หากมี ดาวเคราะห์น้อยชนโลก “นาซา” จะป้องกันอย่างไร?

หากมี ดาวเคราะห์น้อยชนโลก “นาซา” จะป้องกันอย่างไร?

ดาวเคราะห์น้อยชนโลก หากมันเกิดขึ้น นาซาจะมีวิธีการเตือนอย่างไร?

ดาวเคราะห์น้อยชนโลก – ในช่วงเวลาเช้าตรู่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปี 2013 เกิดแสงสว่างวาบเหนือท้องฟ้าที่หนาวเย็นของภูมิภาคอูราลทางตอนใต้ของรัสเซีย อะไรบางอย่างทำให้เกิดแสงสว่างสไวไปทั่วท้องฟ้า ซึ่งเจิดจ้ากว่าดวงอาทิตย์เป็นเวลาสั้น ๆ พร้อมกับเสียงดังสนั่นหวั่นไหวสะท้อนไปไกลตามด้วยพลังที่รุนแรง

เหตุการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้คือดาวเคราะห์น้อยขนาด 18 เมตรที่ยังไม่เคยถูกตรวจพบได้พุ่งชนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และระเบิดออกเหนือเมืองเซเลียบินสค์ด้วยแรงที่เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีประมาณ 440 กิโลตัน ซึ่งมากกว่าระเบิดปรมาณูลูกแรกในประวัติศาสตร์ถึง 20 เท่า

มันได้เน้นย้ำถึงอันตรายซึ่งมาจากจุดที่ไม่อาจมองเห็น ระบุ ตรวจสอบ และป้องกันได้เลยนั่นคืออุกกาบาตจากอวกาศ วัตถุเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า ‘วัตถุใกล้โลก’ (Near Earth Objects: NEO) พวกมันมักถูกมองข้ามได้ง่าย ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่มีขนาดเล็กเกินที่จะตรวจจับได้ โชคยังดีที่เหตุการณ์นั้นไม่มีความเสียหายยกเว้นกระจกบนตึกบางแห่งที่แตกออก

แต่หากมันเกิดขึ้นในปัจจุบัน องค์การอวกาศต่าง ๆ จะมีวิธีรับมือพวกมันอย่างไร?

ดาวเคราะห์น้อยชนโลก – ความร่วมมือระดับนานาชาติ

นับเป็นโชคดีของมนุษยชาติอีกครั้ง เนื่องจากในขณะที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อีกที่แห่งหนึ่งของโลกก็ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคนิคแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการใช้ประโยชน์อย่างสันติในอวกาศ (COPUOS) สมัยที่ 50 ณ ศูนย์นานาชาติที่กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย

อุกาบาตดังกล่าวกระตุ้นให้คณะกรรมการต้องมีแผนการณ์รับมือกับ NEO ที่อาจเป็นอันตรายได้พร้อมกันนั้นก็ได้มีการเรียกร้องต่อสมัชชาใหญ่แห่งประชาติให้มีการจัดตั้งองค์กรหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘เครือข่ายเตือนดาวเคราะห์น้อยนานาชาติ (International Asteroid Warning Network: IAWN) เพื่อค้นหาวัตถุอันตรายโดยเฉพาะซึ่งร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึง นาซา ด้วยเช่นกัน

“เราต้องการค้นหาสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดก่อนที่พวกมันจะพบกับเราอย่างแน่นอน” ลินด์ลีย์ จอห์นสัน (Lind;ey Johnson) หัวหน้าผู้บริหารโครงการของสำนักงานประสานงานการป้องกันดาวเคราะห์ (โลก) กล่าว

IAWN เริ่มแผนการณ์ในทันที พวกเขาได้รับมอบหมายให้ ‘พัฒนากลยุทธ์โดยใช้ขั้นตอนการตรวจจับและติดตามวัตถุในอวกาศที่กำหนดไว้ให้ดี ตลอดจนแผนและระเบียบวิธีการสื่อสาร เพื่อช่วยรัฐบาลในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ผลที่ตามมาจากผลกระทบของดาวเคราะห์น้อย เพื่อวางแผนตอบสนองการบรรเทาเหตุการณ์’

ซึ่งในปี 2024 นี้ตัวแทน นาซา, องค์การอวกาศอื่น ๆ และ องค์การวิจัยระดับโลกต่าง ๆ ได้ประชุมร่วมกับ IAWN ครบรอบ 1 ปีพอดิบพอโดยนักวิทยาศาสตร์ได้เผยรายละเอียดความคืบหน้าต่าง ๆ ให้เราได้รับรู้

“ผมไม่มีโทรศัพท์แดง (เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินพิเศษ) บนโต๊ะหรืออะไรเลย” จอห์นสัน กล่าว “แต่เรามีขั้นตอนอย่างเป็นทางการโดยจะมีการแจ้งผลกระทบร้ายแรง”

จอห์นสันได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน หากดาวเคราะห์น้อยมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา นาซา จะต้องทำการแจ้งทำเนียบขาวให้ทราบ และรัฐบาลจะต้องออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ ทีมปกป้องดาวเคราะห์จะเป็นผู้ประเมิมว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นมีขนาดเท่าไหร่ พร้อมกับความเสียหายที่มันอาจสร้างได้

ต่อมา หากมันมีขนาดใหญ่พอที่จะเกิดภัยคุกคามลามไปยังประเทศอื่น ๆ IAWN จะเป็นผู้ประสานงานแจ้งให้หน่วยงานอวกาศอื่น ๆ รวมถึงของสหประชาชาติทราบ แล้วทำการปรับแผนรับมือไปตามสถานการณ์และพื้นที่

