บรรดานักวิทยาศาสตร์มองเห็นได้เพียงสิ่งมีอยู่ในขอบเขตของเอกภพ เราจะรู้ได้อย่างไรถ้ามีสิ่งใดปรากฏอยู่นอกเหนือเอกภพอย่าง โลกคู่ขนาน
มีสิ่งใดที่ปรากฏอยู่นอกขอบเขตของเอกภพที่มองเห็นได้? เป็นไปได้ไหมที่เอกภพของเราเป็นเพียงหนึ่งเอกภพอีกมากมายในโลกคู่ขนาน ( Multiverse หรือ พหุเอกภพ ) อันกว้างใหญ่ไพศาล?
ภาพยนตร์เรื่องต่างๆ สำรวจคำถามเหล่านี้อย่างไม่รู้จบ ตั้งแต่ผลงานรางวัลออสการ์อย่างซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส (Everything Everywhere All at Once) ไปจนถึงภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่รายได้ถล่มทลายอย่างจอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย (Dr. Strange in the Multiverse of Madness) เรื่องราวในภาพยนตร์ไซไฟนั้นเต็มไปด้วยการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ในความเป็นจริงคู่ขนาน (alternate realities) ต่างๆ
มนุษยชาติมีแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นจริงคู่ขนานมาอย่างยาวนาน เมื่อปี 1848 เอดการ์ แอลลัน โพ ได้เขียนเรื่องราวที่จินตนาการถึงการมีอยู่ของ “ความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไม่รู้จบของเอกภพต่างๆ ” แต่แนวคิดโลกคู่ขนานเริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อบรรดาทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่พยายามอธิบายคุณสมบัติของเอกภพของเรา คาดคะเนถึงการมีอยู่ของเอกภพอื่นๆ ที่มีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือจากความเป็นจริงของเรา
“ในปัจจุบัน ความเข้าใจในเรื่อง “ความเป็นจริง” ของเรายังไม่สมบูรณ์ครับ” Andrei Linde นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าว “ความเป็นจริงคือสิ่งที่ปรากฏอยู่อย่างเป็นอิสระนอกเหนือจากตัวเรา”
หากโลกคู่ขนานมีอยู่จริง เอกภพเหล่านี้ต้องอยู่อย่างเป็นเอกเทศจากเอกภพของเรา, ไม่สามารถเอื้อมถึง และรับรู้ถึงได้โดยตรง (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในขณะนี้) สิ่งนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่า การค้นหามัลติเวิร์สด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นไปได้จริงหรือไม่
จะเป็นไปได้ไหมที่เหล่านักวิทยาศาสตร์แน่ใจได้ว่าเอกภพของเรามีเพียงหนึ่งเดียว? เราวิเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับมัลติเวิร์สซึ่งอาจมีอยู่ รวมถึงเอกภพอื่นๆ ที่มีกฎของฟิสิกส์ของตนเอง และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีตัวตนอื่นๆ ของคุณปรากฏอยู่ในที่ใดสักแห่ง
โลกคู่ขนาน ( Multiverse ) คืออะไร?
โลกคู่ขนานคือคำที่นักวิทยาศาสตร์ใช้อธิบายแนวคิดว่า อาจมีเอกภพอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่นอกเหนือจากเอกภพที่เรามองเห็นได้ มีการคาดคะแนถึงบรรดามัลติเวิร์สด้วยหลายทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายถึงชุดเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่บริเวณต่างๆ ของอวกาศในเอกภพอื่นนอกจากเอกภพของเรา จนถึงเอกภพฟองสบู่ (bubble universe) ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่แยกกันและถือกำเนิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทฤษฎีเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งร่วมกันคือการเสนอแนวคิดที่ว่า ปริภูมิ (space) และกาล (time) ที่เราสังเกตเห็นได้ไม่ใช่ความจริงเพียงหนึ่งเดียว
โอเค … แต่เพราะอะไรที่ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์คิดว่ามีเอกภพมากกว่าหนึ่ง?
“เราไม่สามารถอธิบายส่วนประกอบทั้งหมดของเอกภพของเรา หากมันมีเอกภพเพียงแห่งเดียวครับ” ทอม ซิกฟรีด นักข่าวสายวิทยาศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ The Number of the Heavens ซึ่งสำรวจว่าในช่วงหนึ่งพันปีมานี้ แนวคิดเกี่ยวกับมัลติเวิร์สได้ก่อร่างสร้างวิวัฒนาการไปอย่างไรบ้าง
“เหตุใดที่ค่าคงตัวพื้นฐานของธรรมชาติ (fundamental constants of nature) มีค่าแบบนั้น? เขาสงสัยในคำถามดังกล่าวนี้ “ทำไมมันจึงมีเวลาที่เพียงพอสำหรับการสร้างดวงดาวและดาวเคราะห์ในเอกภพของเรา? เพราะเหตุใดเหล่าดวงดาวจึงส่องแสงในแบบของพวกมัน ด้วยปริมาณของพลังงานที่เหมาะสมพอดี? สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ด้วยทฤษฎีทางฟิสิกส์ของเราครับ”
ซิกฟรีดกล่าวว่า มีคำอธิบายที่เป็นไปได้อยู่สองประการ: อย่างแรก เราต้องการทฤษฎีใหม่ๆ ที่ปรับปรุงขึ้นเพื่ออธิบายถึงคุณสมบัติของเอกภพของเรา หรือ มันเป็นไปได้ว่า “เอกภพของเราเป็นเพียง ‘หนึ่งในบรรดาเอกภพ’ มากมายที่แตกต่างออกไป โดยเราอาศัยอยู่ในเอกภพที่ดีและสะดวกสบาย”
ทฤษฎีซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลาย
แนวคิดที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในเชิงวิทยาศาสตร์ อาจมาจากแนวคิดที่เรียกว่าเอกภพวิทยาการพองตัว (inflationary cosmology) ซึ่งมีทฤษฎีว่า ในเวลาเพียงชั่วขณะหลังการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบง (big bang) เอกภพขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในแบบทวีคูณ การพองตัวของเอกภพให้คำอธิบายมากมายถึงคุณสมบัติที่สังเกตได้ของเอกภพ เช่นโครงสร้างและการกระจายตัวของเหล่ากาแล็กซี
“ตอนแรก ทฤษฎีนี้ดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์สักเรื่อง แต่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ” Linde หนึ่งในผู้คิดค้นทฤษฎีการพองตัวของเอกภพ กล่าว “แต่มันสามารถอธิบายถึงคุณสมบัติที่น่าสนใจของโลกของเราได้มากมาย จนผู้คนเริ่มพิจารณามันอย่างจริงจัง”
หนึ่งในการคาดคะเนของทฤษฎีนี้คือการพองตัวสามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำไปซ้ำมา หรืออาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้มีกลุ่มเอกภพฟองสบู่ (bubble universe) เกิดขึ้น และไม่ใช่ว่าทุกเอกภพเหล่านี้จะมีคุณสมบัติเหมือนเอกภพของเรา โดยเอกภพบางแห่งอาจมีกฎทางฟิสิกส์ที่แตกต่างออกไป บางแห่งอาจเหมือนกับเอกภพของเรา แต่สิ่งที่พวกมันมีเหมือนกันคือการมีอยู่นอกพรมแดนที่เราสามารถสังเกตได้โดยตรง
แนวคิด โลกคู่ขนาน อื่นๆ
โลกคู่ขนานของกลศาสตร์ควอนตัม (many-worlds interpretation of quantum mechanics) คืออีกหนึ่งแนวคิดมัลติเวิร์สที่น่าสนใจ ทฤษฎีดังกล่าวนี้อธิบายพฤติกรรมของสสารโดยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ ทฤษฎีโลกคู่ขนานซึ่งเสนอโดยฮิวจ์ เอเวอเรตต์ เมื่อปี 1957 นี้ คาดเดาการมีอยู่ของเส้นเวลา (timeline) ที่แตกแขนงกันออกไป หรือความเป็นจริงคู่ขนานที่การตัดสินใจของเราดำเนินไปอย่างแตกต่าง และบางครั้งการตัดสินใจเหล่านั้นก็สร้างผลกระทบที่แตกต่างออกไปอย่างสุดขั้ว
“อิวจ์ เอเวอเรตต์กล่าวว่า ดูสิ ที่จริงแล้วมันมีโลกคู่ขนานอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อคุณทำการทดลองและได้ความน่าจะเป็นมา โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่าคุณอาศัยอยู่บนโลกที่เป็นผลของการทดลองที่ว่านั้นครับ” James Kakalios นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ซึ่งเขียนเกี่ยวกับฟิสิกส์ (หรือความไม่ใช่ฟิสิกส์) ของซูเปอร์ฮีโร่ กล่าว “แต่บนโลกใบอื่นๆ มันมีผลลัพธ์ที่ต่างออกไป”
จากทฤษฎีนี้ อาจมีตัวคุณอยู่หลายคน ซึ่งมีหนทางชีวิตที่อาจแตกต่างกันออกไปหากคุณเลือกการตัดสินใจแบบอื่น กระนั้น ความเป็นจริงหนึ่งเดียวที่คุณสามารถรับรู้ได้คือความเป็นจริงที่ตัวคุณอาศัยอยู่
โลกใบอื่นๆ ปรากฏอยู่ที่ไหน
พวกมันทับซ้อนกันอยู่ในมิติที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ Max Tegmark จากสถาบัน MIT เรียกมัลติเวิร์สแบบนี้ว่ามัลติเวิร์สระดับที่สาม (Level III multiverse) ที่ชุดเหตุการณ์หลายแบบดำเนินไปในความจริงต่างๆ ที่แตกแขนงกันออกไป
“ในทฤษฎีโลกคู่ขนาน คุณจะยังมีระเบิดปรมาณูอยู่ เพียงแค่คุณไม่รู้ว่ามันจะระเบิดขึ้นเมื่อไหร่” Linde กล่าว และในโลกเหล่านั้นบางใบ เหตุการณ์นี้อาจไม่เกิดขึ้น
ในทางตรงกันข้าม หลายเอกภพ ซึ่งถูกคาดคะเนถึงในบางทฤษฎีการพองตัวคือเอกภพที่ Tegmark เรียกว่ามัลติเวิร์สระดับที่สอง (Level II multiverse) ที่ซึ่งกฎรากฐานของฟิสิกส์อาจแตกต่างกันไปตามแต่เอกภพต่างๆ ในบางมัลติเวิร์สที่พองตัว โดย Linde กล่าวว่า “คุณไม่ทราบเลยว่าในบางส่วนของเอกภพ ระเบิดปรมาณูจะถูกสร้างขึ้นได้จริงหรือไม่”
แล้วหากฉันอยากไปพบตัวเอง ฉันจะไปที่นั่นได้อย่างไร? เราจะเดินทางระหว่างมัลติเวิร์สได้ไหม?
โชคร้ายที่คำตอบคือไม่ บรรดานักวิทยาศาสตร์คิดว่าการเดินทางข้ามเอกภพนั้นเป็นไปได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในตอนนี้
“คุณไม่สามารถเดินทางไปมัลติเวิร์สเหล่านั้นได้ เว้นแต่ว่าหลักฟิสิกส์มากมายที่เรารู้จักกันและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั้นผิด” ซิกฟรีดกล่าว “แต่ใครจะรู้ได้ล่ะ? หนึ่งพันปีหลังจากนี้ ผมไม่ได้พูดว่าจะไม่มีใครซักคนคิดในสิ่งที่เราไม่เคยจินตนาการถึงได้สำเร็จ”
มีหลักฐานโดยตรงที่บ่งชี้ว่าโลกคู่ขนานมีอยู่จริงไหม?
