5 กลุ่มดาว ประจำท้องฟ้าที่ใครๆ ก็พบเจอได้ เป็นนักดูดาวได้ง่ายๆ แค่รู้วิธีหาดาวเด่นบนท้องฟ้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดาวแอนโดรเมดา หรือกลุ่มดาวสุนัขใหญ่
ท้องฟ้ายามค่ำคืนช่างกว้างใหญ่ไพศาล เราควรเริ่มจากตรงไหนดีนะ? ลองเริ่มต้นจากการหา กลุ่มดาว ที่รวมกระจุกดาวและเนบิวลา หรือกาแล็กซีอันลึกลับดูสิ กลุ่มดาวทั้ง 5 นี้คือ กลุ่มดาวที่คุณสามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งฤดูกาล เพียงแค่เงยหน้าขึ้นไป
-
กลุ่มดาว แอนโดรเมดา (The chained Maiden)
กลุ่มดาวแอนโดรเมดาหรือหญิงสาวที่ถูกล่ามโซ่เป็นกลุ่มดาวที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในท้องฟ้าฝั่งซีกโลกเหนือ เนื่องจากอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus) และมีดาวสมาชิกเชื่อมต่อกับดาวเรียงเด่น (Asterism) รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่เรียกว่า The Great Square ของกลุ่มดาวม้าบิน คือ ดาวอัลฟีรัตซ์ (Alpheratz) ซึ่งเปรียบเหมือนศีรษะของหญิงสาว
ดาวยักษ์สีน้ำเงินดวงนี้มีระยะทางห่างจากโลก 97 ปีแสงและมีความสว่างมากกว่าดวงทิตย์ถึง 200 เท่า ดาวสำคัญทั้ง 4 ดวงของกลุ่มดาวแอนโดรเมดาจะเรียงตัวกันเป็นเส้นโค้งลากยาวไปทางทิศตะวันออก โดยมีดาวมิรัค (Mirach) แทนสะโพกของหญิงสาว และมีดาวอัลมัค (Almach) ที่เปรียบเสมือนข้อเท้าที่ถูกล่ามโซ่ไว้ และแม้จะมีความสว่างใกล้เคียงกัน แต่ดาวมิรัคเป็นดาวสีแดงที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีระยะห่างออกไปอีก 197 ปีแสงเมื่อเทียบกับดาวอัลฟีรัตซ์
แม้ว่ากลุ่มดาวแอนโดรเมดาจะถือเป็นกลุ่มดาวทางท้องฟ้าทิศเหนือ แต่ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในกลุ่มดาวนี้สามารถมองเห็นได้จากทางซีกโลกใต้ และมักปรากฏอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้าเสมอ ทำให้การสังเกตวัตถุท้องฟ้าในกลุ่มดาวนี้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะดาวเด่นอย่าง กาแล็กซีแอนโดรเมดา หรือ Messier 31 ซึ่งถือเป็นกาแล็กซีชนิดก้นหอยขนาดใหญ่ใกล้กับกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) มากที่สุดห่างออกไปเพียง 2.5 ล้านปีแสง นอกจากนี้ กาแล็กซีแอนโดรเมดายังเป็นหนึ่งในวัตถุท้องฟ้าที่ไกลที่สุดที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ในจักรวาล โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากแถบชานเมืองในฤดูใบไม้ร่วงที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง
2. กลุ่มดาว สุนัขใหญ่ (Canis Major)
กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ (Canis Major) เป็นสุนัขตัวใหญ่คู่ใจของนายพรานโอไรออน หรือกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสุนัขใหญ่อยู่ใกล้เคียงกับเท้าของกลุ่มดาวนายพราน และสามารถพบเห็นได้เกือบทุกพื้นที่บนโลก เนื่องจากเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า โดยในกลุ่มดาวนี้มีดาวฤกษ์ซิริอุส (Sirius) เป็นดาวที่ส่องประกายเจิดจรัสที่สุดบนท้องฟ้า
