจาก “การย้ายมวล” (Mass Wasting) หรือการเคลื่อนตัวของดิน หิน โคลน หรือเศษซากต่าง ๆ ตามความลาดชันของพื้นที่ ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลก โดยทั่วไปแล้ว ดินถล่มมักเกิดขึ้นตามหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินไหว หรือขณะเกิดพายุฝนรุนแรงที่ทำให้มวลของดินไม่สามารถคงตัวอยู่ได้

ดินถล่ม, ปรากฏการณ์, ทางธรรมชาติ, การเกิดดินถล่ม, โคลนถล่ม

ดินถล่มจึงเป็นภัยพิบัติที่มักเกิดขึ้นจากการมีตัวกลาง เช่น น้ำ กระแสลม และธารน้ำแข็ง เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ดินมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือมีแรงยึดเกาะระหว่างมวลดินลดลง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายมวลดินหรือ “การพัดพา” (Transportation) ที่นำไปสู่การถล่มลงมานั่นเอง

ดินถล่มสามารถจำแนกออกเป็น 6 ประเภท ตามวัสดุที่พังทลายและลักษณะการเคลื่อนที่ ดังนี้

ดินถล่ม, ปรากฏการณ์, ทางธรรมชาติ, การเกิดดินถล่ม, โคลนถล่ม

  1. การร่วงหล่น (Fall) คือ การเคลื่อนที่ลงในแนวดิ่งอย่างอิสระ ทั้งการถล่มลงมาโดยตรงหรือมีการเคลื่อนที่ลงมาตามลาดเขาเล็กน้อย โดยปราศจากปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ตะกอนดินหรือหินที่พังทลายลงมามักกองสะสมกันอยู่บริเวณเชิงเขาหรือใกล้กับหน้าผาด้านล่างที่เรียกว่า “ลานหินตีนผา” (Talus) มักเกิดจากหินที่อยู่ตามหน้าผาหรือ “หินหล่น” (Rock Fall)
  2. การทลาย (Avalanche) คือ การเคลื่อนที่ลงมาอย่างรวดเร็วในลักษณะทั้งร่วงหล่น ไถล และกระเด็นกระดอน มักเกิดในบริเวณที่มีความลาดชันสูง เช่น หินทลาย (Rock Avalanche) เศษหินทลาย (Debris Avalanche) และ หิมะทลาย (Snow Avalanche)
  1. การลื่นไถลหรือเลื่อนถล่ม (Slide) คือ การเคลื่อนที่ตามความชันระดับปานกลาง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ทิศทางหรือระนาบการเคลื่อนที่มากนัก และมักมีปัจจัยของน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น การเกิดดินถล่ม (Landslide) หินถล่ม (Rock Slide) และเศษหินถล่ม (Debris Slide) โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบริเวณที่หินมีรอยแตกหรือชั้นหินมีการวางตัวเอียงเทขนานไปกับความชัน
  2. การล้มคว่ำ (Topple) หรือ การเลื่อนไถล (Slump) คือ การเคลื่อนที่ในลักษณะที่มีการไถลร่วมกับการหมุนของมวลหรือการล้มคว่ำลงมาตามลาดเขา โดยทั่วไป มักเกิดบริเวณเชิงหน้าผาดินหรือหินที่มีรอยแตกและรอยแยกมาก และตามหน้าผาริมชายฝั่งทะเลหรือริมตลิ่งแม่น้ำที่มีการกัดกร่อนสูง และหลังการถล่มมักเกิดเป็นหน้าหน้าผาสูงชันคล้ายกับพระจันทร์เสี้ยว
  1. การไหล (Flow) คือ การเคลื่อนที่ซึ่งมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุด ทำให้ตะกอนของดินมีลักษณะเป็นของไหลที่สามารถเคลื่อนที่ไปบนพื้นระนาบได้รวดเร็วและไปได้ไกล อย่างเช่น ดินไหลหลาก (Earth Flow) ที่สามารถเคลื่อนที่ไปบนพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันต่ำ ด้วยความเร็วประมาณ 10 เมตรต่อชั่วโมงหรือ ตะกอนไหลหลาก (Debris Flow) ที่ปะปนไปกันกับดิน หินและซากต้นไม้
  1. การแผ่ออกทางด้านข้าง (Lateral Spread) และการคืบคลาน (Creep) คือ การเคลื่อนที่บนพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันต่ำ ส่งผลให้การย้ายมวลสารเกิดการเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ ด้วยความเร็วตั้งแต่ 0.5 ถึง 5 เซนติเมตรต่อปี ในบางพื้นที่การคืบคลานมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความชื้น จากการมีน้ำหรือหิมะซึมผ่านชั้นดินลงไปไม่ลึกนัก ทำให้ดินชั้นบนชื้นแฉะและมีความอิ่มตัวสูงกว่าดินหรือหินด้านล่าง ทำให้การยึดเกาะตัวของดินชั้นบนลดลง จนเกิดการไหลเลื่อนลงไปด้านล่างอย่างช้า ๆ

ดินถล่ม, ปรากฏการณ์, ทางธรรมชาติ, การเกิดดินถล่ม, โคลนถล่ม

สาเหตุของการเกิดดินโคลนถล่ม

สาเหตุจากธรรมชาติ (Natural Causes) หรือ ผลจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น การเกิดฝนตกหนัก การละลายของหิมะ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำ การกัดเซาะของดินริมตลิ่งจากกระแสน้ำในแม่น้ำ ลำธาร หรือจากคลื่นซัดชายฝั่ง รวมไปถึงการผุพัง (Weathering) ของมวลดินและหิน และแรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด

ปรากฏการณ์, ทางธรรมชาติ, การเกิดดินถล่ม, โคลนถล่ม

สาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์ (Manmade Causes) ที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรกรรมในพื้นที่ลาดชันเชิงเขา การทำเหมือง การกำจัดพืชปกคลุมดินและการตัดไม้ทำลายป่า การก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงการก่อสร้างที่ปราศจากการคำนวณด้านวิศวกรรมที่ดีพอ กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งความลาดชัน รูปแบบการไหลของน้ำผิวดิน และระดับน้ำบาดาล เป็นต้น

ดินถล่ม, ปรากฏการณ์, ทางธรรมชาติ, การเกิดดินถล่ม, โคลนถล่ม

การเกิดดินถล่มจึงมีปัจจัยและตัวกระตุ้นมากมาย จากทั้งธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ปัจจัยจากความลาดชันและการวางตัวของชั้นหินในพื้นที่เอง ปริมาณน้ำฝนและพืชปกคลุมดิน หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงและภัยธรรมชาติอื่น ๆ

สืบค้นและเรียบเรียง คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/landslide/

http://ndwc.disaster.go.th/cmsdetail.ndwc-9.283/26674/menu_7525/4214.2/รู้จักภัยจาก+ดินถล่มหรือโคลนถล่ม+(Land+Slide)

https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/142-knowledges/2425

http://www.dmr.go.th/download/Landslide/what_landslide1.htm


อ่านเพิ่มเติม ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการปรับปรุงดิน

Recommend