ไข้หวัดนก กลับมาระบาด – องค์การอนามัยโลกเร่งเฝ้าระวัง มีอัตราการตาย 50 เปอร์เซ็นต์ในมนุษย์ – ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ไข้หวัดนก กลับมาระบาด – องค์การอนามัยโลกเร่งเฝ้าระวัง มีอัตราการตาย 50 เปอร์เซ็นต์ในมนุษย์ – ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศเฝ้าระวังเร่งด่วนต่อสถานการณ์ไวรัส ไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 จากเหตุการณ์ที่มีมนุษย์ติดเชื้อและเสียชีวิตในกัมพูชา และคร่าชีวิตนก รวมทั้งสิ่งชีวิตที่ไม่ใช่นกไปมากมาย ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าจะพบผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดในสิ่งมีชีวิตอื่นที่เพิ่มขึ้นมา

“สถานการณ์ H5N1 ทั่วโลกกำลังน่าเป็นห่วง จากการแพร่ระบาดของไวรัสในนกทั่วโลก” ซิลวี ไบรอันด์ (Sylvie Briand) ผู้อำนวยการด้านการเตรียมพร้อมและป้องกันการแพร่ระบาดและการระบาดของหน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติกล่าว “เรากำลังสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับทางการกัมพูชาเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการระบาด”

WHO กล่าวว่า กรณีการติดเชื้อ H5N1 ในมนุษย์เกือบทั้งหมดมาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับนกที่ติดเชื้อ หรือสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อน โดยตั้งแต่ปี 2003 ถึง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2023 มีรายงานว่ามนุษย์ติดเชื้อทั้งหมด 873 ราย และเสียชีวิต 458 รายทั่วโลกใน 21 ประเทศ ทำให้โรคนี้มีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ราว 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงมาก

“องค์การอนามัยโลกยอมรับความเสี่ยงจากไวรัสนี้อย่างจริงจัง และเรียกร้องให้ทุกประเทศเพิ่มความระมัดระวัง” ไบรอันด์กล่าว

จากข้อมูลปัจจุบัน WHO แนะนำว่ายังไม่ต้องจำกัดด้านการเดินทางหรือการค้าใดๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย และทำเช่นเดียวกับการป้องกันไวรัสโควิด-19

ขณะที่กัมพูชาเริ่มสอบสวนเพื่อระบุแหล่งที่มาและการเดินทางของโรค รัฐบาลกำลังดำเนินการในระดับสูงเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรค จนถึงตอนนี้ กัมพูชามีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และมีรายงานผู้ติดเชื้อคนที่ 2 ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดเชื้อคนแรกแต่ไม่แสดงอาการ

หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกกำลังตื่นตัวและประเมินความเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังการระบาดใหญ่ในสัตว์ที่อาจลุกลามได้ โดยที่ผ่านมา H5N1 ได้คร่าชีวิตนกป่าไปแล้วกว่า 63,000 ตัวในเปรู และอีกราว ๆ 6,000 ตัวในสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแค่นั้น ไวรัสยังข้ามไปคร่าชีวิตสิงโตทะเลอีกกว่า 716 ตัวในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศเปรูเช่นเดียวกัน

แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะระบุว่าตัวไวรัสจะติดต่อจากสัตว์สู่คน และคนสู่คนได้ยาก กระนั้น การแพร่ระบาดหลาย ๆ ครั้งก็แสดงให้เห็นว่าตัวมันสามารถพัฒนาให้แทรกซึมในสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายได้มากขึ้น และการแพร่ระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สิงโตทะเล ก็น่าเป็นห่วงว่ามันจะสามารถระบาดในคนได้มากขึ้นเช่นกัน

ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา แนะนำวิธีการป้องกันไว้ว่า หากต้องสัมผัสกับนกป่า ให้สวมหน้ากาก ใส่ถูกมือ และล้างมือทุกครั้ง ในส่วนของการทำอาหาร ให้ปรุงเนื้อสัตว์ปีกและไข่ที่อุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียส (165 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส รวมทั้งเชื้อไข้หวัดนกด้วย

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้โดยตรง ขอให้รีบสังเกตอาการตัวเอง หากผิดปกติ ให้เข้ารับการรักษาทันที โดยการติดเชื้อไข้หวัดนกส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://news.un.org/en/story/2023/02/1133922

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/bird-flu-kills-sea-lions-thousands-pelicans-perus-protected-areas-2023-02-21

https://edition.cnn.com/2023/02/14/health/bird-flu-threat/index.html

Recommend