โดยในซีกโลกเหนือ นักดูดาวสังเกตเห็นว่าดาวฤกษ์ซิริอุสที่สุกสว่างจะขึ้นและตกพร้อมกับดวงอาทิตย์ เชื่อกันว่าพลังของดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง และดาวฤกษ์ซิริอุสทั้งสองรวมกันเป็นสาเหตุของอากาศที่ร้อนจัดในช่วงปลายฤดูร้อน จึงเกิดเป็นสำนวน Dog days of summer ที่หมายถึงช่วงที่ร้อนที่สุดของปี ซึ่งตั้งตามชื่อดาวสุนัข (Dog star) หรือดาวซิริอุสที่คนไทยเรียกว่า ดาวโจร
เมื่อมองจากกล้องส่องทางไกลและกล้องโทรทัศน์จะเห็นว่ากลุ่มดาวสุนัขใหญ่มีกระจุกดาวจำนวนมากรวมกัน ที่โดดเด่นที่สุดคือกระจุกดาวเปิด M41 หรือกระจุกดาวรวงผึ้งซึ่งอยู่ห่างจากดาวซิริอุสไปทางทิศใต้ประมาณ 4 องศา M41 ประกอบด้วยดาวประมาณ 80 ดวงและมีระดับความสว่าง 4 แม้จะมีระยะห่างจากโลกถึง 2,300 ปีแสง แต่ก็ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเวลากลางคืน ทิวทัศน์ดาวสีส้มกระจัดกระจายภายในกระจุกดาว M41 ผ่านกล้องโทรทัศน์ในสวนหลังบ้านคงจะเป็นภาพที่จับใจไม่รู้ลืม
3. กลุ่มดาวนายพราน (Orion)
กลุ่มดาวนายพรานหรือโอไรออน (Orion) เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่มากที่สุด และเป็นที่เล่าขานมานานนับพันปี โดยเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตเห็นได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะจากซีกโลกเหนือหรือซีกโลกใต้ เนื่องจากมีตำแหน่งอยู่บริเวณเส้นสูตรศูนย์ และยังเป็นกลุ่มดาวที่รวมดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดไว้มากที่สุด
มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับโอไรออน หรือนายพรานผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานกรีกโรมัน โดยเรื่องเล่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ นายพรานโอไรออนถูกแมงป่อง (Scorpius) สังหารในระหว่างการต่อสู้ จึงเป็นสาเหตุให้กลุ่มดาวทั้งสองตั้งอยู่ตรงข้ามกันบนท้องฟ้า กลุ่มดาวนายพรานมีทั้งกลุ่มดาวบีเทลจูส (Betelgeuse) และกลุ่มดาวไรเจล (Rigel) ที่มีอันดับความสว่าง 1 เป็นไหล่ซ้ายและเท้าขวา โดยมีดาวอัลไนแทก (Alnitak) ดาวอัลไนแลม (Alnilam) และดาวมินทากา (Mintaka) เรียงเป็นแนวเข็มขัดของนายพราน
ภายใต้แนวเข็มขัดของนายพรานซึ่งอยู่ระหว่างกลุ่มดาวทั้ง 3 มีเนบิวลานายพราน หรือ M42 เป็นดาบของนายพราน หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นปื้นๆ หย่อมๆ รางๆ แต่จะเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นจากการส่องกล้องโทรทัศน์ โดยจะปรากฎลักษณะของวงแหวนที่เรียงตัวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการก่อตัวอย่างรวดเร็วของดาวฤกษ์ นอกจากนี้ กลุ่มดาวนายพรานยังเป็นกลุ่มดาวที่มีกาแล็กซีทางช้างเผือกซึ่งประกอบดาวฤกษ์มากมายพาดผ่านอีกด้วย
4. กลุ่มดาวกางเขนใต้ (Crux)