ปัจจัยที่สำคัญยิ่ง

สิ่งสำคัญที่สุดในเหตุการณ์เหล่านี้คือ ‘เวลา’ ปัจจุบันเรามีแนวทางบางอย่างที่อาจช่วยเบี่ยงเบนดาวเคราะห์น้อยไม่ให้ชนโลกได้เช่น ‘DART’ ในปี 2021 แต่ภารกิจเหล่านี้ ‘ต้องใช้เวลา’ อย่างมาก ซึ่งหมายความว่าต้องมีการตรวจพบ ระบุ และคำนวณวงโคจรของมันก่อนที่จะชนโลกนาน ‘หลายปี’
.
เมื่อทราบว่ามันกำลังเดินทาง หน่วยงานป้องกันดาวเคราะห์จะมีเวลาในการพัฒนาและสร้างอุปกรณ์ พร้อมกับยิงขึ้นไปในอวกาศ และงานเหล่านี้ไม่ใช่งานที่จะสั่งวันนี้และได้วันถัดไป ด้วยเหตุนี้ แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ ระบุ NEO ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากเราพบดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ล่วงหน้าเพียงไม่กี่เดือน เราจะไม่มีวิธีไหนที่จะหยุดมันได้ ทำได้แค่เพียงลดความเสียหายเท่านั้น

อันตรายที่มองไม่เห็น

ดาวเคราะห์น้อยที่น่ากลัวนั้นจะต้องมีขนาดใหญ่กว่า 140 เมตรและตัดวงโคจรของโลกที่มีระยะห่างขั้นต่ำ 0.5 หน่วยดาราศาสตร์ (AU: 1 AUเท่ากับระยะทางจากโลกไปยังดวงอาทิตย์) จึงจะถูกจัดว่า ‘เป็นอันตราย’ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ว่าดวงที่อันตรายมีอยู่ราว 153 ดวง

ในจำนวนนั้นมีขนาดใหญ่กว่า 965 เมตรหรือเกือบ 1 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่พอที่จะก่อให้ ‘หายนะ’ ได้หากมันชนโลก แต่ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายังมีอีกมาที่ยังตรวจไปพบ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก สะท้อนแสงได้น้อย และที่สำคัญ อวกาศ นั้นกว้างใหญ่จนน่าเหลือเชื่อ

คุณอาจคิดว่าอาชีพนักดาราศาสตร์คือการกวาดสายตามองทั่วท้องฟ้าแล้วดูว่ามีอะไรแปลกไปบ้าง แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย หน้าที่นั้นเป็นของคอมพิวเตอร์ที่ทำการสแกนท้องฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่นักดาราศาสตร์จะ ‘จ้องมอง’ ไปยังจุดใดจุดหนึ่งของท้องฟ้าเป็นหลัก ดังนั้นการค้นพบดาวเคราะห์จึงขึ้นอยู่กับโชคด้วยในด้านหนึ่ง

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นล่าสุดในประเทศเยอรมนีเมื่อวันที่ 21 มกราคมปี 2024 นี้ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กเพียง 1 เมตรสว่างวาบเหนือท้องฟ้ากรุงเบอร์ลิน ซึ่งมองเห็นได้ไกลถึงสาธาณรัฐเช็ก แต่ไม่มีใครทราบถึงการมีอยู่ของมันเลย จน 3 ชั่วโมงแรกก่อนที่มันจะชน นักวิทยาศาสตร์ถึงสังเกตเห็นได้

หอดูดาวคอนโคลี ใกล้บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เป็นผู้พบคนแรก พวกเขารายงานต่อไปยังศูนย์ดาวเคราะห์น้อยเพื่อยืนยันและระบุข้อมูลเบื้องต้นของมัน จากนั้นก็รายงานต่อเพื่อให้นักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ สังเกตการณ์เพิ่มเติม

จากการสังเกตตลอด 27 นาที ทีมงานทุกแห่งยืนยันตรงกันว่าเป็นไปได้ที่จะพุ่งชน และจำเป็นต้องสังเกตเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน ต่อมานักดาราศาสตร์ทั่วยุโรปรายงานข้อมูลใหม่เข้ามาทำให้ทราบวงโคจรและระบุว่าความน่าจะเป็นในการพุ่งชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

70 นาทีหลังพบ มันก็ได้รับการยืนยันว่าจะพุ่งชนโลกแน่นอน 100% นักวิทยาศาสตร์ร่วมมือกันจำกัดวงสถานที่และเวลาในแคบลง พร้อมกับติดตามอย่างต่อเนื่อง มันพุ่งไปยังพื้นที่ที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่นนั่นคือ กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี

โชคยังดีที่มันสลายตัวไปก่อนจะสัมผัสพื้น และวิดีโอลูกไฟบนท้องฟ้าก็ถูกโพสต์ทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว มันเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่หากดาวเคราะห์ดวงนั้นไม่ใช่ 1 เมตรล่ะ? มันอาจเป็น 10 เมตรหรือ 20 เมตรที่หลุดการตรวจจับ

และเราอาจไม่ได้โชคดีเช่นนี้ทุกครั้ง

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://science.nasa.gov/directorates/smd/nasa-celebrates-first-decade-of-international-asteroid-warning-network/
.
https://www.nasa.gov/solar-system/asteroids/nasa-system-predicts-impact-of-a-very-small-asteroid-over-germany/
.
https://www.sciencealert.com/nasa-reveals-how-it-would-warn-world-of-impending-asteroid-disaster


อ่านเพิ่มเติม โลกจะปลอดภัยจาก อุกกาบาต อย่างน้อย 1,000 ปี ! งานวิจัยใหม่ให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีดาวพุ่งชนโลกในเร็ว ๆ นี้

อุกกาบาต
อุกกาบาต

Recommend