แม้ดูเหมือนว่าคุณสมบัติบางประการของเอกภพจะต้องพึ่งการมีอยู่ของมัลติเวิร์ส แต่ยังไม่มีสิ่งใดที่เราสามารถมองเห็นได้โดยตรงที่บ่งชี้ว่ามัลติเวิร์สมีอยู่จริง ในปัจจุบัน หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับมัลติเวิร์สนั้นมีแต่ในทางทฤษฎี หรือในบางกรณีก็มีเพียงหลักการทางปรัชญา
ผู้เชี่ยวชาญบางคนโต้แย้งว่ามันอาจเป็นความบังเอิญระดับยิ่งใหญ่ที่บิ๊กแบงได้หล่อหลอมเอกภพซึ่งสมดุลอย่างสมบูรณ์แบบที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างที่สุด ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นคิดว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าว่ามีเอกภพเชิงกายภาพ (physical universe) ปรากฏอยู่ในจำนวนใดๆ ก็ตาม และเราเพียงแต่อาศัยอยู่ในเอกภพซึ่งมีคุณลักษณะที่เหมาะสมต่อการอยู่รอดของเรา
ทฤษฎีว่าด้วยเอกภพคู่ขนานเล็กๆ หรือเอกภพฟองสบู่ซึ่งมีจำนวนเป็นอนันต์ ซึ่งบางแห่งอาจกฎทางมีฟิสิกส์หรือค่าคงตัวพื้นฐานที่ต่างออกไปนั้น เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ Kakalios กล่าว “นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนจึงมองทฤษฎีนี้อย่างจริงจังครับ เพราะมันสามารถช่วยตอบปัญหาทางปรัชญาบางอย่างได้” เขากล่าว
บรรดานักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันว่า มัลติเวิร์สคือทฤษฎีที่สามารถทดสอบได้ด้วยวิธีการเชิงประจักษ์ (empirically testable) ได้จริงหรือ บางคนกล่าวว่าไม่ เนื่องจากตามคำนิยาม มัลติเวิร์สอยู่แยกอย่างเป็นเอกเทศจากเอกภพของเราและไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่บางที เราแค่ยังไม่ค้นพบวิธีทดสอบที่ถูกต้องก็เป็นได้
จะมีสักวันไหมที่เราจะรู้ได้ว่าเอกภพของเราเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเอกภพมากมาย?
เราอาจไม่รู้ แต่บรรดามัลติเวิร์สคือหนึ่งในการคาดคะเนของหลายทฤษฎีที่สามารถทดสอบได้ด้วยวิธีการอื่น และหากทฤษฎีเหล่านี้ผ่านการทดสอบทุกขั้นตอน ทฤษฎีมัลติเวิร์สอาจมีน้ำหนักด้วยเช่นกัน หรืออาจมีการค้นพบใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เหล่านักวิทยาศาสตร์สามารถไขปริศนาได้ว่า มีสิ่งใดที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของเอกภพของเราสามารถที่สังเกตได้หรือไม่
“เอกภพไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสิ่งมีชีวิตแบบเซลล์เล็กจิ๋วเช่นผู้คนบนดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่แก้ปริศนาได้ หรือทำการทดสอบได้หรอกครับ” ซิกฟรีดกล่าว “เราสามารถบอกได้ว่า สิ่งนี้มันทดสอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งนี้หมายถึงแค่ว่าเราไม่รู้ว่าจะทดสอบมันอย่างไร และบางที ในบางวัน เราอาจสามารถแก้ปริศนาได้ว่าจะทดสอบมันได้อย่างไร หรือบางที เราอาจจะหาทางทำมันไม่ได้ แต่เอกภพสามารถทำอะไรก็ตามที่มันอยากทำได้ครับ”
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน