หินอวกาศ ในระบบสุริยะสามารถจำแนกได้หลายประเภท เช่น ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ดาวตก และอุกกาบาต เป็นต้น วัตถุในอวกาศเหล่านี้คืออะไร และทำไมนักดาราศาสตร์จึงเรียกชื่อหินเหล่านี้แตกต่างกัน
ในระบบสุริยะที่วัตถุอวกาศต่างๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์ นอกจากดาวเคราะห์ที่เรารู้จักกันแล้ว ยังเต็มไปด้วย หินอวกาศ ที่เปรียบเสมือนทางลูกรังขรุขระ เคลื่อนที่หมุนวนรอบดวงอาทิตย์เช่นกัน นักดาราศาสตร์พยายามศึกษาเกี่ยวกับหินอวกาศเหล่านี้ เพื่อหวังว่าจะค้นพบคำตอบบางอย่าง ที่อาจนำไปสู่คำใบ้ของการเกิดสรรพชีวิตบนดาวเคราะห์ที่เราเรียกว่าโลก หรือบางที อาจเป็นเพียงสมมติฐานที่ไม่เกิดขึ้นจริง
หินอวกาศชนิดแรกที่เราคุ้นเคยมากที่สุดคือ “ดาวเคราะห์น้อย”
ดาวเคราะห์น้อยเป็นกลุ่มหิน หรือก้อนหิน ที่ไม่มีชั้นบรรยากาศ กำเนิดเกิดจากการก่อตัวของระบบสุริยะ มีตั้งแต่ขนาดเท่ารถยนต์ไปถึงขนาดเท่ากับเมืองใหญ่หนึ่งเมือง
ดาวเคราะห์น้อยมีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น โลหะคาร์บอน ที่ทำให้ดาวเคราะห์น้อยเป็นก้อนถ่านหินสีดำ บางดวงเป็นเศษหินรวมกัน ที่ยืดติดกันอย่างอิสระด้วยแรงโน้มถ่วงของตัวเอง หรืออาจเป็นหินก้อนใหญ่ก้อนเดียว
ตำแหน่งแห่งที่ของดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า แถบดาวเคราะห์น้อย ที่โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัส ซึ่งมีจำนวนนับแสนดวง หรืออาจหลายล้านดวง
ดาวเคราะห์น้อยต่างๆ (และดาวหาง) ต่างมีวงโคจรที่แตกต่างกัน ซึ่งพบว่าหินอวกาศบางส่วนมีวงโคจรใกล้โลก เรียกว่า near-Earth objects หรือ NEO โดยนักวิทยาศาสตร์บนโลกได้พยายามหาระบบติดตามวัตถุอวกาศเหล่านี้ก่อนพุ่งเข้าชนโลก ซึ่งปัจจุบัน ระบบเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอวกาศจากนานาประเทศ เพื่อพิจารณาว่าอาจเกิดอันตรายต่อโลกหรือไม่
ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ระบบแจ้งเตือนดาวเคราะห์น้อยกระทบพื้นโลกในประเทศชิลี ซึ่งสนับสนุนโดยนาซา และพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ตรวจพบหินอวกาศ ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ 183 เมตร มีวงโคจรที่พุ่งตรงมายังโลก แต่จากข้อมูลปัจจุบันยังไม่มีโอกาสพุ่งชนโลก เนื่องจากเมื่อคำนวนทิศทางการโคจรตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุด วงโคจรของหินอวกาศก้อนนี้ยังอยู่ห่างจากโลกประมาณ 230,000 กิโลเมตร
ในการศึกษาเกี่ยวกับเอกภพ ดาวเคราะห์น้อยเปรียบเสมือนแหล่งเก็บข้อมูลจากระบบสุริยะในยุคแรก นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ยังได้เสนอสมมติฐานว่า แถบดาวเคราะห์น้อยอาจเป็นแหล่งรวบรวมสารอินทรีย์ที่สำคัญต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก ?
หินอวกาศที่เรารู้จักชนิดต่อมาคือ ดาวหาง
ดาวหางเป็นเหมือนก้อนน้ำแข็งที่โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ ดาวหางแต่ละดวงมีศูนย์กลางที่เรียกว่านิวเคลียส ที่อัดแน่นด้วยก๊าซพร้อมด้วยเศษหินและฝุ่น เมื่อวงโคจรของดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวหางจะร้อนขึ้นและพ่นฝุ่นและก๊าซ ก่อตัวเป็นลูกบอลเรืองแสงขนาดยักษ์ ที่มีหางทอดยาวออกไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์
ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจนของดาวหางในระบบสุริยะ แต่คาดว่าน่าจะมีประมาณ 3,535 ดวง ดาวหางทุกดวงมีลักษณะการก่อกำเนิดคล้ายดาวเคราะห์น้อย คือเป็นเศษซากที่เหลือจากกระบวนการเกิดระบบสุริยะ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าภายในดาวหางจะมีข้อมูลบางอย่างที่ช่วยไขปริศนาของการกำเนิดเอกภพได้
หนึ่งในประเภทของหินอวกาศที่มักถูกนำเสนอในสื่อมากที่สุดชนิดหนึ่งคือ อุกกาบาต เกิดจากเศษหินที่หลุดออกจากดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยะ อุกกาบาตเป็นหินอวกาศที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งมักจะไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อโลกของเรา แต่เราจะมองเห็นได้เมื่ออุกกาบาตผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกในรูปแบบดาวตก และฝนดาวตก
โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2023 สำนักข่าวหลายประเทศได้นำเสนอเนื้อหาเชิญชวนให้ประชาชนออกมารับชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ที่เป็นร่องรอยของการโคจรดาวหางฮัลเลย์ที่โคจรผ่านดวงอาทิตย์เมื่อปี 1986 และได้ทิ้งเศษฝุ่นและหินอวกาศขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หินอวกาศบางก้อนได้ตกลงมาสู่พื้นโลกมากมาย บางชิ้นก็มีขนาดใหญ่จนสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลก บางชิ้นก็เหลือเป็นเพียงหินก้อนเล็กๆ ที่ไม่ได้สร้างผลกระทบเลย อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์จากทั่วโลกยังคงศึกษาหินอวกาศเพิ่มเติมต่อไป เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุริยะ และบางครั้งพวกเขาอาจได้คำใบ้บางอย่างจากตัวอย่างหินอวกาศเหล่านี้ ที่สามารถอธิบายจุดกำเนิดของโลกเราได้
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.jpl.nasa.gov/edu/learn/slideshow/whats-that-space-rock/
https://science.nasa.gov/solar-system/10-things-whats-that-space-rock/
https://education.nationalgeographic.org/resource/9meteor/
https://www.thaipbs.or.th/now/content/239
https://www.thairath.co.th/news/society/2734580