กลุ่มดาวกางเขนใต้เป็นกลุ่มดาวที่มีขนาดเล็กที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นกลุ่มดาวที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในหมู่กลุ่มดาวฝั่งซีกโลกใต้ โดยกลุ่มดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์ 4 ดวงเรียงเด่นเป็นรูปกางเขน ในสมัยโบราณ ก่อนที่จะเกิดการเคลื่อนที่ของแกนโลกจนส่งผลให้ดาวเคลื่อนตำแหน่งไปทางใต้ กลุ่มดาวดังกล่าวสามารถพบเห็นได้ในฝั่งทวีปยุโรป จนกระทั่งในศตวรรษที่ 17 นักเดินเรือชาวยุโรปที่กำลังแล่นเรือไปทางใต้สังเกตเห็นและจำรูปแบบการเรียงตัวรูปกางเขนของดาวทั้ง 4 ได้ ส่งผลให้เกิดกลุ่มดาวกางเขนใต้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม นักดูดาวจากฝั่งซีกโลกเหนือจนถึงตอนใต้ของฟลอริดาก็ยังสามารถมองเห็นกลุ่มดาวนี้ได้เช่นเดียวกัน แม้ว่ากลุ่มดาวฟ้าใต้นี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากทางใต้ของเส้นศูนย์สูตร
กลุ่มดาวกางเขนใต้วางตัวคร่อมทางใต้ของกาแล็กซี่ทางช้างเผือกซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุท้องฟ้าหลากหลายชนิด โดยส่วนตะวันออกของกลุ่มดาวนี้มีสื่งที่คลับคล้ายคลากับหลุมบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นหลุมมืดที่ไม่มีดาวฤกษ์ใดๆ เลยเรียกว่า เนบิวลาถุงถ่าน (Coalsack Nebula) ซึ่งเป็นเนบิวลามืดขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นกลุ่มแก๊สขนาดใหญ่ตัดกับภาพกลุ่มดาวมากมายของกาแล็กซีทางช้างเผือก
5). กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)
กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียงมากและเป็นที่รู้จักที่สุดในซีกท้องฟ้าเหนือ เนื่องจากมีกลุ่มดาวเรียงเด่น (Asterism) เป็นรูปกระบวย เรียกว่า ดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) ซึ่งเป็นส่วนหลังและหางร่วมกับดาวอื่นๆ เชื่อมเป็นจมูกและขา โดยกลุ่มดาวหมีใหญ่เคลื่อนที่รอบดาวเหนือวันละหนึ่งรอบ อีกทั้ง กลุ่มดาวนี้ปรากฏอยู่ใกล้กับจุดขั้วฟ้าเหนือมาก (North Celestial Pole) ส่งผลให้กลุ่มดาวนี้ไม่เคยปรากฏอยู่ใต้เส้นขอบฟ้าเลย
ขณะที่ชาวกรีกโบราณเห็นว่ากลุ่มดาวนี้มีลักษณะเป็นหมีใหญ่ ในอารยธรรมอื่นๆ กลับมีจินตนาการและการมองเห็นที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเห็นเป็นม้าศึก ม้า เกวียน หรือฝูงวัว ชาวอียิปต์ที่อาจไม่เคยหมีมาก่อนก็จะเห็นกลุ่มดาวนี้เป็นฮิปโป และในชนพื้นเมืองอเมริกันหรืออินเดียนแดงเชื่อว่า ดาวที่เรียงกันเป็นรูปกระบวยและด้ามจับของกระบวยนั้นแทนหมีและนักรบที่กำลังไล่ล่าหมีอยู่ตามลำดับ
เพื่อประสบการณ์การดูดาวที่มิอาจลืมเลือน จงเลือกคืนที่ฟ้าปลอดโปร่ง อยู่ให้ไกลจากแสงสว่าง และอย่าลืมให้เวลาสายตาได้ปรับตัวกับความมืด จากนั้นเริ่มค้นหาดวงดาวกันเลย!
โดย กองบรรณาธิการ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (สหรัฐฯ)
แปล ภาวิดา จงจอหอ
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย